สถานการณ์ไข้หวัดนก




 

ทั่วๆไป กับไข้หวัดนก

                ไข้หวัดนก ( Bird flu ) ก็คือไข้หวัดใหญ่ชนิดหนึ่งที่เกิดกับสัตว์ปีก เป็นไข้หวัดใหญ่ที่แพร่ระบาดในสัตว์ปีกโดยเฉพาะนกน้ำมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันกับไข้หวัดใหญ่ในคน ไข้หวัดนกมีทั้งชนิดที่ก่อให้เกิดโรคในสัตว์ปีกอย่างรุนแรงและไม่รุนแรง แต่ที่ระบาดในประเทศไทยและในหลายประเทศในช่วงเวลาประมาณ 2 ปี มานี้ เป็นชนิดที่ก่อโรครุนแรง นักวิทยาศาสตร์เรียกชื่อไวรัสตัวนี้ว่าเป็นสายพันธุ์ เอ็ช 5 เอ็น 1 (H5N1) * รายละเอียด *

                ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่มีอยู่ในนกน้ำอพยพหลายชนิด และแพร่มาสู่สัตว์ปีกที่คนเลี้ยง เช่น เป็ด ไก่ แล้วแพร่มาถึงคนได้ในที่สุด การระบาดของโรคนี้จึงควบคุมได้ยาก เพราะนกน้ำที่มีเชื้อไวรัสนี้สามารถอพยพข้ามประเทศ ข้ามภูมิภาค เกือบจะเรียกได้ว่าไม่มีพรมแดน เพราะเหตุนี้โรคไข้หวัดนกจึงชื่อได้ว่าเป็น “โรคไร้พรมแดน”

                เชื้อไวรัสในนกอพยพเหล่านี้ถูกปล่อยออกมาสู่สิ่งแวดล้อมจากการถ่ายมูลหรือจากสารคัดหลั่งต่างๆ เช่นเลือด น้ำมูก น้ำลาย น้ำตา เป็นต้น เมื่อสัตว์ปีกที่คนเลี้ยงและหากินอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกันกับนกน้ำเหล่านี้ ได้สัมผัสกับเชื้อโดยทางใดทางหนึ่ง ก็จะทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายของมันได้ ถ้าเชื้อมีจำนวนมากพอก็จะเป็นเหตุให้สัตว์ที่ได้รับเชื้อนั้นป่วยและตายได้ เนื่องจากไม่มีภูมิต้านทาน เชื้อจะแพร่ต่อไปยังสัตว์ตัวอื่นได้ ดังที่เราจะเห็นสัตว์ปีกในเล้าเดียวกัน ชุมชนหรือท้องถิ่นเดียวกันตายหมู่นับร้อยในเวลาเพียงไม่กี่วัน การกำจัดหรือควบคุมไข้หวัดนกทำได้ยากมากเพราะมีสัตว์ปีกเป็นพาหะ โดยเฉพาะผ่านไก่ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงเชิงธุรกิจที่มีจำนวนมากที่สุด



การระบาด



ระลอก ช่วงเวลา พบการระบาด สัตว์ปีก ตาย/ถูกทำลาย(ตัว) ผู้ป่วยติดเชื้อ
ป่วย  ตาย
1 ปลายปี 2546 -
พ.ค. 2547
190 จุด
ใน 42 จังหวัด
60 ล้าน     12     8
2 ก.ค.2547 –
เม.ย.2548
1,542 จุด
ใน 51 จังหวัด
3 ล้าน      5      4
3 ก.ค. 2548 –
ธ.ค.2548
40 จุด
ใน 5 จังหวัด
4 แสน      5      2
ที่มา:กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข


         การระบาดในสัตว์

                เชื้อไวรัสไข้หวัดนกในสัตว์ปีก พบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2539 ที่ฟาร์มเลี้ยงห่านแห่งหนึ่งในประเทศจีน ต่อมาในปี พ.ศ.2540 พบการระบาดของสัตว์ปีกที่ประเทศฮ่องกงและพบการติดเชื้อในคนเป็นครั้งแรกด้วย ข้อมูลจากองค์การสุขภาพสัตว์นานาชาติ( OIE) พบว่ามีการรายงานพบเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีกตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ซึ่งในปีแรกพบเพียงประเทศเดียวคือประเทศเกาหลี * การระบาดในปี 2547- พค.2550 *

                นอกจากการระบาดของไข้หวัดนกในสัตว์ปีกแล้ว ยังมีการตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตรวจพบเชื้อไข้หวัดนก H5N1 จากปอดแมว 2 ตัว จากการสอบสวนพบว่าแมวทั้ง 2 ตัวมีประวัติการกินซากไก่ที่มีการระบาดของไข้หวัดนกในเขตตำบลสามควายเผือก อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม แต่ไม่พบว่าผู้ที่เลี้ยงแมวนั้นป่วยด้วยไข้หวัดนก นอกจากนั้นแล้วพบเสือ 2 ตัว จากสวนสัตว์แห่งหนึ่ง ซึ่งมีประวัติการกินซากไก่แต่สามารถรักษาหาย1ตัว ตาย 1 ตัวจากการตรวจตัวอย่างเนื้อเยื่อปอดและเก็บอุจจาระจากเสือตัวที่ตายและเก็บอุจจาระจากเสือตัวที่รักษาหาย ตรวจพบเชื้อไข้หวัดนก (H5N1) จากตัวอย่างดังกล่าว





แสดงการกระจายของไข้หวัดนกในสัตว์
ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2546 – 2547 ในภูมิภาคเอเชีย



         อาการในสัตว์

                อาการในสัตว์ปีก ระยะฟักตัวของโรคอาจสั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงจนถึง 3 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ วิธีการที่ได้รับเชื้อ จำนวนเชื้อ และชนิดของสัตว์อาการ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ชนิดสัตว์ อายุ สภาวะความเครียด โรคแทรกซ้อน และอื่นๆ เชื้อที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงในสัตว์ปีกชนิดหนึ่งอาจไม่ทำให้เกิดอาการใดๆ ในสัตว์ปีกอีกชนิดหนึ่ง อาการที่พบโดยทั่วไป ได้แก่ ซูบผอม ซึมมาก ไม่กินอาหาร ขนยุ่ง ไข่ลด ไอ จาม หายใจลำบาก น้ำตาไหลมาก หน้าบวม หงอนมีสีคล้ำ อาจมีอาการของระบบประสาท และท้องเสีย รายที่รุนแรงจะตายกระทันหันโดยไม่แสดงอาการ (อัตราตายอาจสูงถึง 100%)



         การระบาดในคน

                ตามปกติไวรัสไข้หวัดนกจะไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อในคน แต่นับตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมามีรายงานการติดต่อและการระบาดในคนหลายครั้ง ดังตาราง



ตารางแสดงจำนวนผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อไข้หวัดนก ตั้งแต่ พ.ศ.2540 – 2547

ลำดับ พ.ศ. ประเทศ จำนวนป่วย จำนวนตาย เชื้อ
1 2540 ฮ่องกง 18 6 H5N1
2 2542 ฮ่องกง 2 0 H9N2
3 2542 สาธารณรัฐประชาชนจีน หลายราย ? H9N2
4 2546 ฮ่องกง 2 1 H5N1
5 2540 ฮ่องกง 18 6 H5N1
6 2546 เนเธอร์แลนด์ 89 1 H7N7
7 2547 เวียดนาม,ไทย 33 22 H5N1
8 2547 สหรัฐอเมริกา 1 0 H7N2
9 2547 แคนาดา 2 0 H7N3
10 2547 อียิปต์ 2 0 H10N7
ข้อมูลล่าสุดถึงวันที่ 24 พค.2547


         การระบาดในประเทศไทย

                การระบาดของไข้หวัดนกในระยะแรกพบในสัตว์ปีกจนกระทั่งในวันที่ 14 มค. พ.ศ.2547สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไข้หวัดนกรายแรกและเวลาเพียง 9 วันกระทรวงสาธารณสุขได้พบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไข้หวัดนกในประเทศไทย


         อาการในคน

                เมื่อได้รับเชื้อประมาณ 1-3 วันจึงจะแสดงอาการออกมาคล้ายเป็นโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการทางระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน เริ่มจากมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอแห้งๆ และอาจมีตาแดงด้วย ผู้ป่วยที่เป็นเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัวอาจป่วยรุนแรง เกิดอาการหายใจลำบากหรือหอบ จากปอดบวมอักเสบ และอาจมีอาการระบบหายใจล้มเหลวอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเสียชีวิตได้ ระยะเวลาป่วยนาน 5-13 วัน อัตราป่วยตายสูงถึงร้อยละ 70


         จะป้องกันตนเองจากโรคไข้หวัดนกอย่างไร ?

                หลีกเลี่ยงสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย ถ้าจำเป็นจริงๆต้องสวมถุงมือหรือถุง
พลาสติกหลายๆชั้น ถ้าเลี้ยงเป็ดไก่ไว้ในบ้านต้องสังเกตว่าในระแวก มีการระบาดของไข้หวัดนกหรือไม่และหมั่นดูอาการเป็ดไก่เสมอๆ หากพบว่ามีอาการป่วยหรือตายเฉียบพลันให้รีบแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุข หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อบต.ที่
ใกล้บ้านที่สุด




 หน้าถัดไป




 












หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล