|
|
|
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 22/09/2564 ] |
|
|
|
|
ฉลุย ร่างแก้พรก.โรคติดต่อฯ ย้ำชัดไม่คุ้มครองผู้คุมนโยบาย |
|
|
|
|
ฉลุย!ร่างแก้พรก.โรคติดต่อฯ ย้ำชัดไม่คุ้มครองผู้คุมนโยบาย
ผู้จัดการรายวัน360 - ผู้ป่วยโควิดรายใหม่ 10,919 ราย เสียชีวิต 143 ราย ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ คุ้มครอง จนท.ผู้ปฏิบัติงาน ยันไม่ใช่การนิรโทษ ไม่ครอบคลุมฝ่ายนโยบายบริหาร ศิริราช เปิดผลวิจัย ฉีดวัคซีนไขว้ "แอสตร้าฯ-ไฟเซอร์" สร้างภูมิได้สูงสุด ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เตรียมนำเข้ายา "โมโนโคลนอล แอนติบอดี" ใช้สกัดอาการรุนแรง ปลัด สธ.ตั้งเป้าฉีดวัคซีนโควิดวันละ 1 ล้านโดส สั่ง 12 เขตสุขภาพเตรียมความพร้อม
ผู้จัดการรายวัน360 - ผู้ป่วยโควิดรายใหม่ 10,919 ราย เสียชีวิต 143 ราย ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ คุ้มครอง จนท.ผู้ปฏิบัติงาน ยันไม่ใช่การนิรโทษ ไม่ครอบคลุมฝ่ายนโยบาย-บริหาร ศิริราช เปิดผลวิจัย ฉีดวัคซีนไขว้ "แอสตร้า-ไฟเซอร์" สร้างภูมิได้สูงสุด ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เตรียมนำเข้ายา "โมโนโคลนอล แอนติ บอดี" ใช้สกัดอาการรุนแรง ปลัด สธ.ตั้งเป้าฉีดวัคซีนโควิดวันละ 1 ล้านโดส สั่ง 12 เขตสุขภาพเตรียมความพร้อม
วานนี้ (21 ก.ย.) ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย พบมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10,919 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 63 อยู่ที่ 1,500,105 ราย หายป่วยเพิ่ม 11,694 ราย ผู้ป่วยที่ยังรักษา 131,655 ราย อาการหนัก 3,548 ราย ในจำนวนนี้ใส่เครื่องช่วยหายใจ 759 ราย และมีผู้เสียชีวิต 143 ราย ยอดสะสม 15,612 ราย
อนุมัติ ร่าง พ.ร.ก.แก้ไขฯ พ.ร.บ.โรคติดต่อ
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อแก้ไข เพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ให้เป็นร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการป้องกัน ระงับ ควบคุม หรือขจัดโรคติดต่อที่มีการระบาดในกรณีปกติ และในกรณีที่มีความรุนแรง ให้ยุติหรือบรรเทาลงโดยเร็ว และมีการเพิ่มหมวดที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเพื่อให้แยกการจัดการ กรณีโรคติดต่อในสถานการณ์ปกติออกจากโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง
"ในสถานการณ์ที่มีโรคระบาดร้ายแรง ก็ ไม่ต้องออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งมีสาระหลักที่เน้นไปในเรื่องของความมั่นคง ถ้าในกรณีที่มีโรคติดต่อร้ายแรงเช่นนี้ก็จะใช้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อแทน จะได้มีความเหมาะสมในการบริหารจัดการมากขึ้น และสาระของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ ไม่มีเนื้อหาสาระใดที่จะไปคุ้มครองเจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายหรือฝ่ายบริหาร เพราะฉะนั้นโดยสาระ ขอย้ำว่าเป็นการดูแลเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่จะได้รับประโยชน์จากร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้จะครอบคลุม เช่น เจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ ผู้ช่วย อสม. รวมถึงพนักงานกู้ภัย เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติในโรงพยาบาลสนาม ที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วย โควิด-19 ด้วย" น.ส.รัชดากล่าว
ยกเว้นภาษีฯ ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยให้ด่านหน้า
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักการมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าตอบแทนเสี่ยงภัยที่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ได้รับจากกระทรวงสาธารณสุขในปีภาษี 2564 เพื่อช่วยบรรเทาภาระภาษี และสร้างขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานสู้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งการยกเว้นการจัดเก็บภาษี จะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท
ฉีดไขว้ "แอสตร้า+ไฟเซอร์" สร้างภูมิสูงสุด
ศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อัปเดตผลการศึกษาการฉีดวัคซีนไขว้ เทียบการฉีดด้วยวัคซีนชนิดเดียวกัน ผ่านเพจเฟซบุ๊ก Siriraj Institute of Clinical Research สรุปได้ว่า
การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว ตามด้วยวัคซีนไฟเซอร์ ได้ระดับภูมิคุ้มกันสูงสุด 2,259.9 หน่วยต่อมิลลิลิตร อันดับ 2 การฉีดวัคซีนซิโนแวคตามด้วยวัคซีนไฟเซอร์ได้ระดับภูมิคุ้มกันที่ 2,181.8 หน่วยต่อมิลลิลิตร อันดับ 3 การฉีดวัคซีนซิโนแวค ตามด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ได้ระดับภูมิคุ้มกัน 1,049.7 หน่วยต่อมิลลิลิตร
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังไม่มีปัญหาเรื่องอาการข้างเคียงหลังฉีดเข็มที่หนึ่งและเข็มที่สอง ในระยะเวลาห่างกันประมาณ 4 สัปดาห์ ทั้งนี้ ควรมีการศึกษาประสิทธิภาพและประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อในผู้ที่ได้รับวัคซีน เพื่อยืนยันภูมิคุ้มกันจากการศึกษานี้
เตรียมนำเข้ายา "โมโนโคลนอล แอนติบอดี"
นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัย จุฬาภรณ์ กล่าวถึงการรับมือต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และแผนการจัดการการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในอนาคตว่า การดูแลผู้ป่วยโควิดที่เพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย. 64 ที่ผ่านมา จนถึงการติดเชื้อในประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 หมื่นรายต่อวันนั้น ถือเป็นภาระที่หนักมากต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ รวมถึงส่งผลกระทบทางสังคมเป็นอย่างมาก ดังนั้นการได้รับวัคซีน หรือยาต้านไวรัสที่รวดเร็วและกว้างขวางขึ้น จะทำให้ประชาชนสามารถกลับไปชีวิตได้ตามปกติเร็วขึ้น โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะเป็นส่วนหนึ่งในการจัดหาและกระจายยา "โมโนโคลนอล แอนติบอดี" ซึ่งยาชนิดนี้ เป็นยาแอนติบอดีค็อกเทล ตัวแรกที่ถูกออกแบบมาเพื่อรักษาโรคโควิด-19 โดยตรง ถูกสร้างและพัฒนาขึ้น เพื่อทำให้ร่างกายผู้ติดเชื้อ สามารถต่อสู้กับไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยับยั้งการติดเชื้อได้
"จุดสำคัญที่ราชวิทยาลัยฯ ทำ คือ จะนำเข้าและกระจายยาโมโนโคลนอล แอนติบอดีให้กับ รพ.ต่างๆ และร่วมกับ รพ.ต่างๆ ในการจ่ายยานี้ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ประเทศเราจะได้ทดสอบยาตัวนี้ ไม่อยากให้การรักษาโควิดจำกัดอยู่แค่การฉีดวัคซีน" นพ.นิธิกล่าว
สำหรับการทำงานของยาแอนติบอดีค็อกเทลนี้ จะสามารถทำให้ไวรัสอ่อนกำลังลง โดยตรงเข้าจับกับโปรตีนส่วนหนาม ซึ่งอยู่บนผิวของไวรัส จึงสามารถยับยั้งการติดเชื้อภายในร่างกายได้ทันที นอกจากนี้ ตัวยายังสามารถยับยั้งไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ ได้ ช่วยลดอัตราการเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล และลดอัตราการเสียชีวิตของ ผู้ป่วยลงได้
สำหรับแผนการใช้ยาแอนติบอดีค็อกเทล จะใช้กับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาแล้วไม่เกิน 10 วัน มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และเป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้น เช่น ผู้สูงอายุ, ผู้มีโรคอ้วน, โรคหลอดเลือดหัวใจ, ความดันโลหิตสูง, โรคปอดเรื้อรัง, โรคหอบหืด, โรคเบาหวาน, โรคไต, โรคตับ และภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อย่างไรก็ดี ในขณะนี้ยังมีข้อมูลจำกัดในการใช้ยาดังกล่าวกับหญิงตั้งครรภ์ หรืออยู่ระหว่างการให้นมบุตร รวมทั้งเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี
ด้าน นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการ และเริ่มมีการเปิดกิจการกิจกรรมต่างๆ กันมากขึ้น อาจจะเห็นการระบาดกลับมามากขึ้นอีกครั้ง ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนต.ค.เป็นต้นไป
สธ.ตั้งเป้าฉีดวัคซีนโควิดวันละ 1 ล้านโดส
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการตั้งเป้าฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในวันที่ 24 ก.ย.64 ให้ได้ 1 ล้านโดส ว่า เนื่องในวันมหิดล สธ.ขอเชิญชวนให้ชาวสาธารณสุขร่วมใจกันฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ได้ 1 ล้านโดส เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระราชบิดา เราเคยทำสถิติสูงสุด 9.2 แสนโดสต่อวัน โดยตนมอบนโยบายการฉีดไปยัง 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศให้ฉีดได้อย่างน้อยเขตละ 100,000 โดส
"ที่ผ่านมาเราฉีดได้ประมาณ 40 ล้านโดส เฉลี่ยเดือนละ 12-13 ล้านโดส ดังนั้น เดือนตุลาคมนี้ ที่เรามีวัคซีน 24 ล้านโดส ส่วนเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม มีอีกเดือนละ 23 ล้านโดส รวมๆ แล้วเราจะมีวัคซีนอีก 60-70 ล้านโดส ที่ต้องฉีดให้ประชาชน โดยเป้าหมายปีนี้คือ 100 ล้านโดส แต่เรามีวัคซีน 124 ล้านโดส หากเรามี 24 ล้านโดสต่อเดือน ก็เฉลี่ยวันละเกือบล้านโดสทุกวัน ส่วนเสาร์อาทิตย์ก็ผ่อนลงบ้าง 3-4 แสนโดส"
กทม. ฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์" ให้เด็ก 12-18 ปี
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการให้บริการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็กอายุ 12-17 ปี ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค เพื่อป้องกันโรค โควิด-19 ผ่านเพจเฟซบุ๊ก "ผู้ว่าฯ อัศวิน" โดยระบุข้อความว่า
ในตอนนี้ กทม.ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ยกเว้นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่ตอนนี้ยังคงต้องเรียนออนไลน์ที่บ้านเป็นหลัก ยังไม่สามารถกลับไปเรียนในโรงเรียนได้
"กทม.ได้เริ่มฉีดวัคซีนให้กับเด็กที่อยู่ในพื้นที่ กทม. ซึ่งได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็กอายุ 12 -18 ปี ที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีนไว้ล่วงหน้า ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ผู้ที่มาฉีดวัคซีนในวันนี้ เป็นเด็กกลุ่มแรก เป็นนักเรียนที่อาศัยอยู่ใน กทม.และมีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ซึ่งมีเด็กที่ต่ำกว่า 18 ปี กว่า 1 ล้านคนที่สมัครใจรับวัคซีน และการยินยอมของผู้ปกครอง โดยจะเร่งฉีดให้ครบภายในเดือน ต.ค. สร้างภูมิคุ้มกันก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2". |
| | |
|
| |