HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 25/09/2555 ]
เรื่องดีๆ ที่รพ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ

  กระทรวงสาธารณสุขในฐานะหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศได้สนับสนุนให้สถานบริการในสังกัดทุกแห่งมีการพัฒนางานด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเชื้อโรคและเทคโนโลยีด้านสุขภาพโดยมีเป้าหมายสูงสุดคือประชาชนได้รับบริการที่ดีมีคุณภาพและได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงซึ่งที่ผ่านมาบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขจำนวนมากได้ต่อยอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนางานสาธารณสุขรวมทั้งคิดค้นนวัตกรรมต่างๆที่สามารถนำมาใช้กับผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศและประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้มากโรงพยาบาลยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ เป็นตัวอย่างของการนำทักษะความรู้หรือภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีอยู่มาดัดแปลงหรือพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการให้บริการของโรงพยาบาลรวมไปถึงผู้ที่มาใช้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขโดยมีนวัตกรรมสำหรับผู้ป่วยเด็กชื่อว่า"ตารางขนาดยาพร้อมใช้ เด็กน้อยปลอดภัย" จากการพัฒนาของเภสัชกรหญิงทิวาวรรณ สกุลจันทร์ เภสัชกรชำนาญการ กลุ่มงานเภสัชกรรมผลงานนี้สร้างสรรค์ขึ้นมาจากหลักการและเหตุผลที่ว่าการดูแลให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างถูกต้องนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อผลการรักษาผู้ป่วยหากเกิดความคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับขนาดของยาซึ่งมักเกิดจากการคำนวณผิดพลาดเช่นข้อมูลระบุไว้เป็นมิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันแต่ใช้เป็นมิลลิกรัม/น้ำหนักตัว1 กิโลกรัม/ครั้งรวมทั้งความถี่ในการให้ยาที่มากหรือน้อยเกินไป
          นอกจากนี้ยาฉีดแต่ละประเภทยังมีขนาดแตกต่างกันการพิจารณาขนาดการใช้ยาที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญมากโดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็กเนื่องจากอวัยวะภายในร่างกายยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ทำให้ระบบการย่อยการดูดซึมการเผาผลาญและขับถ่ายยังทำงานได้ไม่ดีเหมือนผู้ใหญ่และเมื่อจำเป็นต้องสั่งใช้ยาที่ไม่มีการสั่งใช้บ่อยในเด็กอาจทำให้เกิดความไม่แน่ใจหรือเสี่ยงต่อความคลาดเคลื่อนในการคำนวณขนาดยาให้เด็กได้ภญ.ทิวาวรรณได้คัดเลือกรายการยาน้ำและยาฉีดที่มีอยู่ในบัญชีรายการยาของโรงพยาบาลมาคำนวณขนาดตามน้ำหนักเด็กตั้งแต่ 5-30 กิโลกรัมและจัดพิมพ์เป็นตารางขนาดยาพร้อมใช้ช่วยให้แพทย์พยาบาลตลอดจนบุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องสั่งขนาดยาน้ำและยาฉีดสำหรับเด็กได้อย่างถูกต้องและหากเด็กมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 10 กิโลกรัมจะมีการให้หลอดฉีดยาสำหรับตวงขนาดยาให้ถูกต้องและแสดงให้ญาติผู้ป่วยทราบขนาดยาที่รับประทานด้วยนอกจากนี้ฝ่ายเภสัชกรรมโรงพยาบาลยางชุมน้อยยังมีบริการจัดยาให้ผู้ป่วยในแบบยูนิตโด๊สโดยใช้ขวดยาชนิดแก้วที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อบรรจุยาแต่ละมื้อและใช้กระบอกฉีดยาในการตวงยามีสติ๊กเกอร์ระบุชื่อ-หมายเลขผู้ป่วยชื่อยาวิธีรับประทานยาครบถ้วนทุกมื้อทำให้สามารถตรวจสอบความคลาดเคลื่อนทางยาได้ทันทีขณะสั่งยาช่วยให้ผู้ป่วยเด็กปลอดภัยมากขึ้นจากการใช้ยา "ตารางขนาดยาพร้อมใช้ เด็กน้อยปลอดภัย"นี้สามารถนำไปใช้ได้ทั้งภายในโรงพยาบาลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและการออกหน่วยเคลื่อนที่ให้บริการตรวจรักษาในชุมชน
          อีกผลงานหนึ่งซึ่งเป็นการพัฒนามาจากภูมิปัญญาไทยคือ"ฝาหม้อดินประคบเต้านม"มีที่มาจากการที่กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้สถานบริการทุกแห่งทั่วประเทศส่งเสริมให้มารดาหลังคลอดเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมารดาอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนแต่เนื่องจากพบว่ามารดาหลังคลอดมักมีปัญหาน้ำนมไหลช้าหรือน้ำนมไม่ไหลในวันแรกๆเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวโรงพยาบาลยางชุมน้อยจังหวัดศรีสะเกษจึงได้นำศาสตร์การแพทย์แผนไทยมาใช้เพื่อนวดกระตุ้นน้ำนมให้ไหลเร็วขึ้นแต่ก็ยังพบว่าการนวดทำให้เกิดการปวดคัดตึงบริเวณเต้านมจนต้องประคบร้อนบรรเทาอาการปวดด้วยลูกประคบซึ่งมีต้นทุนอยู่ที่ 35 บาท/ลูก/คนและลูกประคบลูกหนึ่งๆจะเก็บความร้อนได้เพียง3-4 นาที
          นางนิชช์ภาพร กอสุระ เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงาน หัวหน้ากลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกโรงพยาบาลยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษได้คิดค้นวิธีการใหม่โดยการนำฝาหม้อดินมาประยุกต์ใช้ในการประคบเต้านมโดยนำฝาหม้อดินขนาดต่างกัน 3 ขนาดเพื่อให้เหมาะกับเต้านมของมารดาหลังคลอดแต่ละรายมานึ่งด้วยหม้อนึ่งหรือกระทะไฟฟ้านาน 10-15 นาทีแล้วห่อด้วยผ้าขนหนูทดสอบความร้อนให้พอเหมาะก่อนนำไปประคบที่เต้านมทั้ง 2 ข้างหลังการนวดเต้านมเพื่อกระตุ้นน้ำนมข้อดีของการใช้ฝาหม้อดินประคบเต้านมอยู่ที่รูปแบบและขนาดที่พอดีกับเต้านมสามารถเก็บความร้อนได้ประมาณ 8-10 นาทีซึ่งนานกว่าการใช้ลูกประคบทั้งยังมีราคาต้นทุนเพียง 20 บาทแต่สามารถให้บริการมารดาหลังคลอดได้มากกว่า 10 คนจากการนำ"ฝาหม้อดินประคบเต้านม"ไปใช้พบว่าสามารถลดอาการปวดเต้านมได้จริงและทำให้มารดาหลังคลอดมีน้ำนมมาเร็วขึ้นและมากขึ้นที่สำคัญคือเป็นวัสดุที่หาได้ทั่วไปในครัวเรือนมารดาหลังคลอดสามารถนำวิธีการกลับไปทำต่อที่บ้านได้จึงถือเป็นนวัตกรรมง่ายๆที่ให้ผลดีและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนอย่างแท้จริง
 


pageview  1210969    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved