Follow us      
  
  

บางกอกทูเดย์ [ วันที่ 30/10/2563 ]
เปิดรับนักท่องเที่ยวพิเศษเอสทีวีมาเรือยอชต์จากประเทศที่เสี่ยงต่ำ

 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist Visa (เอสทีวี) ออกประกาศให้คนต่างด้าวที่มีคุณสมบัติ ตามที่กำหนดมีสิทธิ์ขอรับการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยวเอสทีวี ณ ช่องทาง อนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองได้ภายใน 30 วันหลังจาก มีประกาศบังคับใช้ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2564
          สำหรับคุณสมบัติที่กำหนดของคนต่างด้าวที่มีสิทธิ์ขอรับการ ตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยวเอสทีวี มีดังนี้ เป็นบุคคลต่างด้าว ที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวโดยเรือสำราญและกีฬา (เรือยอชต์) ในกลุ่มผู้ควบคุมยานพาหนะ หรือเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะ หรือผู้โดยสาร ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำหรือความเสี่ยงปานกลาง ตามการจัดกลุ่มประเทศด้านการแพทย์และสาธารณสุข
          สำหรับการผ่อนคลายผู้ไม่มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักรตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวจะต้องยอมรับการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 และยินยอมกักตัวภายในเรือไม่น้อยกว่า 14 วัน พร้อมกับมี หลักฐานเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อท่องเที่ยวโดยเรือสำราญและกีฬา
          นอกจากนี้ยังต้องมีหลักฐานกรมธรรม์การทำประกันสุขภาพที่คุ้มครองตรวจรักษาโรคโควิด-19 ในวงเงิน 100,000 เหรียญสหรัฐ ตลอดช่วงเวลาที่อยู่ในประเทศไทย รวมถึงการทำประกันสุขภาพและอุบัติเหตุของไทยคุ้มครองตลอดระยะเวลาที่เข้ามาในราชอาณาจักร
          โดยมีจำนวนเงินประกันภัยสำหรับค่ารักษาพยาบาลกรณี ผู้ป่วยนอก ไม่น้อยกว่า 40,000 บาท และผู้ป่วยในไม่น้อยกว่า 400,000 บาท และมีหลักฐานการชำระเงินล่วงหน้าในการเช่าจองสถานที่จอดเรือ พร้อมปฏิบัติตามประกาศของกรมเจ้าท่าว่าด้วยแนวปฏิบัติสำหรับเรือสำราญและกีฬา (เรือยอชต์) ที่เข้ามาในน่านน้ำไทย
          สำหรับบุคคลต่างด้าวที่มากับเรือยอชต์ ที่ผ่านคุณสมบัติข้างต้นแล้วจะขอรับการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยว STV จะ เสียค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราครั้งละ 2,000 บาท ได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยได้เป็นเวลา 90 วัน นับแต่วันที่เดินทางเข้ามา อย่างไรก็ตาม ให้ผ่อนผันสำหรับกรณีที่เรือยอชต์เดินทางออกจากประเทศต้นทางและอยู่ระหว่างการเดินทางเข้ามาในน่านน้ำไทยก่อนที่ประกาศจะมีผลบังคับใช้ กลุ่มนี้จะได้รับสิทธิ์ขอรับการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยวเอสทีวีได้เป็นเวลา 30 วันหลังจากที่ประกาศมีผลบังคับใช้
          ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ครบกำหนดอยู่ในไทยแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมีอำนาจอนุญาตให้อยู่ต่อไปได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 90 วัน โดยให้คนต่างด้าวยื่นคำขอและเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
          ด้าน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ออกประกาศเรื่อง เงื่อนไขในการอนุญาตให้อากาศยานทำ การบินเข้าออกประเทศไทย (ฉบับที่ 4) โดยมีสาระสำคัญคือ เพิ่มเงื่อนไขการอนุญาตทำการบินของอากาศยาน จากฉบับที่ 2 และ 3 คือ "อากาศยานเช่าเหมาลำระหว่างประเทศ (Charter flight) ที่มีผู้โดยสารเปลี่ยนลำ (Transfer Passenger)"
          โดยมีแนวปฏิบัติสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศแบบมีผู้โดยสารเปลี่ยนลำ (Transfer Passenger) คือ 1. ต้องเป็นการต่อเครื่อง (Transfer) ระหว่างเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) เท่านั้น 2. จัดให้มีการกำหนดเส้นทาง (Seal Route) และพื้นที่เฉพาะสำหรับการเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารโดยจะแบ่งแยกพื้นที่การใช้งานออกจากบริเวณอื่นๆ ของสนามบิน 3. กำหนดเวลาสูงสุดไม่เกิน 2 ชม. ในการเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารระหว่างเที่ยวบิน (Maximum Transfer Time) หรือใช้เวลาให้น้อยที่สุด เพื่อลดโอกาสการ รับสัมผัสเชื้อในอาคารให้น้อยที่สุด
          4. ลูกเรือและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องป้องกันตนเองโดยการใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE) และปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด และ 5. สายการบินจะต้องปฏิบัติตามประกาศของ กพท. เรื่อง แนวปฏิบัติในการให้บริการผู้โดยสารสำหรับเส้นทางการบินระหว่างประเทศในระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประกาศ ณ วันที่ 16 กรกฎาคม 2563
          ทั้งนี้ เที่ยวบินพาณิชย์แบบปกติ (Commercial flight) ยังไม่ได้ รับอนุญาตให้บินเข้าไทย

 pageview  1210911    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved