|
|
|
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 13/09/2564 ] |
|
|
|
|
ขี้แพ้ หมอไขความลับ เด็ก แพ้อะไรได้บ้าง? |
|
|
|
|
เฝ้าระวัง "โรคภูมิแพ้ในเด็ก" รู้จัก เข้าใจ พร้อมรับมือ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา เผยที่มา-อาการของโรคภูมิแพ้ในเด็ก เพื่อให้พ่อคุณแม่ทำความเข้าใจและรับมือ เมื่อลูกน้อยต้องพบกับอาการ "แพ้"
สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคภูมิแพ้ คือ พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งพันธุกรรมเป็นปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ทุกชนิด โดยถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่ก่อนแล้ว ลูกก็จะมีโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้ได้มากขึ้น ส่วนสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่ตอนคุณแม่ตั้งครรภ์ ให้นมบุตร ไปจนถึงสภาพแวดล้อมที่เลี้ยงดูเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอยู่ในสถานที่ที่มีสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น สัตว์เลี้ยง ละอองหญ้า เกสรดอกไม้ ใกล้ชิดคนสูบบุหรี่ พื้นที่ที่มีฝุ่น pm 2.5 หนาแน่นจะเพิ่มความเสี่ยงและความรุนแรงของการเป็นโรคภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้ในเด็กสร้างความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ไม่น้อย พญ.สิริรักษ์ กาญจนธีระพงค์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา โรงพยาบาลนวเวช จึงได้มาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ เพื่อให้พ่อคุณแม่ได้รู้จัก ทำความเข้าใจ และรับมือได้เมื่อลูกน้อยเป็นโรคภูมิแพ้
การเกิดโรคภูมิแพ้มักเป็นไปตามอายุ เช่น
โรคภูมิแพ้อาหาร (Food Allergy) มักพบในช่วงขวบปีแรก โดยมีการแพ้อาหารของเด็ก ตามช่วงอายุดังนี้
การแพ้โปรตีนนมวัว (cow's milk protein allergy) มักพบในช่วงขวบปีแรก โดยพบว่าการที่แม่ดื่มนมวัวปริมาณมากกว่าปกติในช่วงตั้งครรภ์ ให้นมบุตร การมีพี่น้องมีอาการแพ้โปรตีนนมวัวอยู่แล้วจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
การแพ้ไข่ (Egg allergy) แพ้แป้งสาลี (Wheat allergy) แพ้ถั่ว (Peanut allergy) ในปัจจุบันพบว่าเกิดได้ทั้งจากที่เด็กเริ่มกินเองเป็นครั้งแรก หรือที่ผ่านทางน้ำนมแม่ ก็มีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเช่นกัน
โรคภูมิแพ้อากาศ (Allergic rhinitis) จะต่างจากการเป็นโรคภูมิแพ้อาหาร มักจะพบในช่วงเด็กอายุ 2-3 ขวบปี โดยพบว่าการเลี้ยงดูในสิ่งแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ เชื้อรา หญ้า วัชพืช และละอองเกสร รวมไปถึงการมีสัตว์เลี้ยงในบริเวณบ้าน ทั้งสุนัข และแมว จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในอายุที่น้อยลง และกระตุ้นทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้นได้
การเกิดภาวะหลอดลมไวหลังการติดเชื้อไวรัส (Viral induced wheezing) และ การเป็นโรคหอบหืด (Asthma) นั้น สามารถพบได้ในช่วงอายุที่หลากหลาย ซึ่งถ้ามีภาวะหลอดลมไวหลังการติดเชื้อไวรัสบ่อยครั้งก่อนอายุ 5 ปี จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืดได้มากกว่าปกติถึง 2-3 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การติดเชื้อจากไวรัสทางเดินหายใจ RSV
อาการแสดงเบื้องต้นของการแพ้อาหารมีได้หลายลักษณะ
อาการทางผิวหนัง เช่น
ผื่นคัน ผื่นแดง ผื่นเม็ดทราย (Maculopapular rash) ซึ่งมักพบบริเวณลำตัวได้มากที่สุด
ผื่นแพ้ผิวหนังบริเวณที่เฉพาะเจาะจง (Atopic dermatitis) มีลักษณะหยาบ หนา แห้ง คันเรื้อรัง เฉพาะบริเวณ เช่น แก้ม ข้อมือ ข้อเท้า ข้อพับแขนขา รวมไปถึงตามลำตัวและท้องได้ ซึ่งผื่นนี้ เด็กทารกมักมีอาการคันมาก การเกาทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณผิวหนังตามมาได้บ่อย ๆ ทำให้รักษาหายขาดได้ยาก
ผื่นลมพิษแบบเฉียบพลัน (Urticaria)
อาการบวมของเยื่อบุบริเวณเปลือกตา ปาก หู ทั่วใบหน้า (Angioedema) ไปจนถึงแพ้แบบรุนแรงAnaphylaxis ได้
อาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น
การแน่นจมูก จาม มีน้ำมูกใส ๆ ไหลเรื้อรัง หรือเป็น ๆ หาย ๆ (Rhinorrhea/Rhinitis) ซึ่งอาการมีความคล้ายกับอาการของภูมิแพ้อากาศได้
หายใจครืดคราด ติดขัด หายใจหอบเหนื่อย แน่นหน้าอก (Chest tightness) ไปจนถึงหายใจแบบมีเสียงวี๊ด (Wheezing) ซึ่งอาการมีความคล้ายกับอาการของโรคหอบหืดได้เช่นกัน
ทั้งนี้ อาการทางระบบทางเดินหายใจอาจมีความรุนแรงไปจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น
การคัน ระคายในคอในช่องปาก ปวดท้องแบบบีบเกร็ง ซึ่งทำให้ทารกร้องกวนบ่อย ๆ นอนได้ไม่นาน ไม่สบายท้อง แน่นท้อง (Abdominal discomfort) ลักษณะเหมือนมีลมในท้อง ซึ่งอาจทำให้สะอึกหรือขย้อนนมตามหลังการกินนมได้
ถ่ายบ่อย ถ่ายท้องเสีย (Enteritis) โดยเฉพาะถ่ายปนมูก ถ่ายปนมูกเลือด (Mucous bloody stool appearance)
กินนมยาก น้ำหนักไม่ขึ้น เลี้ยงไม่โต
ร้องไห้โคลิค (Colic)
คำแนะนำสำหรับการเริ่มต้นอาหารมื้อแรก ในเด็กกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการแพ้อาหาร เป็นดังนี้
1. ข้าว เป็นอาหารหลัก เริ่มที่มื้อแรก ควรเป็นข้าวขาว ในทารกที่กินนมแม่สามารถกินเป็นข้าวบดผสมนมแม่ได้
2. ผัก ผลไม้ เริ่มที่อายุ 4-6 เดือน เนื่องจากเป็นอาหารความเสี่ยงน้อยต่อการแพ้อาหาร สามารถกินซ้ำเพียง 2-3 วัน ได้ตามลำดับ
ผักสีขาว-เขียวอ่อน : ผักกาดขาว หัวหอม หัวไชเท้า ซูกินี่ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก
ผักสีเขียวเข้ม : ผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง ตำลึง บลอคโคลี่ ผักโขม
ผักสีเหลือง ส้ม แดง ม่วง : ข้าวโพด ฟักทอง แครอท มะเขือเทศ บีทรูท มะเขือม่วง
3. เนื้อสัตว์ เริ่มที่อายุ 6 เดือน: เนื้อไก่ เนื้อหมู ตับ และปลาน้ำจืด ตามลำดับ
4. อาหารกลุ่มความเสี่ยงสูง ควรเริ่มตามอายุ ดังนี้
ไข่แดง : อายุ 6 เดือน
ไข่ขาว : อายุ 7-9 เดือน
แป้งสาลีและธัญพืช : 11-12 เดือน
ถั่วเหลือง : อายุ 6-7 เดือน
ถั่วลิสง และถั่วเปลือกแข็ง : อายุ 3 ปีขึ้นไป
อาหารทะเล เช่น ปลาทะเล กุ้ง ปู หอย : อายุ 2 ปีขึ้นไป / ปลาหมึก : อายุ 2-3 ปีขึ้นไป |
| | |
|
| |
|
pageview 1220036 |
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO) ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th | | |
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved
|
| |