HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 27/01/2564 ]
คุ้มที่จะลอง ไทยเตรียมรับ วัคซีนโควิด ล็อตแรก แพทย์ย้ำ แต่ละคนเสี่ยงไม่เท่ากัน

 คุ้มที่จะลอง!! ไทยเตรียมรับ "วัคซีนโควิด" ล็อตแรก แพทย์ย้ำ "แต่ละคนเสี่ยงไม่เท่ากัน"
          เจาะลึก ความปลอดภัย วัคซีนโควิด-19 ไทยฉีดฟรีล็อตแรก ต้นเดือน ก.พ. นี้ ข้อระวังกับความเสี่ยงที่จะได้รับ กับประสิทธิภาพที่ไม่สามารถคาดเดาได้ พร้อมเทียบต่างประเทศกับยอดผู้เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน
          เจาะความปลอดภัย ใครฉีดได้บ้าง
          นับว่าเป็นข่าวดีของคนไทย ที่จะมีการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 จำนวน 200,000 โดส ล็อตแรกในต้นเดือน ก.พ. นี้ จากนั้นอีก 2 ล้านโดสจะทยอยตามมาอีกจนครบ 63 ล้านโดส ตามคำสั่งซื้อของรัฐบาลในปี 2564
          วัคซีน 2 ตัวแรกที่รัฐบาลจัดซื้อมาฉีดฟรีให้กับประชาชนนั้น เป็นของซิโนแวคและแอสตราเซเนกา โดยซิโนแวคเป็นวัคซีน นำเข้าจากจีนล็อตแรกที่จะนำมาฉีดให้คนไทย ซึ่งมีมติที่จะฉีด วัคซีนให้กับกลุ่มแรก จำนวน 19,014,154 คน เพื่อลดการป่วยหนักและป้องกันการเสียชีวิต
          สำรับวัคซีนล็อตนี้จะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่เสี่ยงก่อน เช่น จ.สมุทรสาคร หรือ อ.แม่สอด จ.ตาก และภาคใต้ ตามมาด้วยกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว แบ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 1,700,000
          คนบุคลที่มีโรคประจำตัว จำนวน 6,163,095 คน ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง จำนวน 253,159 คน โรคหัวใจและหลอดเลือด จำนวน 350,922 คน โรคไตเรื้อรัง จำนวน 150,000 คน  โรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 355,671 คน โรคมะเร็งทุกชนิด จำนวน 253,343 คน โรคเบาหวาน จำนวน 4,800,000 คน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 11,136,059 คน
          เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย จำนวน 15,000 คน ยืนยันว่าวัคซีนดังกล่าวมีความปลอดภัยสูง เพราะยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตหลังได้รับการฉีดแต่อย่างใด
          เพื่อให้รู้ก่อนฉีดวัคซีน ทีมข่าว MGR Live ได้ติดต่อไปยัง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บอกถึงข้อระวัง กับความเสี่ยงที่ต้องได้รับ ว่าต้องดูผลข้างเคียงของแต่ละบุคคลไป เพราะไม่สามารถคาดเดาประสิทธิภาพได้
          "ประเภทของวัคซีนและคนที่จะฉีดตอนนี้เราคิดแบบเดิม ไม่ได้ การคิดแบบเดิมเราคิดตามแบบวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ใครจะ สุ่มเสี่ยงเสียชีวิตมากที่สุด ก็คนสูงอายุที่มีโรคประจำตัว คนที่ถึงแม้ว่าจะไม่สูงอายุ แต่ว่ามีโรคประจำตัวอยู่
          ถัดมาเป็นคนสูงอายุ แล้วก็เป็นเรื่องของบุคลากรทางการแพทย์ หรือทางสาธารณสุขที่จะต้องพบปะคนไข้แล้วมีความเสี่ยงอยู่ ถัดมาก็เป็นเรื่องของคนธรรมดาทั่วไป ถัดมาก็จะเป็นเรื่องของเด็ก แล้วก็คนท้อง ซึ่งจะเป็นกลุ่มพิเศษ
          แต่ถ้าคิดตามรูปแบบตรงนี้อาจจะคิดตรงไปตรงมาไม่ได้ ในโควิด-19 เพราะว่ามันมีชนิดและประเภทของวัคซีน ซึ่งต้องดู ผลข้างเคียง"
          ทั้งนี้วัคซีนล็อตแลกที่จะเข้ามาฉีดให้กับคนไทยนั้น คือ ซิโนแวค และ แอสตราเซเนกา ซึ่งคุณหมอก็ได้ให้ความรู้ รวมไปถึงการการเตรียมพร้อมก่อนที่จะได้รับวัคซีนในครั้งนี้อีกด้วย
          "กลุ่มวัคซีน ซึ่งน่าจะมีประโยชน์มาก ก็คือกลุ่มวัคซีนที่เป็นเทคโนโลยีโบราณ ก็คือซิโนแวคของจีน ซึ่งตรงนี้เองเราทราบกันดีว่ามีความปลอดภัยสูง เพราะว่ามันเป็นแค่โปรตีนเฉยๆ เท่านั้นเอง แล้วก็เป็นเชื้อตาย
          วัคซีนในกลุ่มนี้สามารถที่จะฉีดได้โดยไม่จำกัด กลุ่มอายุเพศ แล้วก็ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นคนท้องหรือเปล่า หรือจะเป็นเด็ก เปรียบเสมือนกับเป็นวัคซีนที่เรารู้จักกันดีคือ วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า ที่ฉีดทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่ โดยที่ไม่มีปฏิกิริยาแพ้
          ดังนั้นเองวัคซีนชนิดนี้จะเป็นวัคซีนชนิดที่เป็นรากฐาน สำหรับทุกคนได้ โดยที่ฉีดได้ทุกกลุ่มอายุ รวมกระทั่งคนแก่ มีโรคประจำตัวก็ไม่มีปัญหา สามารถฉีดได้ จริงๆ แล้วผมชอบ อันนี้ที่สุดเลย ซิโนแวค ไม่น่าเป็นอะไร เพราะอันนี้เป็นเทคโนโลยีโบราณ
          ส่วนวัคซีนแอสตราเซเนกา เป็นวัคซีนที่ฝากไว้กับไวรัส อีกชนิดนึง ไวรัสชนิดนี้เมื่อฉีดเข้าไปในคนก็ตาม มันจะไม่ได้ เจริญเติบโตอะไรต่างๆ แล้วก็มีการใช้เทคโนโลยีตัวนี้มาก่อน วัคซีนชนิดนี้ตามพื้นฐานของข้อมูลที่เรารับทราบมา มันก็ยังมีสิ่งที่เราต้องระวังอยู่ ก็จะเป็นเรื่องของภาวะทางสมองเป็นสำคัญ เช่นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ หรือว่าไขสันหลังอักเสบแอสตราเซเนกาในตอนแรกที่ฉีดไปก็พบว่า มีคนที่เป็นไขสันหลังอักเสบ แล้วก็มีขาอ่อนแรง แต่ก็ไม่ได้เสียชีวิต แต่ก็มีอีกคนหนึ่งแพ้ ดังนั้นเองก็เป็นวัคซีนที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง เพราะเราก็พอจะมีความรู้ในวัคซีนชนิดนี้พอสมควร"
          นอกจากนี้ เมื่อถามคุณหมอไปว่าโดยส่วนตัวแล้วอยากจะฉีดหรือไม่เพราะตามมาตรการของรัฐจะฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ก่อน คุณหมอกลับบอกว่าไม่มีคำตอบให้ เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีแนวโน้มให้การระบาดลดลงได้หรือไม่ ทั้งนี้ทั้งนั้นคงต้องจับตาดูกันต่อไป พร้อมยังมองว่าวัคซีนไม่ใช่ความหวังสูงสุด
          "หากฉีดไปแล้วพบว่าไม่สามารถป้องกันได้ สมติว่าข้อมูลในประเทศต่างๆ พบว่ามันไม่ได้ผลจริง หรือไม่สามารถคุ้มกันไวรัสที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ จริง ปัญหาก็คือว่าพอเสร็จแล้วหากอยากฉีดวัคซีนใหม่ จะฉีดวัคซีนข้ามยี่ห้อกันได้ไหม ซึ่งตรงนี้ไม่มีใครตอบได้ว่าเมื่อฉีดวัคซีนยี่ห้อหนึ่งแล้วจะฉีดวัคซีนอีกยี่ห้อหนึ่งในอนาคต จะมีประโยชน์ หรือมีโทษหรือเปล่า
          ถ้าเราได้รับวัคซีนแล้ว ไวรัสนี้มีความเพี้ยนเปลี่ยนแปลงไป มันอาจจะป้องกันไม่ได้ ถ้ามันป้องกันไม่ได้ สิ่งที่เรากลัวมากที่สุดก็คือ มันทำให้โรครุนแรงขึ้นหรือเปล่า ถ้าวัคซีนเองไม่ได้ป้องกันจริง แต่กลับไปเพิ่มความรุนแรงของโรค แทนที่จะป้องกัน ปรากฏว่าพอติดเชื้อจริงๆ กลายเป็นว่าอาการซึ่งควรจะไม่มาก กลายเป็นมากไปทุกระบบ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่องค์การอนามัยโรคจับตามอง
          ต้องจับตามองว่า คนที่ฉีดวัคซีนแล้ว ไม่ได้แพ้วัคซีน แต่พอติดเชื้อแล้ว ไมได้ผลไม่ได้ว่าอะไร แต่ถ้าไมได้ผลกลับกลายว่าวัคซีนทำให้โรครุนแรงขึ้นอีก ตรงนี้ยิ่งขาดทุนเข้าไปใหญ่
          วัคซีนไม่ใช่ความหวังสูงสุด ผมคิดว่าต้องจับตามอง อย่างใกล้ชิดว่าวีคซีนแต่ละชนิดที่ฉีดไปในแต่ละประเทศนั้น มีแนวโน้มว่าจะทำให้การระบาดลดลงได้หรือไม่ ในอิสราเอล จากข้อมูลดูเหมือนว่าการระบาดดูจะลดลง ซึ่งอิสราเอลใช้ของไฟเซอร์ โมเดอร์นาเป็นหลัก แต่ว่าต้องดูต่อ"
          เทียบต่างประเทศ ประสิทธิภาพกับการเสียชีวิต
          จากที่ปรากฏเป็นข่าวหลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 พบว่าทยอยมีข้อมูลผู้เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนเหล่านี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง
          ในประเทศนอร์เวย์มีการเปิดเผยข้อมูลผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 23 คน หลังเข้าฉีดวัคซีน เข็มแรกของไฟเซอร์และบีออนเทค โดยผลการตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตเบื้องต้น ชี้ให้เห็นว่า ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโดยทั่วไป อาจเป็นอันตรายต่อ ผู้สูงอายุในกลุ่มเปราะบาง
          อีกหนึ่งประเทศอย่างโปรตุเกส ก็พบว่ามีหญิงเสียชีวิตกะทันหันถึง 2 คน หลังได้รับการฉีดวัคซีน หนึ่งในเจ้าหน้าที่การแพทย์ เสียชีวิตอย่างกะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุเพียง 48 ชั่วโมง ได้รับการฉีดของบริษัทไฟเซอร์-บิออนเทค ซึ่งเป็นวัคซีน mRNA นวัตกรรมวัคซีนแบบใหม่ที่นำมาใช้กว้างขวางครั้งแรก
          นอกจากนี้ยังพบชาวบ้านรายหนึ่งในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ เสียชีวิตไม่กี่ชั่วโมงหลังฉีดวัคซีน ซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยว่าเป็นของบริษัทไหน
          คงปฏิเสธไม่ได้ในเรื่องของการเสียชีวิตที่จะเกิดขึ้น คุณหมอรายเดิมยังบอกอีกว่า อาจจะต้องเลือกฉีดไปที่กลุ่ม วัยหนุ่มสาวที่แข็งแรงมากกว่าที่จะไปฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุ
          "อย่างสหรัฐฯ อย่างน้อยที่สุดข้อมูลที่ไม่ได้ยืนยัน เสียชีวิตไปกว่า 55 รายแล้ว แล้วก็ในประเทศต่างๆ อีก อย่างไรก็ตามถามว่าเป็นวัคซีนที่มีประโยชน์ไหม มี แต่ว่าอาจจะต้องเลือกกลุ่มอายุว่าควรจะไปฉีดในกลุ่มที่วัยหนุ่มสาว หรือวัยกลางคนมากกว่าที่จะฉีดในกลุ่มสูงวัย และเปราะบาง จึงพยายาม ให้ความเสี่ยงในเรื่องของการเสียชีวิตและการแพ้อย่างรุนแรงให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พยายามที่จะลงมาถึงกลุ่มที่ดู แข็งแรงมากกว่า ซึ่งในกลุ่มแข็งแรงนี้ก็จะได้ประโยชน์ ไม่ใช่ ได้ประโยชน์แต่เฉพาะที่ป้องกันตัวเขาเอง แต่ยังได้ประโยชน์ ว่าคนที่แข็งแรงวัยหนุ่มสาว วัยกลางคน ผู้คนเหล่านี้ซึ่งเป็นคนแอกทีฟในการทำงาน  และแอกทีฟในการมีชีวิตนอกเวลาทำงานจะเป็นกลุ่มที่สำคัญที่แพร่เชื้อในกลุ่มในลักษณะที่คนไม่มีอาการ ถ้ามาฉีดกลุ่มนี้ได้เยอะ ก็หมายถึงว่ากลุ่มนี้จะได้รับผลแทรกซ้อนน้อยกว่า แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าฉีดไปแล้วกลุ่มนี้กับได้ประโยชน์มากกว่าในการที่ป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ
          ถ้าหากป้องกันได้ขนาดนั้น ก็จะระงับการแพร่ระบาด ได้ดี คนที่แพร่เชื้อได้เก่ง โดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ตัว และไม่มีอาการ ถ้าเราสามารถที่จะสงบ หรือสยบกลุ่มนี้ได้ มันก็จะได้ประโยชน์ด้วย และก็หลีกเลี่ยงผลข้างเคียงไปด้วย"
          อีกประเด็นที่คุณหมอท่านนี้ย้ำชัด คือเรื่องประสิทธิภาพ ที่ไม่สามารถคาดเดาในเรื่องของประสิทธิภาพได้ แม้จะมีโรคประจำตัวหรือไม่มีโรคก็ตาม เพราะแต่ละคนระบบร่างกาย ไม่เหมือนกัน ความเสี่ยงและประสิทธิภาพที่ควรจะได้รับจึง แตกต่างกัน
          "ประเด็นในเรื่องของประสิทธิภาพ ต้องเข้าใจคำว่า 90% หรือ 97% ต่างๆ มันขึ้นอยู่กับข้อมูลในการวิเคราะห์ช่วงต้นที่ ฉีด ดังนั้นเองข้อมูลที่ได้รับตรงนี้จะเป็นข้อมูลในกลุ่มที่ติดตามอย่างเข้มข้น ข้อมูลที่ได้ออกมาจึงอาจจะบอกประสิทธิภาพได้ระดับหนึ่ง
          แต่เมื่อใช้ในสถานการณ์ของความเป็นจริง ในทุกกลุ่มอายุ กลุ่มที่มีความเสี่ยงไม่เหมือนกัน และยังเป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัวไม่เหมือนกันอีก ตรงนี้เองที่ทำให้ประสิทธิภาพกระโดดขึ้นกระโดดลง
          ต้องเข้าใจว่าวัคซีนทุกชนิด ไม่ว่าอะไรก็ตาม มันไม่ได้ ถูกกำหนดที่ชนิดของวัคซีน หรือประเภทของวัคซีนอย่างเดียว มันถูกกำหนดด้วยตัวคนที่ได้รับวัคซีน ถึงแม้คนนั้นไม่มีโรคประจำตัวก็ตาม  มนุษย์เราเองจะมีการตอบสนองในระดับที่ ต่างกันกับวัคซีนทุกชนิด ซึ่งเราแบ่งออกเป็นระดับน้อย กลาง สูง
          ซึ่งตรงนี้เองเราพบได้กับวัคซีนแทบทุกชนิดเลย คือมีการตอบสนองวัคซีนแต่ละชนิดของทุกคนไม่เท่ากัน การที่เรามาดูตัวเลขกลมๆ ว่าถ้า 50%-90% ตรงนั้นจริงๆ แล้วต้องคำนวณว่าคนแต่ละคนตอบสนองไม่เท่ากัน
          เมื่อใช้ในความเป็นจริงแล้วมันอาจจะไม่เลาะตามตัวเลขที่เราได้รับมา เพราะว่ามันไปขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน แต่ในขณะเดียวกัน แต่ละคน กลุ่มอายุ หรือว่ามี โรคประจำตัวก็ไม่เท่ากันอีก เรื่องของการตอบสนองของมนุษย์แต่ละคนได้รับวัคซีน" .


pageview  1210903    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved