HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 24/03/2555 ]
เริ่ม1เมย.ป่วย'ฉุกเฉิน'-ใช้บัตรปชช.ได้'ปู'กดปุ่มฟรีทุกรพ.รัฐ-เอกชน

'ปู'ยกเครื่องใหญ่ระบบ-สุขภาพ เริ่ม 1 เม.ย.ใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารักษา 'กรณีฉุกเฉิน' ได้ทุกร.พ.โดยไม่มีเงื่อนไขตามแผน 10 ปีประเดิมให้ '3 กองทุนสุขภาพ' 30 บาทรักษาทุกโรค-ประกันสังคมสวัสดิการข้าราชการ เข้ารักษากรณีฉุกเฉินได้ทุกร.พ. โดยสปสช.จะสำรองจ่ายก่อนแล้วไปเก็บจากกองทุนที่ใช้สิทธิ นายกฯยันไม่มีการรวม 3 กองทุนแน่นอน ให้แต่ละกองทุนบริหารจัดการตัวเองต่อไป แต่จะทำงานร่วมกันมากขึ้นเพื่อคุณภาพและลดสิ้นเปลือง
          เมื่อวันที่22 มี.ค. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง"นโยบายรัฐบาลต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ภายในการประชุมวิชาการ "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในทศวรรษที่สอง" จัดโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และองค์การอนามัยโลก มีใจความตอนหนึ่งว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องการคือ อยากเห็นคนไทยสุขภาพดี มีระบบดูแลประชาชนทั่วถึง และไม่ใช่ดูแลแค่ปลายทางคือการรักษาพยาบาลเท่านั้น
          น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวอีกว่า นโยบายรัฐบาลที่จัดเก็บค่ารักษาครั้งละ 30 บาท เพื่อแสดงว่าประชาชนซื้อบริการการรักษาพยาบาล ไม่ใช่รับการสงเคราะห์ และทำให้มุมมองต่อการดูแลผู้ป่วยเปลี่ยนไป ช่วยให้ผู้ป่วยเข้ารับบริการรักษาอย่างสมศักดิ์ศรี ที่ผ่านมาระบบบริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วยให้คนไทยเข้าถึงบริการมากขึ้น จากใช้บริการ 112 ล้านครั้งในปี 2547 เพิ่มเป็น 153 ล้านครั้งในปี 2553 และส่งผลให้จำนวนครัวเรือนยากจนลดลงถึง78,000 ครัวเรือนต่อปี
          น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อว่า อีก 10 ปีข้างหน้าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะต่อยอดการพัฒนาให้ดีขึ้น 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การพัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่องเริ่มจากโครงการการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ โดยปรับให้ผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินสามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลใดก็ได้ โดยจะไม่มีการถามสิทธิการรักษาของผู้ป่วย แต่ใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียว และไม่ต้องสำรองจ่าย เพราะสปสช.จะทำหน้าที่บริหารจัดการค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนจะเริ่มให้บริการระบบนี้ทันทีวันที่ 1 เม.ย.2555 นอกจากนี้จะนำระบบเทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ เช่น ระบบเทเลเมดิซีน การให้คำปรึกษาผ่านระบบออนไลน์และการใช้สมาร์ทการ์ดเก็บข้อมูลประวัติสุขภาพ จะช่วยให้แพทย์ดูแลประชาชนได้เต็มที่ขึ้น เป็นต้นดูแลประชาชนได้เต็มที่ขึ้น เป็นต้น
          "สำหรับประเด็นที่หลายฝ่ายกังวล เรื่องการรวม 3 กองทุนสุขภาพเป็นกองทุนเดียวนั้นดิฉันขอยืนยันว่าไม่มีการรวมกองทุนใดๆ ทั้งสิ้น ทุกกองทุนจะยังต้องดูแลกองทุนของตัวเองต่อไป เพียงแต่จะต้องบูรณาการร่วมกันทั้ง 3 สิทธิรักษาพยาบาล เพื่อให้เกิดบริการแบบทั่วถึงต่อเนื่องและมีคุณภาพ" นายกฯ กล่าว
          นายกฯ กล่าวอีกว่า 2.การควบคุมค่าใช้จ่ายระยะยาว โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านยาที่คิดเป็น46% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดของคนไทย ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วมีค่าใช้จ่ายด้านยาเพียง 20% เท่านั้น จึงจำเป็นที่ทั้ง 3 กองทุนจะต้องบูรณาการร่วมกัน โดยกำหนดราคากลางยาหรือรวมกันจัดซื้อยา แต่ต้องไม่ลดคุณภาพยา และนำเงินส่วนต่างที่เกิดขึ้นมาใช้ปรับปรุงคุณภาพยาต่อไป รวมถึงควบคุมการใช้ยาฟุ่มเฟือย แต่ไม่จำกัดการใช้ยาจำเป็น หากทำได้เช่นนี้จะช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นได้ระยะยาว
          การส่งเสริมสุขภาพประชาชนจะต้องเน้นเรื่องสร้างสุขภาพที่ดีมากกว่าการซ่อมสุขภาพโดยจัดสร้างลานชุมชนสร้างสรรค์ การออกกำลังกาย อาหารเพื่อสุขภาพและสุขภาพแม่ตั้งครรภ์ ประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองท้องถิ่น เน้นบทบาทร.พ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ในการป้องกันโรค ให้ความรู้และการรักษาแก่ประชาชนในพื้นที่
          "ประชาชนคนไทยควรมีหมอประจำครอบครัว โดยใช้เทคโนโลยีในการให้คำปรึกษา ซึ่งเบื้องต้นอาจเริ่มจากการที่แพทย์ให้คำปรึกษาผ่านระบบออนไลน์ที่สถานพยาบาล แต่อนาคตระบบอินเตอร์เน็ตเข้าถึงทุกครัวเรือน อาจปรับให้ประชาชนขอคำปรึกษาแพทย์ได้จากที่บ้านแต่ไม่ได้หมายความว่าจะลดจำนวนแพทย์ ยังอยากเห็น 1 แพทย์ 1 ตำบล" นายกฯ กล่าว
          สำหรับการใช้สิทธิฉุกเฉินอย่างเท่าเทียมที่จะเริ่ม 1 เม.ย.นี้นั้น มีนิยามความหมายของคำว่าผู้ป่วยฉุกเฉินเบื้องต้น ว่า หมายถึงผู้ป่วยที่เป็นโรค ได้รับบาดเจ็บ หรือมีอาการบ่งชี้ว่าจะเป็นอาการที่คุกคามต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญได้แก่ หัวใจ สมอง ทางเดินหายใจ ต้องดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้ทันที เช่น หัวใจหยุดเต้น หอบหืดขั้นรุนแรง มีการเขียวคล้ำของปากและเล็บมือ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นหลอดลมทั้งหมดอุบัติเหตุรุนแรงบริเวณใบหน้าและลำคอ มีเลือดออกมาก ภาวะช็อกจากการเสียเลือด หรือขาดน้ำอย่างรุนแรง แขน ขาอ่อนแรงพูดไม่ชัด ชักตลอดเวลาหรือชักจนตัวเขียว มีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ถูกสารพิษ สัตว์มีพิษกัด หรือได้รับยามากเกินขนาด ถูกสุนัขกัดบริเวณใบหน้าและลำคอ เป็นต้น ทั้งนี้สามารถสอบถามถึงอาการฉุกเฉินที่เข้าข่ายจะได้รับสิทธิฉุกเฉินอย่างเท่าเทียมที่สายด่วน 1669
          ด้านนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุขกล่าวว่า ความเท่าเทียมของแต่ละกองทุนที่เห็นชัดที่สุด คือ การให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินใน 3 ระบบ ให้สามารถใช้บริการได้ทุกร.พ. ทั้งร.พ.รัฐและเอกชน โดยไม่มีเงื่อนไขโดยมีสปสช.เป็นหน่วยงานกลางสำรองจ่ายเงินให้สถานพยาบาลต่างๆ ก่อน และค่อยเรียกเก็บตามสิทธิของผู้ป่วยภายหลัง นโยบายนี้จะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการบริการทันท่วงที ไม่ต้องกังวลเรื่องสิทธิการรักษาเนื่องจากที่ผ่านมามักถูกถามว่าอยู่สิทธิไหน ซึ่งยุ่งยาก วันที่ 28 มี.ค.นี้จะมีการลงนามข้อตกลงร่วม 3 กองทุนเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเป็นทางการอีกครั้ง ก่อนประกาศใช้วันที่1 เม.ย.นี้
 


pageview  1210898    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved