HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 02/05/2555 ]
ออสซี่'เตือนไทย'ฮับซูโด'จับครึ่งตัน 'ยาแก้หวัด'ลักลอบนำเข้าแจ้งจับสั่งซื้อ5หมื่นเม็ดอ้างชื่อรพ.ดัง'เชียงใหม่

'ธาริต'เผย ตร.ลับออสเตรเลียให้ข้อมูลเคยจับกุมซูโดส่งจากไทย ห่วงกลายเป็นแหล่งพักของ ก่อนส่งประเทศเป้าหมาย ด้าน'อย.'เล็งยกเลิกใช้ยาสูตรผสมซูโดหลังหมดสต๊อก
          เมื่อวันที่ 30 เมษายน นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานคณะทำงานป้องกันปราบปราม ฟื้นฟูและเยียวยาด้านยาเสพติด สธ. เรียกประชุมคณะทำงาน ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) โดยที่ประชุมได้สรุปสถานการณ์เกี่ยวกับมาตรการในการตรวจสอบการใช้ยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน
          ทั้งนี้ ภก.ประพนธ์ อางตระกูล ผู้อำนวยการกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รายงานต่อที่ประชุมว่าจำนวนยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดฯในสต๊อกยาของบริษัทผู้ผลิตที่ทำการสำรวจเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา มีจำนวนประมาณ 66 ล้านเม็ด ส่วนสต๊อกยาในโรงพยาบาลของรัฐมีประมาณ 21 ล้านเม็ดและจำนวนการส่งคืนยาจากร้านขายยา ภายหลังจากที่ อย.กำหนดให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 2 ห้ามจำหน่ายในร้านขายยาและให้ผู้ครอบครองส่งคืนบริษัทผู้ผลิตภายในวันที่3 พฤษภาคมนี้ มีตัวเลขการคืนยาล่าสุดกว่า 6 ล้านเม็ด คาดว่าปริมาณยาในส่วนนี้มีไม่ถึง 10 ล้านเม็ดโดยในวันที่ 4 พฤษภาคม อย.จะประมวลภาพรวมทั้งหมดอีกครั้ง
          ภก.ประพนธ์กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นคาดว่าใน1 ปี จะมีการใช้ยาสูตรผสมซูโดฯที่มีอยู่ตามสต๊อกยาต่างๆ หมดลง ซึ่งทาง อย.กำลังหารือว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่คาดว่าจะไม่มีการมอบสารซูโดฯให้กับบริษัทผู้ผลิตยาสูตรผสมนี้แล้ว ขณะเดียวกันกำลังมีการพิจารณาว่ายาแก้หวัดสูตรผสมซูโดฯสมควรจะมีการใช้ต่อไปหรือไม่ เพราะจากการสอบถามไปยังราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย และสถานพยาบาลรัฐ เห็นว่าไม่มีความจำเป็น เนื่องจากมียาซูโดฯสูตรเดี่ยวใช้อยู่แล้ว
          ขณะที่นางจันทนา จินดาถาวรกิจ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สบส. กล่าวว่า จากผลการตรวจสอบโรงพยาบาล (รพ.) แมคคอร์มิค จ.เชียงใหม่ในส่วนของการใช้ยาไม่พบความผิดปกติ แต่พบข้อมูลในภายหลังว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อ และเจ้าหน้าที่คุมคลังยาใช้ชื่อโรงพยาบาลสั่งซื้อยาซูโดฯสูตรผสม จำนวน 50,000 เม็ด โดยพลการ จึงได้มีการแจ้งความดำเนินคดีแล้ว
          ทางด้าน นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการ อย. ให้สัมภาษณ์กรณียาอันตราย 5 ชนิด ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเอาไปผลิตยาเสพติด ประกอบด้วย ยาแก้ไอที่มีส่วนผสมของ Diphenhydramine หรือPromethazine หรือ Dextromethorphan ยาสเตียรอยด์ (Steriod) ชนิดเม็ดรับประทาน และยาแก้ปวด Tramadol ว่า ต้องเข้าใจก่อนว่ายาทั้ง 5 กลุ่ม ไม่สามารถนำไปผลิตเป็นสารตั้งต้นของยาเสพติดได้ แต่ที่มีการเตือนเภสัชกร ร้านขายยาต่างๆ เนื่องจากมีบางกลุ่มนำยาเหล่านี้ไปใช้ในทางที่ผิด เช่น ใช้เกินขนาด ทำให้เกิดผลข้างเคียง อาทิง่วง ซึม เพ้อ ฯลฯ แต่การจะห้ามจำหน่ายห้ามใช้คงไม่ได้ เพราะเป็นยาที่ยังมีประโยชน์ในการรักษาที่ผ่านมา อย.ก็มีการเฝ้าระวังมาตลอด โดยยาดังกล่าวจัดเป็นยาอันตราย แต่ยังไม่ถึงขั้นควบคุมพิเศษ แต่หากพบการกระทำผิดมากๆ ก็อาจมีการยกระดับได้ในอนาคต
          ผู้สื่อข่าวถามว่า ยาใน 5 กลุ่มนี้มีการใช้มากน้อยแค่ไหน นพ.พิพัฒน์กล่าวว่า ไม่มาก แต่ อย.ยังเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมามีการกำชับเตือนร้านขายยาทุกแห่งเกี่ยวกับยากลุ่มดังกล่าว เช่น ยาแก้ไอ ก็เคยมีข่าวว่ามีการนำไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งพบมากในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย.ได้ตรวจสอบและพักใบอนุญาตร้านขายยาที่ฝ่าฝืนไป 3-4 แห่งแล้วโดยมีมาตรการห้ามจำหน่ายเกิน 300 ขวดต่อเดือนและห้ามขายเป็นกล่อง เป็นต้น
          นพ.พิพัฒน์กล่าวกรณีการเรียกเก็บคืนยาสูตรผสมซูโดฯว่า ในวันที่ 1 พฤษภาคม อย.ได้เปิดช่องทางส่งมอบคืนยาดังกล่าวที่อาคารเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติด สำนักงาน อย. เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการส่งมอบคืนยาให้เร็วยิ่งขึ้น และหลังจากครบกำหนดการคืนยาภายในวันที่ 3 พฤษภาคม อย.จะดำเนินการสุ่มตรวจร้านขายยาทันที
          ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กลุ่มยาอันตรายที่มักใช้ฤทธิ์ข้างเคียงของยาเพื่อให้เกิดความเคลิบเคลิ้ม มึนเมา ส่วนใหญ่ไม่สามารถนำ
          ไปทำเป็นสารตั้งต้นของยาเสพติดตัวอื่นได้ แต่เป็นลักษณะการใช้ยาผิดประเภท ซึ่งเมื่อ อย.ได้บทเรียนจากการลักลอบใช้ยาสูตรผสมซูโดฯไปทำเป็นยาเสพติดแล้ว ก็ควรสร้างมาตรการที่รัดกุมในการควบคุมการใช้ยา โดยเฉพาะระบบการรายงานการใช้ยาในพื้นที่ต่างๆ
          วันเดียวกัน นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบการลักลอบนำเข้าสารซูโดอีเฟดรีนจากประเทศเกาหลีใต้และไต้หวันว่า เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยลับพิเศษจากประเทศออสเตรเลีย หรือ AFP ได้เข้าพบตนและให้ข้อมูลว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตำรวจออสเตรเลียได้จับกุมยาแก้หวัดสูตรผสมสารซูโดฯ500 กิโลกรัม ที่ถูกส่งมาจากประเทศไทย ทำให้หน่วยงานออสเตรเลียสนใจข่าวการลักลอบสั่งซื้อยาดังกล่าวเป็นอย่างมาก และพร้อมให้ความร่วมมือกับดีเอสไอ โดยจะกลับไปค้นหาเอกสารการ
          จับกุมครั้งนั้นมาให้ดีเอสไอ เพื่อตรวจสอบว่าบริษัทใดหรือบุคคลใดส่งไปยังออสเตรเลีย ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้จากตำรวจออสเตรเลียทำให้มองเห็นว่าประเทศไทยไม่ใช่เพียงลักลอบนำเข้า แต่ยังทำหน้าที่คล้ายเป็นแหล่งพักของก่อนกระจายออกไปยังประเทศเป้าหมาย ซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วงมาก
          นายธาริตกล่าวต่อว่า สำหรับการเดินทางไปขอข้อมูลจากบริษัทในประเทศเกาหลีและไต้หวันนั้นได้ประสานงานสถานทูตทั้ง 2 ประเทศ ให้ช่วยประสานงานหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในประเทศผู้เกี่ยวข้อง รวบรวมเอกสารหลักฐานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายระหว่างประเทศทั้ง 2 แห่ง หากข้อมูลพร้อม ทางพนักงานสอบสวนก็จะเดินทางไปทั้ง 2 ประเทศทันที
          ที่ จ.หนองบัวลำภู นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู ได้มอบหมายให้พล.ต.ต.ชัยทัต อินทะนูจิตร ผบก.ภ.จว. หนองบัวลำภูเดินทางไปยัง รพ.อำเภอนากลาง เพื่อตรวจสอบความคืบหน้าการสอบสวนกรณียาซูโดอีเฟดรีนหายไปจากโรงพยาบาลกว่า 100,000 เม็ด ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา นายศักดิ์โกสินทร์ สูตสนธิ์ อายุ 30 ปี เภสัชกรปฏิบัติการ หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรชุมชน รพ.นากลาง ได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน และให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาการปลอมลายเซ็นและปลอมแปลงเอกสารการสั่งซื้อยาซูโดฯ โดยให้การว่าเปิดร้านขายยาในพื้นที่อ.นาวัง ชื่อร้านนาวังเภสัช ช่วงนั้นมีเซลส์ขายยาชื่อนางแก้ว (นามสมมุติ) ซึ่งติดต่อซื้อขายยากันมาก่อนหน้านี้แล้ว แจ้งว่ามีญาติอยู่ต่างประเทศต้องการยาที่มีส่วนผสมซูโดฯจำนวนไม่จำกัดราคาเม็ดละ4.60 บาท จึงได้ปลอมลายมือชื่อ ผอ.รพ.นากลางสั่งซื้อยาชื่อ BAFED จำนวน 200 กล่อง กล่องละ500 เม็ด รวม 100,000 เม็ด
          พล.ต.ต.ชัยทัตกล่าวว่า การสอบสวนคดีนี้คงต้องมีการกันเจ้าหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวข้องไว้เป็นพยานเพื่อสอบสวนว่าจะมีส่วนโยงใยเกี่ยวข้องไปถึงขบวนการค้ายาเสพติดหรือไม่
 


pageview  1210912    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved