HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 10/03/2555 ]
แก้มาตรา 305 ยิ่งช้าสังคมยิ่งเสื่อม

          กรณีที่ "ฮาเวิร์ด หวัง"นักแสดงนายแบบหน้าตี๋ออกมายืดอกยอมรับต่อสื่อมวลชนว่า เคยพาอดีตแฟนสวย "หมวย แม็กซิม"หรือ น.ส.พิลาวรรณ อารีรอบไป "ทำแท้ง"กลายเป็นประเด็นร้อนในสังคมไทยขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากเรื่องการทำแท้งเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมไทยที่มีทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน
          ด้านหนึ่งเห็นว่าหากเป็นกรณีที่หญิงตั้งครรภ์แบบไม่พึงประสงค์ เช่น ถูกข่มขืน หรือตั้งครรภ์แล้วมีปัญหาต่อสุขภาพของหญิงนั้นหรือมีปัญหาต่อสุขภาพทารกในครรภ์ก็สมควรที่จะให้ทำแท้ง
          ขณะที่อีกด้านหนึ่งคัดค้านเพราะถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และผิดหลักจริยธรรมศีลธรรม เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ และมีความเชื่อในเรื่องบาปบุญ
          ความจริงเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งแรก เพราะเมื่อประมาณปี 2553 ประเทศไทยก็เคยเป็นข่าวฉาวโด่งดังไปทั่วโลก จากข่าวพบศพทารกกว่า 2,000 ศพ ที่โกดังของวัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ครั้งนั้นคดีดังกล่าวเอาผิดได้เพียงสัปเหร่อที่เป็นผู้รับศพทารกเหล่านั้นไปเก็บไว้ในโกดัง และหญิงรายหนึ่งที่สืบได้ว่ารับจ้างทำแท้งให้วัยรุ่นที่นิยมชิงสุกก่อนห่ามย่านฝั่งธนบุรี หลังทำพิธีทำลายซากศพทารกเหล่านั้นเสร็จสิ้น สุดท้ายเรื่องก็เงียบเข้ากลีบเมฆ ตามสืบไม่ได้ว่าซากทารกเหล่านั้นมาจากคลินิกทำแท้งเถื่อนแห่งใด
          เรื่องการทำแท้ง ถือเป็นเรื่องใหญ่ของสังคมไทย เป็นปัญหาสังคมที่ละเอียดอ่อน ทุกวันนี้กฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งอย่างถูกกฎหมายมีตั้งแต่ประมวลกฎหมายอาญา
          พ.ศ.2548 มาตรา 305 (1) (2) มาตรา 276,277, 282, 283, 284 และข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2548 ซึ่งตีความออกมาได้ว่า กำหนดให้แพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเป็นผู้ยุติการตั้งครรภ์แก่
          หญิงที่ตั้งครรภ์ได้ใน 6 กรณี คือ
          1.การตั้งครรภ์นั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพทางกายของหญิง
          2.การตั้งครรภ์นั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพทางใจของหญิง
          3.ทารกในครรภ์มีความพิการรุนแรง 4.การตั้งครรภ์ที่เกิดจากการถูกข่มขืนกระทำชำเรา
          5.การตั้งครรภ์ในเด็กหญิงที่อายุไม่เกิน 15 ปีและ 6.การตั้งครรภ์มาจากเหตุล่อลวงบังคับ หรือข่มขู่เพื่อทำอนาจารสนองความใคร่
          แต่ปัญหาก็คือ เนื่องจากเนื้อหาหลักของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 เขียนไว้กว้างมาก เงื่อนไขเหล่านี้จึงขึ้นอยู่กับการตีความของนักกฎหมายแต่ละคน ขณะเดียวกันในสังคมไทยการให้ความรู้และการสร้างความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ยังอ่อนด้อยและไม่แพร่หลายเท่าที่ควร จนเป็นเหตุให้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และไม่พร้อมที่จะมีบุตรจำนวนหนึ่งตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการพึ่งพาคลินิกทำแท้งเถื่อน
          ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์นายกแพทยสภา บอกว่า ความไม่ชัดเจนนี้เอง ที่ทำให้สังคมไทยยังถกเถียงถึงเรื่องดังกล่าวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่ในแวดวงแพทย์นั้น เห็นว่าควรได้รับการยกเว้นให้กระทำได้ในบางกรณี เพราะเป็นประโยชน์ต่อหญิงที่ตั้งครรภ์แล้วมีปัญหา
          แนวทางนี้สอดคล้องกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งที่ผ่านมาได้พยายามผลักดันให้กฎหมายมีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยมีการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฯ มาตรา 305 บัญญัติข้อกำหนดการยุติการตั้งครรภ์เพิ่มเติมว่า ให้สามารถกระทำได้เพื่อสุขภาพจิตของมารดา และเพื่อสุขภาพของทารกในครรภ์ แต่จนถึงขณะนี้ร่างดังกล่าวยังค้างเติ่งอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
          ขณะที่การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ยังไม่เสร็จสิ้น วันนี้...แพทยสภาจึงได้ออกข้อบังคับเฉพาะสำหรับแพทย์ทั่วประเทศ เรียกว่า ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ฯ โดยมีเนื้อหาหลักๆ คือ จะกระทำได้เมื่อหญิงตั้งครรภ์นั้นยินยอม แพทย์ผู้กระทำการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามข้อบังคับนี้ต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมาย
          การยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา 305 (1) แห่งประมวลกฎหมายอาญาให้เป็นไปตามเงื่อนไข 1.เป็นกรณีที่จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากปัญหาสุขภาพทางกายของหญิงตั้งครรภ์ หรือ 2.เป็นกรณีที่จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากปัญหาสุขภาพทางจิตของหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งจะต้องได้รับการรับรองหรือเห็นชอบจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่มิใช่ผู้กระทำการยุติการตั้งครรภ์อย่างน้อย1 คน
          แต่สุดท้าย ศ.คลินิก นพ.อำนาจก็ยอมรับว่า แนวทางดังกล่าวยังควบคุมแพทย์ได้ค่อนข้างยาก ไม่มีใครสามารถรับรู้ได้ว่าการทำแท้งแต่ละครั้งเป็นไปตามข้อบังคับนี้หรือไม่หากไม่เกิดปัญหาถึงขั้นมีการร้องเรียน ให้ตรวจสอบ เพราะทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับจริยธรรมของแพทย์แต่ละคนเช่นกัน
          จากสถิติพบว่า ในแต่ละปีมีหญิงหนีปัญหาไปพึ่งคลินิกทำแท้งเถื่อน หรือหาวิธีจัดการปัญหาต่างๆ นานาเพื่อให้แท้งมากถึง120,000 ราย ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีอัตราการตั้งครรภ์ประมาณ 1,100,000 ราย ในจำนวนนี้คลอดบุตรเพียง 800,000 ราย แสดงว่ามีหญิงอีก 300,000 ราย ที่ไม่ได้คลอด และในจำนวนนี้แบ่งเป็นแท้งธรรมชาติประมาณ140,000-160,000 ราย ส่วนอีกประมาณ30,000 ราย เป็นกลุ่มที่เข้าเงื่อนไขให้ยุติการตั้งครรภ์ซึ่งคาดคะเนว่าถูกชักนำให้ทำแท้งได้ตามกฎหมาย ดังนั้น จึงเท่ากับว่าที่เหลืออีกจำนวนหนึ่ง คือกลุ่มที่เข้าไปใช้บริการคลินิกทำแท้งเถื่อน แต่ไม่ว่าจะเป็นการทำแท้งด้วยวิธีใด ถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย
          วันนี้...ชัดเจนแล้วว่าเป็นอีก 1 ปัญหาของ"สังคมไทย" ที่ต้องเร่งแก้ไข!
 


pageview  1210884    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved