|
|
|
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 23/01/2555 ] |
|
|
|
|
ดูแลสุขภาพครูไทยสไตล์อายุรวัฒน์ |
|
|
|
|
แม้ว่าวันครูจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่พระคุณของครูบาอาจารย์ไม่ เคยผ่านพ้นไป ซึ่งทุกคนควรตระหนักและ พึงระลึกไว้เสมอ ทั้งนี้ อาชีพครูอาจจะเป็นอาชีพที่ใครๆ อาจจะมองข้ามในเรื่องของการดูแลสุขภาพ เพราะอาจมองว่าครูเป็นอาชีพที่ไม่น่าจะมีปัญหาหรือได้รับผลกระทบส่วนใดๆต่อสุขภาพมากนัก
แต่ความเป็นจริงแล้วอาชีพดังกล่าวเป็นอาชีพที่ควรจะดูแลสุขภาพให้ดี เพื่อจะได้อยู่เป็นแม่พิมพ์ พ่อพิมพ์ ในการช่วยถ่ายทอดความรู้ให้เด็กไทยได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคตได้ตราบนานเท่านาน
น.พ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการ ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ กล่าวว่า โรคร้ายแรงมีมากมายที่อาจจะบั่นทอนชีวิตของคุณครูผู้มีบุญคุณมากมายกับลูกศิษย์ที่ออกไปทำคุณประโยชน์ให้บ้านเมือง
1.โรคเครียด : อาชีพครูเป็นอาชีพที่เหนื่อยและหนัก แต่ครูจะมีความสุขอยู่ในใจเสมอ ภาวะเครียดที่มาจากการที่ต้องรับผิดชอบทั้งลูกศิษย์และงานของครูอาจทำให้สมองล้าเป็นบางครั้งบางทีได้ แต่ถ้ายังมีแรง กดดันอยู่นานๆ เช่น มีเรื่องส่วนตัวและครอบครัวด้วยก็อาจทำให้ครูประสบภาวะทางอารมณ์ได้ อาจมีอารมณ์สองขั้วหรือซึมเศร้าได้ง่าย
2.โรคอ้วน : มาจากเรื่องการรับประทาน, การดื่มแอลกอฮอล์, ออกกำลังกายน้อยและความเครียด ดังจะเห็นว่าแม่พิมพ์ของชาติที่ต้องตรากตรำทำงานทั้งสอนหนังสือและบริหารไปด้วยจะมีความเสี่ยงข้อนี้มาก ความเหนื่อยล้าของสมองกับร่างกายจะกระตุ้นให้การรับประทานมากขึ้นเป็นลำดับ
3.โรคนอนดึก : คุณครูหลายท่านจำต้องนอนดึก, กินดึกและอยู่ดึก ทั้ง 3 ข้อเป็นไลฟสไตล์ที่เรียกโรคภัยไข้เจ็บเป็นอย่างยิ่ง ส่วนการรับประทานดึกก็ทำให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อน การนอนหลับจะไม่สนิทดีนักอาจทำให้เกิด “กรดไหลย้อน” ได้
4.โรคนอนไม่หลับ : อาจเกิดได้ในครูไทย เกิดได้จากเรื่อง “วัย” และเรื่อง “งาน” โดยคุณครูที่เข้าวัยทองจะมีปัญหานี้มากหน่อยแล้วส่งผลต่อการสอนในตอนเช้ามาก น่าเห็นใจคุณครูมากที่เรื่อง “งาน” ก็อาจนำความเครียดติดสมองไปทำให้นอนไม่หลับได้ มีเทคนิคง่ายสไตล์อายุรวัฒน์คือ “จัดระเบียบสมอง” วางความสำคัญก่อนหลังเช่น สำคัญที่สุดคืองานสอนและงานประกันคุณภาพ สำคัญถัดมาคือ งานสังคม ส่วนสำคัญท้ายสุดคือ งานที่ไม่เกี่ยวข้องกับศิษย์เรา แล้วจะเบาหัวเวลานอนได้มาก
5.โรคที่เกี่ยวกับการยืน เช่น ข้อเข่าเสื่อม, ปวดไขข้อและริดสีดวง ครูที่ท่านต้องยืนนานวันละหลายชั่วโมงนั้นต้องเอาใจใส่สุขภาพให้มาก เพราะท่านมีความเสี่ยงที่จะข้อเข่าสึกได้มากกว่าคนทั่วไปโดยเฉพาะในท่านที่รูปร่างใหญ่ด้วย ขอให้เลี่ยงมาพักเข่าบ้างทุก 30 นาที ถัดมาคือเรื่อง “ริดสีดวง” ที่อาจมาละลานครูได้เวลายืนนานๆ หรือต้องกลั้นการขับถ่ายบ่อยๆ ขอให้คุณครูใช้วิธีดื่มน้ำให้มากและออกกำลังกายบ่อยๆ ครับจะทำให้ลำไส้ทำงานได้ปกติดี
นอกจากนี้ น.พ.กฤษดา ยังแนะนำ 5 เทคนิคดูแลสุขภาพครูด้วยอาหารสไตล์อายุรวัฒน์ คือ
1.อาหารบำรุงสมอง และมีวิตามินที่ช่วยคลายเครียด นั่นคือ “น้ำพริกปลาทู” เพราะมีปลากับกะปิที่ช่วยบำรุงสมองไล่ลดการอักเสบที่เกิดจากธาตุเครียด (Cortisol) สะสม
2.นิทราบำบัด การนอนเป็นอาหารสมองที่สำคัญสำหรับครู ถ้านอนไม่หลับสนิทลองรับประทาน แกงขี้เหล็ก, น้ำมะตูม, น้ำใบบัวบก, น้ำใบย่านาง หรือดื่ม “ชาคาโมไมล์ใส่น้ำผึ้ง” จะช่วยปรับ “ธาตุง่วง (Melatonin)” และ “เคมีสุข (Serotonin)” ในสมองก่อนนอน ช่วยกล่อมให้หลับสบายใจดี
3.สุขาคุณครู คุณครูผู้ใหญ่และคุณครูผู้มีร่างใหญ่เหมาะกับโถห้องน้ำแบบ “นั่งห้อยขา” ครับ จะช่วยเซฟข้อเข่าไว้ไม่ให้สึกก่อนวัย คุณครูจะได้ไม่ปวดขาเวลายืนสอนนักเรียนนานๆ
4. ออกกำลังกาย “ขยับในออฟฟิศ” ดังต่อไปนี้คือ ลุกนั่งกับเก้าอี้เป็นระยะ ลุกขึ้นยืนแล้วนั่งอย่างนี้ก็ช่วยได้แล้วครับ วันหนึ่งสัก 20 ครั้ง สลับกับ “แกว่งแขน” วันละ 500 ครั้ง
5.ออกกำลังสมองและใจ เวชศาสตร์อายุรวัฒน์เน้นเรื่องของ “ความสุข” ที่มาจากข้างในออกข้างนอก คือเน้นที่ “ทำได้เอง” เช่น ทำอาหาร, ทำขนม, เล่นดนตรี, เต้นลีลาศ, โยคะ ส่วนเรื่องของจิตใจขอให้ใช้เทคนิค “เห็นดีได้ในทุกสิ่ง” ทำให้ใจเบาลง นี่คือการออกกำลังใจสร้างเมตตาแบบง่ายๆ |
| | |
|
| |