Follow us      
  
  

สยามกีฬา [ วันที่ 15/02/2564 ]
ผวาไวรัสระบาด หลายแห่งกทม. ปทุมธานีปิดรร. หลังเชื้อกระจาย

สถิติผู้ติดเชื้อไวรัสโควิส-19 ทั่วโลก
          (ล่าสุดวันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564)
          ติดเชื้อทั่วโลก : 109,150,081 คน
          เสียชีวิต : 2,406,517 คน/รักษาหาย 81,194,443 คน
          ติดเชื้อในไทย : 24,51 คน/เสียชีวิต : 80 คน
          วันที่ 14 ก.พ. 54 ติดเพิ่ม : 166 คน
          ศบค.แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในไทย ประจำวันที่ 14 ก.พ. 64 พบติดเชื้อเพิ่ม 166 ราย ยอดป่วยยืนยันสะสม 24,571 ราย รักษาหายอีก 931 ราย ขณะที่ปทุมธานีประกาศปิดโรงเรียนพื้นที่เทศบาลนครรังสิต ตั้งแต่วันที่ 15-19 ก.พ. 64 และให้มาเรียนตามปกติในวันที่ 22 ก.พ. 64 หลัง ถูกโควิด-19 เล่นงาน ด้านกระทรวงวัฒนธรรม เผยผลโพลวาเลนไทน์ปี 64 มากที่สุดอยากมอบความรักให้พ่อแม่ รองลงมาคือคนรัก สิ่งที่อยากมอบให้ต่อกกุหลาบ พวงมาลัย หน้ากากอนามัย ยอมห่างกันสักพักให้รักเท่าเดิม เพื่อปลอดภัยจากโควิด-19 ขณะที่สวนดุสิตโพลสอบถามความเห็นประชาชน ชัดเจ้าหน้าที่บกพร่อง กฎหมายหละหลวม ต้นตอแรงงานเถื่อนลอบเข้าไทยจนเกิดโควิดระบาดรอบ 2 ควรทำหน้าที่อย่างเคร่งครัด มีบทลงโทษรุนแรงพวกรับผลประโยชน์ สะท้อนให้เห็นการทุจริตคอร์รัปชัน ฟากโฆษกรัฐบาลย้ำ ไทยไม่ได้สิทธิ์รับวัคซีนโควิด-19 ฟรี จาก "โคแวกซ์" เหตุเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ชี้เจรจากับผู้ผลิตโดยตรงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่าลั่นคำนึงประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก
          ไทยติดเชื้อใหม่166ราย
          เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 14 ก.พ. 2564 แฟนเพจเฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งดรงกับวันวาเลนไทน์ มียอดผู้ป่วยรายวันเพิ่มขึ้น 166 ราย
          สำหรับการติดเชื้อในประเทศ แบ่งเป็น 138 ราย "ติดเชื้อจากต่างประเทศ 28 ราย รักษาหายเพิ่มขึ้น 931 ราย กลับบ้านแล้ว 21,111 รายอยู่ระหว่างรักษาตัว 2,380 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 80 ศพ ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 24,571 ราย นับเป็นรายที่ 24,406-24,571  ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 114 ของโลก
          ด้านผู้ป่วยรายใหม่ จากระบบเฝ้าระวังOและระบบบริการ 49 รายค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 89 ราย ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้า State Quarantine 28 ราย
          ส่วนผู้ติดเชื้อ 166 รายใหม่ แบ่งเป็นผู้ป่วยรายใหม่ จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 49ราย ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 89 รายและผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้า State Quarantine 28 ราย
          เชือกทม.กระจายหลายจุด
          กทม. รายงานยอดผู้ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. 63 - 13 ก.พ. 64 รวม 912 ราย จากการสอบสวนโรคผู้ติดเชื้อถึงวันที่ 12 ก.พ. 64 (905 ราย)เป็นคนต่างจังหวัดที่แอดมิต รพ. ในพื้นที่ กทม. 180 ราย และเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ กทม. 725 ราย
          ส่วนการติดเชื้อในประเทศ ส่วนใหญ่มาจากการสัมผัสผู้ป่วยยืนยันที่เป็นคนในครอบครัวหรือจากคนในที่ทำงาน การไปสถานบันเทิง/สถานที่ชุมชน และการตรวจเชิงรุกในตลาด และชุมชนโดยแถลงไทม์ไลน์ไปแล้ว 860 ราย และวันนี้มีไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อที่อยู่ใน กทม. ซึ่งได้สอบสวนโรคเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพิ่มอีก 16 ราย
          อย่างไรก็ตาม สำหรับการแจ้งข้อมูลการสอบสวนโรค จะรายงานข้อมูลที่ไม่พาดพึงถึงบุคคลก่อนที่จะได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล ทั้งนี้เป็นตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 10
          ปทุมฯสั่งปิดหลายโรงเรียน
          จากสถานการณ์โควิดใน จ.ปทุมธานี ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดสำคัญทำให้จำนวนมากยังเพิ่มมากขึ้นไม่หยุด จนทำให้ต้องปิดบางพื้นที่
          ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 64 เทศบาลนครรังสิต ประกาศแจ้งปิดสถานศึกษาในสังกัดเทศบาลนครรังสิตทั้ง 12 แห่ง เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 15 ถึงวันศุกร์ที่ 19 ก.พ. 2564 และให้มาเรียนตามปกติในวันจันทร์ที่ 22 ก.พ. โดยในระหว่างปิดสถานศึกษาให้จัดการเรียนการสอนออนไลน์ และให้ผู้ปกครองและนักเรียนปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคของรัฐอย่างเคร่งครัด โดยหากมีประวัติเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงหรือสัมผัสกลุ่มผู้มีความเสี่ยง ให้กักตัว และแจ้งเจ้าหน้าที่
          สำหรับสถานศึกษาในสังกัดเทศบาลนครรังสิต ประกอบด้วย โรงเรียนนครรังสิต สิริเวชชะพันธ์ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กๆ โรงเรียนนครรังสิตรัตนโกสินทร์ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ โรงเรียนนครรังสิต เทพธัญญะอุปถัมภ์ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ โรงเรียนนครรังสิต เทพธัญญะอุปถัมภ์ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ โรงเรียนนครรังสิต เปรมปรีดิ์ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ โรงเรียนเพียรปัญญาและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ สินสมุทร ศูนย์พัฒนาเด็กเด็กฯ เอื้ออาทรรังสิต โรงเรียนดวงกมล โรงเรียนมัธยมนครรังสิต
          โพลวาเลนไทน์กังวลโควิต
          นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่ากระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชน และ    ประชาชนที่มีต่อ "วันแห่งความรักในสถานการณ์โควิด-19" (14 กุมภาวันวาเลนไทน์) จากกลุ่มตัวอย่างทุกอาชีพ 4,403 คน ครอบคลุมทั่วประเทศ
          ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่า เด็ก เยาวชน และประชาชน ร้อยละ 48.29 ให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์พอ ๆ กับทุกปีที่ผ่านมา รองลงมาร้อยละ 25.03 ไม่ได้ให้ความสำคัญ ร้อยละ 11.49 ให้ความสำคัญน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา ร้อยละ 8.31 ให้ความสำคัญมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา และร้อยละ 6.88 ให้ความสำคัญมากที่สุด
          ส่วนบุคคลที่ผู้ตอบแบบสอบถามอยากมอบความรักหรือส่งความรู้สึกที่ดีหรือให้สิ่งของในวันวาเลนไทน์ ร้อยละ 70.13 คือพ่อแม่ ผู้ปกครองรองลงมา ร้อยละ 38.50 คนรัก แฟน, ร้อยละ 38.00 เพื่อน, ร้อยละ 27.69 ครูอาจารย์ ผู้มีพระคุณ, ร้อยละ 22.44 บุตร หลาน, ร้อยละ 22.44 สามี ภรรยา ร้อยละ 17.53 ญาติ, ร้อยละ 15.60 เพื่อนร่วมงาน, ร้อยละ 10.02 เจ้านาย ผู้บังคับบัญชา, ร้อยละ 6.65 ลูกน้อง ผู้ใต้บังคับบัญชา, ร้อยละ 6.54 ศิลปินดารา นักแสดงและคนดัง เช่น ณ เดชน์ ญาญ่า ศิลปินเกาหลีวง BTS วง NCT และร้อยละ 2.63 อื่น ๆ คือ ตัวเราเอง เด็กด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ
          ส่วนสิ่งที่อยากมอบให้แฟน คนรัก พ่อแม่ ครอบครัวมากที่สุดในวันวาเลนไทน์ปีนี้ 5 อันดับแรก ได้แก่ ร้อยละ 44.47 ดอกกุหลาบ พวงมาลัย, ร้อยละ 39.02 หน้ากากอนามัย, ร้อยละ 29.46 บอกรักด้วยคำพูด, ร้อยละ 29.21 แอลกอฮอล์เจลสเปรย์, ร้อยละ 23.12 บอกรักผ่านสื่อโซเชียล
          สำหรับกิจกรรมที่จะทำเพื่อฉลองวันวาเลนไทน์กับคนรักในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 ได้แก่ ดูภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ ใช้เวลาอยู่ร่วมกันกับคนในครอบครัว, ชื่อของขวัญเพื่อมอบให้แก่คนที่เรารัก, ทำบุญตักบาตรกับคนรัก/คนในครอบครัว, ทำอาหารรับประทานร่วมกันกับคนรักที่บ้าน และบอกรักผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ส่วนเรื่องที่อยากให้เกิดขึ้นในวันวาเลนไทน์ปีนี้มากที่สุดคือ การแสดงความรัก ความห่วงใยต่อพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ครูอาจารย์และเพื่อน ๆ ด้วยความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน, อยากให้ครอบครัวได้มีเวลาอยู่ร่วมกันมากขึ้น, อยากให้สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น, อยากให้ทุกคนแสดงความห่วงใยและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และได้รับของขวัญจากคนที่รัก
          ขณะที่ผลสำรวจสอบถามถึงผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ต่อวันวาเลนไทน์พบว่า ร้อยละ 56.69 เห็นว่าไม่มีผลกระทบ รองลงมาร้อยละ 32.55 มีผลกระทบ และร้อยละ 10.77 ไม่แน่ใจ เมื่อสอบถามหากเกิดผลกระทบ เกิดด้านใดต่อตัวเองมากที่สุด พบว่า ร้อยละ 49.67 กิจวัตรประจำวันที่เคยทำประจำเปลี่ยนไปจากเดิม รองลงมาร้อยละ 20.28 ความสัมพันธ์ในความรักน้อยลง ร้อยละ 16.43 โควิด-19 ก็กลัว แฟน คนรัก ก็อยากเจอ และร้อยละ 13.61 ความเอาใจใส่ มีเวลาให้กันน้อยลง
          ขณะที่วิธีป้องกันตัวเองเพื่อให้เหมาะสมและปลอดภัยจากสถานการณ์โควิด-19 ใน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ห่างกันสักพักให้รักเรายังเท่าเดิม 2. ให้กำลังใจกันเสมอถ้าอีกฝ่ายอยู่ในความเครียด 3. อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อคนที่คุณรัก 4. Social Distancing และ 5. แชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้อีกฝ่ายรับรู้ถึงความรักห่วงใย
          นอกจากนี้ ผลสำรวจสอบถามเรื่องภาครัฐและกระทรวงวัฒนธรรมควรจัดกิจกรรมใดบ้างเพื่อสร้างค่านิยมที่ดีในวันวาเลนไทน์ในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า ไม่ควรจัดเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น หากจัดกิจกรรมควรมีกิจกรรม เช่น การรณรงค์บอกรักผ่านสือออนไลน์ เกมออนไลน์ที่ส่งเสริมและความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมวันแห่งความรัก หรือการแสดงความรักอย่างถูกวิธี
          ดุสิตโพลชัดจนท.รัฐต้นตอระบาด
          วันที่ 14 ก.พ. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "แรงงานเถื่อนกับโควิด-19" จำนวน 1,295 คน พบว่า สาเหตุของปัญหาแรงงานเถื่อนลักลอบเข้าประเทศ จนทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด คือความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ ร้อยละ 72.14 และร้อยละ 71.21 กฎหมายหละหลวม ไม่เอาผิดจริงจังบทลงโทษไม่รุนแรง
          ส่วนสิ่งที่ควรเร่งดำเนินการ เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่อย่างเคร่งครัด ร้อยละ 68.32 และร้อยละ 67.39 ต้องมีบทลงโทษที่รุนแรงกับเจ้าหน้าที่รัฐที่รับผลประโยชน์ นำแรงงานเถื่อนเข้าประเทศ
          ส่วนกรณีที่กระทรวงแรงงาน "เปิดลงทะเบียนผ่อนผันแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ" เป็นการช่วยให้แรงงานทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย ร้อยละ 63.81 และร้อยละ 62.96 ทำให้มีฐานข้อมูล รู้จำนวนแรงงานต่างด้าวที่ชัดเจน โดยมาตรการที่ควรช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวเพื่อป้องกันโควิด ควรตั้งจุดคัดกรองในชุมชนและสถานประกอบการ ร้อยละ 60.71 และร้อยละ 59.08 ควรตรวจโควิดให้กับแรงงานต่างด้าวทุกคน
          จากบทเรียนสำคัญที่ได้รับ สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ร้อยละ 68.71 และร้อยละ 66.85 เห็นว่าปัญหาแรงงานเถื่อนสะสมมายาวนาน ควรแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
          น.ส.พรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุจากผลการสารวจเห็นว่าปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่นี้ เกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่รัฐที่ปล่อยให้มีการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายของแรงงานต่างด้าว โดยควรมีการใช้กฎหมายและมีบทลงโทษอย่างรุนแรง มีมาตรการเชิงรุกในการป้องกันโควิดสำหรับกลุ่มแรงงานต่างด้าว และต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นแล้วปัญหานี้อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศก็เป็นได้
          ด้าน ผศ.ดร.พรภัทร อินทรวรพัฒน์ รองผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเป็นรอยแผลของสังคมไทยที่เริ่มเห็นชัดเจนขึ้นจากการระบาดของไวรัสโควิด รอบที่ 2 ดังนั้นรัฐบาลไทย โดยเฉพาะกระทรวงแรงงานและหน่วยงานฝ่ายปกครอง ต้องเทางานเชิงบูรณาการเพื่อจัดการปัญหาอย่างเข้มข้นและจริงจัง ต้องลงโทษผู้กระทำผิดให้เป็นบทเรียนที่คนจดจำ ไม่ว่าจะคนของรัฐ ผู้ประกอบการ และนายหน้า ที่ไร้จิตสำนึกด้านสิทธิมนุษยชนและนำพาประเทศเข้าสู่วิกฤติ
          นอกจากนี้รัฐต้องดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานต่างด้าวให้พ้นจากความเสี่ยงของการระบาดระลอกใหม่ พร้อมกับการดูแลความอยู่รอดทางธุรกิจของสถานประกอบการที่ทำถูกกฎหมาย สื่อสารมวลชนและประชาชนก็ต้องคอยติดตามปัญหานี้
          "อย่าปล่อยให้เลยผ่าน สุดท้ายคนไทยต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมพหุวัฒนธรรม ไม่โยนความผิดให้กับแรงงานต่างด้าวที่ต้องดิ้นรนเลี้ยงชีวิตเพราะทุกวันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่า แรงงานต่างด้าวเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย"
          รัฐโต้ปมไม่ได้วัคซีนโคแวกซ์
          เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีมีกระแสข่าวว่า ไทยตกขบวนรับวัคซีนโควิด-19 ฟรีจากโครงการโคแวกซ์ หรือ COVAX (Covid-19 Vaccines Global Access Facility หรือโครงการเพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ระดับโลก) ว่าโครงการ COVAX เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations: CEPI), องค์กรกาวี (Gavi, the Vaccine Alliance) และองค์การอนามัยโลก ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างเท่าเทียมกัน
          ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ส่งหนังสือแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมตั้งแต่ช่วงต้นของโครงการแล้ว แต่เนื่องจากกรอบการจัดสรรวัคซีนและข้อตกลงการจองวัคซีนที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลกในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงต้นของการพัฒนาวัคซีนทั้งสิ้น
          ซึ่งหมายความว่าแม้ว่าทำการจองไปแล้วจะยังไม่ทราบว่าวัคชีนที่จองไปแล้วนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ การตัดสินใจของรัฐบาลเป็นการตัดสินใจอย่างรอบคอบท่ามกลางข้อจำกัดและบริบทหลายด้าน ผ่านคณะทำงานที่กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งขึ้น ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทั้งในและนอกกระทรวง ทั้งด้านวิชาการ กฎหมาย การเงิน เพื่อร่วมกันพิจารณาเงื่อนไขของการทำข้อตกลงสั่งจองวัคซีน จึงเป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานระหว่างผลประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพราะอาจจะไม่ได้รับวัคซีนหากการพัฒนาไม่สำเร็จ ล่าช้า และจำเป็นต้องเสียเงินค่าจองล่วงหน้า
          นอกจากนี้ หากประเทศในอาเซียนที่จัดอยู่ในระดับที่มีรายได้ปานกลางจนถึงระดับสูง อย่างเช่น ไทย บรูไน สิงคโปร์ และมาเลเซีย จะไม่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือให้ได้รับวัคซีนฟรี หรือให้ซื้อได้ในราคาถูกจากโครงการ COVAX เนื่องจากรายได้ของไทยอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งมี 6 ประเทศในอาเซียนที่ได้รับวัคซีนฟรี ได้แก่ กัมพูชา, อินโดนีเซีย, ลาว, เมียนมา, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
          ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้ประเทศไทยหากต้องการเข้าร่วมโครงการการจัดซื้อจัดหาวัคซีนผ่าน COVAX จะต้องจ่ายเงินซื้อวัคซีนเองด้วยงบประมาณที่สูงและมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก โดยเป็นการจ่ายเงินจองล่วงหน้าไปก่อนแต่ไม่ทราบแหล่งที่มาของผู้ผลิต และไม่สามารถระบุวันเวลาที่แน่ชัดสำหรับการรับวัคซีนด้วย
          *เมื่อพิจารณาถึงข้อจำกัดที่มีทั้งหมดในการเข้าร่วมโครงการ COVAX แล้ว การที่ประเทศไทยทำความตกลงซื้อวัคซีนโควิด-19 จากผู้ผลิตโดยตรงจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ เนื่องจากมีความยืดหยุ่นกว่า สามารถต่อรองราคาและเงื่อนไขได้โดยตรงกับผู้ผลิต ยืนยันว่าเมื่อคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนไทยเป็นหลักรัฐบาลไม่ปิดกั้นการเจรจากับที่ใดหาก COVAX ปรับเงื่อนไขรวมถึงข้อเสนอต่าง ๆ ซึ่งหากไทยเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็ยังสามารถทำข้อตกลงผ่าน COVAX ได้ในอนาคต"
          ป่วยโลกทะลุ109ล้านคน
          เว็บไซต์ worldometers รายงานตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วโลก ประจำวันที่ 14 ก.พ. 64 โดนระบุยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สะสมทั่วโลก ณ เวลา 17.30 น. (เวลาไทย) อยู่ที่จำนวน 109,150,018 คน เสียชีวิตแล้ว 2,406,517 คนและรักษาหายแล้ว 81,194,443 คน
          ด้านชาติที่มียอดผู้ป่วยโควิด-19 สูงสุด 5 อันดับแรกของโลก มีดังนี้ อันดับ 1 สหรัฐอเมริกา 28,196,964 คน, อันดับ 2 อินเดีย 10,904,940 คน, อันดับ 3 บราซิล 9,811,255 คน, อันดับ 4 รัสเซีย 4,071,883 คน และอันดับ 5 สหราชอาณาจักร 4,027,106 คน

 pageview  1210888    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved