HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 14/08/2555 ]
กฎเข้มคุม"ผักอาบยาพิษ" "ถูก-แพง"เสี่ยงตายเท่ากัน

  ผักสวยๆ ที่คนไทยซื้อกินไม่ว่าจะเป็นในซูเปอร์มาร์เก็ตห้างหรู หรือแผงตลาดสด ล้วนแล้วแต่เจือปนด้วยสารเคมีร้ายแรง ล่าสุดตรวจพบผักบางชนิดมีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานถึง 202 เท่า!!
          หลังจากเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อสำรวจผัก 7 ชนิดได้แก่ กะหล่ำหลี คะน้า ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ผักชี และพริกจินดา ใช้วิธีสุ่มซื้อจากตลาดสดและซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งเมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากนั้นทีมงานส่งผักเหล่านี้ไปตรวจหาสารพิษที่ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
          ผลปรากฏว่าพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือยาฆ่าแมลงตกค้างเกินมาตรฐาน 8 ตัวอย่างจาก 21 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 38 แม้กระทั่งผักในถุงประทับตราปลอดสารพิษ "คิว" (Q) ที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตตามห้างสรรพสินค้า ก็ยังตรวจพบสารพิษตกค้างเกินถึงร้อยละ 43 ทั้งที่มีราคาขายแพงกว่าตลาดสด 2-10 เท่า โดยระบุถึงผักอันตรายที่ผู้บริโภคควรระวัง 4 ชนิดคือ คะน้า ผักชี ถั่วฝักยาว และพริกจินดา โดยเฉพาะผักในตลาดย่านห้วยขวางนั้นพบ "ผักคะน้า" มีสารเคมีไดโครโทฟอส (Dicrotophos) ตกค้างสูงถึง 202 เท่า ส่วน "ผักชี" พบสารพิษ "อีพีเอ็น" (EPN) เกินถึง 102 เท่า (รายละเอียดในตาราง)
          "ป้าพวง" แม่บ้านวัย 53 ปี บอกกับ "คม ชัด ลึก" ขณะกำลังเลือกซื้อผักสดในห้างสรรพสินค้าชื่อดังย่านปทุมวันว่า ปกติชอบซื้อผักในซูเปอร์มาร์เก็ตเพราะสะดวกและคิดว่าสะอาดกว่า ส่วนเรื่องผักปลอดสารพิษที่ขายแพงกว่าผักทั่วไปนั้น ไม่เคยเชื่อว่าปลอดสารเคมีจริง เช่น ถั่วฝักยาวคงมียาฆ่าแมลงเยอะเพราะแมลงชอบ วิธีกินอย่างปลอดภัยคือก่อนทำอาหารจะล้างผักทุกชนิดในน้ำให้สะอาด บางครั้งแช่ด่างทับทิมหรือน้ำเกลือด้วย
          ขณะที่ "วริษฐา" สาวทำงานวัย 28 ปี เชื่อว่าผักในห้างปลอดภัยกว่าตลาดสดเพราะมีการตรวจสอบคุณภาพมาแล้วระดับหนึ่ง และบางคนก็เชื่อว่า ผักในห้างไม่มีสารพิษตกค้างอยู่เลย จึงขายราคาแพงกว่า แต่ปกติไม่ค่อยซื้อผักชีและผักคะน้ากิน เพราะเคยได้ยินมาว่าเกษตรกรฉีดยาฆ่าแมลงเยอะล่าสุด เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นหัวข้อ "การจัดทำหลักเกณฑ์ประเมินความเป็นอันตรายและผลกระทบภายหลังการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร" โดยเชิญตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมเช่น เครือข่ายผู้บริโภค ตัวแทนบริษัทขายยาฆ่าแมลง แพทย์ นักวิชาการเกษตร ฯลฯ รวมแล้วกว่า 100 คน นายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร สรุปผลการประชุมว่า ที่ผ่านมาเกณฑ์ควบคุมวัตถุอันตรายทางการเกษตรยังไม่ค่อยชัดเจนนัก ทั้งยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ฯลฯ ผู้เข้าร่วมประชุมจึงเสนอให้กำหนดหลักเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาเบื้องต้น คือ
          1.สารที่มีพิษเฉียบพลันสูง หมายถึง เมื่อรับเข้าร่างกายแล้วส่งผลทันที เช่น มึนเวียนหน้ามืด อาเจียน เกิดผดผื่นคัน ฯลฯ
          2.สารที่มีพิษเรื้อรัง หมายถึงมีผลต่อระบบประสาท สารก่อมะเร็ง พิษต่อระบบสืบพันธุ์ ฯลฯ
          3.สารที่มีพิษตกค้างสะสมในสิ่งแวดล้อม ห่วงโซ่อาหาร และสิ่งมีชีวิต
          4.สารที่พบพิษตกค้างในผลิตผลการเกษตรเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย
          5.สารที่มีการใช้ผิดหรือใช้ไม่ตรงตรมคำแนะนำในฉลาก (MISUSE)
          6.สารที่ประกาศห้ามใช้ในบางประเทศ
          7.สารเคมีเฝ้าระวังตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ 2 ฉบับ ได้แก่ "อนุสัญญารอตเตอร์ดัมส์" ว่าด้วยการควบคุมนำเข้าและส่งออกสารเคมีอันตรายต้องห้าม และ "อนุสัญญาสตอกโฮล์ม" ว่าด้วยสารมลพิษตกค้างยาวนาน
          ด้านตัวแทนเครือข่ายเฝ้าระวังสารเคมีเกษตร "วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ" ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถึยืนยันว่า ในวันนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องห้ามไม่ให้ขึ้นทะเบียนยาฆ่าแมลงอันตรายที่หลายประเทศทั่วโลกห้ามใช้แล้ว 4 ชนิดคือ 1.คาร์โบฟูราน 2.เมโทมิล 3.ไดโครโตฟอส และ 4.อีพีเอ็น เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรหลงเป็นเหยื่อบริษัทสารเคมียักษ์ข้ามชาติซึ่งใช้โฆษณาล่อหลอกให้ซื้อสารพิษทั้ง 4 ชนิดมาใช้ในแปลงพืชผักอย่างแพร่หลายทั้งที่บางตัวเป็นสารที่ให้ใช้ในดอกไม้ไม่ใช่ในผัก
          "ไพรัช จงแก้ว" อายุ 50 ปี ตัวแทนชาวนานครสวรรค์ ที่เข้ามาร่วมประชุม เล่าจากประสบการณ์จริงให้ฟังว่า เคยลองใช้สารเคมีมาหลายชนิด รวมถึงคาร์โบฟูรานด้วย แต่ใช้ครั้งเดียวก็เลิกเพราะส่งผลรุนแรงต่อร่างกาย ทำให้มึนหัวและหนังตากระตุกจากนั้นเปลี่ยนมาใช้เกษตรอินทรีย์แทน ชีวิตดีขึ้นไม่ห่วงเรื่องสารพิษตกค้าง แต่ชาวนาเพื่อนบ้านอาศัยอยู่พื้นที่เดียวกันยังคงใช้ยาฆ่าแมลงจำนวนมาก ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ปลาตายลอยขึ้นมาเป็นระยะๆ กบเขียดเคยพบเห็นตามนาข้าวหายไปหมด จึงเข้าร่วมประท้วงไม่อยากให้มีการใช้ยาฆ่าแมลงพิษร้ายเหล่านี้อีกต่อไป!!


pageview  1210959    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved