HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 08/07/2564 ]
สธ.ลุยฉีดวัคซีนแดงเข้ม ยันซิโนแวค-แอสตร้าฯ ป้องติดเชื้อ-เสียชีวิต

  สธ.ลุยฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงพื้นที่แดงเข้มภายในเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ ยันซิโนแวค-แอสตร้าฯ มีประสิทธิภาพ ป้องกันการติดเชื้อและเสียชีวิต
          นพ.โอภาส การ์ยกวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ร่วมกันปรับยุทธศาสตร์เร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงในพื้นที่สีแดงเข้มหรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยคาดว่าประชาชนในกลุ่มนี้จะได้รับวัคซีนภายในเดือนก.ค.-ส.ค. 2564 ในขณะเดียวกันก็ได้เร่งฉีดวัคซีนแก่กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต จึงอาจมีบางรายที่ได้รับการติดต่อเพื่อเลื่อนวันนัดหมายฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้น
          อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าวัคซีนที่มีอยู่ในประเทศไทยในขณะนี้ ทั้งวัคซีนซิโนแวค และวัคซีนแอสตร้าเซเนกามีประสิทธิภาพในการป้องกันและมีความปลอดภัยในระดับสูง รวมถึงวัคซีนไฟเซอร์ที่จะนำเข้ามาเร็ว ๆ นี้ ได้มีการพิจารณาถึงประสิทธิภาพของวัคซีน และความสามารถในการลดการติดเชื้อ ป่วยหนัก และลดการเสียชีวิต โดยเน้นพิจารณาเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งวัคซีนที่จะนำมาใช้ในประเทศไทยต้องได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนทุกชนิด
          จากการศึกษาประสิทธิผลหลังการใช้จริงของวัคซีนแอสตร้าเซเนกา ในประเทศอังกฤษ พบว่าสามารถลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ 89% หลังฉีด 2 เข็ม โดยมีประสิทธิผลในการป้องกันการเสียชีวิตในผู้สูงอายุ 80% ในสกอตแลนด์ พบว่าสามารถลดความรุนแรงของโรคที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลสูงถึง 88% ในอิตาลี พบว่าสามารถลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในทุกกลุ่มอายุ 95% หลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว 35 วัน ส่วนในเกาหลี พบว่าลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ 90% หลังฉีดเข็มแรกไปแล้ว 14 วัน
          "ขณะนี้ ประเทศไทยฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนกาไปแล้วกว่า 4 ล้านโดส โดยมีอาการที่เข้าข่ายว่าเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำเพียง 2-3 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนหาสาเหตุ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า โอกาสในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำในประเทศไทยมีจำนวนน้อย" นพ.โอภาส กล่าว
          ส่วนวัคซีนซิโนแวค จากการศึกษาประสิทธิผลหลังการใช้จริงในอินโดนีเซีย พบว่าหลังจากฉีดวัคซีนครบ 2 โดส สามารถป้องกันอาการป่วยได้ 94% และสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้ 98% ด้านบราซิล หลังจากฉีดวัคซีนครบ 2 โดส สามารถป้องกันอาการป่วยได้ 80% และสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้ 95% ในชิลี พบว่าสามารถป้องกันการป่วยรุนแรงได้ 89%
          ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าวัคซีนซิโนแวคยังไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง ซึ่งประเทศไทยจากที่ได้มีการฉีดวัคซีนชนิดนี้แล้วจำนวนกว่า 7 ล้านโดส ก็ยังไม่พบรายงานผลข้างเคียงที่รุนแรงเช่นกัน
          สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ จากการศึกษาประสิทธิผลหลังการใช้จริงในอิสราเอล พบว่าหลังฉีดครบ 2 โดส สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 95.3% ป้องกันอาการป่วยรุนแรง 97.5% และป้องกันการเสียชีวิตได้ 96.7% โดยไวรัสที่ระบาดหลัก ๆ ในอิสราเอล คือสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) ด้านสหรัฐฯ พบว่าวัคซีนชนิด mRNA (ทั้งวัคซีนไฟเซอร์ และโมเดอร์นา) มีประสิทธิผลในการลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ 90% หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้วเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์
          ด้านความปลอดภัยของวัคซีนไฟเซอร์ ทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) รายงานว่า มีผู้ได้รับวัคซีนเกิดอาการข้างเคียงจำนวน 8 ราย จาก 1 ล้านราย โดยมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีแผนจะนำเข้ามาใช้ จึงอยู่ระหว่างการศึกษาและติดตามผลข้างเคียงอย่างใกล้ชิด


pageview  1210874    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved