HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 26/03/2555 ]
คอลัมน์ สุขภาพดีกับ>เกษมราษฎร์: กระบังลมหย่อน ผู้หญิงอย่ามองข้าม

 นพ.วันชัย  นพนาคีพงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติ-นรีเวชกรรม
          กระบังลมหย่อน  หมายถึง การหย่อนของฐานเชิงกรานทำให้ทวารหนัก มดลูก หรือกระเพาะปัสสาวะยื่นออกมานอกช่องคลอด อุบัติการณ์ พบในหญิงไทยร้อยละ 70  สาเหตุของกระบังลมหย่อนนั้นเกิดจากการคลอดบุตร ภาวะที่แรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น  เช่น  ไอเรื้อรัง หลอดลมอักเสบ  ท้องผูก ยกของหนักบ่อยๆ หรือพบเนื้องอกในช่องท้อง ภาวะอ้วน ภาวะขาดฮอร์โมนในสตรีวัยทอง และพันธุกรรมที่มีกล้ามเนื้อส่วนกระบังลมไม่แข็งแรง
          สำหรับอาการของกระบังลมหย่อนในรายที่กระบังลมหย่อนไม่มาก จะมีอาการหน่วงถ่วงลงช่องคลอด
          มีก้อนโผล่ออกมาที่ช่องคลอดหรืออาจมีแผลถลอกที่ส่วนยื่นออกมา มีปัญหาการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระขึ้นอยู่กับว่ากระบังลมนั้น หย่อนมากน้อยแค่ไหน อาการที่พบเสมอ ได้แก่  ปัสสาวะบ่อย  กลั้นปัสสาวะไม่อยู่และปัสสาวะอุจจาระลำบาก
          อย่างไรก็ตามกระบังลมหย่อนป้องกันได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยหญิงวัยเจริญพันธุ์  ในขณะที่ตั้งครรภ์ การออกกำลังกายจะช่วยให้กล้ามเนื้อยืดหดได้ดี  ฝึกการหายใจเพื่อช่วยการเบ่งคลอด  ทำให้การคลอดบุตรง่ายขึ้น และหลังคลอดกระบังลมจะหย่อนน้อยลง การออกกำลังกายภายหลังการคลอดบุตรจะช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้นและขับน้ำคาวปลาออกได้ดี
          ส่วนหญิงวัย 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นระยะที่ร่างกายเริ่มเข้าสู่วัยทองกำลังเริ่มเสื่อมลง  การออกกำลังกายจะช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้ชะลอความแก่ได้ สำหรับหญิงวัยทอง  ต้องหมั่นออกกำลังกาย ซึ่งอาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและโรคกระดูกบาง
          แนวทางการป้องกัน
          1.สำหรับวัยเด็ก  วัยรุ่น และวัยทำงานควรจะเล่นกีฬา หรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  จะช่วยให้กล้ามเนื้อทุกส่วนแข็งแรง  รวมถึงกล้ามเนื้อของกระบังลมเชิงกรานด้วย
          2.กินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการต้องกินอาหารให้ครบทุกหมู่  โดยเฉพาะผักและผลไม้ เพราะจะช่วยทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น
          3.ควรถ่ายอุจจาระทุกวัน  ควรปฏิบัติให้เป็นนิสัย หากเป็นได้ให้ดื่มน้ำ 1-2 แก้วตอนเช้าก่อนเข้าห้องน้ำทุกวัน  จะทำให้ถ่ายอุจจาระง่าย4.การขมิบก้น เพื่อทำให้กล้ามเนื้อโดยรอบทวารหนัก  เนื้อเยื่อโดยรอบ และเส้นเอ็นบริเวณกระบังลมแข็งแรงขึ้น  การขมิบก้นควรทำวันละหลายๆ ครั้ง  ไม่มีกำหนดว่าต้องทำเท่าไร  แต่หากทำมากก็มีส่วนช่วยได้มาก
          นอกจากนี้ หากเป็นแล้วยังต้องรักษาซึ่งมีทั้งการผ่าตัดและไม่ผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป


pageview  1210899    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved