HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 21/03/2555 ]
ปัจจัยเสี่ยงในเด็กปฐมวัยป้องกันได้ตั้งแต่เกิด

 การส่งเสริมพัฒนาการและสร้างภูมิคุ้มกันพฤติกรรมเสี่ยง มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ จดจำ และมีพฤติกรรมเลียนแบบโดยเฉพาะจากคนใกล้ตัว  จะทำอย่างไรให้เด็กในช่วงวัยนี้เข้าใจปัจจัยเสี่ยง โดยไม่ใช้วิธีบังคับ (เพราะถ้ารู้สึกว่าถูกบังคับเด็กจะมีปฏิกิริยาต่อต้าน) แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงดำเนิน "โครงการพัฒนาและสร้างภูมิคุ้มกันจากปัจจัยเสี่ยงในเด็กปฐมวัย" ขึ้น
          นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ของ สสส. เปิดเผยว่า  ทางแผนงานได้ให้ทุนสนับสนุนกับโครงการเกี่ยวกับการอ่าน เป็นแผนโครงการส่งเสริมการอ่าน อยู่ในแผนสร้างสื่อสุขภาวะเยาวชน(กสย.) เรื่องของสื่อซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาครอบครัว ชุมชน เกี่ยวกับการส่งเสริมเด็ก ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงมากมาย โดยมีกิจกรรมที่ต้องทำหลายเรื่องในการขับเคลื่อนนโยบาย  เช่น การทำให้กรุงเทพฯ เป็นนครแห่งการอ่าน โดยส่งเสริมการอ่านในระดับชุมชนต่างๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพคน
          "ภารกิจหลักของ สสส. คือการส่งเสริมการอบรมบ่มเพาะเรื่องการอ่าน ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างสุขภาวะ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม อารมณ์ และความคิดสติปัญญา โดยเราไปทำกับกลุ่มเด็ก  ซึ่งในปลายเดือนเมษายนนี้ จะมีการแถลงข่าวเกี่ยวกับผลวิจัยการอ่าน เพื่อสืบค้นและยกตัวอย่างให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้รัฐเห็นและให้ความสำคัญเรื่องนี้"
          นางสุดใจกล่าวด้วยว่า  เด็กในช่วงวัย 7 ขวบลงมาจะมีจิตสำนึกที่มีบทบาทสูงกว่าจิตใต้สำนึก ตัวอย่าง เด็กผู้ชายขวบต้นๆ เล่นหลอดดูดน้ำ โดยทำท่าพ่นควัน จากการที่ได้เห็นพ่อสูบบุหรี่เป็นประจำจนเกิดการซึมซับและเลียนแบบ การใช้สื่อละเมียดละไมสามารถทำให้เด็กปฏิเสธปัจจัยเสี่ยงได้  ดังนั้นหน้าที่ของแผนการอ่านอยู่ที่ว่า จะส่งเสริมอย่างไรให้สื่อเข้ามาในบ้านเรามากขึ้นและแตกกิจกรรมไปยังโรงเรียนต่างๆ  เพราะปัจจุบันสื่อบ้านเรามีน้อยมากและแทบไม่มีการผลิตสื่อต้นแบบที่ดีที่ได้ทดลองใช้แล้วว่าได้ผลจริงในแง่การปรับพฤติกรรมของจิตใต้สำนึกเลย
          ทางด้าน รศ.ดร.สายฤดี วรกิจโภคาทร นักวิชาการด้านพัฒนาการเด็กและครอบครัว ระบุว่า เด็กเรียนรู้อย่างเร็วมากผ่านทางสมองในช่วง 0-5 ขวบ เป็นการเรียนรู้ของจิตใต้สำนึก เด็กที่มีพ่อแม่สูบบุหรี่หรือดื่มเหล้าย่อมเกิดการเรียนรู้และเลียนแบบที่จะทำตาม เพราะในสมองมีเซลล์กระจกเงา และจิตใต้สำนึกเรียนรู้แบบไม่เลือกที่จะจำ  วิธีแก้ไขเรื่องของการสูบบุหรี่นั้นต้องไม่ใช้คำว่า  'อย่า' แต่ควรให้สิ่งอื่นที่ตัวเขามีความสุขแทนเป็นการให้ทางเลือกแก่เด็ก เช่นต้องทำให้เด็กรู้สึกว่าเต้นระบำ ออกกำลังกาย หรือเล่นกับเพื่อนดีกว่าโดยที่เด็กไม่รู้สึกว่าต้องเครียดหรือถูกบังคับ เป็นการให้เด็กไปหาทางออกอื่นโดยให้เขาเชื่อมั่นในตัวเองว่าร่างกายที่สมบูรณ์มีค่า ทั้งนี้สื่อที่เข้าถึงเด็กปฐมวัยได้ดีที่สุดคือนิทานโดย พ่อแม่ควรใช้เวลาอ่านและอธิบายเพื่อปลูกฝังให้ลูกเข้าใจ
          ขณะที่ ภญ.ดร.พัชราภรณ์ ปัญญาวุฒิไกร ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กปฐมวัย (BBL) ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า การใช้สื่อการอ่านเป็นหัวใจของการป้องกันปัจจัยเสี่ยงในเด็กปฐมวัย  โดยพบว่า วรรณกรรมเด็ก หรือนิทาน ช่วยหล่อหลอมนิสัยบางอย่างของเด็กได้ โดยสมอง ส่วนหน้าที่รับเรื่องราวต่างๆ ที่เราเรียกว่าเซลล์กระจกเงา จะทำเลียนแบบจากสิ่งที่ได้ประสบโดยผ่านประสาทสัมผัสทั้งหก ประเทศไทยเราควรจะต้องส่งเสริมให้มีสื่อตัวอย่างเช่น มีหนังสือ นิทาน เพลง ให้พ่อแม่และครู ใช้ประกอบ  ซึ่งจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะสร้างให้คนรุ่นใหม่ปลอดพ้นจากปัจจัยเสี่ยงและเติบโตมาพร้อมกับสังคมที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี
          2 เมษายนนี้ เป็นวันหนังสือเด็กแห่งชาติ เป็นโอกาสดีที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะหันมารณรงค์ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านเพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวจะเป็นหนทางช่วยพัฒนาคุณภาพของเด็กไทยให้เติบโตไปเป็นกำลังสำคัญ ของประเทศชาติในอนาคต
 


pageview  1210895    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved