HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 17/02/2564 ]
พร้อมลุยฉีดวัคซีน เริ่ม28ก.พ. เน้นกลุ่มอายุ18-59ปี

   วัคซีนป้องกัน "โควิด-19" ลอตแรก 2 แสนโด๊ส จาก "ซิโนแวค"ส่งตรงจากจีนถึงไทย 24 ก.พ. "การบินไทย" บินขนส่ง สธ. เริ่มฉีด 28 ก.พ. ด้าน ทั่วประเทศ เตรียมเฮ ศบค. ชุดใหญ่ นัดถกคลายล็อกเพิ่ม 22 ก.พ. ชงนั่งดื่มในร้าน-ปรับโซนสีจังหวัด เหตุ ยอดผู้ป่วยลดลงหมอจุฬาฯ เผย ไทยพบติดเชื้อ "โควิดสายพันธุ์แอฟริกา" เพิ่มอีก 2 ราย ชี้ ก่อให้โรคแรงขึ้น ไวรัสไม่ลดลงแม้รับยาต้าน พร้อมเปิดผลศึกษา อังกฤษ เจอวิกฤติเชื้อกลายพันธุ์ซ้ำ เตือนไทยระวังเข้ม อย่าให้เชื้อใหม่หลุดกระจายในชุมชนก่อนได้วัคซีนครบ ส่วน แบงก์กรุงไทย ปรับแผนแก้ปมคนทะลักธนาคาร ส่งผลลงทะเบียนกลุ่ม ไร้สมาร์ทโฟนผู้ขาดโอกาสทางสังคม วันที่ 2 ลื่นไหล แจกบัตรคิว-นัดหมาย พร้อมประสานฝ่ายปกครอง-นักศึกษาอาสาช่วยบริการ แถมขยายเวลายาวถึง 5 มี.ค.
          ไทยติดเชื้อโควิดอีก72
          เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 72 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 69 ราย แบ่งเป็นระบบเฝ้าระวังและบริการ 21 รายและผู้ติดเชื้อจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 48 ราย กลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 3 ราย ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยรวมสะสม 24,786 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 22,136 ราย จากการคัดกรองเชิงรุก 14,038 ราย รักษาหายแล้ว 23,563 ราย เหลือรักษาอยู่ 1,141 ราย แบ่งเป็นอยู่ใน รพ. 924 ราย รพ.สนาม 215 ราย และผู้เสียชีวิตสะสม 82 ราย สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกวันนี้ 262,941 ราย ทำให้ยอดสะสมอยู่ที่ 109,670,473 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตรายใหม่ทั่วโลกอยู่ที่ 6,573 ราย ทำให้มียอดเสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 2,418,250 ราย
          ปทุมธานีเจอป่วย47ราย
          ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่วันนี้จากระบบเฝ้าระวังฯ 21 ราย พบใน สมุทรสาคร 16 ราย เป็นเด็กหญิง 14 ปี และส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา นครปฐม 1ราย สมุทรปราการ 2 ราย ปทุมธานี 1ราย และขอนแก่น 1ราย ส่วนการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 48 ราย ปทุมธานี 47 ราย เกี่ยวข้องกับตลาด เป็นคนไทย 26 ราย เมียนมา 18 ราย ลาว 2 ราย กัมพูชา 1 ราย  และพระนครศรีอยุธยา 1 ราย ทั้งนี้ จำแนกเป็น 3 พื้นที่ใหญ่ คือ สมุทรสาคร พบรายใหม่ 16 ราย คิดเป็น 23.19% กรุงเทพฯ ไม่พบผู้ติดเชื้อ ส่วนจังหวัดอื่น ๆ 53 ราย คิดเป็น 76.81%
          ชมเปาะ14จว.ไร้โรค
          อย่างไรก็ตามจากการทำงานควบคุมการระบาดสถานการณ์ตั้งแต่สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ม.ค. จำนวนจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อ ค่อย ๆ ลดลง แต่ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาตัวเลขจังหวัดที่พบการติดเชื้อเพิ่มมาเป็น 16 จังหวัดอีกครั้ง ส่วนจังหวัดที่ไม่พบการติดเชื้อเลยมี 14 จังหวัด คือ ศรีสะเกษ บึงกาฬ ยโสธร กาฬสินธุ์ สกลนคร มุกดาหาร แพร่ พะเยา แม่ฮ่องสอน อุทัยธานี พังงา  ชุมพร  ปัตตานี และ ยะลา ซึ่งน่าชื่นชม
          บทเรียนคลัสเตอร์จุฬาฯ
          สำหรับการติดเชื้อคลัสเตอร์จุฬานิวาสที่เจอในกลุ่ม รปภ.นั้น เป็นวัยทำงานอายุ 40-49 ปี เป็นส่วนใหญ่ และอายุ 50-59 ปีรวมผู้ติดเชื้อทั้งหมด 22 คน ส่วนใหญ่มีอาการไอ มีเสมหะ ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อยหอบ และจากการสอบสวนโรคพบว่ามี 5 จุดสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังคือ 1.พักอาศัยในที่เดียวกัน 2. ทำงานร่วมกัน 3. รับประทานอาหารร่วมกัน ทั้งนี้จากการทำงานร่วมกับ สสส. พบว่า  1 ใน 4 ของคนไทย ไม่ค่อยล้างมือก่อนรับประทานอาหารซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงเกิดการติดเชื้อ ดังนั้นขอความร่วมมือในการล้างมือด้วย 4. การเข้ากิจกรรมรวมแถวกันของรปภ. และ 5. จุดสแกนนิ้ว
          ศบค.ถกผ่อนคลาย22ก.พ.
          ทั้งนี้ในวันที่ 22 ก.พ. จะมีประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งจะมีการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการ เบื้องต้นมี พิจารณา 2 รูปแบบ คือ 1. ผ่อนคลายตามลักษณะกิจกรรมต่าง ๆ เฉพาะ เช่น การแข่งขันกีฬามีคนชม กิจการค้าอนุญาตให้ดื่มแอลกอฮอล์ในร้านต่าง ๆ  2. การพิจารณาเปลี่ยนสีของพื้นที่ อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มพิจารณาขยับสีมากกว่าเพราะถ้าพิจารณาตามลักษณะกิจกรรมอาจจะเกิดการเปรียบเทียบได้ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 18 ก.พ. จะประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อให้มีข้อสรุปก่อนเสนอเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ต่อไป
          ติดเชื้อพันธุ์แอฟริกาอีก2
          ด้าน ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก รพ.จุฬาฯ กล่าวในการเสวนา "ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์มีความน่ากลัวแค่ไหน"ช่วงหนึ่งว่า ทั่วโลกจับตาไวรัส 3ตัว ที่มีการกลายพันธุ์ คือ 1.สายพันธุ์ B.1.1.7 (GR,G)  จากอังกฤษ 2.สายพันธุ์ B.1.351 (GH,G) จากแอฟริกาใต้และ3.สายพันธุ์P.1(GR) จากบราซิลที่ผ่านมาในไทยตรวจเจอสายพันธุ์ B.1.1.7 ในกลุ่มคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ รวม 9 ราย และตัวล่าสุดที่มีการกลายพันธุ์ B1351จากแอฟริกาใต้ และไทยตรวจเจอรายแรกเป็นพ่อค้าพลอยชายไทย อายุ 41 ปี ติดเชื้อมาจากแทนซาเนีย พบว่ามีอาการปอดอักเสบรุนแรงที่ด้านขวาล่าง ค่าออกซิเจนในเลือดต่ำลงปริมาณไวรัสแทบไม่ลดลงเลยหลังรับฟาวิพิราเวียร์ ภูมิคุ้มกันก็ขึ้นช้ามากต้องรักษาแบบประคับประคอง และต้องเปลี่ยนมาให้ยา เรมดิซีเวีย อย่างไรก็ตามตอนนี้การรักษาดีขึ้นแล้วล่าสุดเราตรวจเจอสายพันธุ์แอฟริกาใต้เพิ่มอีก 2 ราย ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศอยู่ระหว่างการรายงานเข้าในระบบ รวมแล้วพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้แล้ว 3 ราย ดังนั้น ต้องมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดไม่ให้สายพันธุ์นี้กระจาย
          อังกฤษเจอกลายพันธุ์ซ้ำ
          ขณะนี้ สายพันธุ์ B.1.1.7อังกฤษ ซึ่งพบว่ามีความสามารถในการแพร่กระจายได้ง่าย ล่าสุดที่อังกฤษพบว่ามีการกลายพันธุ์อีกรอบเป็นนิวเวอร์ชั่นโดยพบความคล้ายคลึงกับสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ที่เจอในแอฟริกาใต้โผล่มาอีกทั้งที่ผู้ติดเชื้อในอังกฤษที่เจอการกลายพันธุ์รอบใหม่นี้ไม่มีประวัติเดินทางไปยังแอฟริกาใต้แต่อย่างใดดังนั้นต้องติดตามการพัฒนาของไวรัสอย่างใกล้ชิดซึ่งจะมีประเด็นเรื่องลดการตอบสนองต่อวัคซีนและประเทศไทยต้องป้องกันอย่าให้ระบาดในชุมชนต้องกักให้อยู่ในที่กักกันก่อนที่เราจะได้รับวัคซีนจนครบ
          ขนวัคซีนถึงไทย24ก.พ.
          พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานในที่ประชุมคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทย ในฐานะสายการบินแห่งชาติ มีความยินดีที่กระทรวงสาธารณสุขมอบความไว้วางใจให้ปฏิบัติภารกิจขนส่งวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ลอตแรกของประเทศไทย 2 แสนโด๊ส จาก บริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด สาธารณรัฐประชาชนจีนมายังประเทศไทยด้วยเที่ยวบินขนส่งสินค้า เที่ยวบิน ทีจี 675 เส้นทางปักกิ่ง-กรุงเทพฯทำการบินด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ 350-900 ออกเดินทางจากสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 24 ก.พ. เวลา 06.50 น. (เวลาท้องถิ่น) ถึงกรุงเทพฯ เวลา 11.05 น. ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
          ราชวิถีซ้อมฉีดวัคซีนโควิด
          ที่ รพ.ราชวิถี นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข พร้อม นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผอ.รพ.ราชวิถี ทดสอบระบบการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยซักซ้อมการฉีดวัคซีน 8 ขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ ทำบัตร ชั่งน้ำหนัก ซักประวัติ รอฉีด เข้ารับการฉีดพักรอดูอาการ 30 นาที ตรวจสอบก่อนกลับ แสดงผลในไลน์ "หมอพร้อม" รวมแล้วใช้เวลาไม่เกิน 40 นาที ทั้งนี้วัคซีนจากซิโนแวคจะเข้ามาถึงไทยวันที่ 24 ก.พ. ใช้เวลาตรวจสอบและพร้อมฉีดไม่เกินวันที่ 28 ก.พ. กลุ่มเป้าหมายแรกที่จะได้รับการฉีด เป็นบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่สมัครใจประมาณ 32,000 คน ส่วนประชาชนกลุ่มเสี่ยงอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล และจากการหารือเบื้องต้นกับผู้ว่าฯ กทม.คาดว่าพื้นที่ กทม.น่าจะได้วัคซีนมา 8 หมื่นโด๊สอาจจะฉีดในเขตที่เป็นพื้นที่เสี่ยงของ กทม.ก่อนส่วนต่างจังหวัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)จะเป็นผู้รวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิรับวัคซีน ซึ่งวัคซีนของซิโนแวคโดยกำหนดฉีดให้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18-59 ปีไม่ฉีดกับผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีเพราะถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง
          นักศึกษาแพทย์มธ.ป่วย
          รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ลงนามในแถลงการณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กรณีนักศึกษา คณะแพทยศาสตร์ ตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ใจความสรุปว่าด้วยในวันที่ 13 ก.พ. คณะแพทยศาสตร์ฯ มธ. รับแจ้งว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มารับบริการที่รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันที่ 9 ก.พ. และจากการสอบสวนมีบุคลากรคณะแพทยศาสตร์และนักศึกษาแพทย์ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยดังกล่าวรวม 7 ราย ในจำนวนนี้ พบติดเชื้อ 1 ราย เป็นนักศึกษาแพทย์ ขณะนี้เข้ารับการรักษาที่รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติแล้วตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ได้ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดนักศึกษาที่ติดเชื้อดังกล่าวร่วมกับรพ.ธรรมศาสตร์ฯพบว่ามีผู้สัมผัสใกล้ชิด 47 ราย เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 20 ราย และสัมผัสเสียงต่ำ 27 ราย ทั้งหมดได้รับการตรวจหาเชื้อซึ่งผลการตรวจไม่พบเชื้อ 42 ราย ส่วนอีก 5 รายรอผลตรวจ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีมาตรการค้นหาเชิงรุกเพิ่มเติมในนักศึกษาและมีมาตรการอื่น ๆ ที่จะป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเข้มงวด
          สุพรรณฯมีติดโรค1ราย
          ศูนย์ปฏิบัติการฯ โควิด-19 จังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยการพบผู้ป่วยรายใหม่ของจ.สุพรรณบุรี รายที่ 18 เป็นชายชาวต่างชาติ  อายุ 40 ปี  เป็นการพบที่ อ.เดิมบางนางบวช  โดยมีไทม์ไลน์ วันที่ 29 ม.ค.- 5 ก.พ.  ท่องเที่ยวในพื้นที่ป่าตอง จ.ภูเก็ต  และ เดินทางกลับโดยรถยนต์ส่วนตัว วันที่ 6 ก.พ. แวะพักโรงแรมริมทางไม่ทราบชื่อ จ.ประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 7-11 ก.พ. ท่องเที่ยวในพื้นที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยรถยนต์ส่วนตัว วันที่ 12-13 ก.พ. พักอยู่บ้าน ต.โคกช้าง อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี วันที่ 14 ก.พ. ตรวจหาเชื้อ เพื่อเตรียมเดินทางกลับต่างประเทศ ที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง จ.สิงห์บุรี ผลตรวจพบเชื้อ วันที่ 15 ก.พ. พักอยู่บ้าน อ.เดิมบางนางบวช ทีมสอบสวนโรค เก็บตัวอย่างซ้ำผลตรวจยืนยันติดเชื้อ วันที่ 16 ก.พ. เข้ารับการรักษา ที่ รพ.เจ้าพระยายมราชสุพรรณบุรี
          รับรองแอสตราเซเนกา
          ขณะที่ สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่า นพ.เทดรอส แอดนาฮอม เกเบรเยซุส ผอ.องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) หรือ ฮู แถลง เรื่องการขึ้นทะเบียนรับรองเพื่อการใช้งานเป็นกรณีฉุกเฉินให้กับวัคซีน "ADZ1222" หรือ "ChAdOx1" พัฒนาโดยบริษัทแอสตราเซเนการ่วมกับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดของสหราชอาณาจักร ผลิตโดยบริษัทแอสตราเซเนกา-เอสเค ไบโอ ของเกาหลีใต้ และสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดียเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งนี้วัคซีนของแอสตราเซเนกาฯ เป็นผลิตภัณฑ์ด้านชีวภาพรายการที่ 2 ซึ่งผ่านการอนุมัติจากดับเบิลยูเอชโอ ต่อจากการขึ้นทะเบียนวัคซีน "โทซินาเมแรน" หรือ "BNT162b2" ที่บริษัทไฟเซอร์ของสหรัฐพัฒนาร่วมกับบริษัทไบโอเอ็นเทคของเยอรมนี เมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว
          ปรับแผนแก้คนทะลักแบงก์
          ส่วนกรณีประเด็นดราม่าในการเปิดลงทะเบียนรับความช่วยเหลือรับเงินเยียวยาคนละ 7,000 บาท ในโครงการ "เราชนะ" สำหรับผู้ไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ผู้ไม่มี อินเทอร์เน็ต ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ป่วยติดเตียง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการลงทะเบียนตามโครงการในวันที่สองอาทิ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ยังคงมีประชาชนเดินทางมาลงทะเบียนตามสาขา และจุดบริการของธนาคารกรุงไทยอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังมีปรับแผนแก้ปัญหาโดยแจกบัตรคิวตามความเหมาะสม ซึ่งหากแห่งไหนมีปริมาณมากเกินไป เจ้าหน้าที่จะขอให้เดินทางมาตามนัดในวันถัดไป นอกจากนี้ยังมีการประสานหน่วยงานปกครองที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนักศึกษามหาวิทยาลัยในแต่ละพื้นที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการบริการเพิ่มเติม  ที่สำคัญยังขยายเวลาการลงทะเบียนในกลุ่มนี้ออกไปจนถึงวันที่ 5 มี.ค. 2564 จากเดิมที่กำหนดไว้ระหว่างวันที่ 15-25 ก.พ. สำหรับกลุ่มผู้ไม่มีสมาร์ทโฟนและผู้ขาดโอกาสจะได้รับสิทธิ "เราชนะ" ใช้จ่ายวงเงินตามสิทธิผ่านบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดที่มีชิพโดยกระทรวงการคลัง จะโอนเงินให้ในงวดแรกวันที่ 5 มี.ค. 4,000 บาท และจะโอนเข้าให้ทุกวันศุกร์สัปดาห์ละ 1,000 บาทจนกว่าจะครบ 7,000 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถสะสมและนำไปใช้จ่ายได้จนถึงวันที่ 31 พ.ค.


pageview  1210902    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved