Follow us      
  
  

ผู้จัดการรายวัน [ วันที่ 06/07/2564 ]
หมอหนุน #ฉีดPfizer ให้บุคลากรการแพทย์ วงในแนะรัฐอย่าหน้าบางเพราะ ซิโนแวค

  หมอหนุน #ฉีดPfizer ให้บุคลากรการแพทย์ วงในแนะรัฐอย่าหน้าบางเพราะ "ซิโนแวค"

          วิกฤตหนัก! เชื้อแปลงร่าง -คนป่วยล้นบุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนักจนล้มป่วย เปิดใจนักรบชุดขาว เกราะป้องกันที่ดีที่สุด = วัคซีนเข็ม3 ชี้ทางรอด ก่อนจะสูญเสีย บุคลากรทางการแพทย์ไปกว่านี้!!
เกราะป้องกันที่ดี = ไฟเซอร์?

          เป็นประเด็นร้อนระอุกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับการฉีด วัคซีนปองกันโควิด-19 เมื่อโลกออนไลน์ดัน #ฉีดPfizerใหบุคลากรการแพทย์ ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ หลังเพจ "BTimes" ของ บัญชา ชุมชัยเวทย์ ผู้ประกาศข่าวสายเศรษฐกิจชื่อดัง ได้โพสต์ภาพเอกสารบันทึกการประชุมเฉพาะกิจร่วมระหว่างคณะกรรมการ ด้านวิชาการ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558, คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะทำงานวิชาการ ด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน ซึ่งเป็นการประชุมเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา
          โดยมีการคาดการณ์ว่าจะได้รับวัคซีนปองกัน  ยี่ห้อไฟเซอร์ภายในเดือนกรกฎาคม จำนวน 1.5 ล้านโดส และจะได้รับในไตรมาสที่ 4 รวม 20 ล้านโดส  โดยมีรายละเอียดว่า ควรมุ่งเน้นไปที่บุคคลทั้ง 3 กลุ่ม คือ 1. บุคคลอายุ 12-18 ปี 2. กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้วัคซีน ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ 3. ให้บุคลากรด่านหน้ากระตุ้นภูมิคุ้มกัน เป็นวัคซีนเข็มที่ 3
          ทว่า เนื้อหาเอกสารดังกล่าวมีวาระการประชุมที่น่าสนใจ คือ การค้านฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์ (Pfizer)" เป็นเข็ม 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์ เท่ากับยอมรับ "ซิโนแวค (Sinovac)" วัคซีนหลักที่ใช้ในไทยอยู่ ไม่มีผลในการปองกัน แล้วจะทำให้รัฐบาลและฟากสาธารณสุขแก้ตัวยากมากขึ้น  
          แน่นอนว่า ทันทีที่มีการแชร์เอกสารเหล่านี้ออกไป สังคมตั้งคำถามถึงการจัดหาวัคซีนคุณภาพที่ดี มาใช้ในประเทศไทย รวมทั้งสังคมโซเชียลฯ ต่างออกมา สนับสนุนให้ให้บุคลากรทางการแพทย์ ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เข็ม 3 ก่อน


          ทั้งนี้ เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ทางทีมข่าวติดต่อไปยัง พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภาและเป็นหนึ่งในแพทย์ที่ออกมาสนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เป็นเข็มที่ 3 ให้ช่วยไขปัญหาที่ เกิดขึ้น มองว่าบุคลากรทางการแพทย์ถือเป็นกำลังสำคัญ  ถึงแม้จะฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็มแล้ว แต่ก็ยังติดเชื้อโควิดหลายราย เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ อยากสนับสนุนให้เพิ่มวัคซีนคุณภาพสูง ที่จะปกป้องจากเชื้อที่กลายพันธุ์ ที่จะระบาดในระยะต่อไปได้ โดยเฉพาะวัคซีนกลุ่ม mRNA ซึ่งผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่ เช่น "ไฟเซอร์" และ "โมเดอร์นา" ให้กับบุคลากรทางการแพทย์โดยด่วน"สายพันธุ์ใหม่ สิ่งที่เรากลัว คือ ถ้าเกราะของเราไม่แข็งแรงพอ  ถ้ามีการติดเชื้อ ณ วันนี้บุคลากรทางการแพทย์ของเรามีจำกัด มีไม่พอกับผู้ป่วยที่เพิ่มมากอยู่แล้ว การสูญเสียนักรบแต่ละคน แม้เจ็บป่วย แม้จะรู้ว่าเจ็บป่วยน้อย หมายความว่าเจ็บป่วยแล้ว อาการจะไม่หนัก แต่ถ้าจะหยุดงานมันจะกระทบผู้ป่วย
          อย่างที่เราเห็นหมอทั่วไปหลายที่ โรงพยาบาลที่หมอป่วย คือ ทันทีที่ติดเชื้อ เขาต้องกักกันตัว ไม่ใช่แค่หมอ พยาบาลก็ติด บุคลากรก็ติด พอติดปั๊บการให้บริการผู้ป่วยในกรุ๊ปก็จะหายไป
          คือ เราต้องปิดวอร์ดนั้นไป ปิดห้องนั้นไป ปิดห้องผ่าตัดนั้นไป ซึ่งวันนี้อยากให้มองว่าแพทย์ไม่ได้อยากได้เพื่อตัวเอง แต่อยากได้เพื่อให้สามารถทำการรบต่อได้ คือ สามารถดูแลประชาชนได้ โดยที่ต้องไม่ติดเชื้อและหยุดงาน แต่ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าเป็นความสำคัญเป็นอันดับ 1
          แต่หมายความว่า ยังคงอยากให้คนสูงอายุ คนป่วย 7 โรค และคนท้อง อยู่เหมือนเดิม ซึ่งกลุ่มนี้เป็นสิ่งที่แพทย์เป็นคนขอเองว่า ขอให้คนเหล่านี้ เพราะเขาเหล่านี้มีความเสี่ยงสูง แต่คู่ขนานกันก็ต้องขออีกส่วนหนึ่งมาสำหรับคนทำงาน ที่ต้องไปรักษาคนเหล่านั้นด้วยหมายความว่าต้องไปคู่กัน  โดยวัคซีนในกลุ่มที่จะป้องกันกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ได้ดี ต้องเป็นกลุ่ม mRNA ที่มีข้อมูลจากทั่วโลก แต่ในเมืองไทยยังไม่มี เราจึงจะตอบไม่ได้ว่าจะดีจริงมากน้อยแค่ไหน เพียงแต่รายงานทั่วโลกยอมรับ ว่าตัวนี้จะป้องกันได้มากกว่า
          เราก็มองว่า วัคซีนที่ป้องกันได้มากกว่าก็จะเท่าให้คุณหมอ คุณพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้ยาวนานมากขึ้น ทำให้ติดเชื้อน้อยลง และดูแลคนไข้ได้มากขึ้น"
          ส่วนประเด็นที่หลายคนตั้งข้อสงสัย ไว้ว่า นำวัคซีนไฟเซอร์มาฉีดเข็ม 3 หรือบูสเตอร์ เป็นการยอมรับว่าวัคซีนหลักที่ไทยใช้อยู่มีผลในการป้องกันดีพอหรือไม่นั้น คุณหมอย้ำถึงเรื่องนี้ว่า ต้องรอดูตามข้อเท็จจริงที่ติดตามในการวิจัยถึงประสิทธิภาพซึ่งต้องรอให้กรมควบคุมโรคให้ข้อมูลต่อไป  แต่ในส่วนของวัคซีนเข็มที่3  ถ้าฉีดของกลุ่ม mRNA ก็จะได้ผลดีขึ้น
          "ข้อมูลทางการแพทย์คิดว่า กลุ่ม mRNA ซึ่งสามารถไปบล็อกเชื้อสายพันธุ์เดลตา (Delta variant) ที่ระบาดใหม่ได้ จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อน้อยลง และดูแลคนไข้ได้ยาวนานมากขึ้น เพราะวันนี้แพทย์ไม่พออยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้ แปลว่าต้องเป็นไฟเซอร์ อาจจะเป็นโมเดอร์นา (Moderna) หรือสายพันธุ์ที่สามารถกันเชื้อตัวใหม่อื่นๆ ได้

          เพราะว่าถ้าติดเชื้อตัวใหม่กันหมด แล้วต้องปิดโรงพยาบาล คนที่กระทบจะเป็นคนไข้ คือหมายว่าเป็นตัวไหนก็ได้ แต่ขอให้คนที่ทำงานด่านหน้าได้เกราะ พูดง่ายๆ วัคซีนเหมือนเกราะป้องกันเชื้อ เพราะฉะนั้นเกราะที่ดี ควรจะไปอยู่ในคนที่ทำงาน เพื่อไปช่วยชีวิตคนอื่น คู่กับการให้เกราะกับคนที่อ่อนแอที่สุด"
วิกฤตประเทศ "หมอล้มป่วย-เชื้อระบาดรุนแรง"ไร้ทางป้องกัน?
"พยาบาลเป็นบุคคลสำคัญเพราะต้องดูคนไข้ใกล้ชิดติดเตียง เป็นนักรบด่านหน้าจริงๆ รบกับโควิดศัตรูที่มองไม่เห็น แล้วยืนหยัดรบมาหลายเดือนมาก เพราะว่ารัฐบาลตอนนี้ต้องพึ่งบุคลากรทางการแพทย์เป็นหลัก และเราก็รบกันอยู่มาโดยตลอด
          ดังนั้นถ้าเกิดหมอติดเชื้อคนเดียว บุคลากรถูกกักอีก 20-30 คน  เท่ากับโควิดมันรบชนะ ระบบการรักษาพยาบาลจะเสียหาย นำไปสู่การเสียชีวิต และล้มตายในกลุ่มคนไข้ได้"
          คุณหมอยังสะท้อนสถานการณ์ในโรงพยาบาลปัจจุบัน ที่วิกฤตมีเชื้อระบาดอย่างรุนแรง จนจำนวนบุคลากรไม่เพียงพอต่อคนไข้อยู่แล้ว
          ซึ่งหลายโรงพยาบาลต้องปิดหน่วยบริการ การติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ คนหนึ่งไม่เพียงทำให้เขาหยุดงาน แต่กลายเป็นภาระของผู้ร่วมงานที่ต้องปฏิบัติงานแทนด้วย
          "ตอนนี้สถานการณ์ทั่วโลกเหมือนกัน คือ วิกฤตหนัก เพราะเชื้อมันเปลี่ยนแปลงร่าง แล้วทำให้เกิดวิกฤตทั้งตัวโรค การป่วย และตัววัคซีน ซึ่งเกิดความไม่แน่นอนขึ้นมาทันที แล้วทำให้วัคซีนหลายชนิดที่วันแรกที่วัคซีนออกมา มันยังดูดี วันนี้เริ่มมีรายงานว่าบางอย่างที่มันเคยดีพออาจจะแข็งแรงไม่พอ
          วันนี้ต้องมีการปรับเปลี่ยนอีกเยอะตามสถานการณ์ บ้านเราก็ผจญปัญหาเดียวกัน เพราะว่าวันนี้คนป่วยก็เริ่มมากขึ้น เริ่มติดในที่ ที่ไม่รู้ว่าติดยังไง ทั้งๆ ที่มีมาตรการการระวังอย่างสูงอยู่แล้ว ซึ่งทำให้โรงพยาบาลเต็ม จนกระทั่งรัฐฯต้องขยายโรงพยาบาลสนาม เพิ่มโรงพยาบาลใหม่ เพิ่มเตียง อย่างรวดเร็ว แต่วันนี้ยังนับว่ายังเทียบกับความต้องการของประชาชนไม่ทันเพราะว่ายังมีคนรอคอยเข้ารักษาพยาบาลอยู่ แต่ก็ถือได้ว่าเร็วมากที่สุดในโลก คือ เปิดโรงพยาบาลกันอย่างรวดเร็ว เปิด ICU กันอย่างรวดเร็ว

          แต่สิ่งที่เพิ่มไม่ได้คือบุคลากรเพราะเราไม่สามารถผลิตหมอ ไม่สามารถผลิตพยาบาลได้ทันที เพราะฉะนั้นพอมีสถานการณ์เกิดขึ้น หมอ พยาบาล เภสัช ทุกวิชาชีพต้องทำงานหนักขึ้นทันทีอันนี้คือสิ่งที่เรากังวล นั่นคือคุณหมอเองดูคนไข้ปกติ ต้องไปดูคนไข้โควิดด้วย มีคนไข้ ICU ก็ต้องไปดูคนไข้ ICU มีศูนย์วัคซีน ก็ต้องไปศูนย์ฉีดวัคซีนด้วย
          พอเปิดโรงพยาบาลสนามหมอกลุ่มเดียวกันก็ต้องไปดูโรงพยาบาลสนามด้วย ดังนั้นการกระจายงานเช่นนี้ก็จะเท่ากับทำให้ภาระงานมากขึ้น มีความเครียดสูง แล้วโอกาสที่พลาดท่าก็จะมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลาดติดเชื้อ เพราะว่าวันๆ หนึ่ง อย่างประชาชนทั่วไป เดินไปเดินมา กินข้าวซื้อของ ไม่รู้ว่าติดมาจากไหน แต่หมอ และบุคลากรทางการแพทย์อยู่ในดงคนที่ติดเชื้อทั้งวัน ซึ่งความเสี่ยงสูงกว่าทุกๆ กลุ่มคนในประเทศแน่นอน"
          นอกจากนี้คุณหมอขอย้ำเตือนว่า ระหว่างที่รอวัคซีนที่จะเป็นเกราะป้องกันที่ดีที่สุดของเรา คือ ประชาชนต้องการ์ดไม่ตก ล้างมือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ไปพร้อมๆ กัน
          "เพิ่งขอเสนอ (วัคซีนเข็มที่ 3 บูสเตอร์) ไปวันนี้ เพื่อขอให้พิจารณาเป็นเกราะให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ซึ่งต้องอิงกับข้อมูลวิชาการ และทุกคนก็รอฟังนโยบายอยู่ ไม่ว่าสรุปอย่างไร วันนี้วัคซีนก็ยังไม่มาเป็นเรื่องอนาคต เพียงขอให้นโยบายมีการจัดสรร บูสเตอร์โดส ให้กับนักรบเสื้อขาวด่านหน้าทุกคน ย่อมสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน นโยบายนี้คงจะต้องรอท่านรัฐมนตรี หรือทาง ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) ตัดสินใจอีกทีหนึ่ง"
          วัคซีนเป็นเกราะที่ทุกคนรู้ว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามประชาชนทุกคนก็ต้องมีการ์ดด้วย มีการใส่หน้ากาก อยู่ห่าง ล้างมือ ระหว่างที่รอวัคซีนชนิดที่จะมีผลเหมาะสมที่สุดของประเทศไทย และให้ครอบคลุมพอ เพราะวันนี้สถานการณ์วัคซีนนั้นเราไม่สามารถบังคับได้ เนื่องจากเหมือนเป็นอาวุธที่ทุกประเทศต้องการใช้ และมีการขาดแคลนทั่วโลก เพราะฉะนั้นระหว่างรอขอให้ประชาชนช่วยกันดูแล ระมัดระวังตัวอย่างที่สุด หมอ พยาบาลทุกคน เราก็จะพยายามดูแลคนไข้ให้ดีที่สุด และต้องพยายามแพ้มันให้น้อยที่สุด คือ ระวังไม่ให้ติดเชื้อกันนะครับ" .

 pageview  1210868    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved