HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 23/03/2555 ]
มะเร็งปากมดลูก ป้องกันได้

   ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ
          ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล        จุฬาลงกรณ์
          มะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุของมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในเพศหญิง เป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขในประเทศไทย การตรวจกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีการตรวจภายใน ป้ายปากมดลูก (Pap smear) เพื่อมาตรวจเซลล์ที่ผิดปกติ จะสามารถวินิจฉัยความผิดปกติจากการเกิดมะเร็งได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก และให้การรักษาก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็งลุกลามรุนแรงได้
          ปัจจุบันพบว่าไวรัส Human Papilloma มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องในการเกิดมะเร็งปากมดลูก ไวรัส Papilloma มีสายพันธุ์เป็นจำนวนมาก (มากกว่า 100 สายพันธุ์) แต่สายพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งปากมดลูก มีประมาณ 15-18 สายพันธุ์
          จากการศึกษาของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก 323 คน สายพันธุ์ที่พบบ่อยที่เป็นสาเหตุ   ในการเกิดมะเร็งคือ สายพันธุ์ที่ 16 และ 18 พบได้ประมาณร้อยละ 63 ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย (สายพันธุ์ 16 ร้อยละ 48 สายพันธุ์ 18 ร้อยละ 15)
          ในปัจจุบันมีวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันการติดเชื้อ Human Papilloma อยู่ 2 ชนิด คือชนิด 2 สายพันธุ์ (16 และ 18) และชนิด 4 สายพันธุ์ (16, 18, 11 และ 6) สายพันธุ์ที่ 11 และ 6 เป็นสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งทวารหนัก หูดหงอนไก่ (Condyloma) และเนื้องอกกล่องเสียง (laryngeal papilloma) Human Papilloma สามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ วัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อได้เป็นอย่างดี และควรจะต้องให้ก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์เป็นครั้งแรก
          อายุที่เหมาะสม ของการให้วัคซีนดังกล่าวในสตรี อยู่ในระหว่าง 9-27 ปี ถึงแม้ว่าจะมีวัคซีนในการป้องกันโรคอย่างได้ผล แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ของไวรัส Human Papilloma ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็ง หรือกล่าวได้ว่าวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ที่ใช้ในปัจจุบันป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ประมาณร้อยละ 63 ดังนั้น การตรวจกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีเดิม คือการตรวจภายในและป้ายเยื่อบุปากมดลูก (Pap smear) ประจำทุกปี ยังจำเป็นในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก
 


pageview  1210895    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved