|
|
|
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 25/08/2564 ] |
|
|
|
|
ครม.ปลดล็อกซื้อชุดตรวจATK เปิดช่องดีลไฟเซอร์ |
|
|
|
|
เฝ้าระวังเดลตาสายพันธุ์ย่อย ครม.ปลดล็อกซื้อชุดตรวจATK เปิดช่องดีลไฟเซอร์
ผู้จัดการรายวัน360 - ผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่ม 17,165 ราย เสียชีวิตอีก 226 ราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงพบเดลตาสายพันธุ์ย่อยอีก 27 สายพันธุ์ สุ่มตรวจเจอในไทยแล้ว 4 สายพันธุ์ย่อย รวม 14 ราย ยันยังไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ ยังไม่พบความรุนแรงขึ้นจากเดิม จับตาใกล้ชิดต่อเนื่อง อย.แนะ "ไฟเซอร์" ขึ้นทะเบียนเต็มรูปแบบ เร่งพิจารณาภายใน 30 วัน เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถติดต่อซื้อขายโดยตรงกับตัวแทนได้ ครม.แก้มติซื้อชุดตรวจ ATK ไม่จำเป็นต้อง WHO รับรอง พร้อมให้เร่งแก้ปัญหาขัดแย้ง ด้านแพทย์ชนบท ยันเดินหน้าตรวจสอบต่อ สธ. เผยแนวโน้มดีขึ้น จ่อคลายล็อก แต่ต้องป้องกันตนเองเต็มที่
วานนี้ (24 ส.ค.) ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 17,165 ราย ยอดสะสม 1,083,951 ราย ผู้ป่วยที่ออยู่ระหว่างการรักษา 192,344 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 5,229 ราย และต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 1,095 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 881,829 ราย หายเพิ่ม 20,059 ราย เสียชีวิตใหม่ 226 ราย รวมเสียชีวิต 9,788 คน
สธ.แถลงพบเดลตา 27 สายพันธุ์ย่อย
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวผ่านทางระบบออนไลน์ ถึงประเด็นการพบสายพันธุ์ย่อยของเดลตาในไทย ว่า จากการที่องค์กร GISAID ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่ประเทศทั่วโลกจะถอดรหัสพันธุกรรม และส่งเข้าไปยังฐานข้อมูลแห่งนี้และแชร์ข้อมูลรวมกัน ปัจจุบันมีกว่า 3 ล้านตัวอย่าง รวมถึงประเทศไทยด้วย พบว่า "สายพันธุ์เดลตา" (B.1.617.2) มีการกลายพันธุ์หลุดออกมาถึง 60 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อู่ฮั่น ฉะนั้น การที่มีการกลายพันธุ์ออกไปเป็นจำนวนมากบ่งชี้ว่ามีการแพร่ระหว่างคนสู่คนมาก
นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการกระจายตัวแตกสายพันธุ์ย่อยอีกถึง 27 สายพันธุ์และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือ B.1.617.2.1 - B.1.617.2.22 หรือเรียกให้สั้นว่า AY.1 - AY.22
สำหรับของประเทศไทย จะต้องจับตา "AY.4 หรือ B.1.617.2.4" ขณะที่ผู้ติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่ในประเทศยังเป็นเดลตาสายพันธุ์หลัก โดย AY.4 มีพบปทุมธานี 4 รายนั้น ไม่ได้หมายความว่ามีสายพันธุ์ย่อยนี้มาก แต่เพราะมีการสุ่มตรวจที่ปทุมธานี ซึ่งชี้ชัดว่า เป็นลูกหลานของสายพันธุ์ที่มีอยู่แล้วในไทย
"เมื่อรู้อย่างนี้ก็จะต้องมีการควบคุมดูแลในอีกรูปแบบหนึ่ง ต้องระมัดระวังถ้าขยายตัวไปมากๆ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น แต่ทั้งนี้ AY ต่างๆ ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ หรือข้อมูลทางคลินิกมากพอที่จะบอกว่า AY.4 ดื้อต่อวัคซีนมากกว่าหรือน้อยกว่าสายพันธุ์หลัก"
นายแพทย์สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กล่าวเสริมว่า สายพันธุ์เดลตามีการอัปเดตฐานข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 ทำให้ทราบว่ามีสายพันธุ์ย่อยเดลตา ซึ่งทุกตัวของสายพันธุ์เดลตายังคงคุณสมบัติที่ทำให้มีการแพร่กระจายมาก อาการค่อนข้างรุนแรง และดื้อวัคซีน คือมีการกลายพันธุ์ 4 ตัว L452R, T478K, P681R, D614G และสายพันธุ์ย่อยก็จะมีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมขึ้นมา
"ล่าสุด พบข้อมูลสายพันธุ์ย่อยของเดลตาในไทยเพิ่มเป็น 9 ราย ทำให้ต้องติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะยังไม่ทราบ เชื้อเหล่านี้จะมีลักษณะรุนแรงขึ้นหรือไม่ แต่โดยลักษณะการแพร่กระจายยังไม่ออกไปทั่ว ซึ่งกรมฯ จะยังคงถอดรหัสพันธุกรรมอีก 6,000 ตัวอย่าง"
ทางด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ย้ำว่า การกลายพันธุ์เกิดขึ้นได้ทุกวัน เป็นธรรมชาติของไวรัสเกือบทุกตัว
อย. เปิดทาง "ไฟเซอร์" ขึ้นทะเบียนวัคซีน
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ตามที่องค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา ได้อนุมัติวัคซีนโคเมอร์เนตีของ บริษัท ไฟเซอร์ จำกัด เต็มรูปแบบ นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอเชิญชวนให้ บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย จำกัด นำข้อมูลมายื่นเพื่อพิจารณาอนุมัติขึ้นทะเบียน เต็มรูปแบบ หลังจากที่ อย. ได้อนุมัติวัคซีนชนิดนี้โดยเป็นการขึ้นทะเบียนแบบใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เมื่อบริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย จำกัด นำข้อมูลมายื่นแล้ว อย. จะเร่งพิจารณาไม่เกิน 30 วัน สำหรับการขายนั้นจะเหมือนกับวัคซีนปกติทั่วไป
ครม.ปลดล็อกซื้อ ATK ไม่ต้องผ่าน WHO
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการขอปรับปรุงข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 12/2564 และการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 โดยขอแก้ไขข้อความจากเดิมระบุในสรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 12/2564 หน้าที่ 17 ข้อ 6 ว่า "การเร่งดำเนินการจัดหาชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบแอนติเจน (Antigen Test Kit : ATK) ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมทั้งต้องมีความแม่นยำในการตรวจ เพื่อนำไปสู่การรักษาที่ทันท่วงที และพร้อมจัดส่งให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด" เป็นข้อความว่า "ในเรื่องการจัดหาซื้อชุดตรวจ ATK นี้ ขอให้ สธ.เร่งดำเนินการให้ได้โดยเร็ว หากมีปัญหาความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบัน ขอให้เร่งแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด"
สำหรับการแก้ไขข้อสั่งการครั้งนี้ ได้มีการตรวจสอบจากบันทึกการประชุม ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุมมีข้อความดังนี้คือ "ในเรื่องการจัดหาซื้อชุดตรวจ ATK นี้ ขอให้สธ.เร่งดำเนินการให้ได้โดยเร็ว หากมีปัญหาความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบัน ขอให้เร่งแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด"
แพทย์ชนบทยันเดินหน้าตรวจสอบ ATK ต่อไป
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ออกแถลงการณ์ฉบับบที่ 5 เรื่อง "ตู่ไม่แข็ง ชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายจะยังคงตรวจสอบคุณภาพ ATK ที่ประมูลได้ต่อไป" โดยมีใจความว่า ทางชมรมแพทย์ชนบทได้เห็นแนวโน้มของความพยายามแก้ไขข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และมติคณะรัฐมนตรีมาตลอดสัปดาห์ และวันนี้ก็มีความชัดเจนว่า "รัฐบาลของนายกประยุทธ์ จันทร์โอชานั้น ไม่แข็งจริง การไม่มีหลักยึดทีมั่นชัด ไม่แข็งที่จะยืนบนหลักที่ถูกต้อง ทำให้การนำรัฐนาวาประเทศไทย สู่การฝ่าฟันวิกฤตโควิดไปได้นั้น สาหัสและเจ็บหนักมาก ทั้งชีวิตผู้คนและระบบเศรษฐกิจไทย"
ทั้งนี้ ทางชมรมแพทย์ชนบทพร้อมร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน ระดมทีมปฏิบัติการจากทุกภาค ทำการตรวจสอบชุดตรวจ ATK ที่ได้รับการประมูลว่า มีคุณภาพดังที่กล่าวอ้างหรือไม่ มีผลบวกปลอมและผลลบปลอมในสัดส่วนที่เกินกว่าจะรับได้หรือไม่ ทั้งนี้ เราจะเริ่มปฏิบัติการทันทีที่ชุดตรวจได้กระจายลงสู่พื้นที่ และหากชุดตรวจมีคุณภาพต่ำเกินกว่าที่จะรับได้ เรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ
ATK ที่ใช้เป็น home use เกือบทุกยี่ห้อรวมทั้งยี่ห้อที่ชนะการประมูล ราคาขายปลีกในห้างในสหรัฐฯและยุโรปราคาเพียง 1 USD การที่องค์การเภสัชกรรมลดสเปกลง โดยไม่ลดราคากลางที่ 120 บาทลงไป เป็นการใช้เงินภาษีประชาชนอย่างไม่คุ้มค่าเลย และจะกระทบต่อการควบคุมโรคโควิดและการเปิดประเทศ
สธ.เผยผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มลดลง
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายใหม่ 17,165 ราย ถือว่าลดลงอย่างต่อเนื่องจากก่อนหน้านี้ที่อยู่ประมาณหลัก 2 หมื่นรายตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม ส่วนผู้ป่วยอาการรุนแรงจะยังคงระดับสูงต่อไปสักระยะ จากการสะสมของผู้ป่วยที่ผ่านมา โดยข้อมูลวันที่ 23 สิงหาคม 2564 มีผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,095 ราย โดยผู้ป่วยอาการรุนแรงในกทม.และปริมณฑลยังมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ในต่างจังหวัดมีทิศทางลดลง ถือว่าการเข้าถึงการดูแลมีประสิทธิภาพ ทำให้ป้องกันอาการป่วยรุนแรง ได้อย่างดี
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 ฉีดเพิ่มขึ้น 573,446 โดส สะสมรวม 27,612,445 โดส เป็นเข็มแรก 20,830,673 ราย คิดเป็น 28.9% ของประชากร โดยพื้นที่ 13 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวดมีประชากร 22 ล้านคน สามารถฉีดเข็มแรกได้แล้ว 11.5 ล้านคน คิดเป็น 52.1% ส่วน จังหวัดอื่นๆ 49 ล้านคน ฉีดแล้ว 9.2 ล้านคน คิดเป็น 18.6% ถือว่ามีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง
"ผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มลดลง ถือเป็นทิศทางและสัญญาณที่ดี แต่ยังต้องช่วยกันป้องกันตนเองอย่างเต็มที่ตลอดเวลา ถ้าทุกคนทำได้เต็มที่ มีความเป็นไปได้ที่จะมีการผ่อนคลายและกลับมาใช้ชีวิตปกติแบบ New Normal มากขึ้น". |
| | |
|
| |