HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 27/09/2555 ]
ดูแลสุขภาพหัวใจ ให้ห่างไกลโรค

ข้อมูลจากสมาพันธ์หัวใจโลก ระบุชัด "โรคหัวใจและหลอดเลือด" เป็นสาเหตุที่ทำให้ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตสูงถึงปีละ 17.3 ล้านคนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปี พ.ศ. 2573 จะมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 23 ล้านคนทั่วโลก
          โรคหัวใจและหลอดเลือด สามารถค่อย ๆ พัฒนาและเป็นได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาก่อนคลอด ในแต่ละปีมีจำนวนทารกแรกเกิด 1 ล้านคนทั่วโลก เป็นโรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด
          ทั่วโลกพบโรคหัวใจเป็นสาเหตุการตาย 1 ใน 3 ของผู้หญิง เท่ากับว่ามีคนตาย 1 คนต่อ 1 นาที ซึ่งเป็นความเสี่ยงของผู้หญิงที่จะต้องป้องกันตัวเองและครอบครัวจากโรคหัวใจและหลอดเลือด
          และเพื่อเป็นการรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือด สมาพันธ์หัวใจโลกจึงได้กำหนดให้อาทิตย์สุดท้ายของเดือนกันยายนทุกปีเป็นวันรณรงค์หัวใจโลก
          โดยในปีนี้ได้ใช้แนวคิดเดียวกับปีที่แล้ว คือ "หนึ่งคือหัวใจ อีกหนึ่งนัยคือบ้านเรา ทุกบ้านรวมกันได้ โลกทั้งใบ.ใจเดียวกัน : One World, One home, One Heart"
          สำหรับประเทศไทย โรคในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมีทั้งโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมองใหญ่ หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุข และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในลำดับต้น ๆ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
          จากสถิติสาธารณสุข พบว่า อัตราการเสียชีวิตต่อแสนประชากร โรคความดันโลหิตสูงจาก 3.8 ในปี 2549 เพิ่มเป็น 3.9 ในปี 2553 ส่วนโรคหัวใจขาดเลือด จาก 19.4 ในปี 2549 เพิ่มเป็น 20.5 ในปี 2553 และโรคหลอดเลือดสมองใหญ่ จาก 20.6 ในปี 2549 เพิ่มเป็น 27.5 ในปี 2553
          นพ.ประดับ สุขุม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวในงาน Healthy Heart Thailand ว่า อาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาหารประเภทไขมัน พฤติกรรมการออกกำลังกายที่ลดลง ประกอบกับความเครียดจากหน้าที่การงาน และปัญหาในครอบครัว เป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้คนไทยในปัจจุบันถูกคุกคามด้วยโรคหัวใจมากขึ้น
          "ทันทีที่ไขมันเริ่มสะสมอยู่ในหลอดเลือดหัวใจ จนทำให้หลอดเลือดตีบ และเกิดการอุดตัน คนไข้จะมีอาการแน่นหน้าอก และเหนื่อยง่ายกว่าปกติ ซึ่งหากปล่อยไว้จนเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ ผลที่ตามมาคือ กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ที่ส่งผลร้ายถึงแก่ชีวิต"
          นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือด อาทิ อายุที่เพิ่มขึ้น ภาวะอ้วน โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่เป็นประจำ ตลอดจนปัจจัยทางพันธุกรรม ที่เป็นตัวเร่งทำให้กลายเป็นโรคหัวใจในอนาคต หรือกลายเป็นสาเหตุหลักของอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต จากเส้นเลือดสมองอุดตันตามมาได้
          อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ โรคหัวใจเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ โดยเลือกรับประทานอาหารในสัดส่วนที่เหมาะสม ปริมาณพอดีกับกิจกรรมการใช้พลังงานของแต่ละคน ออกกำลังกายให้เพียงพอ ทำอารมณ์ให้ผ่อนคลาย ไม่สูบบุหรี่ และลดการดื่มสุรา
          และสามารถตรวจหาปัจจัยเสี่ยงของโรคได้ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป อาทิ ตรวจสอบการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจด้วยระบบไฟฟ้า ตรวจเนื้อสมองที่ผิดปกติจากการที่เลือดไปเลี้ยงสมองได้ไม่เพียงพอโดยการตรวจหลอดเลือดที่คอ เพื่อหาความเสี่ยงที่จะเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต
          ในกรณีที่ตรวจพบเส้นเลือดตีบตัน แพทย์จะทำการฉีดสี หรือทำซีทีสแกน (CT-SCAN) เพื่อวางแผนการรักษาด้วยเทคนิคที่ทันสมัย และมีความปลอดภัยสูง เช่น ผ่าตัดบายพาส หรือใช้เทคนิคบอลลูนขยายหลอดเลือด เพื่อแก้ไขเส้นเลือดที่เคยตีบตันให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติอีกครั้ง.


pageview  1210969    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved