HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 22/08/2555 ]
เตือน..คิดใหม่-ทำใหม่ 'มะเร็งนรีเวช' มัวอายเสี่ยงสายเกิน!

 ใคร ๆ ก็รู้ว่า 'มะเร็ง" สุดอันตราย ใคร ๆ ก็ไม่อยากเป็นมะเร็ง แต่กระนั้น แม้วิทยาการทางการแพทย์จะรุดหน้า แม้ข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์จะมีการเผยแพร่มากกว่าในอดีต มะเร็งก็ยัง 'คร่าชีวิตคนมากมาย"
          เพราะ 'การป้องกันมะเร็ง" ยังไม่เต็มร้อย!!!!!
          จากข้อมูลสถิติในปี 2553 ในไทยมีผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดเข้ารักษาในโรงพยาบาล 269,204 คน ที่มากที่สุดคือมะเร็งลำไส้ใหญ่ 49,409 คน รองลงมาคือมะเร็งท่อน้ำดี 40,373 คน มะเร็งเต้านม 35,654 คน มะเร็งปากมดลูก 22,115 คน มะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์หญิง 15,713 คน โดยมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งทุกชนิด 58,076 คน เป็นชาย 33,659 คน หญิง 24,417 คน ในจำนวนนี้เพราะมะเร็งตับ-ท่อน้ำดีมากสุดคือ 14,008 คน รองลงมาคือมะเร็งหลอดคอ-หลอดลมใหญ่-ปอด 9,310 คน มะเร็งเต้านม 2,515 คน และมะเร็งปากมดลูก 1,746 คน
          มีการคาดการณ์ไว้ว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้าในประเทศไทยจะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ประมาณ 133,767 คน และจะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็ง 84,662 คน โดยที่อัตราส่วนชาย-หญิงใกล้เคียงกัน
          ทั้งนี้ กล่าวสำหรับมะเร็งที่เป็นในผู้หญิง อย่างมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก ในส่วนของ 'มะเร็งปากมดลูก"  มีข้อมูลว่าในปี 2553 มีผู้เสียชีวิตด้วยมะเร็งชนิดนี้เฉลี่ยวันละกว่า 14-15 คน หรือเฉลี่ยปีละกว่า 5,000 คน ซึ่งตัวเลขนี้เฉพาะจากกลุ่มผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งชนิดนี้ประมาณ 10,465 คนเท่านั้น ซึ่งด้วยตัวเลขการเสียชีวิตที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั้น ส่งผลให้หลายหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับโรคมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นสมาคมพยาบาลโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สมาคมมะเร็งอายุรกรรม สมาคมรังสีรักษา สมาคมมะเร็งศัลยกรรม รวมถึงสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย แสดงความห่วงใยเกี่ยวกับภัยมะเร็งชนิดนี้เป็นอย่างมาก
          กล่าวสำหรับสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย ซึ่งดูแลผู้หญิงเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพนรีเวชโดยเฉพาะ ทาง นพ.วิสิทธิ์ สุภัครพงษ์กุล นายกสมาคมฯ ระบุว่า.ปัจจุบันมีผู้หญิงไทยจำนวนมากเสียชีวิตเพราะมะเร็งปากมดลูก โดยสถิติล่าสุดพบว่ามีคนไข้ใหม่ที่เป็นมะเร็งปากมดลูก 9,999-10,465 คน และกว่า 5,000 รายต่อปีที่เสียชีวิต
          หากยังไม่มีการป้องกันดีพอ เชื่อว่าอัตราการเกิดมะเร็งชนิดนี้และการเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้น โดยคาดว่า ในอีก 5 ปี จะมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 17 คน มีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้น 11,526 คน
          "มะเร็งที่เกี่ยวกับนรีเวช มะเร็งปากมดลูก รวมถึงมะเร็งรังไข่ มะเร็งตัวมดลูก เป็นภัยเงียบที่อยู่ในตัวผู้หญิง เพราะกว่ามะเร็งจะแสดงอาการก็มักจะเกินกว่าการรักษาให้หายแล้ว ซึ่งในส่วนของสมาคมเองมีความเป็นห่วงปัญหาสุขภาพของคนไทย จึงเกิดการรวมตัวของบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน ที่มีความรู้ มีประสบการณ์ มาแลกเปลี่ยนทัศนคติกัน".นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย ระบุ พร้อมทั้งยังบอกต่อไปว่า.
          สำหรับมะเร็งปากมดลูกนั้น หลายคนน่าจะพอรู้มาบ้างแล้วว่าเกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี (HPV) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งปากมดลูก โดยเอชพีวีสายพันธุ์ 16 เป็นสาเหตุสูงสุดของการเกิดมะเร็งปากมดลูกถึง 55-60% และสายพันธุ์ 18 พบรองลงมาที่ 10-15% ส่วนสายพันธุ์อื่น ๆ ประมาณ 25-35% โดยปัจจุบันได้มีการศึกษาและมีความเข้าใจเกี่ยวกับระบาดวิทยาและการก่อโรคของเชื้อเอชพีวี ว่าต้องมีการติดเชื้อเอชพีวี 1 แบบเรื้อรังก่อน จึงเกิดโรคก่อนมะเร็งหรือระยะก่อนมะเร็ง (CIN) ก่อนจะเกิดการเป็นมะเร็งตามมา
          ระยะเวลาการติดเชื้อจนเป็นมะเร็งอาจใช้เวลานานถึง 10-15 ปี ดังนั้นวิธีการตรวจมะเร็งว่าเป็นหรือไม่นั้น ควรมีการ 'ตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ" เพราะจะทำให้ตรวจพบและรักษา 'รอยโรคก่อนมะเร็ง" ได้ทันท่วงที ซึ่งเป็นแนวทางที่จะช่วยลดอัตราการเกิด 'มะเร็งปากมดลูก" ลงได้
          นพ.วิสิทธิ์ ระบุอีกว่า.ผู้หญิง 50-60% มีโอกาสติดเชื้อเอชพีวีจากการมีเพศสัมพันธ์ แม้จะมีคู่นอนคนเดียว ผู้หญิงที่อายุ 20 ปีขึ้นไปควรมีการตรวจแพปเสมียร์ (PAP SMEAR) เป็นประจำทุกปี เพื่อหาเชื้อเอชพีวี
          ส่วนวิธีป้องกันอื่น ๆ คือ ฉีด "วัคซีนเอชพีวี" แต่ในไทยหลายฝ่ายยังคัดค้านการใช้ เนื่องจากมองว่าไม่คุ้มค่า ราคาสูงหากเทียบกับการตรวจคัดกรอง ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะองค์การอนามัยโลก รวมถึงประเทศพัฒนาแล้ว ต่างยอมรับการฉีดวัคซีนนี้มาก เพราะสามารถป้องกันได้ถึงประมาณ 70% และป้องกันได้อย่างน้อย 20 ปี โดยสมาคมมะเร็งนรีเวชไทยอยากเสนอให้รัฐบาลพิจารณาบรรจุวัคซีนนี้ในรูปแบบ โปรแกรมภูมิคุ้มกันแห่งชาติ สำหรับเด็กหญิงอายุ 11-12 ปี ซึ่งจะลดการเกิดมะเร็งและลดอัตราการเสียชีวิตลงได้มาก
          รวมไปถึงควรต้องมีการพัฒนาการคัดกรองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีกระบวนการรักษาครบวงจรมากขึ้น จากที่ทุกวันนี้ขั้นตอนการตรวจหาเชื้อมะเร็งค่อนข้างจะยุ่งยาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลในต่างจังหวัด
          อย่างไรก็ตาม เฉพาะหน้าในปัจจุบัน กับสิ่งที่ทำได้เลย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำว่า.ผู้หญิงไทยต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความคิดเกี่ยวกับการ'ตรวจภายใน" เสียใหม่ 'ต้องหาเวลาตรวจ อย่ามัวอาย".
          เพราะอาจทำให้โรคที่แอบเป็นอยู่ลุกลาม
          จนยากที่จะรักษาได้ทันท่วงที!!!!!.


pageview  1210959    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved