HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 13/01/2564 ]
โรคหลอดเลือดสมองในผู้สูงอายุป้องกันและควบคุมได้

โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย การทำงานของสมองหยุดชะงัก
          จากการสำรวจขององค์กรโรคหลอดเลือดสมองโลกพบว่า ปี 2563 มีผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองกว่า 80 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5.5 ล้านคน พบผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นถึง 14.5 ล้านคนต่อปี
          ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย จากข้อมูลของกองยุทธศาสตร์และแผนงานกระทรวงสาธารณสุข (ปี 2556- 2560) พบว่าจำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ปี 2560 พบผู้ป่วยเกิดใหม่จำนวน 304,807 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ปีละไม่ต่ำกว่า 30,000 ราย
          ความผิดปกติของหลอดเลือดสมองที่ทำให้สมองขาดเลือด แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน และหลอดเลือดสมองแตก
          หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (ischemic stroke) เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง พบได้ประมาณ 80% หลอดเลือดสมองอุดตันเกิดได้จากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในบริเวณอื่นไหลไปตามกระแสเลือดจนไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง หรืออาจเกิดจากมีลิ่มเลือดก่อตัวในหลอดเลือดสมอง และขยายขนาดใหญ่ขึ้นจนอุดตันหลอดเลือดสมอง ส่วนสาเหตุของหลอดเลือดสมองตีบอาจเกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลดลง
          หลอดเลือดสมองแตก (hemorrhagic stroke) พบได้ประมาณ 20% ของโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบางร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้บริเวณที่เปราะบางนั้นโป่งพองและแตกออก หรืออาจเกิดจากหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดปริแตกได้ง่าย ซึ่งอันตรายมากเนื่องจากทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลงอย่างฉับพลันและทำให้เกิดเลือดออกในสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วย เสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้
          นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการ แพทย์ กล่าวว่า "โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย และมักพบว่าผู้สูงอายุจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงมากกว่าวัยอื่น ๆ เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้น หลอดเลือดจะเสื่อมสภาพและอาจมีไขมัน หินปูน มาเกาะที่ผนัง หลอดเลือด ทำให้แคบลงจนเกิดเส้นเลือดตีบแข็ง ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยด้วยโรคนี้ส่วนใหญ่ต้องได้รับการดูแล รักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างต่อเนื่อง"
          กรมการแพทย์ โดยสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ แนะนำโรคหลอดเลือดสมอง (stroke ) สามารถป้องกันและควบคุมได้ โดยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก งดสูบบุหรี่ งดการ ดื่มสุรา ควบคุมน้ำตาล ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
          "ผู้สูงอายุสามารถสังเกตอาการเบื้องต้น ดังนี้ แขน ขา ชาหรืออ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่ง สับสน พูดไม่ชัด พูดไม่รู้เรื่อง การมองเห็นลดลงหรือเห็นภาพซ้อน มีปัญหา เดินเซ มึนงง ปวดศีรษะรุนแรง ให้รีบมาพบแพทย์ด่วนที่สุดโดยไม่รอเพราะถ้ามาเร็วภายใน 4 ชั่วโมงหลังเกิดอาการจะทำให้การรักษาได้ผลดี เพื่อรักษาชีวิตและฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงได้มากที่สุด ซึ่งปัญหาที่สำคัญของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองคือการที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ จำเป็นต้องรักษาหรือฟื้นฟูด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้ร่างกายมีสภาพที่ดีขึ้น สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ทั้งนี้ การฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ควรทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างแพทย์ ผู้ป่วยและผู้ดูแล เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลได้อย่างถูกต้องเหมาะสม" นายแพทย์สกานต์  บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวสรุป.


pageview  1210907    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved