HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 06/06/2555 ]
มีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องขริบหนังหุ้มปลายองคชาตเพื่อป้องกันเอดส์

 รศ.นท.ดร.สมพล เพิ่มพงศ์โกศลคลินิกสุขภาพชายโรงพยาบาลรามาธิบดี
          เมื่อเร็ว ๆ นี้มีหลักฐานการวิจัยน่าเชื่อถือมากขึ้นว่า การขริบหนังหุ้มปลายขององคชาตในผู้ใหญ่สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์ในประเทศโลกที่สาม  จนทำให้องค์การอนามัยโลกได้มีโครงการขนาดใหญ่เพื่อขริบหนังหุ้มปลายองคชาตในประเทศแถบแอฟริกาที่มีการระบาดของโรคเอดส์  ทำให้มีคำถามตามมาอย่างมาก เช่น มีความจำเป็นหรือไม่ต้องมีโครงการดังกล่าวในประเทศไทย หรือคำถามจาก คุณพ่อคุณแม่ของเด็กแรกเกิด ว่าจำเป็นต้องขริบหนังหุ้มปลายของลูกหรือไม่ เหมือนกับสมัยก่อนที่นิยมอย่างมากเพื่อป้องกันการเป็นมะเร็ง
          คำถามดังกล่าวอาจจะไม่ง่ายที่จะตอบเนื่องจากผลการศึกษาของประเทศโลกที่สามบ่งบอกว่าการขริบหนังหุ้มปลายอาจป้องกันหรือลดการติดเชื้อเอชไอวีในผู้ชายที่มีความสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามได้ถึงร้อยละ 50-60  ประเทศในแถบดังกล่าวมีอุบัติการณ์ของเอชไอวี สูงและมีการขริบหนังหุ้มปลายในเด็กแรกเกิดต่ำ ทำให้เชื่อว่าต้องมีการขริบหนังหุ้มปลายองคชาตในผู้ชาย 5-15 รายจึงป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ 1 ราย โดยทั้งนี้ขึ้น อยู่กับปัจจัยพื้นฐานว่ามีการติดเชื้อเอชไอวีหรือการใช้ถุงยางอนามัยป้องกันมากน้อยอย่างไรในแต่ละประเทศ
          จากการศึกษาดังกล่าว ส่งผลให้องค์การอนามัยโลกได้จัดทำโครงการขนาดใหญ่ในปีค.ศ. 2007 เพื่อทำการขริบหนังหุ้มปลายองคชาตใน ผู้ใหญ่ชาย ในประเทศแถบ saharan ทั้งหมด 13 ประเทศ ซึ่งหมายถึงพื้นที่ของทวีปแอฟริกาที่อยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า โครงการดังกล่าวถือว่าเป็นความพยายามเพื่อจะลดการแพร่กระจายและควบคุมการติดเชื้อเอชไอวี เป้าหมายดังกล่าวต้องขริบหนังหุ้มปลายถึงร้อยละ 80 ของผู้ใหญ่ชายในประเทศดังกล่าว และให้ได้ครบทั้งหมดตามเป้าหมายภายในปี ค.ศ. 2025 ถ้าประสบความสำเร็จ มีความคาดหวังว่าจะช่วยประหยัดเงินทางด้านสาธารณสุขได้ถึง 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ในปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้ทำการขริบหนังหุ้มปลายประชากรดังกล่าวประมาณร้อยละ 3 จากเป้าหมาย 20 ล้านคน จะเห็นได้ว่ายังมีงานอย่างมากและหลายประการที่องค์การอนามัยโลกต้องทำ
          การขริบหนังหุ้มปลายองคชาตในผู้ใหญ่ไม่ได้เป็นยาครอบจักรวาล ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ทั้งหมด  การขริบหนังหุ้มปลายสามารถลดการติดเชื้อเอชไอวีจากผู้หญิงไปสู่ผู้ชายแต่ไม่น่าจะป้องกันการติดเชื้อจากผู้ชายไปสู่ผู้หญิงและไม่น่าจะมีประโยชน์ในผู้ชายที่มีความสัมพันธ์ในเพศเดียวกัน
          การตัดหนังหุ้มปลายองคชาตออกน่าจะลดเชื้อไวรัสเข้าสู่เยื่อบุผิวขององคชาตและเป้าหมายเซลล์ของเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่จะอยู่ด้านในของหนังหุ้มปลาย  ดังนั้นมีความเชื่อว่าถ้าตัดหนังหุ้มปลายองคชาตออก จะทำให้โอกาสของเชื้อเอชไอวีเข้าสู่เซลล์เป้าหมายได้น้อยลง
          ถ้ามองในแง่ความคุ้มค่าของการลงทุนการขริบหนังหุ้มปลายองคชาตในผู้ชายแล้ว  จำนวนเด็กชายแรกเกิดที่ต้องทำการขริบหนังหุ้มปลายเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหนึ่งรายในประเทศนั้นโดยพิจารณาจากปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย  อาจจะไม่เหมาะสมสำหรับการขริบหนังหุ้มปลายเพื่อลดหรือป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี  ถึงแม้จะมีความคาดหวังอย่างมากจากผลการศึกษาดังกล่าวโดยผู้ทราบหรือได้ยินผลการศึกษาดังกล่าว.
 


pageview  1210929    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved