HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 01/09/2564 ]
กรมอนามัยเผยหญิงท้องกทม.ติดเชื้อสะสมสูง ยกระดับตรวจคัดกรองATKฉีดวัคซีน-ทำงานที่บ้าน

 สถานการณ์โรคโควิด-19  กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด 6 สัปดาห์ และทารกแรกเกิด ระหว่างวันที่ 15-21 สิงหาคม 2564 พบว่า มีผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 จำนวน 2,491 ราย แบ่งเป็นคนไทยจำนวน 1,700 ราย ต่างชาติจำนวน 791 ราย มีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตสะสม จำนวน 58 ราย ทารกเสียชีวิตสะสมจำนวน 24 ราย โดยจังหวัดที่หญิงตั้ง
          ครรภ์ติดเชื้อสูงสุดคือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 488 ราย จังหวัดสมุทรสาครจำนวน 399 ราย  และจังหวัดปทุมธานี  101 ราย ตามลำดับ สตรีมีครรภ์ติดเชื้อเทียบกับหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ติดเชื้อพบว่า มีโอกาสเข้าไอซียูสูงถึง 2-3 เท่า ใช้เครื่องหายใจสูง 2.6- 2.9 เท่า โอกาสเสียชีวิตตัวเลขในประเทศไทย 1.5-8 คนใน 1,000 คน ถือว่าค่อนข้างสูง ปัจจัยที่ทำให้อาการรุนแรงและเสียชีวิตคือ อ้วน อายุมากมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวานก่อนตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ ทารกคลอดก่อนกำหนด 1.5 เท่า ตายคลอด 2.8 เท่าทารกมีโอกาสเข้าไอซียู 4.9 เท่า โอกาสที่ทารกติดเชื้อ 3.5% แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ  ปัจจุบันสตรีมีครรภ์ที่ติดเชื้อและมีการคลอดลูกนั้นพบว่าครึ่งหนึ่งผ่าคลอด อีกครึ่งหนึ่งคลอดธรรมชาติ
          นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เพื่อลดความรุนแรงของการติดและแพร่เชื้อโควิด- 19 และ มีความรวดเร็วในการเข้ารับการรักษาตัว จึงควรยกระดับการคัดกรองเบื้องต้นสำหรับหญิงตั้งครรภ์ด้วย ATK เมื่อสงสัยว่าตนเองเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หลังตรวจแล้วหากพบผลตรวจเป็นบวก ให้ตรวจซ้ำอีกครั้งแบบ RT-PCR และถ้าพบการติดเชื้อแต่จัดอยู่ในกลุ่มสีเขียว ให้ดูแลตัวเองที่บ้านได้ แต่ในระหว่างอยู่ที่บ้านถ้ามีอาการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เช่น เหนื่อย หอบ มีไข้สูง ต้องเข้าระบบการรักษาในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลอื่น ๆ ที่มีบุคลากรทางการแพทย์ให้การดูแลต่อไป
          "ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ควรฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่คลินิกฝากครรภ์ในสถานบริการใกล้บ้าน ซึ่งล่าสุดมีหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการฉีดวัคซีนสะสม เข็มที่ 1 แล้ว จำนวน 30,441 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 2,372 ราย อีกทั้งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิ-19 อย่างต่อเนื่องขณะนี้ สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยงให้เน้นทำงานที่บ้าน (Work From Home) และเข้มงวดการปฏิบัติตัวตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ในกรณีที่บ้านมีสมาชิกอาศัยอยู่ร่วมกันหลายคน ควรสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ร่วมกัน หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ เว้นระยะห่างระหว่างกัน กินอาหารปรุงสุก เลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น ก็จะช่วยลดการติดและแพร่เชื้อได้ สำหรับผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์สามารถฉีดวัคซีนได้เช่นกัน และหลังฉีดไม่ต้องเว้นระยะการมีบุตร ไม่ต้องตรวจการตั้งครรภ์ก่อนฉีด เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานว่าการฉีดจะทำให้มีลูกยากแต่อย่างใด" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว.
          "เพื่อลดความรุนแรงของการติดและแพร่เชื้อโควิด-19 และมีความรวดเร็วในการเข้ารับการรักษาตัว จึงควรยกระดับการคัดกรองเบื้องต้นสำหรับหญิงตั้งครรภ์ด้วย ATK "


pageview  1220038    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved