HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 01/05/2555 ]
ความตายที่เป็นศูนย์

 เทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นช่วงขณะที่มีวันหยุดยาวหลายวัน ลูกๆ หลานๆ วัยทำงานในกรุงเทพฯและปริมณฑลต่างก็ใช้เวลาและโอกาสดังกล่าวกลับไปยังบ้านเกิดเพื่อรดน้ำพ่อแม่ปู่ย่าตายายและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว สิ่งหนึ่งก็คือความตั้งใจที่จะได้กลับไปสู่ครอบครัวพบปะญาติพี่น้องซึ่งเป็นสัมพันธภาพที่ดีงามของคนไทย
          ก่อนเทศกาลสงกรานต์หรือวันหยุดยาวติดต่อกันหลายๆ วัน รัฐบาลและภาครัฐต่างก็ได้ทำหน้าที่รณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดจากการเดินทาง
          ในปีนี้รัฐบาลได้มีโครงการรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน "สงกรานต์ปลอดภัย ตายเป็นศูนย์"
          นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ในฐานะรองประธานคณะกรรมการนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2555 ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนวันที่ 12 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่สองของวันรณรงค์ได้มีอุบัติเหตุ 481 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 58 ราย ผู้บาดเจ็บ 515 ราย รวมสถิติสะสมสองวัน เกิดอุบัติเหตุ 824 ครั้ง เสียชีวิต 88 ราย บาดเจ็บ 890 ราย จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดคือชุมพรและนครนายก จังหวัดละ 5 คน
          สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเมาสุราร้อยละ 39 การขับรถเร็วร้อยละ 21 พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดได้แก่ การโดยสารรถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัยร้อยละ 31 และไม่คาดเข็มขัดนิรภัยร้อยละ 3 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ รถจักรยานยนต์ร้อยละ 84 และรถปิกอัพร้อยละ 7 (มติชนรายวัน 14 เมษายน 2555 หน้า 9)
          เขียนใคร่ขอนำข้อมูลของคนที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงสงกรานต์ย้อนหลังไป 6 ปี และรวมปีนี้ด้วยดังนี้
          ในช่วงเจ็ดปีดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 2,939 ราย และมี ผู้บาดเจ็บสาหัสไปแล้ว 30,518 ราย สำหรับผู้ที่บาดเจ็บสาหัสต้องใช้ทรัพยากรมหาศาลในการดูแลเยียวยา บำบัดรักษาอาการทั้งทางกาย ใจ ผู้มีส่วนรับผิดชอบทั้งโดยตรงและอ้อมต่างตระหนักในข้อเท็จจริง ดังกล่าวหรือไม่ หรือว่าต้องรอลุ้นตัวเลขดังกล่าวในเทศกาลต่อไปอีก...
          ผู้อ่านหลายท่านอาจจะเห็นด้วยกับผู้เขียนที่ว่า ชีวิตมนุษย์ทุกๆ คนที่เกิดมาแล้วย่อมมีความตายเป็นธรรมดา ความแก่ชราเป็นธรรมดา ความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา แต่ความตายและอุบัติเหตุที่เกิดทั้งตนเองและผู้อื่นประมาทในเทศกาลดังกล่าวควรกับการตายที่เป็นธรรมดาหรือไม่...
          ผู้เขียนเข้าใจว่า คงจะมีการตายในเทศกาลแห่งความรื่นรมย์ สังสรรค์   กลับไปสู่มาตุภูมิบ้านเกิดเพื่อพบปะเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง ทำบุญให้ญาติๆ  คงจะมีเมืองไทยแห่งเดียวในโลกเท่านั้นที่พบสถิติของความตายและอุบัติเหตุในเทศกาลดังกล่าวเป็นตัวเลขที่สูงสุดในบรรดาประเทศต่างๆ ทั่วโลก...
          เมืองไทยของเรามีหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อคุณภาพชีวิตของคนไทยหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม โดยเฉพาะกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ผู้เขียนเข้าใจว่ามีหน่วยงานในท้องถิ่นที่ร่วมรับผิดชอบด้วย อาทิ อพปร. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. หน่วยงานอาสาสมัครรถกู้ชีพขององค์กรต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อย่างไรก็ตาม ก็ยังพบตัวเลขสถิติของอุบัติเหตุบาดเจ็บสาหัสและความตายดั่งเช่นปีก่อนๆ อะไรที่มิอาจจะทำให้ตัวเลขของเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นศูนย์ไปได้...
          ความเป็นมนุษย์หรือคนเมื่อเกิดมาลืมตาดูโลกแล้ว ทุกๆ คนล้วนมีคุณค่า ความหมายแห่งชีวิต ทุกชีวิตต้องพึ่งพาเกื้อกูลซึ่งกันและกัน การมีอุบัติเหตุและความตายเป็นจำนวนมากในช่วงเทศกาล ดังกล่าวจึงเป็นการประเมินค่ามิได้ทั้งเศรษฐกิจ ความรู้สึกของญาติพี่น้องครอบครัว บทเรียนดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยครั้งแล้ว
          ครั้งเล่า ผู้เขียนได้แต่ภาวนาในใจและใคร่อยากจะเห็นถึงการไม่มีสถิติ
          ดังกล่าวเลยจะเป็นไปได้หรือไม่...
          วามตายและอุบัติเหตุในเทศกาลดังกล่าวได้ให้บทเรียนสำคัญคต่อภาครัฐและผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบในเหตุการณ์ดังกล่าวใดบ้าง 1.การบังคับใช้กฎหมาย : ต้องยอมรับความจริงประการหนึ่งว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนอาจจะย่อหย่อนในการตรวจจับ ปรับ และดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งมาตรการเมาไม่ขับ หรือกฎข้อบังคับ กฎหมายมีช่องว่างบางประการให้ผู้ปฏิบัติงานได้อาศัยวิธีการดังกล่าวแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนและพวกพ้อง โดยเฉพาะการจราจรบนท้องถนนทั้งในภาวะปกติหรือเทศกาล มักจะพบเห็นถึงการแสวงหาผลประโยชน์อันมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เนืองๆ
          ข้อเท็จจริงประการหนึ่งของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ต้องปฏิบัติงานในภาวะของเทศกาลมีกำลังจำนวนน้อยไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันกำลังส่วนหนึ่งต้องรับหน้าที่อย่างอื่นควบคู่ไปด้วย อาทิ การป้องกันอาชญากรรมให้ได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การเฝ้าระวังมิจฉาชีพและการลักลอบขนยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมาย และตรวจดูแลความเรียบร้อยในสถานที่ชุมชนคนจำนวนมากสถานีขนส่งผู้โดยสาร
          2.สภาพของพาหนะและท้องถนน : ถนนหนทางในบ้านเมืองของเรามีหลายสายทั้งเส้นทางหลักและรอง สภาพของถนนมิได้อยู่ในสภาพที่สามารถเดินทางด้วยความปลอดภัย หลายแห่งมีหลุมบ่อ ขรุขระ สัญญาณจราจรทั้งระบบไฟ เส้นประบนถนน รวมทั้งป้ายบอกการเตือนระวัง บางแห่งสูญหายหรือไม่มี เป็นเหตุหนึ่งให้เกิดอุบัติเหตุและความตายเกิดขึ้น...
          รถยนต์เก๋ง ปิกอัพ รถบรรทุก มอเตอร์ไซค์ ในบ้านเมืองของเรามีทั้งประเภทที่ว่ามิได้อยู่ในความปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ อาทิ มีการแต่งรถสารพัดรูปแบบ ผู้ขับขี่บางคนละเลยในการตรวจสภาพของรถพร้อมใช้ทั้งยางรถยนต์ เครื่องยนต์ สภาพของรถที่จะนำชีวิตไปและกลับอย่างปลอดภัย...
          3.คุณภาพชีวิตของผู้ขับขี่ : ข้อเท็จจริงประการหนึ่งของผู้ขับขี่ที่ประสบเหตุดังกล่าวก็คือ วุฒิภาวะในการควบคุมบังคับรถ ประสบการณ์ในการขับขี่ บางคนใจร้อนวู่วามเอาแต่ใจตนเอง ขับขี่โดยมิได้ปฏิบัติตามกฎจราจร บางรายมีการขับปาดหน้าแซงซ้ายขวาด้วยความประมาท สิ่งหนึ่งที่พบเห็นอยู่บ่อยครั้งก็คือ การดื่มของมึนเมา เสพยาชนิดผิดกฎหมายแล้วขับรถ และร่างกายมิได้อยู่ในสภาพที่มีความพร้อมในการขับรถ...
          ผู้เขียนเองมีสติขับรถด้วยความไม่ประมาท แต่มีหลายครั้งด้วยกันที่ตนเองมิได้เป็นผู้กระทำ มีรถคันอื่นมาเฉี่ยวชนเมื่อมีเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมาหากไม่ได้รับอุบัติเหตุร่างกายบาดเจ็บและตายก็ทำให้ทั้งเสียเวลาและความรู้สึก หลายครั้งหลายคราด้วยกันที่ผู้เขียนได้เห็นความตายจากอุบัติเหตุรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ที่ชนกันอยู่ข้างหน้า อาจจะมีคำถามที่ว่า คนเราต้องการเดินทางด้วยความปลอดภัย ควรตายในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยหรือไม่...
          4.ความไม่ประมาท : ดูเสมือนเป็นนามธรรมที่จับต้องมิได้ แต่ในความเป็นจริงหากทุกคน ทุกภาคส่วนมีความสำนึกรับผิดชอบด้วยความจริงใจและจริงจัง เหตุการณ์ต่างๆ น่าจะทุเลาเบาบางลงไปได้ ผู้ขับขี่เองมีสภาพร่างกายจิตใจที่มีความพร้อมในการนำยานพาหนะ นำชีวิตไปถึงจุดหมายด้วยความปลอดภัย...
          ผู้เขียนเห็นว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือผู้นำของรัฐบาลต้องลงมาชนิดที่ว่าถึงลูกถึงคน ให้ความสำคัญของทุกๆ ชีวิต และชีวิตของคนที่ได้รับอุบัติเหตุและความตายก็คือคะแนนเสียง ฐานเสียงของตนเองทั้งโดยตรงและโดยอ้อม...
          สิงหนึ่งที่ผู้เขียนอยากเห็นก็คือ บุคลากรทางด้านศาสนาซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งพระภิกษุ สามเณร แม่ชี ภิกษุณี สามเณรี เมืองไทยของเรามีสถาบันศาสนาที่เป็นที่พึ่งของคนไทยส่วนใหญ่ อาทิ มหาวิทยาลัยสงฆ์ วัด สำนักสงฆ์ต่างๆ สถานที่ปฏิบัติธรรมที่หลากหลาย องค์บุคลากร องค์กรเหล่านี้ออกมาร่วมรณรงค์ ป้องกัน ให้ความรู้ความเข้าใจในชีวิตที่ไม่ประมาทในการเดินทาง การใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัย ความตายก็เป็นสิ่งที่น่าจะชะลอลงได้...
          ผู้อ่านหลายท่านอาจจะเห็นด้วยกับผู้เขียนก็คือ คงไม่อยากเห็นถึงสถิติของอุบัติเหตุและความตายจากเทศกาลดังกล่าวมาให้ทราบถึงตัวเลข เมื่อวัน เวลาผ่านไปไม่นานนักความทรงจำก็ลืมเลือน จริงอยู่ชีวิตและความตายเป็นของคู่กัน เราท่านควรจะมีชีวิตอยู่เพื่อทำประโยชน์ตน ประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้านเมืองเพื่อส่งต่อลูกหลานในก้าวเข้าสู่ความเป็นนานาอารยประเทศ
          หรือว่าเราท่านจะเลือกความเจ็บ อุบัติเหตุ และตาย จากเทศกาลดังกล่าวต่อไป
 


pageview  1210913    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved