HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 07/09/2564 ]
สาธิต ยกระดับ รพ.ดันศูนย์แพทย์ อีอีซี ชงเปิดเกาะท่องเที่ยว

 กรุงเทพธุรกิจ  "สาธิต" ชงเปิดรับนักท่องเที่ยว 1 ต.ค.เล็งเกาะในภาคตะวันออก เตรียมชง ครม.เคาะนำร่องต่อจากสมุยพลัสโมเดล พร้อมขยาย รพ.ในอีอีซี หนุนศูนย์การแพทย์ครบวงจร รองรับการเติบโต
          "กรุงเทพธุรกิจ" จัดสัมมนาออนไลน์หัวข้อ "EEC Future : ขับเคลื่อนอีอีซี... ฟื้นเศรษฐกิจไทย" วานนี้ (5 ก.ย.) โดยมีผู้แทน ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันนำเสนอแนวทางการผลักดันเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยรวมถึงแผน การพัฒนาด้านสาธารณสุขเพื่อรองรับการพัฒนาอีอีซีในอนาคต
          นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า พื้นที่อีอีซีถือได้ว่าเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยพลิกฟื้นหลังจากเจอกับวิกฤติโควิด-19 โดยในพื้นที่อีอีซีเป็น ทั้งฐานการผลิตและพื้นที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยว รวมทั้งที่ผ่านมามีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคืบหน้าไปมากซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกในการชักจูงการลงทุนในอนาคต
          ทั้งนี้ในปัจจัยเรื่องของวัคซีนที่จะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆเดินไปได้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรวัคซีนให้กับพื้นที่อีอีซีโดยส่วนใหญ่เป็นการฉีดให้ กับแรงงานในโรงงานต่างๆแล้วประมาณ 2 ล้านโดส เป็นการฉีดในพื้นที่จ.ฉะเชิงเทราประมาณ 5.2 แสนโดส จ.ชลบุรี 1.12 ล้านโดส และพื้นที่ จ.ระยอง ประมาณ 3.6 แสนโดส
          รวมทั้งการฉีดวัคซีนจะเพิ่มมากขึ้นตามการนำเข้าวัคซีนในภาพรวมของประเทศซึ่งในปีนี้การนำเข้าวัคซีนทั้งหมดจะได้ไม่ต่ำกว่า 120 ล้านโดส โดยจะทยอยเข้ามาตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ย.เฉลี่ยมากกว่า 20 ล้านโดสต่อเดือนทำให้การฉีดวัคซีนจะทำได้ 70% ของประชากร หรือ 50 ล้านคนในประเทศได้ตามเป้าหมาย หากไม่มีคลัสเตอร์การแพร่ระบาดขนาดใหญ่ และการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ของโควิด-19 เข้ามาเพิ่มเติมอีก โดยการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเริ่มมี ความชัดเจนได้ตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นไป
          เล็งชงเปิดเกาะล้าน-เกาะช้าง
          นอกจากนี้ พื้นที่อีอีซีถือว่าเป็นพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวให้ความนิยมและพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายแห่ง โดยกระทรวงสาธารณสุขเตรียมที่จะเสนอพื้นที่นำร่องเปิดการท่องเที่ยวและรับชาวต่างชาติในพื้นที่เกาะในภาคตะวันออก ซึ่งบางส่วนอยู่ในพื้นที่อีอีซี เช่น เกาะล้าน เกาะช้าง ซึ่งเป็นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ต่อเนื่องจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และสมุยพลัสโมเดล โดยเตรียมที่จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเริ่มได้ในเดือน ต.ค.นี้
          นายสาธิต กล่าวว่า ในส่วนของการเตรียมความพร้อมรองรับของระบบสาธารณสุขในพื้นที่อีอีซี เพื่อรองรับการเติบโตของพื้นที่ในอนาคต โดยภายในปี 2565 ได้วางเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ โรงพยาบาลในพื้นที่ให้สามารถรับการรักษาพยาบาลได้โดยไม่แออัด ซึ่งจะต้องมีหน่วยบริการปฐมภูมิที่มีคุณภาพ ประชาชนที่อยู่ทุกระบบการรักษาสามารถที่จะเข้าสู่การรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว สามารถรองรับโรคอุบัติใหม่ได้
          สำหรับการดำเนินการดังกล่าวนั้นได้วางเป้าหมายที่จะยกระดับโรงพยาบาลในพื้นที่อีอีซี หลายแห่งให้มีศักยภาพทัดเทียมศูนย์แพทย์เฉพาะทางในเขตกรุงเทพฯ  หรือการเพิ่มจำนวนเตียงที่จะรักษาพยาบาลให้เพิ่มมากขึ้น โดยใช้แนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในเร็วๆ นี้ โดยโรงพยาบาลที่จะนำร่องในการขยายเตียงผู้ป่วยในรูปแบบนี้ คือ โรงพยาบาลปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง
          ยกระดับโรงพยาบาลด่านหน้า
          ส่วนโรงพยาบาลอื่นภายในพื้นที่จะมีการพัฒนา เพื่อให้มีความพร้อมให้เป็นโรงพยาบาลด่านหน้า ได้แก่ โรงพยาบาลบางละมุง โรงพยาบาลบ้านฉาง โรงพยาบาลสัตหีบ กม.10 โรงพยาบาลที่จะยกระดับให้เทียบเท่าสถาบันบำราศนราดูร ได้แก่ โรงพยาบาลชลบุรี และโรงพยาบาลสระบุรี ส่วนโรงพยาบาลที่จะยกระดับรองรับโรคอุบัติใหม่ในพื้นที่ ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ เป็นต้น
          นอกจากนั้นในพื้นที่อีอีซียังมีโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์อีกหลายแห่งที่จะส่งเสริมการวิจัย และพัฒนา การสนับสนุนทางวิชาการให้สามารถที่จะรองรับการพัฒนาการวิจัยทางการแพทย์ การสร้างความรู้ที่จะรับมือกับโรคระบาด และโรคอุบัติใหม่ โดยสามารถนำเทคโนโลยีข้อมูล และระบบดิจิทัลต่างๆมาใช้ เช่น ในพื้นที่ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ซึ่งมีศูนย์วิจัยวังจันทร์ของกลุ่ม ปตท.ที่มีศักยภาพและความพร้อม ในการรักษาผู้ป่วยเพิ่มเติม เช่น ระบบของบล็อกเชน โดยใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อมาอำนวยความสะดวกในการรักษาพยาบาลในพื้นที่ได้รวดเร็วมากขึ้น


pageview  1220033    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved