HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 13/01/2564 ]
ติดสังคม - ติดบ้าน - ติดเตียง ดูแลผู้สูงวัย 3 กลุ่ม ป้องกันโควิด-19

 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ระลอกใหม่ ผู้สูงอายุเป็นกลุ่ม ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ เพราะร่างกายของผู้สูงอายุมีภูมิคุ้มกันที่ลดลงตามวัย บางคนมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคปอดเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น และในกรณีที่มีการติดเชื้อ ก็มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป
          กระทรวงสาธารณสุขได้แบ่งกลุ่มผู้สูงอายุเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มติดสังคม กลุ่มติดบ้าน และกลุ่มติดเตียง
          กลุ่มติดสังคม มีจำนวนร้อยละ 96 เป็นผู้สูงอายุที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ดี สุขภาพดี ไม่มีโรคเรื้อรัง หรือมีโรคเรื้อรังแต่ควบคุมได้ สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้โดยอิสระ ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ เมื่อออกจากบ้านต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือ บ่อย ๆ หากไปในที่สาธารณะต้องให้ความร่วมมือ ในการคัดกรองของสถานที่ต่าง ๆ ด้วย
          กลุ่มติดบ้าน มีจำนวนร้อยละ 3 ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือต้องการความช่วยเหลือบางส่วน กลุ่มนี้ค่อนข้างปลอดภัยแต่ในความเป็นจริงก็ต้องระวังตัว เพราะคนในครอบครัวอาจจะนำเชื้อจากข้างนอกมาติดตามที่มีข่าวเป็นระยะ ๆ
          กลุ่มติดเตียง มีจำนวนร้อยละ 1 กลุ่มนี้เป็นผู้สูงวัยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันได้ ต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น ผู้สูงอายุในกลุ่มติดเตียงมีทั้งที่อยู่บ้าน และอยู่ที่สถานดูแลผู้สูงอายุ (เนอร์สซิ่งโฮม) หรือสถานพยาบาลทั้งของภาครัฐและเอกชน
          ผู้ดูแลใกล้ชิด หรือบุตรหลานที่ดูแลผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านและติดเตียง ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และควรตระหนักไว้เสมอว่าโรค โควิด-19 สามารถที่จะมีการแพร่เชื้อได้ในขณะที่ผู้รับเชื้อไม่มีอาการ เมื่อกลับถึงที่พัก/บ้านให้อาบน้ำ สระผม เปลี่ยนเสื้อผ้าทันที แล้วค่อยทำกิจกรรมอื่น
          หากพบว่าตนเองเป็นผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือเดินทางกลับจากพื้นที่ความเสี่ยงสูง ต้องแยกตัวออกจากผู้สูงอายุอย่างเด็ดขาด หลีกเลี่ยงการกินร่วมกัน ต้องหมั่นล้างมือ บ่อย ๆ มีการจัดห้องพักและของใช้ส่วนตัวแยกกับผู้สูงอายุ หากแยกห้องไม่ได้ ควรจัดที่นอนให้ห่างจากคนอื่นมากที่สุด และเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท
          ทำความสะอาดพื้นผิวที่สัมผัสร่วมกันบ่อย ๆ เช่น สวิตช์ไฟ ลูกบิดหรือมือจับประตู โต๊ะ ราวจับ รีโมต โทรศัพท์ และหมั่นสังเกตอาการของผู้สูงอายุ หากมีไข้ ไอ จาม จมูก ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ควรพบแพทย์ทันที
          ระหว่างนี้นอกจากจะต้องป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังต้องป้องกันการถดถอยของร่างกายและสมองให้กับผู้สูงอายุ เนื่องจากต้องเก็บตัวอยู่บ้านเป็นเวลานานด้วย โดยกระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ยึดหลัก 5อ. คือ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ เอนกายพักผ่อน และออกห่างสังคมนอกบ้าน
          อาหาร ต้องสะอาด ปรุงสุกใหม่ ๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่หวานหรือเค็มเกินไป  เน้นอาหารที่มีโปรตีนสูงเสริมภูมิคุ้มกัน และครบ 5 หมู่ รักษาสุขภาพช่องปาก
          ออกกำลังกาย ออกกำลังกายในบ้านอย่างสม่ำเสมอ หรือเท่าที่ทำได้ตามสภาพร่างกายและสมองของผู้สูงอายุ
          อารมณ์ หยุดรับข่าวสารที่มากเกินไป ปรึกษาผู้รู้ใจ ทำกิจกรรมที่ผู้สูงอายุชื่นชอบ ทำแล้วมีความสุข ใช้เทคนิคจัดการความเครียด หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา ยาเสพติด หากมีปัญหาโทรฯปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต โทร. 1323
          เอนกายพักผ่อน  นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-9 ชั่วโมง/วัน
          ออกห่างสังคมนอกบ้าน ทั้งผู้สูงอายุ และผู้ดูแลควรเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านให้มากที่สุด เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร ใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า  ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือแอลกอฮอล์เจลบ่อย ๆ.


pageview  1210907    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved