|
|
|
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 16/09/2564 ] |
|
|
|
|
กรมสุขภาพจิตห่วงใยพี่น้องประชาชน แนะวิธีดูแลใจผู้ป่วยที่แยกกักตัวอยู่บ้านหรือชุมชน |
|
|
|
|
การแยกกักตัวอยู่บ้านหรือชุมชน" (Home Isolation/Community Isolation) เป็นหนึ่งในแนวทางการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 และเป็นทางเลือกการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ หรือ อาการไม่รุนแรง ยังสามารถดูแลตัวเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยในของโรงพยาบาล อาจอยู่โรงพยาบาลเพียงระยะสั้น ๆ แล้วไปพักฟื้นต่อที่บ้านหรือที่ชุมชนจัดไว้ให้ อีกทั้งยังเป็นทางออกที่จะช่วยลดปัญหาของระบบการดูแลผู้ป่วยที่มีจำนวนมาก และช่วยลดปัญหาผู้ป่วยล้นเตียง
นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด -19 ที่ส่งผลให้มีจำนวนผู้ที่ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น จะมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่มีอาการไม่รุนแรง ยังอยู่ในกลุ่มสีเขียว สามารถแยกตัวเองเพื่อรักษาตัวอยู่ที่บ้านหรือในสถานที่ที่แต่ละชุมชนจัดเตรียมไว้ให้ เป็นการลดความแออัดของผู้ป่วยในสถานพยาบาล ตลอดจนเป็นการช่วยให้มีเตียงเพียงพอสำหรับให้บริการรักษาผู้ป่วยที่มีความรุนแรง โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยที่แยกกักตัวอยู่ที่บ้านหรือในชุมชนประมาณ 30,000 คน (ข้อมูล กรมควบคุมโรค ณ วันที่7 กันยายน 64) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะให้การช่วยเหลือผู้ป่วยที่แยกกักตัวอยู่ที่บ้านหรือในชุมชน โดยการประเมินอาการและส่งยาที่จำเป็นให้กับผู้ป่วยถึงบ้าน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตามการต้องแยกตัวเองอยู่บ้านคนเดียวเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจเนื่องจากถูกจำกัดบริเวณ จำกัดการกระทำบางอย่าง รวมทั้งขาดการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ทำให้ผู้ป่วยอาจมีความผิดปกติของการนอนหลับ มีความเครียด ความกังวล บางคนมีภาวะซึมเศร้า หมดหวัง หมดกำลังใจ และนำไปสู่การตัดสินใจทำร้ายตัวเองได้
นพ.จุมภฏ กล่าวต่อไปว่าในช่วงที่ต้องแยกกักตัวที่บ้านหรือแยกกักตัวในชุมชน นอกจากการดูแลสุขภาพกายให้ดีแล้ว การดูแลสุขภาพจิตของตนเอง ก็นับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง กรมสุขภาพจิตมีความเป็นห่วงสภาพจิตใจของผู้ป่วยที่ต้องแยกกักตัว เกรงว่าจะเกิดปัญหาสุขภาพจิตดังที่กล่าวมา จึงออกแนวทางการดูแลสุขภาพจิตตนเองสำหรับผู้ป่วย ตลอดจนแนวทางสำหรับเจ้าหน้าที่หรือจิตอาสาให้สามารถนำไปปฏิบัติเพื่อให้ความช่วยเหลือดูแลจิตใจผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม มุ่งหวังให้ผู้ป่วยได้รับคำแนะนำในการดูแลจิตใจตนเองในระหว่างการแยกกักตัวอยู่ที่บ้านหรือในชุมชน เริ่มจากการหมั่นสังเกตและประเมินสุขภาพจิตของตนเอง หากระหว่างที่แยกกักตัว แล้วรู้สึกเครียดมาก มีปัญหาการนอน ท้อแท้ สิ้นหวัง หรือมีความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป ขอให้หากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ความรู้สึก เช่น ออกกำลังกายที่ทำได้ภายในบ้าน ดูหนัง ฟังเพลง หรือโทรศัพท์พูดคุยกับครอบครัว เพื่อน แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นสามารถโทรฯ ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิตที่เบอร์ 1323 หรือทางไลน์ @1323forthai เพื่อขอคำปรึกษาช่วยเหลือเบื้องต้น
ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบทางจิตใจในระหว่างการแยกกักตัว กรมสุขภาพจิตมีข้อแนะนำในการดูแลจิตใจตนเองโดยสามารถทำได้ใน 2 ช่วงด้วยกันได้แก่ 1.ก่อนเริ่มแยกตัวหรือกักตัว ให้ผู้ดูแลหรือตัวผู้ป่วยเองประเมินตามเกณฑ์ 3 ข้อ ดังนี้ 1.1 มีประวัติการรักษาโรคทางจิตเวชมาก่อน หรือไม่ 1.2 มีประวัติติดหรือรักษาด้านสารเสพติด ได้แก่ สุรา กัญชา ยาบ้า เฮโรอีน หรือไม่ 1.3 มีความคิดอยากตายหรือเคยทำร้ายตัวเอง หรือไม่
ถ้ามีข้อใดข้อหนึ่ง ถือว่าไม่เข้าเกณฑ์ในการใช้ระบบแยกกักตัวที่บ้านหรือในชุมชน ให้ใช้ระบบอื่น โดยผู้ป่วยต้องประสานกับเจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุข ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ หรือทีมที่ดูแล
2. เริ่มแยกตัวหรือระหว่างแยกกักตัวที่บ้าน/ชุมชน ให้ยึดหลักการ 3 ข้อ ทำกิจวัตรประจำตามปกติ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เช่น การโทรศัพท์ พูดคุยหรือส่งข้อความ โดยมีรายละเอียดดังนี้ 2.1 ดูแลตัวเองโดยสร้างความปลอดภัย ตามหลักการล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างกับญาติและผู้อยู่อาศัยร่วมบ้าน ต้องใช้เวลาที่ผ่านไปให้มีความหมาย อย่าให้ความกลัว เหงา ครอบงำจิตใจทำให้เราสูญเสียพลัง 2.2 ไม่ควรติดตามข่าวสารเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน รับส่งข่าวสารจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ 2.3 หมั่นออกกำลังกายโดยยืดเหยียด เดินในพื้นที่ที่สามารถเคลื่อนไหวและมีระยะห่างจากผู้อื่น 2.4 วางแผนสิ่งที่อยากทำคร่าว ๆ ใน 14 วัน กิจกรรมที่ควรทำในแต่ละวัน จะทำอะไรบ้างเพื่อเป็นการผ่อนคลาย โดยสามารถเรียนรู้การดูแลสุขภาพใจของตนเอง 2.5 ดูแลจิตใจตนเองโดยการฝึกคลายเครียด ฝึกการหายใจ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การฝึกจิตใจให้สงบเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเผชิญปัญหาและมีผลดีต่อการมีภูมิคุ้มกันโรค การดูแลจิตใจในวิกฤติโควิด-19 ผ่านโปรแกรมออนไลน์สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต 2.6 มีสติรู้เท่าทันสิ่งที่สร้างความเครียดให้กับตนเอง หมั่นสำรวจตนเองถึงการเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติทางอารมณ์และทางร่างกายที่เป็นอาการแสดงถึงความเครียด เช่น หงุดหงิดง่ายขึ้น เศร้าหมองวิตกกังวลมากขึ้น 2.7 ประเมินสุขภาพใจตนเองโดย การค้นหาคำว่า Mental health check in ในโทรศัพท์มือถือ ประเมินอย่างน้อย 1 ครั้งต่ออาทิตย์ ถ้ามีความไม่สบายใจให้อ่านและปฏิบัติตามคำแนะนำภายในโปรแกรม
ถ้าพบว่าตัวเองยังไม่สบายใจมากขึ้น นอนไม่หลับ คิดท้อแท้หรือเศร้ามากขึ้น สามารถโทรฯ ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือปรึกษาผ่านไลน์ @1323forthai เพื่อขอคำปรึกษาช่วยเหลือเบื้องต้น. |
| | |
|
| |
|
pageview 1220038 |
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO) ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th | | |
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved
|
| |