HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 28/01/2564 ]
มะเร็งไปรักษาที่ไหนก็ได้ที่พร้อม อีกก้าวของการยกระดับบริการสุขภาพสิทธิบัตรทอง

 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
          ก่อนอื่นต้องขอสวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ ปีนี้เราเจอสถานการณ์โควิด-19 ระบาดรอบใหม่ตั้งแต่ต้นปีซึ่งต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา แต่ผมเชื่อว่าด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของทุกคน การใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ รักษาระยะห่าง ตลอดจนการให้ความร่วมมือกับมาตรการที่ภาครัฐกำหนด จะทำให้เราผ่านพ้นสถานการณ์ที่ยากลำบากไปได้ด้วยกัน ส่วนทางด้านบุคลากรทางการแพทย์เองนั้น เราได้จัดเตรียมทรัพยากรต่างๆ ทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ ยา เวชภัณฑ์และกำลังจะได้วัคซีนในอนาคตอันใกล้นี้มาเพิ่มอีก ดังนั้น ขอให้มั่นใจว่าเรามีความพร้อมเต็มที่ที่จะดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชนทุกคนครับ
          สำหรับนโยบายที่กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพมอบให้แก่พี่น้องประชาชนในต้นปีนี้ คือการยกระดับบัตรทอง จาก "30 บาท รักษาทุกโรค" เป็น "30 บาท รักษาทุกที่" ซึ่งก็จะมี 4 เรื่องสำคัญๆ คือ การเปิดให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองไปเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ภายในเครือข่าย โดยนำร่องในพื้นที่ กทม.ก่อน จากนั้นจะขยายไปทั่วประเทศในอนาคต บริการผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว เริ่มนำร่องที่เขตสุขภาพที่ 9 นครชัยบุรินทร์ก่อน คาดว่าภายในปี 2565 จะขยายครอบคลุมได้ทั่วประเทศ เปลี่ยนหน่วยบริการเกิดสิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วันเหมือนเมื่อก่อน และสุดท้ายคือ ผู้ป่วยโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม ซึ่ง 2 บริการหลังนี้เริ่มพร้อมกันแล้วทั่วประเทศตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา
          ในส่วนของเรื่องสิทธิบัตรทองไปเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ มีการพูดถึงรายละเอียดกันมาระยะหนึ่งตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาแล้ว วันนี้ผมเลยอยากจะมาพูดเรื่องผู้ป่วยโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อมครับ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการเริ่มต้นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์เป็นการเฉพาะในหลายๆ โรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและ ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ติดยาเสพติด ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โรคมะเร็งและยาต่างๆ ที่ราคาแพง และวันนี้นับเป็นอีกครั้งหนึ่งของการยกระดับการให้บริการพี่น้องประชาชน นั่นคือการทำให้การดูแลผู้ป่วยมะเร็งได้รับการรักษาที่เร็วขึ้นครับ
          หลายคนอาจจะสงสัยกับคำว่า "โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม" คำว่า "มีความพร้อม" ไม่ได้หมายความว่าโรงพยาบาลยังไม่พร้อมนะครับ มันเป็นภาษาซึ่งยังปรับหาคำที่ดีกว่านี้ไม่ได้ ความหมายของมันคือว่า ถ้าท่านป่วยด้วยโรคมะเร็ง ท่านอย่าไปโรงพยาบาลจักษุหรือโรงพยาบาลประสาท เพราะถ้าเราบอกแค่ว่าผู้ป่วยมะเร็งไปที่ไหนก็ได้ ประเดี๋ยวท่านไปโรงพยาบาลอื่นที่ไม่ใช่โรงพยาบาลเฉพาะทางก็อาจจะไม่ได้รับการรักษาพยาบาล อย่างไรก็ตาม เรื่องการใช้คำต่างๆ เราก็กำลังจะแก้ไขให้มีคำจำกัดความที่ดีขึ้น เข้าใจง่ายยิ่งขึ้นกว่าเดิม
          สำหรับระบบบริการนี้เราเริ่มคิกออฟอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 นี่เองครับ อย่างที่ทราบกันดีว่าโรคมะเร็งนี้เป็นโรคที่คร่าชีวิตของคนไทยเป็นอันดับต้นๆ เรามีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ปีละ 122,757 ราย และเสียชีวิตปีละ 80,665 ราย แถมยังเป็นโรคที่ยากต่อการรักษาให้หายขาด มีค่าใช้จ่ายรักษาที่แพงมาก มากจนถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวประสบปัญหาทางการเงินได้ มันบั่นทอนทั้งสุขภาพร่างกาย บั่นทอนสภาพเศรษฐกิจ ที่สำคัญที่สุดคือบั่นทอนสภาวะจิตใจของทั้งตัวผู้ป่วยและญาติพี่น้อง นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เราอยากผลักดันนโยบายนี้ขึ้นมาเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีขึ้น
          ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของระบบการรักษามะเร็งในบ้านเราคืออะไรท่านทราบไหมครับ มันคือเรื่องการรอคิวครับ โรคนี้เป็นภาวะเจ็บป่วยที่ซับซ้อนและต้องรับการรักษาโดยเร็วเพื่อไม่ให้ลุกลาม โรคมะเร็งบางชนิดรักษาให้หายขาดได้ถ้าได้รับบริการทันท่วงที แต่ที่ผ่านมาด้วยขั้นตอนการส่งตัว ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารับการฉายรังสีหรือทำเคมีบำบัดบางครั้งต้องรอคิวนาน นานจนบางคนทนไม่ไหวเสียชีวิตไปก่อน ดังนั้น การได้รับการรักษาที่รวดเร็วตั้งแต่ระยะต้นๆ จึงเป็นจุดสำคัญที่จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ ลดความสูญเสียชีวิตไปได้เยอะ
          กระทรวงสาธารณสุขเราจึงจะยกระดับคุณภาพของทุกโรงพยาบาลให้มีศักยภาพและความพร้อมในการให้บริการโรคมะเร็งอย่างเท่าเทียมกันและยังจัดระบบเครือข่ายการให้บริการให้มีความรวดเร็วมากขึ้น ตอนนี้เรามีหน่วยบริการรักษาโรคมะเร็งกระจายทั่วทุกเขต เป็นหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านรังสีรักษา 36 แห่ง และหน่วยบริการรับส่งต่อทั่วไปด้านเคมีบำบัด 164 แห่ง ทันทีที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง จำเป็นต้องได้รับการตรวจทางรังสีวินิจฉัย การรักษาด้วยรังสีรักษาหรือเคมีบำบัด แพทย์ก็จะส่งข้อมูลผู้ป่วยมายังศูนย์ประสานการส่งต่อโรคมะเร็งเพื่อจัดหาโรงพยาบาลที่มีศักยภาพและไม่แออัดให้แก่ผู้ป่วย โดยใช้การเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้ใบส่งตัวและการนำเทคโนโลยีการจัดลำดับคิว เช่น โรงพยาบาล A เครื่องไม่ว่าง แต่โรงพยาบาล B เครื่องว่าง ก็สามารถให้ผู้ป่วยไปรับบริการที่โรงพยาบาล B ได้เลย ไม่ต้องมาเสียเวลารอคิวที่โรงพยาบาล A หรือกรณีที่มีความจำเป็นหรือเกินศักยภาพของโรงพยาบาลนั้นๆ ก็สามารถประสานงานเพื่อส่งต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งให้เลือกไปรับบริการข้ามเขตได้ การรักษาก็จะทำได้เร็วขึ้น อาการไม่ลุกลามไปมากกว่าเดิม
          นอกจากมีระบบที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาเร็วขึ้นแล้ว อีกส่วนที่สำคัญคือต้องมีอุปกรณ์พร้อมด้วย ในส่วนนี้ผมและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขรู้สึกภูมิใจมากที่ได้ผลักดันขอให้ทางรัฐบาลได้อนุมัติเครื่องฉายรังสีมะเร็งเพิ่มอีก 7 เครื่อง เพื่อนำไปไว้ตามศูนย์มะเร็งทั่วประเทศ ด้วยความหวังว่าจากนี้ไปผู้ป่วยที่ต้องรับการฉายรังสีจะไม่ต้องเดินทางไกลไปมา คิวก็น่าจะสั้นลง เครื่องฉายรังสีเครื่องหนึ่งราคา 100 กว่าล้านบาท แต่เทียบไม่ได้เลยกับการดูแลพี่น้องประชาชนที่เจ็บป่วย ต้องถือว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้ให้ความใส่ใจกับสุขภาพของพี่น้องประชาชนมากเป็นพิเศษ ตอนผมไปบอกท่านนายกรัฐมนตรี ท่านก็บอกว่าเอาเลย ตอนเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีอนุมัติทันที ไม่ถามสักคำเลยครับ หรือตอนไปขอสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขอเรื่องอื่นยากหมด แต่ขอเครื่องฉายรังสีมะเร็ง 7 เครื่อง ท่านรีบจัดการให้เลย แสดงว่านี่คือเรื่องสำคัญที่มีผลต่อความรู้สึก มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของคนทุกคน
          นอกจากนี้แล้ว ผมยังมีโอกาสได้ไปดูระบบงานที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเรื่องการทำเคมีบำบัดที่บ้านได้ นี่ก็เป็นอีกความตั้งใจของบุคลากรทางการแพทย์การสาธารณสุขที่มีความตั้งใจและเห็นใจถึงความยากลำบากของผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็ง การทำเคมีบำบัดที่บ้านก็จะทำให้จิตใจ ความรู้สึกของผู้ป่วยมะเร็งดีขึ้น ดีกว่านอนในโรงพยาบาลหลายร้อยเท่า ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยบริการที่ให้บริการยาเคมีบำบัดที่บ้าน 7 แห่ง คือ โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี และโรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี และในอนาคตก็น่าจะมีเพิ่มมากขึ้นอีกเรื่อยๆ
          ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นการยกระดับที่เราออกแบบมาเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งโดยเฉพาะและหวังว่าจะทำให้ได้รับการรักษาที่เร็วขึ้น โอกาสรักษาหายมากขึ้น ลดการเสียชีวิตและทรัพย์สินลง ผมต้องขอบคุณกรมการแพทย์ที่ได้ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในเครือข่ายระบบสาธารณสุขไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ใช่เฉพาะในกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้นแต่รวมถึงเครือข่ายของมหาวิทยาลัยและเครือข่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย รวมทั้งต้องขอบคุณสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งรับสนองนโยบายอย่างเต็มที่ จัดให้จัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนทันที ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าภายหลังจากปีใหม่เป็นต้นไปในการบริการให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทยจะมีความพร้อม มีมาตรฐาน แล้วก็มีความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนมากยิ่งขึ้น
          ผมย้ำอีกครั้งว่า เราทำโครงการแบบนี้จะล้มเหลวไม่ได้ สะดุดไม่ได้ ผมขอให้ความมั่นใจและเชื่อว่านโยบายต่างๆ จะได้รับการตอบสนอง เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน กระทรวงสาธารณสุขและ สปสช.พิสูจน์มาแล้วว่านโยบายต่างๆ ถ้าเป็นเรื่องของประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ทุกคนยินดีพร้อมใจร่วมกันปฏิบัติ นี่คือเหตุสำคัญที่เราสามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์หลายๆ อย่างมาได้ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์โรคระบาดหรือวิกฤตการณ์สาธารณสุขใดๆ ก็ตาม นี่คือสิ่งที่พวกเราทุกคนมีความภาคภูมิใจที่ได้ทำงานรับใช้ให้กับ พี่น้องประชาชนทุกคน รอยยิ้มของท่าน กำลังใจของท่าน คำชื่นชมของท่าน มีค่ายิ่งกว่าเงินเดือนที่เราได้รับ ทำให้เรามีกำลังใจ ทำให้พวกเราทุกคนมีความคิดที่จะทำในสิ่งที่ดีเพิ่มมากยิ่งขึ้นต่อไปครับ


pageview  1210904    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved