HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 15/08/2555 ]
ห้ามดื่มเหล้าในรถ

 ประกาศ เรื่อง การห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทางสาธารณะ ขณะขับขี่หรือขณะโดยสารอยู่ในรถหรือบนรถทุกประเภท ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 8 ส.ค.2555 หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 ส.ค.
          ที่มาของการออกประกาศฉบับดังกล่าว สืบเนื่องจากกฎหมาย คือ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ในมิติต่างๆ เพื่อลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ และป้องกันเยาวชนไม่ให้กลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่
          กฎหมายห้ามผู้โดยสารดื่มในรถ ถือเป็นกฎหมายสากลที่หลายประเทศมีข้อกำหนดบังคับใช้มานานแล้ว โดยจะยึดพฤติกรรมเป็นหลัก หากมีเครื่องดื่มลักษณะพร้อมดื่มในรถก็จะถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมาย
          สถานการณ์ปัญหาและผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ทำให้ต้องมีกฎหมายห้ามผู้โดยสารดื่มในรถสาธารณะ มีหลายประการด้วยกัน
          นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ วิเคราะห์ในส่วนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุ พบว่า 1 ใน 4 ของผู้ที่ประสบอุบัติเหตุรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาล มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ต้องมีกฎหมายป้องกันการขับขี่ในขณะที่มีอาการมึนเมาในทุกด้าน เช่น กฎหมายกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดของผู้ขับขี่
          ประการถัดมา พบว่า ไม่เพียงแต่ผู้ขับดื่มแอลกอฮอล์แล้วจะเกิดอันตราย แต่หากผู้โดยสารดื่มขณะโดยสารรถ ก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงที่ผู้ขับขี่จะต้องดื่มไปด้วย หรือ เสียสมาธิในระหว่างการขับรถ โดยเฉพาะหากเป็นการดื่มในกระบะท้ายรถ
          จากการเก็บสถิติพบว่า ปกติหากรถกระบะบรรทุกน้ำหนักคน 8 คนท้ายรถ จะทำให้รถเกิดโอกาสเสี่ยงในการแหกโค้งเป็น 2 เท่า และหากมีคนยืนหรือเคลื่อนไหวขณะรถวิ่ง จะเพิ่มความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ 4 เท่า หากมีการดื่มแอลกอฮอล์ด้วย จะเพิ่มความเสี่ยงเป็น 8 เท่า
          นอกจากนี้ยังพบว่า รถทัวร์ 1 ชั้นครึ่ง - 2 ชั้น โดยปกติจะมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุมากกว่ารถทั่วไป เพราะมีความสูง ซึ่งสันนิษฐานว่า หากมีการเคลื่อนไหวบนรถ เช่น ปรับแต่งเป็นรถทัวร์เธค มีการดื่ม เต้นในรถ ก็จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุในรถได้มากขึ้นด้วย เพราะทำให้รถเสียความสมดุล และพนักงานขับรถเสียสมาธิ
          สำหรับประกาศข้อที่ระบุว่า ห้ามดื่มในทางสาธารณะ มีที่มาจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุบริเวณทางเดินเท้ามีอัตราเพิ่มมากขึ้น จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 10 ในบางพื้นที่ โดยพบว่า ลักษณะการดื่มบริเวณทางฟุตปาธทั้งหมด จะมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งเกิดจากรถที่ขับขี่ไปมาบนท้องถนน และตัวผู้ดื่มเอง
          กฎหมายดังกล่าว ผู้ที่ขับขี่หรือขณะโดยสารรถทุกประเภทฝ่าฝืนจะเข้าข่ายผิดกฎหมายทันที และต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          นอกจากประกาศเรื่องห้ามดื่มในรถ ครม.ยังมีความเห็นชอบในร่างประกาศ ห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงงานอุตสาหกรรม และร่างประกาศ ห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐด้วย
          กฎหมาย มีจุดประสงค์เพื่อความปลอดภัย หากไม่ตีความหรือเลี่ยงบาลีก็ไม่น่าจะมีปัญหา


pageview  1210959    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved