HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 08/02/2564 ]
จับตา ไวรัสโรคโควิด กลายพันธุ์กระทบประสิทธิภาพวัคซีนไทย??

 ทีมข่าวคุณภาพชีวิต           qualitylife4444@gmail.com
          10 อันดับ ผู้ผลิตที่ได้รับการจองวัคซีนมากที่สุดได้แก่ 1.แอสตร้าเซเนก้า 3,036 ล้านโดส 2. Novavac 1,314 ล้านโดส 3.ไฟเซอร์-ไบออนเทค 836 ล้านโดส 4. Gamaleya 727 ล้านโดส 5. Sanofi/GSK 712 ล้านโดส 6. Moderna 461 ล้านโดส 7. Johnson& Johnson 346 ล้านโดส 8.CureVac 225 ล้านโดส 9. Sinopham 223 ล้านโดส 10. UBI Group 202 ล้านโดส
          กรุงเทพธุรกิจ   ขณะที่ 10 ประเทศที่ฉีดวัคซีนมากที่สุดได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป อังกฤษ อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินเดีย เยอรมนี อิตาลี และ ตุรกี ขณะที่การฉีดวัคซีนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ (ณ 29 ม.ค. 64) รวม 555,115 โดส ได้แก่ สิงคโปร์ 113,050 โดส อินโดนีเซีย 373,786 โดส และ เมียนมา 68,279 โดส
          รศ.(พิเศษ)นพ.ทวีโชติพิทยสุนนท์ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ อธิบายว่าสำหรับประเทศไทย แม้มีการ เริ่มต้นฉีดวัคซีน ผลที่จะเกิดขึ้นอาจไม่เร็วเนื่องจากในประเทศไทยมีการระบาดต่ำ อัตราเฉลี่ยคนที่ป่วยหรือติดโควิด-19ในไทยยังต่ำอยู่ เพราะฉะนั้นการเห็นผลของการฉีดวัคซีนในประเทศไทยที่มีผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 1 พันรายต่อวันคงเห็นผลได้ช้า เพราะมีมาตรการอื่นในการป้องกันการติดเชื้อ แต่ก็ต้องฉีดเพราะถ้าเปิดช่องว่างเชื้อจะจู่โจมได้
          "ส่วนเชื้อกลายพันธุ์ กำลังจับตามองกันอยู่ แต่เชื้อกลายพันธุ์ก็มีผลต่อวัคซีน แต่อยู่ที่ว่ากลายพันธุ์มากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังเป็นเชื้อตัวเดิม ดังนั้น เมื่อได้วัคซีนมาเมื่อไหร่ต้องรีบฉีด ก่อนที่เชื้อกลายพันธุ์จะเข้ามาในประเทศไทย"รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว
          ว่ากันว่าขณะนี้ มีเชื้อกลายพันธุ์ใหญ่ใน 3 ประเทศ คือ อังกฤษ บราซิล และแอฟริกาใต้ มีข้อมูลว่า วัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันที่ศึกษาในอเมริกามีเชื้อกลายพันธุ์ประสิทธิภาพ 72% แต่ในแอฟริกาใต้ประสิทธิภาพ 57% ซึ่งพบว่าช่วงการศึกษาในแอฟริกาใต้มากกว่า 95% เป็นเชื้อกลายพันธุ์ ส่วนวัคซีนนาโนแวกซ์ ศึกษาในอังกฤษประสิทธิผล 90% เป็นเชื้อที่กลายพันธุ์ในอังกฤษ แต่เมื่อศึกษาในแอฟริกาใต้ที่เป็นเชื้อกลายพันธุ์ มีประสิทธิภาพ 60% เชื้อกลายพันธุ์อาจก่อปัญหาต่อประสิทธิภาพตอบสนองต่อวัคซีนได้
          ขณะที่ ไฟเซอร์และโมเดอร์นานำเลือดที่มีภูมิคุ้มกันของคนที่ร่วมศึกษาวิจัยในอเมริกามาตรวจสอบพบว่ายังจัดการเชื้อในอเมริกาได้อยู่ แต่ในอเมริกาเชื้อกลายพันธุ์น้อยกว่าในอังกฤษและแอฟริกาใต้ เช่นเดียวกับแอสตราฯช่วงวิจัยในอังกฤษเป็นช่วงที่เชื้อยังไม่กลายพันธุ์ ขณะนี้ อยู่ระหว่างนำเลือดคนไข้ที่เข้าร่วมวิจัยมาทดสอบกับเชื้อใหม่ ซึ่งต้องรอดูว่าผลจะออกมาอย่างไร
          ส่วนประเทศไทยพบเชื้อกลายพันธุ์จากครอบครัวหนึ่งจากประเทศอังกฤษระหว่างกักตัวในสถานที่กักกันแต่เชื้อที่ระบาดอยู่ในประเทศไทยมาจากเมียนมาที่ไวรัสยังเป็นโครงสร้างเก่า ดังนั้นเมื่อได้วัคซีนมาเมื่อไหร่ต้องรีบฉีด ก่อนที่เชื้อกลายพันธุ์จะเข้ามาในประเทศไทย
          ส่วนในอนาคตเชื้อในประเทศไทย จะมีการพัฒนาอย่างไรหรือไม่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
          สำหรับประสิทธิภาพวัคซีนชนิดต่างๆ พบว่าไฟเซอร์-ไบออนเทคชนิด mRNA ป้องกันป่วย 95% ป้องกันป่วยหนัก 90% เก็บในอุณหภูมิ -70 องศา ราคา 20 ดอลลาร์ โมเดอร์นาชนิด mRNA ป้องกันป่วย 94% ป้องกันป่วยหนัก 100% เก็บในอุณหภูมิ -20 องศา ราคา 37 ดอลลาร์ แอสตร้าเซเนก้าชนิด Adenovirus ป้องกันป่วย 70% ป้องกันป่วยหนัก 100% เก็บในอุณหภูมิ 3-5 องศา ราคา 4 ดอลลาร์ จอห์นสันแอนด์จอห์นสันชนิด Adenovirus ป้องกันป่วย 66% ป้องกันป่วยหนัก 85% เก็บในอุณหภูมิ 3-5 องศา ราคา 10 ดอลลาร์
          Sputnik ชนิด Adenovirus ป้องกันป่วย 92% ป้องกันป่วยหนัก NA เก็บในอุณหภูมิ 3-5 องศา ราคา 10 ดอลลาร์ Novavac ชนิด Protein-based ป้องกันป่วย 89% ป้องกันป่วยหนัก 100% เก็บในอุณหภูมิ 3-5 องศา ราคา NA Sinovac ชนิด Inactivted ป้องกันป่วย 50-91%  ป้องกันป่วยหนัก NA เก็บในอุณหภูมิ 3-5 องศา ราคา 30 ดอลลาร์ และ Sinopharmชนิด Inactivted ป้องกันป่วย 79-85% ป้องกันป่วยหนัก NA เก็บในอุณหภูมิ 3-5 องศา ราคา 30 ดอลลาร์
          ขณะที่ ยอดการจองวัคซีนโควิด-19  ทั่วโลก(ข้อมูล ณ วันที่ 27 ม.ค.64) ทั้งหมด 8,490 ล้านโดส โดย 10 ประเทศ ที่มีการจองวัคซีนตามสัดส่วนประชากรมากที่สุด ได้แก่ 1. แคนาดา ครอบคลุมประชากร 330.1% ถัดมา คือ 2. อังกฤษ 302.2% 3. นิวซีแลนด์ 246.8% 4.ออสเตรเลีย 229.9% 5. EU (27 C) 183.5% 6. นอร์เวย์ 183.5% 7. สหรัฐอเมริกา 169.0% 8.ไอซ์แลนด์ 156.0% 9.ฮ่องกง 154.6% และ 10. อิสราเอล 137.6%
          อย่างไรก็ตาม ในส่วนของไทยที่ได้มีการเตรียมระบบ และแผนรองรับการจัดสรรวัคซีนไว้แม้ว่าวัคซีนจะ ยังมาไม่ถึงก็ตาม ซึ่งไทยมีการจองซื้อวัคซีน แอสตร้าเซเนก้า ประสิทธิผล ป้องกันการป่วย 70% ป้องกันหนักป่วยหนักได้ 100% ป้องกันติดเชื้อแบบไม่มีอาการ ไม่ชัดเจน ป้องกันแพร่เชื้อ อย่างน้อย 50% ปลอดภัยใช้ไปหลายล้านโดส ผู้สูงวัยทนวัคซีนได้ดีกว่า ประสิทธิผลในการป้องกันภาพรวมได้ผลป้องกันป่วยได้ 70.4% ป้องกันหนัก หรือตายได้ 100% โดยฉีด 2 เข็ม ควรฉีดห่างกัน 10-12 สัปดาห์ โดยสามารถปกป้องตั้งแต่โดสแรก ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกฉีดไปทั้งหมดกว่า 104 ล้านโดส
          สำหรับกลุ่มเป้าหมายตาม นโยบายการให้วัคซีนโควิด-19 ของไทย คือ ประชาชนทุกคนตามความสมัครใจ เนื่องจากวัคซีนโควิด อยู่ระยะแรกของการผลิต ปริมาณของวัคซีนที่ผลิตได้เป็นปริมาณความต้องการใช้ยังไม่สัมพันธ์กัน
          ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย และจัดลำดับกลุ่มเป้าหมายในการ เข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ในสถานการณ์การระบาดของโรค โดยหลักจริยธรรม ความเท่าเทียม หลักฐานทางวิชาการ ปริมาณวัคซีนที่จัดหาได้ และความสามารถในการบริหารจัดการภายใต้บริบทของประเทศ


pageview  1210905    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved