HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 22/08/2555 ]
ตักบาตรอย่างไร...ไม่ให้พระอ้วน!!

  สมัยนี้ปัญหาเรื่อง "อ้วน" ไม่ได้จำกัดเฉพาะในชายหนุ่มหญิงสาวอีกต่อไป แต่กำลังเป็นภัยเงียบที่คืบคลานเข้าสู่วงการ "สงฆ์ไทย" ภายหลังสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เปิดเผยผลงานวิจัยเกี่ยวกับ "สุขภาวะพระสงฆ์" ระบุถึง "ขนาดรอบเอว" ของพระสงฆ์ ซึ่งพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างมีขนาดรอบเอวมากกว่า 90 เซนติเมตร ถือว่าเกินมาตรฐานสำหรับชายไทย
          "ดร.พินิจ ลาภธนานนท์" นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของผลงานวิจัยโครงการศึกษาแนวทางการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีของพระภิกษุสงฆ์เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยการสัมภาษณ์พระสงฆ์จำนวน 246 รูป ใน 11 จังหวัดทั่วประเทศ ครอบคลุมทั้งวัดในเขตเมืองใหญ่ ในเขตเมืองขนาดกลาง และในชนบท ได้ข้อสรุปว่า พระสงฆ์ไทยมีปัญหาสุขภาวะทางกาย โดยเฉพาะปัญหาความอ้วน เนื่องจากพบว่าพระสงฆ์ไทยมีเส้นรอบเอวเกิน 90 เซนติเมตรจำนวนมาก คิดเป็นร้อยละ 43 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ในจำนวนนี้ร้อยละ 59.8 ไม่มีโรคประจำตัว ขณะที่ร้อยละ 40.2 มีโรคประจำตัว โดยโรคที่พบว่าเป็นกันมากและมีภาวะเสี่ยง ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และมะเร็ง
          "เมื่อสำรวจไปถึงพฤติกรรมการจำวัด (นอน) พบว่า พระสงฆ์ได้พักผ่อนเฉลี่ย 8-8.4 ชั่วโมงต่อวัน แต่ในกลุ่มพระสังฆาธิการและพระบัณฑิต พบปัญหาพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่วนพฤติกรรมการออกกำลังกาย ร้อยละ 14.6 ไม่ได้ออกกำลังกายเลย ร้อยละ 43.9 ออกกำลังกายประจำหรือทุก 3 วัน โดยส่วนใหญ่เลือกวิธีออกกำลังกายด้วยการ เดินรอบบริเวณวัด ร้อยละ 47.6 กวาดลานวัด ร้อยละ 38.2 และเดินจงกรม ร้อยละ 12.6 นอกจากนี้ในการวิจัยยังพบพระสงฆ์ที่อายุมากยังนิยมสูบบุหรี่ ซึ่งส่งผลเสียโดยตรงต่อสุขภาพ" ดร.พินิจ กล่าว
          เช่นเดียวกับงานวิจัยที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ของ "รศ.ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช" ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้างานวิจัยโครงการสงฆ์ต้นแบบโภชนาดี ชีวียั่งยืน ซึ่งสะท้อนผลลัพธ์เกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาวะความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ไทย ผ่านการสำรวจชีวิตประจำวันของพระสงฆ์ในวัดที่มีชื่อเสียงในเขตกรุงเทพมหานคร แบ่งเป็น วัดนิกายธรรมยุติ และมหานิกาย รวม 4 วัด พบว่ารูปแบบการฉันอาหารของพระสงฆ์ โดยส่วนใหญ่จะเลือกฉันตามความชอบ ในกรณีที่สามารถเลือกได้ ซึ่งในความเป็นจริงอาหารที่ได้รับบิณฑบาตมาจะซ้ำ ๆ กัน เป็นอาหารจำพวกแกงกะทิ ผัดผัก ของทอด ในส่วนของหวานก็เป็นขนมไทย เช่น ครองแครงกะทิ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ฯลฯ แต่ประเด็นที่น่ากังวลที่สุดคือการสำรวจพบความถี่ในการฉันเครื่องดื่มประเภทต่าง ๆ เช่น น้ำชาเขียวบรรจุขวด/กล่อง น้ำผลไม้บรรจุกล่อง น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง และกาแฟสำเร็จรูป ทั้งหมดนี้พระสงฆ์นิยมฉันในปริมาณที่มากเกินกว่าร่างกายต้องการในแต่ละวัน และโดยเฉลี่ยแล้วพระสงฆ์จะดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 กล่อง/ขวด
          "ผลงานวิจัยของเราชี้ให้เห็นแล้วว่า สาเหตุหลักของปัญหาพระสงฆ์อ้วนหรือมีรอบเอวเกินมาตรฐานนั้น เป็นเพราะอาหารที่ฉันเข้าไป ส่วนใหญ่เป็นอาหารรสจัด ขณะเดียวกันพระสงฆ์ยังได้รับน้ำตาลมากเกินความต้องการของร่างกายทุกวัน จากการฉันเครื่องดื่มต่าง ๆ ดังนั้นวิธีการแก้ไขคือการลดอาหารที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ซึ่งตรงนี้คงต้องขอความร่วมมือจากญาติโยมในการถวายอาหารที่มีประโยชน์ เริ่มแรกเลยควรเป็นอาหารที่ปรุงสุกใหม่ แทนการซื้ออาหารถุง เพราะอาหารจากร้านค้าแม้จะทำให้โยมสะดวกแต่พระอาจไม่สบายได้ เนื่องจากเป็นกับข้าวซ้ำ ๆ เน้นปรุงรสจัดเพื่อความอร่อยมากกว่าคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับ นอกจากนั้นควรตักบาตรข้าวกล้องแทนข้าวขาว และเพิ่มผัก ปลา อาหารโปรตีน ให้มากขึ้นด้วย ส่วนการฉัน เครื่องดื่ม ของหวานนั้น จะต้องถวายความรู้ให้พระสงฆ์บริโภคแต่น้อย โดยสามารถดูฉลากข้างกล่องเครื่องดื่มและบริโภคไม่เกิน 300 แคลอรีต่อวัน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงวิธีเบื้องต้นง่าย ๆ ในการดูแลตัวเองสำหรับสงฆ์ไทยเพื่อให้ห่างไกลจากโรค" รศ.ดร.ภญ.จงจิตร กล่าว
          นางมาณี สื่อทรงธรรม หัวหน้าโครงการศูนย์มิตรภาพบำบัด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แนะนำเคล็ดลับง่าย ๆ ที่จะช่วยยับยั้งภัยเงียบเหล่านี้ได้อย่างถาวร นั่นคือการออกกำลังกายตามสมณเพศ แต่ควรทำอย่างมีระเบียบด้วยการจดบันทึกประจำวัน อย่างน้อยในแต่ละวัน ควรปฏิบัติกิจสงฆ์ เช่น กวาดลานวัด บิณฑบาต เดินจงกรม ฯลฯ ให้ได้เป็นเวลา 40 นาที หากทำติดต่อกันจะสร้างภาวะคุ้มกันโรคอ้วนได้ในระดับหนึ่ง ด้านญาติโยมก็มีส่วนช่วยได้มาก ตั้งแต่การเลือกสรรสิ่งดีต่อสุขภาพพระสงฆ์ ควบคู่กับการถวายความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังสามารถประดิษฐ์เครื่องมือเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการทำเครื่องหมายบนรัดประคด ไว้ที่ตำแหน่ง 90 เซนติเมตร เพื่อบ่งบอกขนาดรอบเอวที่เหมาะสมสำหรับพระสงฆ์  สิ่งนี้เป็นกุศโลบายง่าย ๆ แต่ก็ช่วยให้พระสงฆ์คอยหมั่นดูแลรักษารอบเอวหรือดูแลภาวะความอ้วนของตัวเองได้
          ดร.พระมหาสุทิตย์ อาภากโร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพระพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) สัมโมทนียกถา ชี้แนะเคล็ดลับตักบาตรให้ได้บุญโดยไม่ทำร้ายสุขภาพพระสงฆ์ แค่เพียงพุทธศาสนิกชนมีเจตนาที่ดีในการสรรหาอาหารและภัตตาหารบริสุทธิ์มาถวายใส่บาตร โดยอาหารนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นมีราคาแพง หรือเป็นอาหารชื่อสวยหรู เพียงเท่านี้ญาติโยมก็จะได้รับอานิสงส์จากการทำบุญตักบาตรแล้ว
          เทศกาลเข้าพรรษาปีนี้ ลองหันมาปรับพฤติกรรมการตักบาตรทำบุญกันเสียใหม่ เพิ่มความใส่ใจข้าวปลาอาหารที่จะถวายพระสงฆ์กันสักเล็กน้อย ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าหลักการสำคัญของการทำบุญตักบาตรก็เพื่อทำหน้าที่ของชาวพุทธที่ดีในการทำนุบำรุงพระศาสนา ดังนั้นหากเราช่วยกันดูแลสุขภาพพระสงฆ์ไทยก็จะช่วยให้การสืบทอดพระพุทธศาสนาของไทยเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป.


pageview  1210959    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved