HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 27/09/2555 ]
ลูกจ้างผับประสาทหูเสื่อมงานวิจัยจี้สถานบันเทิงคุมระดับเสียง

 น.ส.จารุชา กะภูทิน พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กลุ่มงานอาชีวเวชกรรม ร.พ. สุรินทร์ กล่าวถึงการวิจัยเชิงสำรวจโดยคณะวิจัย ถึงสถานการณ์การสูญเสียการได้ยินจากเสียงดังของพนักงานในสถานบันเทิงประเภทดิสโก้เธคว่า ปัจจุบันกฎหมายกำหนดมาตร ฐานเรื่องความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับภาวะแวดล้อม เรื่องเสียง กำหนดให้ลูกจ้างที่ทำงานไม่เกินวันละ 7 ชั่วโมง อยู่ในสถานที่ที่มีความดังเสียงติดต่อกันไม่เกินเก้าสิบเดซิเบล (เอ) โดยเสียงที่ดังเกินกำหนดถือว่ามีผลต่อการเกิดโรคประสาทหูเสื่อม หรือหูหนวก ซึ่งเมื่อเกิดความสูญเสียแบบถาวรจะไม่สามารถรักษาได้ โดยการป้องกันสามารถทำได้โดยไม่อยู่ในสถานที่ที่เสียงดังติดต่อกันเป็นเวลานาน
          น.ส.จารุชากล่าวต่อว่า ผลการสำรวจโดยการตรวจสมรรถภาพการได้ยิน ของพนักงานในสถานบันเทิงประเภทดิสโก้เธคในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ 3 แห่ง ในพนักงาน 106 คน ช่วงเดือนก.ย.-ต.ค.2554
          พบว่า พนักงานกลุ่มนี้จะต้องสัมผัสเสียงดังติดต่อกันประมาณ 6-7 ชั่วโมง โดยร้อยละ 94.3 ไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง เนื่องจากต้องรับออร์เดอร์จากลูกค้าตลอดเวลา สำหรับผลการตรวจสมรรถภาพการได้ยิน พบว่า พนักงานสูญเสียการได้ยินหูข้างใดข้างหนึ่ง ร้อยละ 15.09 อยู่ในเกณฑ์ต้องเฝ้าระวังร้อยละ 79.25 และสถานบันเทิงทั้ง 3 แห่งที่ตรวจมีระดับความดังเสียงตั้งแต่ 91-100 เดซิเบล (เอ)
          "การทำงานในสภาพที่มีเสียงดังตลอดเวลานั้นจำเป็นต้องสับเปลี่ยนหน้าที่ ให้พนักงานไม่ได้รับเสียงติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งเชื่อว่าสถานบันเทิงส่วนใหญ่เกือบทั่วประเทศยังมีพนักงานที่อยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะสูญเสียการได้ยินถาวร ดังนั้น จำเป็นต้องควบคุมระดับเสียงให้ไม่เกินระดับมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้ และให้พนักงานใส่อุปกรณ์ป้องกัน หรือให้หมุนเวียนหน้าที่ไม่ให้สัมผัสกับเสียงดังติดต่อกัน ก็จะช่วยป้องกันภาวะโรคประสาทหูเสื่อมได้" น.ส.จารุชากล่าว 
 


pageview  1210969    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved