HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 10/03/2564 ]
ก้าวใหม่รักษามะเร็งเต้านมด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด

ปัจจุบันการรักษามะเร็งเต้านมสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัดเต้านม การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด การรักษาด้วยการฉายรังสี การรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมน และการรักษาด้วยยาพุ่งเป้า ซึ่งเป็นการรักษาตามมาตรฐานทั่วโลก แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยบางราย หลังพบว่าผู้ป่วยกลับไปเป็นซ้ำ ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เล็งเห็นวิธีการรักษาที่ดีอีกหนึ่งวิธี ที่ใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นคือ การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด หรือ Immunotherapy โดยแถลงความสำเร็จ "ก้าวใหม่ของการรักษามะเร็งเต้านม" Immunotherapy: the final path towards the cure of breast cancer เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ศูนย์ สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อมะเร็งเต้านม ชั้น 9 ตึกว่องวานิช รพ.จุฬาลง กรณ์ สภากาชาดไทย
          รศ.นพ.กฤษณ์ จาฏามระ หัวหน้าศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อมะเร็งเต้านม รพ.จุฬาฯ  เผยว่า การใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด คือ การใช้ dendritic cell ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันพื้นฐานที่มีมากที่สุด (immune cell that is the most elementary) สามารถกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย (T-cell) ไปกำจัดเซลล์มะเร็ง โดยการนำ dendritic cell มาเลี้ยงในห้องปฏิบัติการให้เจริญเติบโตคู่กับ peptide (โปรตีนจำเพาะของคนไข้มะเร็งเต้านมแต่ละคน) หลังจาก dendritic cell เรียนรู้โปรตีนจำเพาะของเซลล์มะเร็งแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับการฉีดเซลล์ภูมิคุ้มกันนี้กลับเข้าไปในร่างกาย เพื่อให้เซลล์ภูมิคุ้มกันช่วยกำจัดเซลล์มะเร็ง ซึ่งวิธีการนี้ศูนย์ฯ ได้ศึกษามาเป็นระยะเวลานาน โดยค้นพบวิธีการและแนวทางการรักษาที่คาดว่าจะสามารถช่วยคนไข้ได้ โดยมีการเตรียมความพร้อมทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ และทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่ส่งไปศึกษาในต่างประเทศกว่า 3 ปี ศูนย์ฯ จึงมีความพร้อมทุกด้านเพื่อเริ่มการรักษาด้วยภูมิคุ้ม กันบำบัด
          "คนไข้ที่เข้า รับการรักษาด้วยวิธีใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดรายแรกคือ เพลินพิศ โกแวร์ มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมและเซลล์มะเร็งกระจายไปที่ตับ กระดูก ปอด ในช่วงเวลา 3 ปี ทีมแพทย์ผ่าตัดเนื้อร้ายที่ตับออก หลังผ่าตัดคนไข้ได้รับยาเคมีบำบัดตามมาตรฐาน แต่ต่อมากลับไปเป็นซ้ำอีกครั้ง คนไข้จึงขอหยุดการรักษาและขอใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับลูกสาว จึงขอให้คนไข้เข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งศูนย์ฯ เตรียมความพร้อมไว้อย่างดี โดยคนไข้ได้ตอบรับและผลการรักษาประสบความสำเร็จตามที่วางแผนไว้คือ หลังฉีดเซลล์ภูมิคุ้มกันไป 6 เดือน อาการต่าง ๆ ดีขึ้น ได้แก่ คนไข้ไม่เหนื่อย ไม่พบน้ำในปอด อาการปวดกระดูกหายไป ไม่ต้องใช้ยาแก้ปวดอีก สามารถเดินขึ้นบันไดโดยไม่เหนื่อย ทั้งที่เมื่อ 2 เดือนที่แล้วต้องนั่งรถเข็น และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่สำคัญคือ ผลจากการเจาะตรวจชิ้นเนื้อจากตับที่มีเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไป ไม่พบเซลล์มะเร็งเหลืออยู่ นอกจากนี้อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นมีค่อนข้างน้อย เช่น มีตุ่มน้ำใส ปวดตามข้อ ซึ่งเกิดในระดับเล็กน้อยเท่านั้น"
          ความสำเร็จครั้งนี้ ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อมะเร็งเต้านม ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากสถาบันในต่างประเทศ คือ Professor Stuart Curbishley มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร และ Professor Jolanda de Vries จากประเทศเนเธอร์แลนด์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ฯ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อีกทั้งได้รับเงินสนับสนุนจากผู้มีอุปการคุณ และสำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย
          สำหรับผู้มีจิตศรัทธาสามารถสมทบทุนสนับสนุน และพัฒนากระบวนการรักษามะเร็งเต้านมด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ได้ที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อบัญชี สำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย (2) เลขบัญชี 045-2-62588-8 ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า หากประสงค์ขอ รับใบเสร็จ โปรดส่งหลักฐานการบริจาค พร้อมระบุ : โครงการศูนย์ สิริกิติ์บรมราชินีนาถสภากาชาดไทยเพื่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ส่งไปที่อีเมล : donation@redcross.or.th โทรสาร 0-2652-4440 หรือ บริจาคด้วยการสแกน QR code ผ่าน Application Mobile Banking เข้าระบบ e-donation ลดหย่อนภาษี 2 เท่า โดยไม่ต้องขอรับใบเสร็จ ข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1664.


pageview  1210899    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved