HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 15/08/2555 ]
ผู้หญิงหัวใจสุขภาพ บทบาทแม่เปลี่ยนโลก

  ความเป็น "แม่" ทำให้ผู้หญิงทุกคนพร้อมที่จะเสียสละดูแลคนที่ตัวเองรักได้ทุกทาง แต่บางครั้งก็พบว่าสังคมคาดหวังกับบทบาทของแม่ ทำให้เกิดเป็นความเครียด กดดัน และสะท้อนกลับไปถึงคนรอบข้างอย่างไม่รู้ตัว
          การสร้างคุณภาพชีวิตของ ผู้หญิงจะถือเป็นการกอบกู้สังคมได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่ในปัจจุบันทำงานทั้งในและนอกบ้าน หมายถึงต้องดูแลผลผลิตทางสังคมในหลายมิติด้วยกัน
          ผลการวิจัย เรื่อง "ผู้หญิง..หัวใจสุขภาพของสังคม" โดยสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสะท้อนบทบาทของสตรีและแม่ในการจัดการสุขภาพของตนเองและครอบครัว ในกลุ่มหญิงที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปกว่าพันคน ซึ่งในกลุ่มนี้ครึ่งหนึ่งสถานะสมรสและมีบุตรแล้ว
          จากงานวิจัยทำให้ทราบสถานภาพ ภาระหน้าที่ที่ผู้หญิงต้องรับผิดชอบ โดยพบว่าผู้หญิงร้อยละ 75 ต้องทำงานนอกบ้านและในบ้าน มีความรับผิดชอบโดยตรงกับลูกเป็นหลัก พร้อมกับการดูแลผู้สูงอายุในบ้าน ไม่นับรวมสามีที่ต้องดูแล หน้าที่งานในบ้านจะมีทั้งการดูแลอาหารให้คนในครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่ จะประกอบอาหารเอง และกว่าครึ่งทำหน้าที่ดูแลสุขภาพสมาชิกในครอบครัวด้วย ทั้งการจัดหาอาหารที่มีโภชนาการครบถ้วน การให้นมบุตร
          เมื่องานวิจัยเจาะลึกเรื่องความสนใจในการดูแลสุขภาพตัวเอง กลับพบว่าผู้หญิงร้อยละ 49.6 ไม่เคยตรวจมะเร็งเต้านม ร้อยละ 42.6 ไม่เคยตรวจมะเร็งปากมดลูกเลย ร้อยละ 67.5 ไม่เคยตรวจสุขภาพเลย ร้อยละ 26.1 ไม่เคยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเลย ร้อยละ 54.8 ไม่เคยใส่ใจและไม่เคยขอให้คู่ครองคุมกำเนิดด้วยการใช้ถุงยางอนามัย และร้อยละ 71.4 ไม่เคยปั๊มนมให้ลูกจากที่ทำงานเลย และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างการดูแลตนเองกับคนในครอบครัว ดูเหมือนว่าผู้หญิงจะให้เวลาและความสำคัญในการดูแลคนในครอบครัวมากกว่า
          การเสวนาเรื่อง "ผู้หญิง..หัวใจสุขภาพของสังคม" จึงเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนแนวคิดเพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของผู้หญิง พญ.พรรณพิมล วิปุลากรผอ.สถาบันราชานุกูลและจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น อธิบายว่า ผู้หญิงเมื่อเกิดความกดดันจากงานหรือครอบครัวจะรู้สึกโทษตัวเองเป็นลำดับแรก นำไปสู่ความเครียด รู้สึกผิด และไม่สามารถแก้ปัญหาตรงหน้าได้ ซึ่งเมื่อเกิดภาวะนี้กับผู้หญิงก็จะกระทบต่อคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นลูกหรือสามี ธรรมชาติเมื่อผู้ชายได้รับความเครียดจากผู้หญิงก็จะถอยห่าง ยิ่งสร้างความกดดันและทำให้เกิดปัญหาครอบครัวตามมา
          การแก้ปัญหาต้องเริ่มจากการเข้าใจกันและกัน สื่อสาร สนับสนุนและช่วยเหลือกัน เพื่อนำไปสู่การสร้างสมดุลในชีวิตขึ้น คือ มีความสุขและอยู่กับสิ่งตรงหน้า แบ่งเวลาสำหรับงานและครอบครัว อย่างเหมาะสม โดยแบ่งเป็น 1.หน้าที่การงาน 2.ครอบครัว 3.ตัวเอง 4.กิจกรรมที่ชอบและสามารถเติมเต็มความสุขได้
          ปัจจุบันสภาพสังคมไทยยังมีสัดส่วนของครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมากขึ้น โดยพบว่า 1 ใน 3 ของครอบครัวเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวและโดยมากจะเป็นผู้หญิงเลี้ยงมากกว่า ซึ่งครอบครัวลักษณะนี้ต้องการการสนับสนุนและส่งเสริมจากสังคมมากขึ้นไปอีก บางประเทศ เช่น อังกฤษจะมีนโยบายพิเศษสำหรับบริษัทที่มีสัดส่วนของพนักงานที่เป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ให้ได้รับมาตรการพิเศษทางภาษี เพราะครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวจะมีลักษณะพิเศษ เช่น ต้องการวันหยุดมากกว่าครอบครัวปกติที่สามารถสลับกันดูแลลูกได้ เช่น กรณีเจ็บป่วย หรือวันที่ผู้ปกครองจะต้องไปโรงเรียนลูกเป็นต้น
          "แรงกดดันส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะสังคมมักคาดหวังว่าผู้หญิงจะรับบทบาทแม่ที่ดีได้ ซึ่งจากภาระหน้าที่ทั้งการงานและครอบครัว บางครั้งหากผู้หญิงไม่สามารถจัดสรรเวลาได้จะเครียด วนอยู่กับปัญหาจนหาทางออกไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ของสังคมที่ต้องเข้ามาช่วยเหลือกัน เช่น ครอบครัวต่อครอบครัว หรือคนในครอบครัวช่วยเหลือกัน หรือบริษัทมีสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือครอบครัว จะทำให้หน่วยของสังคมที่สำคัญที่สุดอย่างครอบครัวแข็งแรงได้"
          พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันระบบบริการสุขภาพมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เอื้อต่อสุขภาพมากขึ้น แต่สิ่งที่จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนน่าจะเป็นโครงสร้างในการทำงาน เพื่อให้เอื้อต่อการเลี้ยงดูลูก และครอบครัวได้ เช่น การให้ที่ทำงานมีห้องสำหรับให้นมลูกหรือปั๊มนม เพราะการให้นมแม่ต่อเนื่อง 6 เดือนขึ้นไปเป็นการสร้างภูมิต้านทานให้เด็กได้ดีที่สุด เป็นต้น หากปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทุกอย่างเกิดความสมดุลก็จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างดี
          เมื่อพูดถึงเรื่องของหัวใจ แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต โครงการปลุกสังคมด้วยหัวใจแม่ หัวใจโพธิสัตว์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เสริมว่า ทุกชีวิตมีค่าอยู่ที่การกระทำ ไม่ว่าจะเกิดเป็นหญิงหรือชายควรใช้โอกาสปลุกหัวใจเพศหญิงขึ้นมา ความเป็นแม่ต้องเริ่มต้นจาก "หัวใจเป็นแม่" และ "หัวใจเป็นโพธิสัตว์" พร้อมที่จะเกื้อกูลสรรพสิ่งทุกชีวิต ซึ่งจะทำให้โลกใบนี้เป็นสุขและน่าอยู่ อย่างไรก็ตามการพัฒนาจิตวิญญาณของผู้หญิง คือ การทำให้ดีขึ้น ทำให้เจริญขึ้น ซึ่งหมาย ความว่า ควรจะต้องมีการพัฒนาจิตใจตนเองให้อยู่ในวิถีชีวิต เป็นกิจวัตร ซึ่งต้องเริ่มฝึกฝนจากครอบครัว และควรทำให้บ้านเป็นห้อง เรียนห้องแรกของการฝึกให้เด็กเจริญเติบโต สามารถอยู่บนโลกได้อย่างอาจหาญ
          คุณแวร์โซว ณิชากา แซ่โซว ตัวแทนคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกวัยน่ารักเป็นกำลังใจ ให้ข้อคิดว่า สังคมมักคิดว่าผู้หญิงจะเข้มแข็งและดูแลทุกคนในครอบครัวได้ แต่ความจริงแล้วความเข้มแข็งมีอยู่ในตัวของทุกคนไม่ว่า       ผู้หญิงหรือผู้ชาย หากครอบครัวปลูกฝังความเข้มแข็งให้ลูกรู้จักหน้าที่ ความรับผิดชอบ การช่วยเหลือกัน จะทำให้เด็กเหล่านี้โตขึ้นอย่างมีความรับผิดชอบ และไม่เกิดแรงกดดัน กลายเป็นครอบครัวที่อยู่กันด้วยการช่วยเหลือและดูแลซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดความสมดุลในครอบครัวในที่สุด
          หากจะดูแลครอบครัวให้เกิดความสุข ก็คงต้องเริ่มจาก "แม่" ผู้เป็นหัวใจดวงสำคัญก่อนเป็นลำดับแรก
 


pageview  1210959    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved