HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 19/03/2555 ]
รับมือกับหมอกควันและฝุ่นละอองในอากาศ ตอน 1

สถานการณ์หมอกควันในเขตพื้นที่ภาคเหนือเริ่มจากที่เป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่ ขณะนี้ได้กลายเป็นปัญหาระดับชาติ ที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เนื่องจากปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และที่สำคัญคือผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชนเป็นวงกว้างในเวลานี้ซึ่งคุณภาพอากาศโดยรวมของหลายจังหวัดในภาคเหนือตอนบนอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เห็นได้จากรายงานสถิติของหลายจังหวัดพบว่า มีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบเข้ารักษาในโรงพยาบาลแล้วจำนวนมากส่วนใหญ่เป็นป่วยจากโรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หอบหืด และโรคตาอักเสบ แต่เมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ มีวิธีการปรับตัวเพื่อป้องกัน และการดูแลตนเองเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากฝุ่นละอองในอากาศมาฝากทุกคน
          ฝุ่นละอองส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร
          ฝุ่นละอองที่เราเห็นลอยฟุ้นอยู่ในอากาศนั้น มีชื่อเรียกเป็นทางการ นั่นคือ Particulate Matter (PM) ซึ่งอาจอยู่ในสภาพของเหลวหรือของแข็งขนาดเล็กที่กระจายอยู่ในอากาศ เช่น อนุภาคต่างๆ เชื้อโรค ฝุ่นละออง จนทำให้เรามองเห็นในภาพกว้างเป็นลักษณะหมอกหรือควัน อันตรายจากการสูดดมอนุภาคเหล่านี้ขึ้นอยู่กับขนาด ปริมาณ คุณสมบัติทางเคมี และความเป็นพิษของอนุภาคนั้นๆ ฝุ่นละอองในอากาศมีขนาดตั้งแต่ 500 ไมครอนจนถึง 0.2 ไมครอน ฝุ่นละอองขนาดน้อยกว่า 100 ไมครอน สามารถแขวนลอยอยู่ในอากาศได้โดยที่ฝุ่นละอองขนาด 100 ไมครอน อาจแขวนลอยในอากาศได้เพียง 2-3 นาที ในขณุที่ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 0.5 ไมครอน อาจแขวนลอยอยู่ในอากาศได้นานเป็นปี โดยทั่วไปเราจะวัดน้ำหนักของฝุ่นละอองในอากาศที่ปริมาตร 1 ลูกบาศก์เมตร โดยแสดงเป็นค่าเฉลี่ยใน 24 ชั่วโมง การกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไปนี้ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
          จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราหายใจอากาศที่มีฝุ่นละออง
          ระบบทางเดินหายใจแบ่งเป็นส่วนบนและส่วนล่างตั้งแต่โพรงจมูกและช่องปาก ผ่านช่องคอ กล่องเสียงหลอดลมใหญ่ หลอดลมฝอย ไปจนถึงถุงลมปอดซึ่งเป็นส่วนปลายสุดของทางเดินหายใจ อนุภาคในอากาศสามารถกระจายเข้าไปอยู่ในระบบทางเดินหายใจได้ 4 วิธีคือ
          1.Interception คือการสัมผัสกับผิวเยื่อบุทางเดินหายใจโดยตรง ได้แก่ อนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน
          2.Impaction คือ การเคลื่อนที่ไปตามทิศทางของลมหายใจ ได้แก่ อนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน
          3.Sedimentation คือ การตกลงตามแรงโน้มถ่วง ได้แก่ อนุภาคที่มีขนาดใหญ่กว่า 0.5 ไมครอน
          4.Diffusion คือ การแพร่กระจาย สำหรับอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 0.5 ไมครอน
          ระบบทางเดินหายใจมีกระบวนการมากมายที่ใช้ป้องกันอนุภาคขนาดเล็ก เมื่อเราหายใจฝุ่นละอองทั้งหมดจะไม่สามารถเข้าสู่ปอด มีเพียงฝุ่นละอองบางส่วนที่ผ่านการกรองที่จมูกเข้าไปได้เท่านั้น เมื่อเข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนล่างจะมีระบบเมือก (mucus) และซีเลีย (cilia) ที่คอยดับจับอนุภาคแปลกปลอม และขับออกมาในรูปของเสมหะหรือการไอ อย่างไรก็ตามยังมีฝุ่นละอองบางส่วนที่สามารถเข้าถึงถุงลมปอด(alveoli) ซึ่งเป็นบริเวรที่ใช้แลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ถึงกระนั้นภายในถุงลมฝอยก็ยังมีเม็ดเลือดขาวชนิดมาโครฟาจ  (macrophage) ที่ช่วยดักจับสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาและขับสิ่งแปลกหลอมเหล่านั้นออกโดยการโบกพัดของซิเลีย ยกตัวอย่างกลุ่มผู้ทำงานในเหมืองถ่านหิน ซึ่งสูดดมฝุ่นละอองมากถึง 1,000 กรัม (1 กิโลกรัม) ตลอดชีวิตการทำงาน แต่เมื่อทำการชันสูตรเมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วพบว่ามีฝุ่นละอองอยู่ภายในปอดเพียง 40 กรัมจึงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าร่างกายมนุษย์สามารถกำจัดฝุ่นละอองออกจากปอดได้มากในระดับหนึ่ง
          โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร. 1719


pageview  1210888    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved