Follow us      
  
  

สยามกีฬา [ วันที่ 05/07/2564 ]
โพลชี้โควิดทำศก.พัง แนะหาวัคซีนคุณภาพ ชงผ่อนก่อสร้างบางที่ ป่วยเพิ่ม5,916ดับ44

 ศบค. รายงานสถานการณ์โควิด-19 วันที่ 4 ก.ค. 64 ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังน่าเป็นห่วง ป่วยเพิ่มอีก 5,916 ราย เสียชีวิตอีก 44 ศพ ยอด ป่วยยืนยันสะสม 283,067 ราย อาการหนัก 2,147 ราย หายป่วยเพิ่มอีก 3,404 ราย ทีมหมอศบค. ย้ำเร่งหาวัคซีนหลากยี่ห้อ โมเดอร์นาแจ้งส่ง เร็วไตรมาส 4 ปีนี้ วางแผนเซ็นต้นส.ค. ส่วนเลขาฯ สมช. ทำหนังสือนายกฯ ขออนุมัติผ่อน คลายก่อสร้างบางประเภท จำพวกล่าช้าจะเสียหาย ด้านความปลอดภัยจราจร สถานที่ควบคุมโควิด และขอเคลื่อนย้ายแรงงานยามจำเป็น ให้ผู้ว่าฯ พิจารณา ให้ประชาสัมพันธ์ไม่ห้ามก่อสร้างขนาด เล็ก สวนดุสิตโพลเผย คนไทยส่วนใหญ่ 91.95 % มองโควิด-19 ทำลายเศรษฐกิจ คนตกงาน 66.05 % รัฐบาลดำเนินการไม่ถูกทาง แนะเร่งจัดหาวัคซีน คุณภาพ ให้เอกชนร่วม 87.25 % ให้กรมควบคุม โรคเป็นผู้นำบริหารจัดการ อยากให้นักการเมือง ทุ่มเทนึกถึงประชาชน ค้านฉีดไฟเซอร์ที่คาดเข้าไทย ก.ค. 1.5 ล้านโดส เป็นวัคซีนเข็มที่ 3 ให้แพทย์ แต่เห็นชอบควรฉีดเป็นเข็มที่ 1 ให้ผู้มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป หรือหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ขึ้นไป ในพื้นที่ระบาดรุนแรง "กทม.-ปริมณฑล พบนักกีฬาเซอร์เบียติดเชื้อโควิด-19 เป็นชาติที่ สอง หลังเดินทางถึงแดนปลาดิบเพื่อเตรียมตัวลุย โอลิมปิก ทำให้แผนการฝึกซ้อมต้องหยุดชะงัก ด้านยอดผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงโตเกียว ยังพุ่งต่อ เนื่องก่อนการแข่งขันโอลิมปิกเพียงไม่กี่สัปดาห์ขณะเดียวกันพบช่างภาพข่าวโอลิมปิกติดโควิดเข้าสัมภาษณ์นักกีฬาด้วย
          ป่วยวิกฤตติดอีก 5,916 คน
          เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 4 ก.ค.2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน ประเทศไทย โดยระบุตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันยังน่าเป็นห่วง พบป่วยเพิ่มอีกถึง 5,916 ราย เสียชีวิตอีก 44 ศพ ยอดป่วยยืนยันสะสม 283,067 ราย ส่วนที่อาการหนัก 2,147 ราย
          สำหรับรายละเอียดการติดเชื้อใหม่ มีติดเชื้อในประเทศ 5,871 ราย ติดเชื้อในเรือนจำ/ ที่ต้องขัง 39 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 6 รายรักษาหายเพิ่มขึ้น 3,404 ราย กลับบ้านแล้ว220,903 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 59,938 ราย แบ่งเป็นในโรงพยาบาล 30,145 ราย และโรงพยาบาลสนาม 29,793 ราย ในจำนวนนี้มีอาการหนัก (ปอดอักเสบ) 2,147 ราย ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 616 ราย ผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นมา 44 ศพ ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 2,226 ศพ (ตั้งแต่ปี 2563)
          ด้านยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี
          2563 จำนวน 283,067 ราย นับเป็นรายที่ 277,512 - 283,067 ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 65 ของโลก (วานนี้อันดับ 67) ขณะที่ยอดฉีด วัคซีนป้องกันโควิด-19 สะสมของไทยอยู่ที่จำนวน 10,670,897 โดส
          คาดเซ็นโมเดอร์นาต้นส.ค.
          เมื่อ 4 ก.ค.64 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มอบหมาย นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ร่วมแถลงชี้แจงถึงแนวทางรับมือการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น รวมทั้งความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนทางเลือก เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม
          นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่าวัคซีนจะแบ่งเป็นวัคซีนที่รัฐจัดหา จะมีอยู่ 5 ยี่ห้อคือ แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค และเพิ่มเติมอีก 3 ยี่ห้อคือ ไฟเซอร์ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และสปุตนิก ไฟว์ ส่วนวัคซีนทางเลือกที่เอกชนนำเข้าเองคือ โมเดอร์นา และซิโนฟาร์ม ก่อนการระบาดใหญ่เราทำงานเชิงรุกไปตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ได้ติดต่อและแสดงความจำนงโดยตรงไปที่บริษัทโมเดอร์นา สหรัฐอเมริกา และได้รับแจ้งว่า ทางบริษัทจะส่งมาได้เร็วที่สุดในไตรมาสแรกของปี 2565 นอกจากนี้องค์การเภสัชได้ติดต่อวัคซีนอื่นอย่างน้อย 2 ยี่ห้อ ได้รับคำตอบว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะซัพพลายให้ทันในปีนี้ แต่เราก็พยายามจะติดต่อให้ได้หลายชนิด โดยยังผลิตเองในประเทศไทยด้วย
          ส่วนที่มีโรงพยาบาลเอกชน 2 แห่งระบุว่า ติดต่อซื้อวัคซีนจากบริษัทโมเดอร์นาได้โดยตรงนั้น ขอชี้แจงว่า จะต้องติดต่อผ่านบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ตัวแทนนำเข้าเท่านั้น ต่อมาวันที่ 15 พฤษภาคม ทางบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด แถลงว่า การซื้อวัคซีนจะต้องติดต่อผ่านทางภาครัฐ ทำให้องค์การเภสัชถูกมอบหมายเป็นตัวแทน ดังนั้น วัคซีนโมเดอร์นาจะมีบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ผู้นำเข้า และเป็นผู้ทรงสิทธิในการเป็นเจ้าของทะเบียน ไม่ใช่วัคซีนขององค์การเภสัช เราเป็นเพียงตัวแทนภาครัฐ จากการเจรจาได้รับทราบว่าวัคซีนโมเดอร์นาจะมาเร็วก่อน 1 ไตรมาสคือ ไตรมาส 4 ของปี 2564
          เนื่องจากวัคซีนตัวนี้ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ ทำให้ได้รับมอบช้า เพราะต้องทำงานคู่ขนานกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนที่มีโรงพยาบาลทั่วประเทศประมาณ 300 กว่าโรงพยาบาล เพื่อรวบรวมความต้องการวัคซีนและเงินมา เพื่อแจ้งว่าเป็นความต้องการวัคซีนจริงๆ ล่าสุด มีความต้องการเสนอมา 9 ล้านโดส คาดว่าจะได้รับมอบวัคซีนภายในปีนี้ 4 ล้านโดส ที่เหลือจะมาต้นปีหน้า แต่บริษัทโมเดอร์นาไม่ได้แจ้งมาว่าจะมาในวันไหน เดือนไหน นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมองค์การเภสัชยังไม่เซ็นสัญญาสักที เพราะต้องรอให้โรงพยาบาลเอกชนรวบรวมเงินมาก่อนที่จะเซ็นสัญญา หากไปเซ็นสัญญาโดยที่ความต้องการไม่มีอยู่จริง องค์การเภสัชจะรับผิดชอบไม่ไหว เพราะเป็นวัคซีนราคาแพง เราจึงได้วางแผนไว้ว่าจะเซ็นสัญญาบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ภายในต้นสัปดาห์ของเดือนสิงหาคม
          ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โควิดในปัจจุบันถือว่าน่าเป็นห่วง ระลอกล่าสุดเดือนเมษายนพบสายพันธุ์เดลต้าที่แพร่ระบาดได้เร็ว แม้ช่วงแรกจะอยู่ใน กทม.และปริมณฑล แต่ระยะหลังเข้าไปยังสถานประกอบการ ขณะนี้มีเข้าไปในชุมชนและครัวเรือนมากขึ้น ผู้ติดเชื้อแตะหลัก 2,000 รายวันที่สอง อีกทั้งคนกลับจาก กทม.ไปต่างจังหวัดมากขึ้น เมื่อมีผู้ติดเชื้อไปในพื้นที่แต่ละพื้นที่ก็เร่งสอบสวนและควบคุมโรคเพื่อจำกัดไม่ให้แพร่เชื้อต่อ ยอมรับว่าน่าเป็นห่วง
          กระทรวงสาธารณสุขมอบหมายให้กรมควบคุมโรคเป็นผู้จัดหาวัคซีน ตัวแรกคือซิโนแวค ตั้งแต่ปลายปี 2563 และได้เข้ามาช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ช่วงเดียวกับที่แอสตร้าเซนเนก้าเข้ามา หลังจากนั้นก็มีวัคซีนเข้ามาเรื่อยๆ ขณะนี้ฉีดไปแล้วกว่า 10 ล้านโดส ปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนวัคซีนในประเทศไทย 6 ชนิด อยู่ระหว่างดำเนินการคือวัคซีนไฟเซอร์ ลงนามในเอกสารไปแล้ว 2 ฉบับ คือเอกสารสัญญาไม่เผยแพร่ข้อมูลของวัคซีน และเอกสารจองวัคซีน เหลือเพียงการเซ็นสัญญาจัดซื้อ อยู่ระหว่างการตรวจของสำนักงานอัยการสูงสุด รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวเพื่อจัดเตรียมงบประมาณ แต่เนื่องจากในสัญญาการซื้อวัคซีน 20 ล้านโดสต้องรอบคอบ เงื่อนไขในสัญญาก็เหมือนกับบริษัทวัคซีนต่างๆ ที่ตั้งเงื่อนไข อาทิ ต้องมีเงินจอง ต้องจ่ายเงินล่วงหน้า กรณีวัคซีนไม่สามารถส่งมอบได้ตามกำหนดต้องไม่เสียค่าปรับ
          กรณีของไฟเซอร์ตามกำหนดคือไตรมาส 4 ต้องไม่มีค่าปรับ หากนำมาใช้มีผลข้างเคียงรัฐบาลต้องดูแล และคาดว่าสำนักงานอัยการสูงสุดจะสามารถตรวจสัญญาให้เสร็จได้ภายในวันที่ 5 กรกฎาคม หลายเรื่องเป็นข้อผูกพันต้องให้รัฐบาลเห็นชอบ กระทรวงสาธารณสุขจึงมีแผนให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันอังคารที่ 6 กรกฎาคม หากทุกฝ่ายเห็นชอบก็จะลงนามสั่งซื้อได้ หลังจากนั้นจะเจรจาส่งมอบให้เร็วขึ้น แต่หากมีความคืบหน้าเป็นข่าวดีอย่างไรจะรีบสื่อสารให้ทราบ นพ.โสภณ กล่าว
          ชงผ่อนก่อสร้างบางประเภท
          รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เพื่อขอให้พิจารณาอนุมัติในหลักการการให้อนุญาตสำหรับการก่อสร้างโครงการก่อสร้างบางประเภท และเคลื่อนย้ายแรงงานในกรณีที่มีความจำเป็น โดยเสนอขอให้มีการผ่อนคลายข้อกำหนดฉบับที่ 25 กรณีคำสั่งห้ามการก่อสร้างในโครงการก่อสร้างบางประเภท ได้แก่
          1.โครงการก่อสร้างซึ่งหากหยุดก่อสร้างในทันที หรือการดำเนินการล่าช้าอาจก่อให้เกิดความเสียหายเชิงโครงสร้างด้านวิศวกรรมจนยากต่อการแก้ไข หรือเกิดอันตรายแก่ประชาชนที่สัญจรไปมา หรือ ชุมชนโดยรอบโครงการก่อสร้างนั้น เช่น โครงการก่อสร้างใต้ดินที่มีความลึกการก่อสร้างชั้นใต้ดินที่ยังไม่ได้เทปูนปิดล้อม
          2.การก่อสร้างชั่วคราวซึ่งหยุดการก่อสร้างในทันที หรือดำเนินการล่าช้าจะได้รับความเสียหายจนเกิดอันตรายแก่ประชาชนที่สัญจรไปมา หรือชุมชนโดยรอบโครงการดังกล่าว เช่น นั่งร้าน และแบบรอการเทปูน โดยเฉพาะแผ่นพื้นที่
          3.การก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านการจราจร เช่น ไฟสัญญาณจราจร แบร์ริเออร์กั้นช่องจราจร แผ่นเหล็กปิดงานก่อสร้างบนผิวจราจร
          4.การก่อสร้างในสถานที่ก่อสร้างที่มีความเกี่ยวข้องกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ด้านสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาล สถานพยาบาล หรือ สถานที่ก่อสร้างอื่น ๆ ที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรค
          นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมพิจารณาขอผ่อนคลายคำสั่งเคลื่อนย้ายแรงงานประเภทก่อสร้างจากสถานที่พักชั่วคราว ทั้งกรณีการข้ามเขตจังหวัด หรือภายในเขตจังหวัด เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรคโควิด-19 เช่น การรักษาพยาบาล การควบคุมป้องกันโรค การตรวจสุขภาพ การตรวจวินิจฉัยและการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ ให้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการโรคติดต่อเป็นผู้พิจารณาอนุญาตโครงการก่อสร้างที่เข้าหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ประเภทข้างต้นในเขตพื้นที่ของตนเองเป็นกรณีไป
          ในที่ประชุม ศปก.ศบค.ได้พิจารณาข้อเสนอดังกล่าวแล้ว และได้ให้ความเห็นชอบในหลักการ ขณะเดียวกัน มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุข ดังนี้ เห็นสมควรให้ผ่อนคลายคำสั่งห้ามการก่อสร้างในโครงการบางประเภทตามที่ กทม.เสนอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการที่แรงงานก่อสร้างนั้นได้รับวัคซีนแล้ว โดยสามารถเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้างนั้นได้ ขณะเดียวกัน เห็นสมควรให้ผู้ว่าฯกทม. หรือผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้พิจารณาอนุญาตโครงการก่อสร้างที่เข้าหลักเกณฑ์เป็นรายๆ ไป และขอให้ กทม.และจังหวัดปริมณฑลกำกับติดตามการดำเนินการก่อสร้างโครงการที่มีความจำเป็นตามที่ได้รับการผ่อนคลายให้ดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
          โพลชี้โควิดทำเศรษฐกิจตกต่ำ
          เมื่อวันที่ 4 ก.ค. มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “"ทำอย่างไร คนไทยจึงจะเอาชนะโควิด-19 ได้”" โดยกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,744 คน สำรวจวันที่ 28 มิ.ย.- 1 ก.ค. 2564 พบว่า ส่วนใหญ่เห็นว่าโควิด-19 ทำลายเศรษฐกิจ คนตกงาน อยู่อย่างลำบาก ร้อยละ 91.95 การแก้ปัญหาของรัฐบาลยังไม่ถูกทาง ร้อยละ 66.05 ควรเร่งจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ ให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ร้อยละ 87.25 อยากให้กรมควบคุมโรคเข้ามาเป็นผู้นำในการบริหารจัดการ ร้อยละ 67.04 อยากเห็นนักการเมืองทุ่มเททำงาน คำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก ร้อยละ 86.84
          นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยว่า ในวันที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อทำสถิติสูงสุด (New high) ภาพประชาชนคนธรรมดาเฝ้ารอเตียงมากขึ้น และจำนวนคนตัดสินใจจบชีวิตมีอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินในภาวะโควิด-19 แบบ Single Command ไม่ได้ผลที่ดีเท่าใดนัก แม้จะบริหารงานแบบเน้นความยืดหยุ่น แต่ประชาชนกลับรู้สึกว่านั่นเป็นการบริหารแบบไม่วางแผนเสียมากกว่า ณ วันนี้จึงควรหยุดเล่นเกมการเมือง ให้อำนาจเต็มกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำเข้าวัคซีนที่มีคุณภาพ ใช้มาตรการเยียวยาถ้วนหน้า ดูแลทั้งภาคธุรกิจและประชาชนอย่างทั่วถึงเพื่อให้การบริหารครั้งนี้ไปถูกทางโดยเร็ว
          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดนุสรณ์ กาญจนวงศ์ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยว่า โควิด-19 ได้ยกระดับตัวเองจนยากต่อการควบคุมแก้ไขทั้งพื้นที่การระบาด ความรุนแรงและสายพันธุ์ แล้วทำอย่างไรคนไทยจึงจะชนะปัญหานี้ได้ ผลสำรวจของสวนดุสิตโพล สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น ยึดการบริหารที่เน้นผลลัพธ์มากกว่าโครงสร้าง มีแผนและวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนให้กับประชาชนกลุ่มต่างๆ ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว สลับใช้แผนระหว่างแผนมุ่งเศรษฐกิจและแผนมุ่งสังคมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในลักษณะนำ-รอง สื่อสารข้อเท็จจริงอย่างทั่วถึงเพื่อให้ประชาชนเข้าใจตรงกันและสามารถวางแผนการใช้ชีวิตต่อไปได้ แนวทางดังกล่าวแม้จะไม่ถูกใจรัฐบาล แต่ในสถานการณ์เช่นนี้จำเป็นต้องยึดหลักความถูกต้อง สร้างวุฒิภาวะทางการเมืองด้วยการเรียนรู้ปัญหาร่วมกันกับทุกฝ่าย หาทางออกที่เกิดประโยชน์แก่สังคม กู้คืนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลให้กลับคืนมา “นะจ๊ะ”
          ไฟเซอร์ 1.5 ล.โดสมาก.ค.
          เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอกสารผลการประชุมเฉพาะกิจร่วม ระหว่าง คณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะทำงานวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน เมื่อ 30 มิ.ย ณ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
          โดยผลการประชุม สรุปแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ที่คาดว่าจะนำเข้าสู่ประเทศไทยเดือน ก.ค. จำนวน 1.5 ล้านโดส ให้เน้นกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง 7 โรคในพื้นที่ระบาด ปัดตกข้อเสนอให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์กระตุ้นภูมิเป็นเข็มที่ 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์ โดยมีบางส่วนกังวล ถ้าต้องยอมรับว่าวัคซีนซิโนแวคสองเข็มไม่มีผลในการป้องกันโควิด-19
          เนื้อหาเอกสารดังกล่าวระบุโดยคาดว่า ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ในเดือนกรกฎาคม จำนวน 1.5 ล้านโดส และในไตรมาสที่สี่ รวม 20 ล้านโดส
          จากเอกสารดังกล่าว พบว่า มีการจัดทำข้อเสนอแนวทางบริหารจัดการวัคซีน ว่าควรมุ่งเน้นไปที่บุคคลสามกลุ่ม คือ 1. บุคคลอายุ 12-18 ปี 2. กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้วัคซีน ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ 3. ให้บุคลากรด่านหน้ากระตุ้นภูมิคุ้มกัน เป็นวัคซีนเข็มที่ 3
          อย่างไรก็ดี ที่ประชุมแสดงความคิดเห็นหลายแนวทาง บางส่วนเห็นว่า ควรให้กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยง หญิงตั้งครรภ์ และเน้นแก้ปัญหาที่พื้นที่ระบาดก่อน บางส่วนเห็นว่า กลุ่มบุคคลอายุ 12-18 ปี ยังสามารถรอวัคซีนจากการสั่งซื้อได้
          สำหรับประเด็นการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนเข็มที่สามเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้านั้น ในที่ประชุมส่วนหนึ่งเห็นด้วยว่า เพราะบุคลากรทางการแพทย์ถือเป็นกำลังสำคัญ ที่ปัจจุบัน แม้จะฉีดวัคซีนซิโนแวคจำนวน 2 เข็มแล้ว แต่ก็ยังติดเชื้อโควิดหลายราย แต่ก็มีความเห็นบางส่วนที่เห็นว่า ถ้านำมาฉีดเป็นวัคซีนเข็มที่ 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์ อาจถือเป็นการยอมรับว่า วัคซีนซิโนแวค ไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น
          มติที่ประชุม จึงสรุปแนวทางการใช้วัคซีนไฟเซอร์ในเดือน ก.ค. - ส.ค. 64 ระบุว่า เห็นชอบควรให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับระยะแรก จำนวน 1.5 ล้านโดส เป็นวัคซีนเข็มที่ 1 ทั้งหมดแก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป หรือหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง คือ กทม. และปริมณฑล
          นกพ.ร่วมอลป.ติดโควิด
          สำนักข่าวเกียวโด นิวส์ พบนักกีฬาเซอร์เบีย ติดเชื้อโควิด-19 เป็นชาติที่สอง หลังเดินทางถึงประเทศญี่ปุ่น เพื่อเตรียมร่วมการแข่งขันโอลิมปิกส์ 2020
          ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า พบนักกีฬาชาวยูกันดา 2 ราย ติดเชื้อโควิด-19 หลังเดินทางถึงประเทศญี่ปุ่น ถึงแม้จะได้รับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา ครบ 2 เข็มแล้วก็ตาม โดยรายแรกพบระหว่างขั้นตอนการคัดกรองเชื้อที่สนามบิน ขณะอีกรายพบหลังเดินทางเข้าที่พักแล้ว 3 วันหลังจากนั้น
          เกียวโด นิวส์ ยังระบุว่า พบนักกีฬาชาวเซอร์เบียอีกราย ที่ติดเชื้อโควิด-19 หลังเดินทางถึงสนามบินนาริตะ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยรายงานได้ปกปิดชื่อนักกีฬาที่ติดเชื้อ และมีการระบุแค่ว่า เป็นนักกีฬาในประเภทเรือพายอายุ 30 ปี ก่อนจะถูกแยกกักตัวตามขั้นตอนต่อไป
          ขณะที่นักกีฬาอีก 4 คน ที่เดินทางในไฟลต์บินเดียวกันจากกรุงเบลเกรด ก็ถูกย้ายไปกักตัวเช่นกัน ก่อนที่จะเดินทางไปยังเมืองนันโตะ จังหวัดโทยามะ ซึ่งเป็นสถานที่ปักหลักฝึกซ้อม ก่อนถึงมหกรรมโอลิมปิก 2020
          สำหรับโอลิมปิก 2020 ยังคงตกอยู่ภายใต้สภาวะความกดดันอย่างหนัก ของฝ่ายจัดการแข่งขัน เนื่องจากเหลือเวลาก่อนถึงพิธีเปิดอีกเพียงแค่ 3 สัปดาห์ แต่อัตราการแพร่ระบาดโควิด-19 ยังไม่ดีขึ้นมากนัก และมีข่าวว่าอาจต้องแข่งขันโดยไร้ผู้ชม กว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของชนิดกีฬาทั้งหมด
          โควิดโตเกียวพุ่งรอบ 1 เดือน
          สำนักข่าว แชนแนลนิวส์เอีย รายงานว่า กรุงโตเกียว ของญี่ปุ่น รายงานพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 716 ราย เมื่อวานนี้ นับเป็นตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ที่สูงที่สุดในรอบกว่าหนึ่งเดือน ส่วนทางการญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายเวลามาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ก่อนที่จะมีการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเพียงไม่กี่สัปดาห์
          ขณะเดียวกัน กรุงโตเกียวและจังหวัดใกล้เคียง 3 จังหวัด ยังคงอยู่ภายใต้มาตรการแบบกึ่งฉุกเฉิน ไปจนถึงวันที่ 11 กรกฎาคม ซึ่งก่อนหน้านี้ด้านผู้จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ได้แบนผู้เข้าชมกีฬาต่างชาติ และอนุญาตให้ผู้เข้าชมท้องถิ่นสามารถเข้าชมการแข่งขันได้ 10,000 ราย หรือ 50 เปอร์เซ็นต์ของความจุสนาม และอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะอนุญาตให้มีผู้เข้าชมการแข่งขันที่จะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้หรือไม่ หลังผู้เชี่ยวชาญได้เตือนว่าการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกอาจนำไปสู่คลัสเตอร์การแพร่ระบาดขนาดใหญ่ได้
          นอกจากนี้มีรายงานว่า ช่วงภาพข่าวรายหนึ่งที่เข้าสัมภาษณ์ทีมนักปิงปองของสิงคโปร์นั้นป่วยเป็นโรคโควิด-19 ซึ่งผู้จัดการทีมยืนยันว่าระหว่างการสัมภาษณ์ได้เว้นระยะห่างจากสื่อ 3 เมตร และสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ซึ่งทีมนักกีฬาสิงคโปร์ได้ปฏิเสธการใช้สัมภาษณ์สื่อตลอดการเก็บตัวที่จังหวัดชิซุโอะกะ
          ด้าน นายโยชิฮิเดะ ซูกะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระบุว่า ยังไม่ตัดความเป็นไปได้ที่จะห้ามเข้าชมการแข่งขันโอลิมปิก หากสถานการณ์การแพร่ระบาดแย่ลง ซึ่งจะมีการหารือระหว่างผู้ว่าการกรุงโตเกียวและคณะผู้จัดโอลิมปิกอีกครั้งหนึ่ง
          ป่วยโลก 184.3 ล้านคน
          เว็บไซต์ worldometers รายงานสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ประจำวันที่ 4 ก.ค.64 ระบุยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ณ เวลา 18.30 น. (เวลาไทย) อยู่ที่จำนวน 184,334,996 คน เสีย ชีวิตแล้ว 3,989,178 คน และรักษาหายแล้ว168,688,088 คน

 pageview  1210868    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved