Follow us      
  
  

สยามกีฬา [ วันที่ 19/05/2563 ]
แห่ลงทะเบียนไทยชนะ ร้านค้าร่วมสกัดโควิด-19 หมอชี้ดื่มสุราเสี่ยงติด ป่วยใหม่ต่ำ 10 มีแค่ 3

 ความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย เมื่อ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา ตามการแถลงอย่างเป็นทางการจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระบุพบผู้ติดเชื้อใหม่อีก 3 รายในประเทศไทย โดยสาธารณสุข แสดงความเป็นห่วงกลุ่มคนทำงานออฟฟิศ ซึ่งทานอาหารร่วมกัน และมักไม่สวมแมสก์ระหว่างทำงาน เพราะคิดว่าปลอดภัย อาจเป็นจุดสุ่มเสี่ยงทำให้เกิดโรค
          ไทยป่วยโควิดอีก3ราย
          ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.เปิดเผยสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ประจำวันว่า ผู้ป่วยรายใหม่อยู่ที่ 3 ราย อยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ รวมผู้ป่วยสะสม 3,031 ราย ผู้ป่วยหายกลับบ้านได้รายใหม่ 1 ราย รวมกลับบ้านได้สะสม 2,857 ราย อยู่ในโรงพยาบาล 118 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม คงที่ 56 ราย
          สำหรับผู้ป่วยโควิดรายใหม่ รายที่ 1 เป็นหญิงไทย อายุ 29 ปี โดยติดเชื้อจากการสัมผัสผู้ป่วยรายก่อนหน้าในส่วนราชการ ที่เป็นข่าวก่อนหน้า รายที่ 2 เป็นชายไทย อายุ 55 ปี มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันที่เดียวกับผู้ป่วยรายที่ 1 โดยที่ทำงานดังกล่าว มีผู้ป่วยแล้ว จำนวน 6 ราย และ รายที่ 3 เป็นหญิงไทย อายุ 27 ปี ภูมิลำเนาภูเก็ต อาชีพพนักงานขายสินค้า มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน เป็นผู้ป่วยที่เดินทางกลับไป จ.ปราจีนบุรี
          ขณะเดียวกันยังพบว่า มีผู้เดินทางออกไปจาก จ.ภูเก็ต 7ในเดือน มี.ค. พบผู้ป่วยเดินทางไป 7 ราย เดือนเม.ย. 5 ราย และ พ.ค. 2 ราย ซึ่งเกิดจากการเดินทางข้ามจังหวัด เป็นธรรมดาของการเดินทาง แต่ต้องเข้าใจถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
          เช็กอินไทยชนะ2.7ล้านคน
          นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. แถลงถึงเว็บไซต์ ไทยชนะ ที่เปิดให้ร้านค้าลงทะเบียนและรับบาร์โค้ดให้ลูกค้าสแกนก่อนเข้า เพื่อเก็บข้อมูลว่า สรุปข้อมูลจาก www.ไทยชนะ.com โดยกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข ข้อมูลเมื่อวันที่ 17 พ.ค. พบว่าจำนวนร้านค้าลงทะเบียน 44,386 แห่ง จำนวนผู้ใช้งาน 2,002,897 คน
          ด้านจำนวนการเข้าใช้งาน แบ่งเป็น 1.การเช็กอิน 2,658,754 ครั้ง, 2.การเช็กเอาต์ 1,845,191 ครั้ง, 3.ประเมินร้าน 1,258,261 ครั้ง ส่วนข้อมูลล่าสุดเวลา 06.00 น. วันที่ 18 พ.ค.2563 พบมีจำนวนร้านค้าลงทะเบียน 46,744 ร้าน จำนวนผู้เข้าใช้บริการ 2,725,877 คน
          “ต้องเน้นย้ำว่าแพลตฟอร์มไทยชนะ เป็นแพลตฟอร์มกลางของหน่วยงานรัฐบาล และเป็นแพลตฟอร์มเดียวที่ใช้ครอบคลุมทั้งประเทศ ที่ลงทะเบียนทั้งในผู้ดำเนินกิจการและผู้เข้าใช้บริการ ขอขอบคุณคนไทยทั้งหมดให้ความร่วมมือ เราจะต้องอยู่กับชีวิตวิถีใหม่ด้วยการใช้เทคโนโลยี"
          "นอกจากฝ่ายรัฐบาลที่จะต้องประเมินเรตติ้งของร้าน ประชาชนคนไทยก็สามารถเป็นผู้ประเมินได้เช่นกัน ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า 10 จังหวัดที่ลงทะเบียนร้านค้าสูงสุดอยู่ในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหญ่ๆ มากที่สุดคือ กรุงเทพฯ เนื่องจากมีจำนวนร้านค้าและจำนวนประชาชนมากที่สุด” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
          สำหรับ 10 จังหวัดผู้ให้บริการลงทะเบียนร้านค้าสูงที่สุด ใน www.ไทยชนะ.com ได้แก่ 1.กรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวน 14,187 ร้าน, 2.ชลบุรี จำนวน 2,819 ร้าน, 3.นนทบุรี จำนวน 2,457 ร้าน, 4.สมุทรปราการ 1,934 ร้าน, 5.ปทุมธานี 1,686 ร้าน, 6.เชียงใหม่ 1,547 ร้าน, 7.นครราชสีมา 1,363, 8.ภูเก็ต 1,112, 9.สุราษฎร์ธานี 983 ร้าน และ 10.ขอนแก่น 865 ร้าน
          ร้านอาหารลงทะเบียนเพียบ
          นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า 10 ประเภทกิจการ ผู้ให้บริการลงทะเบียนร้านค้าสูงสุดใน www.ไทยชนะ.com ได้แก่ 1.ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ภัตตาคาร ศูนย์อาหาร จำนวน 11,353 ร้าน, 2.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ จำนวน 10,599 ร้าน, 3.ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าปลีก/ค้าส่ง จำนวน 8,170 ร้าน, 4.การจำหน่ายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค จำนวน 2,814 ร้าน, 5.การให้บริการ 2,412 ร้าน, 6.ร้านขายปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม จำนวน 2,314 ร้าน, 7.สินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต จำนวน 1,942 ร้าน, 8.คลินิกเสริมความงาม/ร้านเสริมสวย จำนวน 1,867 ร้าน, 9.ธนาคาร 1,479 ร้าน, 10.ร้านขายยา 661 ร้าน
          นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ส่วนผู้รับบริการเข้าใช้ www.ไทยชนะ.com พบว่า 1.เช็กอินรวมสะสม 2,658,754 ครั้ง แยกเป็น ห้างสรรพสินค้า 1,279,527 ครั้ง ซูเปอร์มาร์เก็ต 900,224 ครั้ง ร้านอาหาร 181,582 ครั้ง การจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค 128,391 ครั้ง
          2.ทำการเช็กเอาต์ รวมสะสม 1,845,191 ครั้ง เช่น ห้างสรรพสินค้า 866,715 ครั้ง ซุปเปอร์มาร์เก็ต 644,538 ครั้ง ร้านอาหาร 109,516 ครั้ง การจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค 95,670 ครั้ง
          3.การประเมินร้านค้า รวมสะสม 158,261 ครั้ง เช่น ห้างสรรพสินค้า 572,405 ครั้ง ซุปเปอร์มาร์เก็ต 445,440 ครั้ง ร้านอาหาร 82,162 ครั้ง การจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค 62,170 ครั้ง
          พบพยาบาลเส้นเลือดแตก
          นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณี นางรัชนีกร ถิรตันตยาภรณ์ หรือ "รุ่ง" พยาบาลวิชาชีพชำานาญการพิเศษ  รพ.ถลาง จ.ภูเก็ต โหมทำงานในการร่วมป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 จนเส้นเลือดในสมองแตก ต้องส่งตัวมารักษาที่ รพ.ศิริราช
          "อนุทิน"ยันดูแลช่วยเต็มที่
          นายอนุทิน เผยว่า ตนทราบเรื่องนี้แล้ว ยืนยันว่า เราต้องดูแลอย่างเต็มที่ ขณะนี้ นางรัชนีกร อยู่ระหว่างรักษาตัวที่ รพ.ศิริราช ซึ่งเป็นคนไข้ของที่นี่อยู่แล้ว อาการล่าสุดได้รับรายงานว่า รู้สึกตัวดี ยังสื่อสารรู้เรื่อง ตอนนี้ตนกำลังหาเวลาไปเยี่ยม แต่ถ้ายังไม่ได้ไปเร็วๆ นี้ จะให้ รมช.สธ.พร้อมทีมที่ปรึกษาลงไปเยี่ยม
          กาชาดระดมทุน63บาท
          สภากาชาดไทย โดยสำนักงานจัดหารายได้ เปิดระดมทุนแคมเปญ “63 บาท สู้ COVID-19 ปี’63” พลังน้ำใจ 63 บาท แปรเปลี่ยนความทุกข์ยากปี 2563 เพื่อมอบชุดธารน้ำใจกู้ชีวิตฝ่าวิกฤต COVID-19 และอาหารปรุงสุกจากครัวเคลื่อนที่สภากาชาดไทย แก่ประชาชน ผู้ยากไร้ ด้อยโอกาส ที่ได้รับผลกระทบผ่านเหล่ากาชาดจังหวัดทั่วประเทศ
          ที่ผ่านมา สภากาชาดไทยดำเนินการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบด้วยการ “ป้องกัน” และ “เยียวยา” ผ่านสถานีกาชาด เหล่ากาชาด 76 จังหวัด กิ่งกาชาด 240 อำเภอทั่วประเทศ ซึ่งเปรียบเสมือนใยแมงมุมในพื้นที่ของสภากาชาดไทย ทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.
          โดยเคาะประตูบ้าน คัดกรองผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงและครอบคลุม ซึ่งปัจจุบันพบว่ายังมีผู้ได้รับผลกระทบทั้งชาวไทยและแรงงานข้ามชาติอีกจำนวนมากที่ตกงาน ขาดรายได้ และขาดแคลนอาหารประทังชีวิต จึงขอพระราชานุญาตจัดตั้ง “ครัวพระราชทาน อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย” ระหว่างวันที่ 8-17 พฤษภาคม 2563 ณ สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดสมุทรสาคร แจกจ่ายอาหารปรุงสุก จำนวน 12,000 ชุด ให้ประชาชนที่ขาดแคลนอาหารในอำเภอบางหญ้าแพรก อำเภอบ้านแพ้ว และอำเภอกระทุ่มแบน
          อีกทั้งยังจัดตั้งครัวเคลื่อนที่สภากาชาดไทยผ่านสถานีกาชาดและเหล่ากาชาดจำนวน 6 จังหวัด ระหว่างวันที่ 29 เม.ย. ถึงวันที่ 22 พ.ค. แจกอาหารปรุงสุกรวม 19,800 ชุด นอกจากนี้ยังมอบหน้ากากอนามัยแบบผ้าจำนวน 10 ล้านชิ้น และชุดธารน้ำใจกู้ชีวิตฝ่าวิกฤต Covid-19 ไปแล้วจำนวน 105,195 ชุด มูลค่า 69,428,700 บาท ในพื้นที่ 61 จังหวัด (ข้อมูล ณ วันที่ 11 พ.ค. 2563)
          ปัจจุบันสภากาชาดไทยได้รับเงินบริจาคจากผู้มีจิตกุศลประมาณ 52 ล้านบาท ในการดำเนินงานช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ดังกล่าว แต่ยังมีประชาชนที่ยังต้องการความช่วยเหลืออีกจำนวนมาก จึงเร่งระดมทุนและเชิญชวนผู้มีกำลังร่วมช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผ่านแคมเปญ “63 บาท สู้ COVID-19 ปี’63” พลังน้ำใจ 63 บาท แปรเปลี่ยนความทุกข์ยากเป็นชุดธารน้ำใจฯ และอาหารปรุงสุก
          ด้วยการสแกน QR CODE E-DONATION หรือโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขาสำนักสีลม ชื่อบัญชี “สภากาชาดไทย เพื่อภัยพิบัติ” ประเภทบัญชี “กระแสรายวัน” เลขที่ 001-1-34567-0
          หรือโพสต์ แชร์ สื่อประชาสัมพันธ์บนสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อร่วมกันบอกต่อ และติดแฮชแท็ก #63 บาทสู้ Covid เมื่อท่านร่วมบริจาคแล้วเพื่อรณรงค์และประชาสัมพันธ์โดยจะเปิดรับบริจาคในแคมเปญ ดังกล่าวทั้งสิ้น 63 วัน นับตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค.-9 ก.ค. 2563
          สธ.เผย5วิถีชีวิตใหม่
          นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงวิถีชีวิตใหม่ประชาชน มี 5 ข้อ 1. คัดกรองตนเองว่าป่วยหรือเสี่ยงหรือไม่ในทุกเช้าที่ตื่นนอน แม้ไม่มีอาการป่วย 5 อย่าง คือ ไข้ ไอ จาม เจ็บคอ หายใจเหนื่อย แต่มีประวัติเสี่ยงมา เช่น ไปที่คนแออัด พื้นที่เสี่ยง อย่างตลาดที่คนหนาแน่น ไปกินเลี้ยงกับเพื่อน ต้องห้ามตนเองไม่ออกนอกบ้าน ดูแลตนเองเหมือนกักตัว จะลดโรคลดการแพร่กระจายอันดับ 1
          2. ประเมินความจำเป็น วางแผนก่อนออกจากบ้าน อย่าสะเปะสะปะออกจากบ้าน ที่ไม่จำเป็นต้องไปก็อย่าไป ที่จำเป็นต้องไปก็ให้สั้นลง มีรายการจดซื้อให้เรียบร้อยก่อนออกจากบ้าน, 3. เลือกสถานบริการมาตรฐานตามมาตรการรัฐ เข้าไปดูในไทยชนะ สถานประกอบการใดผ่านมาตรฐานทำตามแนวทางรัฐก็เลือกไปสถานประกอบการนั้น คนป่วยคนเสี่ยงก็ไม่จำเป็นต้องไป 4. ใช้เครื่องป้องกัน อย่างน้อย 2 อย่าง คือ หน้ากากกับเจลแอลกอฮอล์ เกิดออกไปข้างนอกแล้วสถานที่ต่างๆ เกิดขาด และ 5. ให้ความร่วมมือกับสถานที่บริการที่ไป
          ส่วนวิถีใหม่ของประชาชนที่ต้องการความร่วมมือในสถานประกอบการ คือ 1. ลงทะเบียน มี 2 วิธี คือ ผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือหน้าร้าน 2. คัดกรอง ไอ จาม น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย 3. ล้างมือด้วยเจล หรือ สบู่ 4. ลงทะเบียนไม่ใช้ของร่วมกัน เช่น สำรับใครสำรับมัน 5. ลดพูดคุยเสียงดัง และลดดื่มสุราด้วย เพราะดื่มแล้วเสียงดัง 6. เลี่ยงแน่น โดยห้ามจัดกิจกรรมพิเศษ หรือหากของน้อยก็อย่าเข้าไปแย่ง และ 7. เว้นระยะ โต๊ะเตียง 2 เมตร คนห่างกัน 1 เมตร พื้นที่ 1 คนต่อ 5 ตารางเมตร สระว่ายน้ำ 150 ตารางเมตรต่อคนว่ายน้ำ
          ด้านวิถีใหม่ของผู้ประกอบการ คือ 1. ลงทะเบียนจัดคิว 2. จัดที่รอแบบเว้นระยะ 3.คัดกรองก่อนเข้า 4. เจลล้างมือให้ล้างมือ 5. จัดสถานที่หรือบริการลดความหนาแน่น เว้นระยะห่าง 6. ทำความสะอาด 7. ระบายอากาศ ข้อกังวลเรื่องรา ไม่ต้องห่วง ราในแอร์ที่ห้างปิดนาน เขาไม่ได้ปิดนาน เพราะยังอุ่นเครื่อง ใส่หน้ากากแล้วราก็ไม่เข้า เพราะราใหญ่กว่าไวรัสมาก 8. งดสุรา ห้ามเด็ดขาดแม้ยอมให้ขาย 9. จำกัดเวลาบริการ 10. จำกัดบริการหรือกิจกรรมที่ใกล้ชิด
          วิถีใหม่ของรัฐ คือ 1. ทำหน้าที่ติดตามรายสัมผัสผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยง มาแยกมากัก 2. แพลตฟอร์มไทยชนะ การลงทะเบียน ผู้ประกอบการ และประชาชน 3. คู่มือการปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุข 4. หน่วยงานพื้นที่ตรวจสอบ กำกับ 5. สายตรวจ จากตำรวจ ทหาร สาธารณสุข
          “วิถีใหม่ในวิกฤตโควิด คือ วิถีเศรษฐกิจพอเพียง นำมาใช้ในเรื่องโควิดได้เป็นอย่างดี เศรษฐกิจจะดำเนินไปได้ ต้องมีมาตรการผ่อนปรนที่พอดี หากเข้มเกินไปเศราฐกิจก็ไปไม่ได้ หากจะเอาเศรษฐกิจ โรคก็จะระบาดแทน เป็นความพอดีพอเพียงตามสถานการณ์ บางช่วงอาจต้องเข้ม บางช่วงอาจไม่ต้องเข้ม มาตรการอย่างอื่นอาจมาหนุนเสริมเข้ามา” นพ.บัญชา กล่าว
          ห่วงติดโควิดในที่ทำงาน
          นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ผู้ป่วยรายใหม่วันนี้ 3 รายนั้น พบว่า 2 รายเป็นการติดในที่ทำงานเดียวกัน จากกลุ่มที่ทำงานที่เคยรายงานไปก่อนหน้านั้น 4 ราย แต่ทั้งสองรายนี้มีอาการน้อยมาก โดยการติดในที่ทำงานนั้น มีโอกาสละเลยการเว้นระยะห่างต่อกัน หรือการไม่สวมหน้ากากตลอดเวลา เพราะคิดว่าปลอดภัย อาจใกล้ชิดในช่วงทำงานหรือรับประทานอาหารด้วยกัน การสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่างยังเป็นสิ่งสำคัญ
          นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า คนออกมานอกบ้านถือว่ามีความเสี่ยง หลังจากเปิดห้างสรรพสินค้าวันแรก จะเห็นคนเดินห้างกันจำนวนมาก บางห้างมีความแออัดสูงมาก ย้ำว่า การ์ดต้องไม่ตก ยังต้องสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง หากเห็นว่าแออัดไม่ควรเข้าไป ช่วงหลังจะพบว่า คนที่ติดเชื้อหลายคนเป็นผลบวกทั้งที่มีอาการน้อยถึงไม่มีอาการ ถึงบอกว่าคนทั่วไปเดินอยู่อาจไม่รู้ การไปเบียดเสียดในห้าง เราไม่รู้ว่าใครมีเชื้อ จึงอาจติดเชื้อกันได้
          เตือนฝนทำไข้เลือดออกปะทุ
          นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า ไวรัสโควิด-19 ถือเป็นเรื่องใหม่ หลายเรื่องยังไม่รู้ชัดเจน ต้องตั้งสมมติฐาน โดยเทียบเคียงกับโรคอื่น เช่น ซาร์ส เมอร์ส เป็นต้น อย่างความสามารถในการรอดชีพของไวรัสในสิ่งแวดล้อม มีสมมติฐานว่า ขึ้นอยู่กับความร้อนและความชื้น จึงมีคนตั้งสมมติฐานว่า ช่วงหน้าฝน ซึ่งบ้านเราจะมากับความร้อน แสดงว่า อุณหภูมิสูง มากับความอ้าว และความชื้นสัมพัทธ์ที่สูง ทำให้อุณหภูมิลดลงไปส่วนหนึ่ง ความชื้นที่สูงทำให้ไวรัสอยู่ได้นานขึ้นในฤดูฝน
          นพ.อนุพงศ์ เผยอีกว่า นั่นเป็นสมมติฐานตามความรู้ที่เรายังไม่มีโดยตรงกับตัวโควิด-19 แต่สิ่งที่เรากังวล คือ ช่วงหน้าฝนของไทยเรามีโรคประจำถิ่น ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ซึ่งมักมาด้วยอาการไข้เฉียบพลัน ถ้าโรคทางเดินหายใจอย่างไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 อาจมาอาการคล้ายกัน แต่การดำเนินของโรคไปจนถึงปอดอักเสบนั้น ไข้หวัดใหญ่อาจจะช้ากว่า และมักเป็นในกลุ่มเสี่ยง ส่วนโควิด-19 มาด้วยไข้ 60% แต่มีเรื่องของปัจจัยเสี่ยง เช่น สัมผัสกับคนป่วย ไปในพื้นที่แออัด
          “แพทย์ต้องตระหนักช่วงฤดูฝน อาจเจอโควิดได้ ไข้หวัดใหญ่ได้ ทั้งนี้ หากการตรวจพีซีอาร์โควิด-19 ออกเป็นผลลบ ต้องไม่ลืมทำพีซีอาร์ของไข้หวัดใหญ่ด้วย เพื่อแยกว่าเป็นสายพันธุ์ เอ บี เพื่อรักษาให้ถูกต้อง จะได้ให้ยาได้ถูก ส่วนประชาชนการใส่หน้ากาก ล้างมือ อยู่ห่างช่วยป้องกันได้ ไข้เลือดออกป้องกันได้โดยทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย” นพ.อนุพงศ์ กล่าว
          สั่งผู้ว่าฯจว.รายงานปัญหา
          เฟซบุ๊ก กระทรวงมหาดไทย PR ระบุว่า ศบค.มท. สั่งการทุกจงหวัดปฏิบัติตามข้อกำหนดฯและคำสั่ง ศบค. โดยเคร่งครัด พร้อมให้รายงานผลการปฏิบัติงานปัญหา-ข้อแนะนำอย่างต่อเนื่อง
          โดยเมื่อช่วงดึกเมื่อ 17 พ.ค. 63 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) เปิดเผยว่า ด้วย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มีข้อกำหนดและคำสั่ง จำนวน 2 ฉบับ คือ
          1. ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 7) ลงวันที่ 15 พ.ค. 2563 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ 1) การห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 23.00 - 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น และให้ข้อยกเว้นตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 10 เม.ย. 2563 ยังคงใช้บังคับต่อไป
          2) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผว.กทม.) หรือผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) มีอำนาจพิจารณาผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เฉพาะการให้ความช่วยเหลือเด็กกำพร้า เด็กยากไร้ หรือเด็กด้อยโอกาส หรือเพื่อกิจกรรมอันเป็นประโยชน์สาธารณะ โดยยังงดเว้นการใช้เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ หรือการฝึกอบรม
          3) การผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ ภายใต้การดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งการจัดระเบียบและระบบต่างๆ ให้สถานที่หรือการดำเนินกิจกรรมที่ ผว.กทม. และ ผวจ. เคยมีคำสั่งปิดสถานที่ไว้เป็นการชั่วคราว ตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 1 พ.ค. 2563 สามารถเปิดดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างเพิ่มเติมได้ทั่วราชอาณาจักรตามความสมัครใจและความพร้อม
          4) ให้เจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ตาม 3) มีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งจัดระเบียบตามคำแนะนำ เงื่อนไข และเงื่อนเวลาที่ ผว.กทม. ผวจ. หรือที่ทางราชการกำหนด ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจสอบ แนะนำ ตักเตือน ห้ามปราม หรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามกฎหมาย
          5) ให้ ผว.กทม. และ ผวจ. อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มีคำสั่งปิดสนามชนโค สนามกัดปลา หรือสนามการแข่งขันอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันเพิ่มเติม รวมทั้งดำเนินการอื่นใดให้สอดคล้องกับข้อกำหนดนี้ และ
          2. คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 3/2563 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ. ศ. 2548 (ฉบับที่ 2) ให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคโดยเคร่งครัด
          นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด รับทราบ ถือปฏิบัติ และออกคำสั่ง ตามข้อกำหนดฯ และคำสั่งฯ ทั้ง 2 ฉบับ โดยเคร่งครัด และไม่ต้องเพิ่มเติมกิจการ/กิจกรรมใด ๆ แต่อาจเสริมมาตรการในทางปฏิบัติได้ และให้สร้างการรับรู้ตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามคำสั่งฯ แก่ผู้ประกอบการ พนักงาน ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกระดับ
          ทั้งนี้หากผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาและมีความเห็นจะดำเนินการอื่นใดต่างไปจากข้อกำหนดฯ ให้รายงาน ศบค.มท. เพื่อจะได้รายงาน ศบค. เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในการตรวจสอบ และให้ทุกส่วนงานของ ศบค. ได้รับทราบ ก่อนดำเนินการ เพื่อประสานการปฏิบัติไม่ให้เกิดความลักลั่นรวมทั้งไม่ให้เกิดความสับสนต่อประชาชน และผู้ปฏิบัติงานได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ทั้งนี้ ให้รายงานผลการปฏิบัติงาน ปัญหา/อุปสรรค และข้อแนะนำมายัง ศบค.มท. ต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน
          เรียนออนไลน์แค่ทดลอง
          นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ชี้แจงถึงการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์นั้น เป็นการแก้ปัญหาในช่วงรอการเปิดเรียนในเดือนก.ค.63 เมื่อสถานการณ์ โควิด-19 ดีขึ้นก็จะกลับมาเรียนในห้องเรียนตามปกติ
          ส่วนปัญหาต่างๆ เช่น การเข้าไม่ถึงระบบ ค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์ ภาระการดูแลของผู้ปกครอง และความรับผิดชอบของผู้เรียนที่จะต้องมีวินัยติดตามการเรียนด้วยตนเอง นั้น รัฐบาลจะได้นำมาพิจารณาและแก้ปัญหาอย่างละเอียดรอบคอบ โดยเบื้องต้นจะมุ่งไปที่การลดเวลาเรียนในห้องเรียน ความพร้อมของผู้ปกครอง รวมทั้งการลดภาระการส่งเด็กไปโรงเรียน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจรอีกทางหนึ่งด้วย
          ทั้งนี้ ได้มอบหมายหน่วยงานด้านการศึกษาเร่งทำชี้แจง ทำความเข้าใจต่อข้อกังวลของประชาชน และผู้ปกครอง ซึ่งต้องขอความร่วมมือช่วยกันผ่านช่วงนี้ไปก่อน จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 ยุติลง
          คลายล็อกปริมาณรถเพิ่ม
          พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยวา หลังมาตรการผ่อนคลายระยะ 2 พบว่าภาพรวมการจราจรทั่วกรุงเทพมหานคร มีปริมาณรถอยู่ที่ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้ ที่มีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าช่วงเดือนมิถุนายน 2563 การจราจรจะกลับมา 100 เปอร์เซ็นต์
          พล.ต.ต.จิรสันต์ ระบุด้วยว่า ระยะนี้เป็นช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน กองบัญชาการตำรวจนครบาลจึงวางแผนร่วมกับกรุงเทพมหานคร เตรียมความพร้อมรับมือการจราจร ทั้งการเร่งพร่องน้ำ ลอกท่อ เพื่อไม่ให้มีปัญหาน้ำท่วมขังบนพื้นผิวจราจร และกำชับให้ทุกสถานีตำรวจจัดชุดเฉพาะกิจเตรียมอุปกรณ์ทั้งรถยก และอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับเข้าช่วยเหลือ และนำรถที่เสีย หรือประสบเหตุออกจากพื้นผิวการจราจรไว้ให้พร้อมใช้งาน
          หมอชี้ดื่มสุราเสี่ยงโควิด
          แพทย์หญิง พันธุ์สภา กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง ผลกระทบจากพฤติกรรมการดื่มสุรา หรือการดื่มแอลกอฮอล์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า การดื่มสุรานอกจากส่งผลกระทบด้านร่างกายและสุขภาพจิตแล้ว จากการสำรวจยังพบว่าการดื่มสุราเป็นปัญหาด้านการสูญเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย
          ทั้งนี้ได้แบ่งพฤติกรรมการดื่มสุราออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ ร้อยละ 60 ไม่ดื่มสุรา ดื่มแบบเสี่ยง ซึ่งกังวลมากในกลุ่มนี้ เพราะเมื่อดื่มสุราแล้วมีบางคนไปขับรถ ดื่มแบบอันตราย ซึ่งกลุ่มนี้จะสร้างผลกระทบต่อการทำงานของตัวเอง สร้างความรุนแรงต่อครอบครัว ดื่มแบบติด และดื่มแบบติดรุนแรง
          กลุ่มผู้ดื่มสุราทั้งหมดนี้ต้องได้รับการดูแล เนื่องจากในภาวะการแพร่ระบาด บุคคลที่ดื่มสุราถือว่ามีโอกาสติดเชื้อมากที่สุด เช่น หากดื่มหนักหรือมีอาการติดสุรา เม็ดเลือดขาวในปอดจะถูกทำลายและเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสมากถึง 3-7 เท่า มีโอกาสเข้า ICU มากกว่าคนปกติถึงร้อยละ 60 หากป่วยติดเชื้อไวรัส หากเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสและป่วยเป็นไข้หวัดได้ง่ายถึงร้อยละ 30 และหญิงตั้งครรภ์หากดื่มสุราจะมีความเสี่ยงมากถึง 2.9 เท่า
          ทั้งนี้ ยืนยันว่ายังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่าการดื่มสุราช่วยป้องกันหรือฆ่าเชื้อไวรัสได้ ในทางกลับกัน การดื่มสุราทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง โอกาสติดเชื้อไวรัสง่าย หรือหากติดเชื้อไวรัสแล้วโอกาสการหายดีก็น้อยกว่าคนปกติ
          ยังไม่ปลดเพิ่มปท.เสี่ยง
          นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการพิจารณายกเลิกการประกาศท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 พ.ศ.2563 เพิ่มเติม ว่า ผู้ที่จะเสนอให้ปลดรายชื่อประเทศคือคณะกรรมการด้านวิชาการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งมีเกณฑ์พิจารณา สามารถปรับเพิ่มหรือลดได้ หากประเทศไหนมีความเสี่ยง
          ส่วนที่ว่าหากประเทศเกาหลีใต้และจีนกลับมามีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นหลักร้อย จะกลับไปอยู่ในประเทศเขตโรคติดต่ออีกหรือไม่นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ทุกอย่างมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ขณะนี้ไม่ต้องกังวล เพราะยังมีมาตรการห้ามการเดินทางเข้ามาของสายการบิน

สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved