HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 07/06/2555 ]

 โรคกระดูกพรุน หรือ Osteoporosis คือ โรคกระดูกที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย ซึ่งมีมวลกระดูกต่ำ ร่วมกับมีการเสื่อมของโครงสร้างระดับจุลภาคของกระดูก ส่งผลให้มีความเปราะบางและหักง่าย แม้มีแรงกระแทกเพียง
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคกระดูกพรุน
          การซักประวัติ ซึ่งตำแหน่งกระดูกพรุนที่มักหัก ได้แก่ กระดูกแขนส่วนปลาย กระดูกข้อสะโพก กระดูกสันหลังช่วงเอว ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการ (ประมาณ 1 ใน 3) เช่น หลังค่อม ความสูงลดลง และหากมีอาการมักเกิดจากกระดูกหักแล้ว เช่น ปวด ขยับข้อลำบาก แต่อาการก็แตกต่างกันขึ้นกับตำแหน่ง จำนวนข้อที่หัก ระยะเวลาการเกิด
          การตรวจร่างกาย ตรวจพบการผิดรูป เช่น กระดูกสันหลังโค้งงอ หากกระดูกข้อสะโพกหักจะตรวจพบว่าผู้ป่วยไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ ขามีความยาวสั้นกว่าข้างปกติ หรือปวดบวมข้อมือหากหกล้มแม้เพียงเล็กน้อย  นอกจากนี้ยังตรวจพบกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อต่อฝ่อลีบ ไม่แข็งแรงจากการไม่ได้ใช้วาน หรือตรวจพบภาวะขาดสารอาหารร่วมด้วย
          การตรวจโดยเครื่องวัดความหนาแน่นกระดูก ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าการใช้เครื่อง Dual energy X-ray Absorptiometry (DXA) ตรวจบริเวณกระดูกข้อสะโพกและกระดูกสันหลังช่วงเอวเป็นวิธีมาตรฐานในการวัดความหนาแน่นกระดูก
ผู้หญิงถึงเสี่ยงต่อกระดูกพรุนแค่ไหน
          ฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen) ที่สร้างจากรังไข่ มีส่วนสำคัญป้องกันการสลายกระดูกในผู้หญิง จะลดลงในวัยหมดประจำเดือนเริ่มเมื่ออายุประมาณ 50 ปี ทำให้มีอาการวัยทอง เช่น ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตามตัว ปวดเมื่อยตามตัว นอกจากนี้กระดูกในร่างกายจะบางอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะ 5 ปีแรกของการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
หญิงตั้งครรภ์และหลังคลอดบุตรเสี่ยงต่อกระดูกพรุนหรือไม่
          ในช่วงตั้งครรภ์มีการผลิตเอสโตรเจน (estrogen) ออกมาก็ตาม แต่ก็ยังมีการสูญเสียมวลกระดูกได้ระยะสั้นๆ และโดยเฉพาะช่วงหลังคลอดบุตรใน 2-3 เดือนแรก ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอดบุตร มีความต้องการแคลเซียมมากกว่าคนทั่วไป จึงจำเป็นเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนในระยะยาว
แคลเซียมจำเป็นแค่ไหน
          แคลเซียมมีอยู่มากในอาหารผลิตภัณฑ์จากนม และเนื้อสัตว์ และผักบางชนิด มีความสำคัญต่อการสะสมมวลกระดูกตั้งแต่ช่วงทารกจนถึงผู้ใหญ่ตอนต้น (มวลกระดูกสูงสุดที่อายุประมาณ 35 ปี)ความต้องการแคลเซียมแตกต่างในช่วงอายุผู้ใหญ่ทั่วไปต้องการประมาณ 800-1000 มิลลิกรัมต่อวัน คนสูงอายุ 60 ปี, หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ต้องการถึง 1,000-1,200 มิลลิกรัมต่อวัน
          นอกจากแคลเซียมที่จำเป็นต่อการสร้างกระดูกแล้ว ยังมีแร่ธาตุและวิตามินที่สำคัญด้วย เช่น แร่ธาตุฟอสฟอรัส วิตามินดี เป็นต้น
ป้องกันกระดูกพรุนทำได้อย่างไร
          วิธีที่ดีที่สุดคือ การสะสมมวลกระดูกให้สูงสุดในช่วงก่อนอายุ 35 ปี เพราะหลังจากนี้ร่างกายจะมีการสลายกระดูกออกที่ละน้อย จึงจำเป็นต้องได้รับสารอาหารครบหมู่ โดยเฉพาะแคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินดี
ลดปัจจัยเสี่ยง
          1.การสูบบุหรี่ นอกจากทำให้ปอดเสียหายโดยตรง ยังทำให้เลือดมีสภาวะเป็นกรด ซึ่งจะทำให้แคลเซียมสลายจากกระดูกมากขึ้น
          2.การดื่มแอลกอฮอล์ ขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมในทางเดินอาหาร และสารอาหารอื่นๆ ด้วย
          3.กาเฟอีน การดื่มกาแฟมากกว่า 4 แก้วต่อวัน เพิ่มการขับแคลเซียมออกจากร่างกาย
          4.ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ (Steroid) หากใช้นานๆ จะมีผลเสียทั่วร่างกายและทำให้กระดูกบางอย่างมาก
          5.การขาดวิตามินดี ทำให้ขาดการดูดซึมแคลเซียมในทางเดินอาหารและที่ไต
          6.การขาดการออกกำลังกาย การออกกำลังกายเช่นเดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ หรือเต้นลีลาศ นาน 30 นาที ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง

ปัจจุบันการรักษาโรคกระดูกพรุนทำได้หลายวิธี 
          1.การออกกำลังกาย ซึ่งต้องมีการแบกรับน้ำหนักขณะออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง การเดิน การยกน้ำหนัก จะช่วยเพิ่มเนื้อของกระดูกในบริเวณที่รับน้ำหนักได้
          2.ลดปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้สูญเสียเนื้อกระดูก เช่น การดื่มสุรา ดื่มกาแฟ ยาสเตียรอยด์ เป็นต้น
          3.การรักษาด้วยยา
                    3.1 ยาที่มีฤทธิ์ลดการทำลายกระดูก เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนแคลซิโตนิน แคลเซี่ยม
                    3.2 ยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างกระดูก เช่น ฮอร์โมนพาราไทยรอยด์, สตรอนเซี่ยม ทั้งนี้ การใช้ยาควรได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัย
          โรงพยาบาลศิครินทร์
          โทร.1728


pageview  1210929    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved