HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 04/02/2564 ]
โควิดอังกฤษกลายพันธุ์ซ้ำ-ต้านวัคซีน

 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ บีบีซีและซีเอ็นเอ็นรายงานว่า สำนักงานสาธารณสุขแห่งอังกฤษ (พีเอชอี) เผยแพร่ผลการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ใหม่อีกครั้งของเชื้อก่อโรคโควิด-19 กลายพันธุ์ของอังกฤษ ซึ่งทำให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นกังวลว่า จะทำให้เชื้อกลายพันธุ์อังกฤษที่แพร่ระบาดเร็วอยู่แล้ว มีความสามารถในการต่อต้านแอนติบอดีที่วัคซีนโควิดสร้างขึ้น จนอาจทำให้วัคซีนด้อยประสิทธิภาพลง
          ทีมนักวิทยาศาสตร์ของพีเอชอี ตรวจสอบตัวอย่างจากผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เคนท์ (บี.1.17) ที่ระบาดรุนแรงอยู่ในอังกฤษในเวลานี้ 214,159 ตัวอย่าง พบว่า มี 11 ตัวอย่างที่เกิดการกลายพันธุ์ซ้ำ และเป็นการกลายพันธุ์ในตำแหน่งพันธุกรรมเดียวกับการกลายพันธุ์ในแอฟริกาใต้และบราซิล ซึ่งส่งผลให้เกิดการต่อต้านแอนติบอดีในร่างกาย ซึ่งเกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน
          การกลายพันธุ์ดังกล่าวนักวิชาการด้านไวรัสวิทยาระบุว่า เป็นการกลายพันธุ์ อี484เค ซึ่งหมายถึงการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นกับตำแหน่งพันธุกรรมลำดับที่ 484 จาก "อี" แต่เดิมเป็น "เค" โดยนักวิทยาศาสตร์ของ พีเอชอี เชื่อว่าการกลายพันธุ์ที่จุดนี้ยังมีอีกมากในอังกฤษ แต่ยังค้นหาไม่พบเท่านั้น โดยยกตัวอย่างการตรวจสอบผู้ติดเชื้อที่เมืองลิเวอร์พูลพบว่า มีมากถึง 32 รายที่มีการกลายพันธุ์ อี484เค และพบด้วยว่า เชื้อที่เกิดการกลายพันธุ์เหล่านี้บางส่วนกลายพันธุ์เองโดยอิสระ ไม่ได้เป็นการแพร่จากแหล่งเดียว
          ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นตรงกันว่า ยังเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ว่า วิวัฒนาการครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อการฉีดวัคซีนทั้งในอังกฤษและในประเทศอื่นๆ มากแค่ไหน อย่างไรก็ตาม นักวิจัยส่วนหนึ่งชี้ว่า อี484เค คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้การทดลองวัคซีนหลายตัวได้ผลน้อยลงในประเทศแอฟริกาใต้ ตัวอย่างเช่น วัคซีนโนวาแวกซ์ ทดลองในคนระยะที่ 3 ในอังกฤษได้ผล 89 เปอร์เซ็นต์แต่ในการทดลองระยะที่ 2 ในแอฟริกาใต้พบว่าได้ผลเพียง 60 เปอร์เซ็นต์, วัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ทดลองได้ผล 72 เปอร์เซ็นต์ในสหรัฐ แต่ได้ผลเพียง 57 เปอร์เซ็นต์ในแอฟริกาใต้ โดยทั้งสองกรณี การทดลองในแอฟริกาใต้นั้น กลุ่มตัวอย่าง 90-95 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ติดเชื้อสายพันธุ์กลายพันธุ์ บี.1.351 ที่พบมากที่สุดในแอฟริกาใต้และมีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง อี484เค ทั้งสิ้น (บีบีซี/ซีเอ็นเอ็น)
          'สปุตนิควี'มีประสิทธิภาพ92เปอร์เซ็นต์
          เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บรรดานักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศ แสดงความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโควิดที่พัฒนาโดยสถาบันกามาเลยา ในกรุงมอสโก หลังจากตรวจสอบรายงานผลการทดลองระยะที่ 3 ที่ตีพิมพ์เผยแพร่อย่างเป็นทางการในวารสารด้านการแพทย์ เดอะแลนเซท ที่เป็นการทดลองในกลุ่มตัวอย่าง 19,866 คน โดย 1 ใน 4 ของจำนวนนี้เป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเปล่า (พลาซิโบ) พบว่ามีเพียง 16 รายเท่านั้นที่ได้รับวัคซีนแล้วเกิดอาการ ในขณะที่ในกลุ่มควบคุมที่ได้รับวัคซีนเปล่านั้นมีผู้ติดเชื้อถึง 62 ราย แสดงถึงประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ถึง 91.6 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้หลังจากได้รับวัคซีนไปแล้ว 2 เข็มในช่วงเวลา 21 วัน
          ผู้เชี่ยวชาญที่ตรวจสอบรายงานชิ้นนี้ระบุว่านอกจากประสิทธิภาพสูงอย่างน่าทึ่งแล้ว ข้อดีอีกประการของสปุตนิควี ที่วัคซีนอีกหลายตัวไม่มีก็คือ ในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีผู้สูงอายุเกิน 60 ปีอยู่ถึง 2,144 คน และเมื่อตรวจสอบเฉพาะในกลุ่มนี้พบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ 91.8 เปอร์เซ็นต์และไม่มีผลข้างเคียงใดๆ รายงานไว้ ทำให้วัคซีนนี้เหมาะกับการฉีดให้กับผู้สูงอายุโดยเฉพาะอีกด้วย (รอยเตอร์)


pageview  1210905    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved