|
|
|
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 27/08/2564 ] |
|
|
|
|
ลุ้นปลายก.ย. นร.12-18 ฉีด ไฟเซอร์ |
|
|
|
|
ชุดตรวจ'ไทยรัฐ'ส่งกลุ่มเส้นด้าย
ศปก.ศบค. พิจารณามาตรการผ่อนคลายบางส่วนพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด เปลี่ยนจากจำกัดการเดินทางเป็นหลีกเลี่ยง แต่ยังห้ามออกจากบ้านในเวลา 21.00-04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ส่วนร้านอาหารเปิดให้นั่งได้ 50% แต่ปิดร้าน 2 ทุ่มเหมือนเดิม กับอีกหลายมาตรการเสนอศบค.ชุดใหญ่เคาะคลายล็อกหลังยอดผู้ติดเชื้อชะลอตัว กระทรวงศึกษาธิการเตรียมฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้นักเรียนกว่า 4 ล้านคน ปลายเดือน ก.ย.หลังการเรียนออนไลน์ไม่ประสบความสำเร็จ "ไทยรัฐกรุ๊ป" รับมอบชุดตรวจโควิดเบื้องต้นด้วยน้ำลาย 1 หมื่นชุด จากมูลนิธิบีเจซี บิ๊กซี ส่งต่อกลุ่มเส้นด้ายไปตรวจประชาชน
ถือเป็นข่าวดีของผู้ประกอบการร้านค้า เมื่อศปท.ศบค.พิจารณาผ่อนคลายมาตรการบางอย่างภายหลังจากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เริ่มชะลอลง
ตายยังสูง-ติดเชื้อชะลอตัว
ที่กระทรวงสาธารณสุข ตอนสายวันที่ 26 ส.ค.นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขแถลงถึงมาตรการผ่อนคลายว่า ที่ประชุม ศบค.สธ.ได้หารือถึงสถานการณ์หลังล็อกดาวน์ผ่านไป 4 สัปดาห์กว่าได้รับความร่วมมือดี ทำให้การเคลื่อนที่ของประชาชนลดลง แสดงถึงผลการล็อกดาวน์น่าจะมีประสิทธิภาพแต่ต้องรอดูอีกสักระยะมาจากความร่วมมือของประชาชน ทำให้การติดเชื้อเริ่มลดลงเล็กน้อย ส่วนอัตราการเสียชีวิตยังสูงกว่าคาดการณ์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง สามารถลดได้หากเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มนี้ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งฉีดมี กทม.ที่ฉีดในผู้สูงอายุได้ตามเป้า 90% แต่ต่างจังหวัดยังต่ำ
ชงศบค.ผ่อนปรนกิจการเสี่ยงน้อย
นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า การติดเชื้อรายวันเลยจุดสูงสุดมาแล้วและเริ่มชะลอตัวลง ทั้งใน กทม.ปริมณฑลและต่างจังหวัด จึงจะเสนอศบค.พิจารณามาตรการผ่อนคลายการดำเนินกิจการบางอย่างที่มีความเสี่ยงน้อย พร้อมมีมาตรการควบคุมเน้นกิจกรรมที่สำคัญ เช่น ร้านอาหาร กิจการในห้างสรรพสินค้า กีฬากลางแจ้ง การเดินทางโดยเฉพาะสายการบิน มาตรการที่สำคัญคือ Universal Prevention การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาลเป็นการป้องกันส่วนบุคคลสูงสุดตลอดเวลา สำหรับสถานประกอบการ/กิจกรรมที่จะเปิดกิจการจะต้องยกระดับมาตรการเน้นให้ปลอดภัยและยั่งยืนด้วยหลักการ COVID-Free Setting ร่วมกับ Universal Prevention โดย COVID-Free Setting เป็นมาตรการองค์กรที่ต้องดำเนินการสถานประกอบการต้องควบคุมสภาพแวดล้อมมีระยะห่างระบบระบายอากาศสุขอนามัยสะอาดปลอดภัย ผู้ที่จะเข้าไปไปสถานที่ดังกล่าวถ้าเป็นผู้ให้บริการทุกคนต้องเป็นโควิดฟรี ฉีดวัคซีนครบ2เข็มหรือติดเชื้อพ้นระยะแพร่เชื้อหลัง 1 เดือนไม่เกิน 3 เดือน หรือตรวจเช็กด้วย RT-PCR หรือ ATK ทุก 3 หรือ7 วันและยึดหลัก DMHTT ในการให้บริการ
ลูกค้าใช้บริการต้องฉีด 2 เข็มแล้ว
นพ.เกียรติภูมิกล่าวอีกว่า ส่วนลูกค้าที่ใช้บริการต้องปราศจากเชื้อเช่นกัน ต้องได้รับวัคซีน2เข็มอาจจะมีใบรับรอง ใครอยู่ระบบหมอพร้อมจะมีใบรับรองอยู่ในระบบ หากไม่มีขอที่หน่วยฉีด หรืออาจเป็นบัตรเหลืองชั่วคราว เป็นใบรับรองแพทย์ที่แสดงมีภูมิคุ้มกัน สำหรับผู้ติดเชื้อมากกว่า 1 เดือน ไม่เกิน 3เดือน หรือมีผลตรวจ ATK โดยตรวจเองหรือบางสถานบริการอาจจัดตรวจให้และออกเป็นบัตรเหลืองว่าไม่มีโควิด นำไปใช้ในสถานบริการได้ 1 สัปดาห์ ผู้ใช้บริการต้องปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT เช่นกัน หลังให้เปิดบริการจะมีกิจการต้นแบบเพื่อใช้เป็นมาตรฐานต่อไป จะมีการกำกับติดตามใช้ระบบนี้ให้เกิดความยั่งยืนของกิจการ มีหลายกิจการเสนอเข้าที่จะดำเนินการระบบนี้แล้ว
ชงเปิด 1 ก.ย.เปิดร้านถึง 2 ทุ่ม
ปลัดกระทรวงสาธารณสุ ขกล่าวด้วยว่ามาตรการดังกล่าวจะเสนอ ศบค.พิจารณาวันที่ 27 ส.ค.กำหนดเวลาและความชัดเจนอยู่ที่ ศบค.พิจารณาจะเริ่มใช้วันที่ 1 ก.ย.หรือไม่ รวมถึงข้อเสนอให้ร้านอาหาร จำกัดผู้รับบริการไม่เกิน 50% เปิดให้บริการไม่เกิน 20.00 น. กระทรวงฯ เสนอ ขึ้นอยู่กับ ศบค.ตัดสินกรณีผู้รับบริการไม่สามารถดำเนินตามข้อกำหนด ก็สามารถซื้อกลับได้ทั้งมาตรการต่างๆ ที่เสนอเป็นข้อแนะนำในเบื้องต้นยังไม่ได้บังคับ แต่ต่อไปจะทำให้เป็นมาตรฐานเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ โดยสธ.มีการกำกับประเมินทุกวันและประเมินใหญ่ทุก 2 สัปดาห์ หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นก็ต้องกลับมาเข้มงวดขึ้น ส่วนการปรับสีพื้นที่ขณะนี้ยังไม่มีการเสนอปรับเพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงสถานการณ์ยังมีผู้ติดเชื้อระดับสูงอยู่ แม้จะมีแนวโน้มดีขึ้นแต่ตัวเลขแต่ละวันยังเป็น 1.7-1.8 หมื่นคน ประชาชนต้องตระหนักว่ายังรุนแรง จึงให้ผ่อนคลายในกิจการเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
ยุโรปรีเซลวัคซีนให้ไทย
นพ.เกียรติภูมิกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมากระทรวงจัดหาวัคซีนเป็นหลักเข้ามาพอสมควร ขณะเดียวกันกระทรวงต่างประเทศพยายามจัดหามาเพิ่ม มีการเจรจากับสหภาพยุโรปเรียกว่าการรีเซลคือการขายต่อเนื่อง จากประเทศดังกล่าวมีวัคซีนที่พอใช้แล้วหรือสั่งมาจำนวนมากเกิน จึงจะจำหน่ายให้ไทยเป็นวัคซีนแอสตราเซเนกา และไฟเซอร์ จำหน่ายให้ได้เดือนละ 2-3 ล้านโดส ในระยะ 4 เดือนข้างหน้า ได้มอบกรมควบคุมโรคพิจารณาจัดซื้อเพื่อสร้างเสริมให้เพียงพอ ทั้งนี้ใน 4 เดือนถัดจากนี้ จะมีวัคซีนเข้ามาฉีดได้ไม่น้อยกว่า 100 ล้านโดส
ศปก.ศบค.ถกคลายล็อก
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่าในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ที่มีพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการ สมช.ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค.เป็นประธานเมื่อวันที่ 26 ส.ค.มีการพิจารณามาตรการผ่อนคลายบางส่วน ตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข นำเสนอต่อที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค.เป็นประธานในวันที่ 27 ส.ค.เวลา 09.30 น. โดยศปก.ศบค.เตรียมเสนอให้ ศบค.ชุดใหญ่พิจารณาผ่อนคลายพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวดหรือพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด เกี่ยวกับการจำกัดการเดินทาง โดยผ่อนคลายเป็นขอความร่วมมือ หรือหลีกเลี่ยงการเดินทาง และยังคงห้ามออกนอกเคหสถานในเวลา 21.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
กินในร้านได้แต่ยังงดสุรา
สำหรับการจัดกิจกรรมเสนอผ่อนคลายการจัดกิจกรรมหรือการรวมคนรวมได้ไม่เกิน 25 คน ร้านอาหารให้บริโภคในร้านได้ตามประเภทร้าน และกำหนดเกณฑ์ผู้รับบริการ ผู้ให้บริการเปิดได้ไม่เกินเวลา 20.00 น.แต่ยังคงงดการจำหน่ายและงดดื่มสุราในร้าน ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า สามารถเปิดบริการได้แบบมีเงื่อนไข โดยเปิดได้ไม่เกินเวลา 20.00 น. ยกเว้นกิจกรรมเสี่ยงบางอย่างที่ยังไม่ให้เปิดบริการ ได้แก่ สถาบันกวดวิชา โรงภาพยนตร์ สปา สวนสนุก สวนน้ำ ฟิตเนส ห้องออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ ห้องประชุมจัดเลี้ยง
เล่นกีฬาต้องขอ คกก.โรคติดต่อ
ในส่วนของร้านเสริมสวย ร้านนวด สถานเสริมความงาม ผ่อนคลายให้เปิดบริการได้ ยกเว้นร้านนวด ที่เปิดได้เฉพาะนวดเท้า สำหรับสถานศึกษาทุกระดับ สถานกวดวิชา ผ่อนคลายให้ใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน ทำกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมากได้ โดยต้องผ่านการเห็นชอบจากกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับความเห็นของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด โดยมีมาตรการกำกับอย่างเคร่งครัด ส่วนสถานที่เล่นกีฬาหรือแข่งขันกีฬาผ่อนคลายให้เปิดบริการได้ประเภทกีฬากลางแจ้งหรือในร่ม ที่เป็นที่โล่งอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีระบบปรับอากาศ การซ้อมของนักกีฬาทีมชาติไทยทุกประเภท โดยผ่านความเห็นชอบและรับทราบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อกทม. โดยเปิดได้ไม่เกิน 20.00 น. สำหรับการจัดการแข่งขัน ต้องจัดโดยไม่มีผู้เข้าชม โดยผู้ที่จะร่วมการแข่งขันต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือ 1 เข็มตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ ขณะที่ผู้จัดการแข่งขันต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
รอที่ประชุมชุดใหญ่เคาะ
สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่สีแดงเรื่องการจำกัดการเดินทางผ่อนคลายเป็นไม่จำกัดการเดินทาง ส่วนเรื่องการจัดกิจกรรม ผ่อนคลายเป็นห้ามรวมคนไม่เกิน 50 คน ขณะที่พื้นที่ควบคุมหรือพื้นที่สีส้มผ่อนคลายเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมรวมคน โดยรวมคนได้ไม่เกิน 100 คน โดยจะให้มีผลวันที่ 1 ก.ย. ขณะที่สถานบริการสถานบันเทิงสถานบริการอื่นในลักษณะที่คล้ายกัน ยังคงปิดบริการในพื้นที่ทุกระดับสีเหมือนเดิม อย่างไรก็ตามสำหรับผลสรุปข้อเสนอดังกล่าวต้องรอความชัดเจนจากมติที่ประชุม ศบค.อีกครั้ง
ตายอีก 229 ติดเชื้อยังทรง
วันเดียวกัน ศบค.รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในไทยว่าพบผู้ติดเชื้อใหม่ 18,501 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 229 ราย เป็นชาย 127 ราย หญิง 102 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป 151 ราย มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่ม โรคเสี่ยง 57 ราย เป็นเด็กอายุ 12 ปี 1 ราย อยู่ที่จ.ชลบุรี มีโรคประจำตัวคือโรคมะเร็งที่ต่อมไพเนียร์ เสียชีวิตที่บ้าน 1 รายอยู่ที่กทม. วันนี้มีผู้เสียชีวิตที่กทม. 71 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ปี 2563 รวม 1,120,869 ราย หายป่วยสะสม 923,621 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 10,314 ราย 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 26 ส.ค.ได้แก่ กทม. 4,178 ราย สมุทรปราการ 1,887 ราย สมุทรสาคร 982 ราย ชลบุรี 973 ราย นครราชสีมา 693 ราย นนทบุรี 504 ราย ราชบุรี 493 ราย ระยอง 472 ราย ฉะเชิงเทรา 459 ราย บุรีรัมย์ 432 ราย เมื่อวันที่ 25 ส.ค.มีการตรวจแบบ ATK พบผลบวกทั่วประเทศ 2,339 ราย ยังไม่ได้นำมารวมกับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ของวันที่ 26 ส.ค.เนื่องจากต้องการตรวจยืนยันผลด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้ง
คนหายป่วยมากกว่าป่วยใหม่
ด้านนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า ขณะนี้จำนวนคนหายป่วยมีมากกว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มมากขึ้น แต่ละจังหวัดมีการบริหารจัดการที่เบ็ดเสร็จสามารถขยายเตียงไปยังโรงพยาบาลชุมชนได้ ทำให้ต่างจังหวัดไม่ค่อยเป็นปัญหา สำหรับเตียงในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีการดำเนินการทั้งการแยกกักตัวที่บ้านหรือ Home Isolation ที่ระบบค่อนข้างราบรื่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เข้ามาช่วยด้านการจัดหาอุปกรณ์จำเป็นสำหรับการกักตัว ส่งอาหารทุกวัน และจัดหายาให้ตามความจำเป็น
ประเมินนำผู้ป่วยสีแดงเข้า รพ.
"แม้ว่าสถานการณ์เตียงสีเหลืองและแดงจะดีขึ้น แต่พบว่าผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่กักตัวที่บ้านแต่อาการมากขึ้นกลายเป็นกลุ่มสีเหลือง จำเป็นต้องได้รับออกซิเจน บางส่วนปฏิเสธที่จะเข้าโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยระยะสุดท้าย เช่น โรคมะเร็ง ทำพินัยกรรมชีวิตไว้ว่าไม่ไปโรงพยาบาลขอให้ลูกหลานดูแลในช่วงสุดท้ายของชีวิต แต่ติดโควิดและขอเสียชีวิตที่บ้าน แต่ถูกชุมชนบังคับให้ไปโรงพยาบาล สุดท้ายผู้ป่วยรายนี้ต้องเสียชีวิตที่โรงพยาบาล โดยที่ลูกหลานไม่ได้ดูแล เมื่อเสียชีวิตด้วยโควิดต้องรีบฌาปนกิจทันที เป็นจุดที่เจ็บปวดของญาติ คิดว่าการจะนำผู้ป่วยกลุ่มสีแดงมาโรงพยาบาลคงต้องประเมินทุกด้าน เพราะบางคนอยากอยู่บ้านในระยะสุดท้ายของชีวิต" นพ.สมศักดิ์กล่าว
ศธ.วางแผนฉีดไฟเซอร์นร.
ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามสด น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ การฉีดวัคซีนโควิดให้นักเรียนจะดำเนินการเมื่อใด ทุกวันนี้เปิดเรียนไม่ได้ การเรียนออนไลน์ไม่ประสบความสำเร็จ กระทรวงศึกษาธิการมีงบฯ ซื้อวัคซีนฉีดให้นักเรียนโดยเฉพาะหรือไม่ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการชี้แจงแทนว่าครูและบุคลากรการศึกษามีเกือบ 9 แสนคน ยอดล่าสุดวันที่ 26 ส.ค.ฉีดวัคซีนให้ครูและบุคลากรการศึกษาไปเกือบ 6 แสนคน เหลืออยู่ 3.2 แสนคน ยังไม่ได้วัคซีนส่วนนักเรียนอายุ 12-18 ปี กว่า 4 ล้านคน แม้ศธ.ไม่ได้ตั้งงบฯ ซื้อวัคซีนฉีดให้เด็กนักเรียน แต่ประสานกระทรวงสาธารณสุขว่าทันทีที่วัคซีนไฟเซอร์ที่ฉีดให้เด็กและเยาวชนอายุ 12-18 ปี เข้ามาปลายเดือนก.ย. 2-3 ล้านโดส เมื่อเข้ามาถึงจะวางแผนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระจายวัคซีนฉีดให้นักเรียนกว่า 4 ล้านคนโดยเร็วที่สุด คาดว่าใช้เวลา 1 เดือนกว่า ถึงจะฉีดได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ เพื่อเปิดโรงเรียนได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความปลอดภัยช่วงนั้นๆ ว่าจะเปิดเรียนได้หรือไม่
ไทยรัฐกรุ๊ปรับมอบชุดตรวจน้ำลาย
ในส่วนโครงการดีๆ เพื่อสังคมหลังจากไทยรัฐกรุ๊ปและพันธมิตร เริ่มโครงการ "ปฏิบัติการไทยรัฐ ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ตรวจหาเชื้อ" ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค.มีพันธมิตรและประชาชนมอบเงินสนับสนุนรวม 32,866,042 บาท และไทยรัฐนำเงินสนับสนุนไปซื้อชุดแรพิดเทสต์ตรวจเชื้อโควิด-19 เบื้องต้น 194,500 ชุดตรวจ วันที่ 26 ส.ค.ได้รับมอบชุดตรวจเชื้อโควิด-19 เบื้องต้นด้วยน้ำลาย 10,000 ชุดตรวจ จากมูลนิธิบีเจซี บิ๊กซี รวมแล้วได้รับชุดตรวจจากพันธมิตรและส่งมอบแล้ว 204,500 ชุดตรวจ
ส่งต่อกลุ่มเส้นด้ายไปช่วย ปชช.
นายวัชร วัชรพล เจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มสายงานการบริหารส่วนกลาง ไทยรัฐกรุ๊ปเปิดเผยว่า ชุดตรวจด้วยน้ำลาย 10,000 ชุด จากมูลนิธิบีเจซี บิ๊กซี ได้ส่งมอบให้กลุ่มเส้นด้ายจิตอาสา สู้โควิด-19 ที่ไทยรัฐประสานขอความร่วมมือ เมื่อได้รับการติดต่อจากผู้ป่วยติดเชื้อที่ต้องการความช่วยเหลือในการหาเตีย งและรับการช่วยเหลือเบื้องต้น ขอเป็นตัวแทนไทยรัฐกรุ๊ปและพันธมิตร ขอบคุณกลุ่มเส้นด้ายที่ทำงานจิตอาสาด้วยใจ ขอบคุณแพทย์พยาบาลบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องเหน็ดเหนื่อย ทุ่มเทอย่างหนัก เพื่อฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน พันธมิตรภาคเอกชนและประชาชนที่ต้องการสนับสนุนเงินผ่านโครงการ "ปฏิบัติการไทยรัฐ ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ตรวจหาเชื้อ" สามารถโอนเงินสนับสนุนโครงการมาได้ที่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) สาขาถนนวิภาวดีรังสิต บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 196-3-06656-6 ชื่อบัญชี: ไทยรัฐร่วมฝ่าวิกฤติโควิด-19 ไทยรัฐกรุ๊ปขอขอบคุณพันธมิตรภาคเอกชนทุกราย และประชาชนที่ร่วมโอนเงินสนับสนุนเข้ามาให้โครงการนี้ได้บรรลุถึงเป้าหมาย
สมุทรสาครติดเชื้อต่ำกว่าพันวันแรก
ที่ จ.สมุทรสาคร นับเป็นข่าวดีในรอบหลายสัปดาห์เมื่อพบผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงจากจำนวนวันละเกือบ 2 พันราย เหลือเพียง 982 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตเพิ่มมี 15 ราย นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผวจ.สมุทรสาคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า มีเรื่องราวมากมายอยากพูดถึงตรวจ ATK เชิงรุกในตลาดสด ตลาดนัด วอล์กอินฉีดวัคซีนได้เมื่อไหร่ อเมริการับรองไฟเซอร์แล้ว ถ้าไทยอนุญาตจะขอให้ท้องถิ่นต่างๆ สั่งมาให้คนสมุทรสาครได้ฉีดกันบ้าง ฯลฯ แต่ทั้งหมดจุกในลำคอพูดไม่ออก เช้ามีคนส่งของกินมาให้ บอกไว้บำรุงร่างกาย ก่อนไปอ่างทองขึ้นศาลากลางมีขนมมาให้ที่ห้อง พร้อมจดหมายน้อยขอบคุณที่ทุ่มเทดูแลสมุทรสาครมาตลอด เปิดเพจดูเห็นโพสต์หลายโพสต์เช่นนี้ อีกผมยังไม่ได้ไปไหนผมยังต้องทำตัวเลขผู้ติดเชื้อให้ต่ำกว่า 1,000 ผมยังมีโรงงานที่ต้องดู FAI อีกหลายที่ วันนี้ผมยังเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครครับ
กทม.เตรียมฉีดวัคซีนถึงบ้าน
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.เผยภาพรวมการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ของกทม. ว่าปัจจุบันพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้ป่วยโควิด-19 ใหม่ 3,000-4,000 รายต่อวัน ซึ่งลดน้อยลง คาดว่าจำนวนผู้ป่วยจะลดลงอย่างช้าๆ เนื่องจากมาตรการควบคุมปัจจัยการระบาดของโรคที่เข้มข้น การให้บริการวัคซีนครอบคลุมมากขึ้น รวมทั้งการตรวจเชิงรุกในชุมชนด้วยชุดตรวจ ATK ประชากรในพื้นที่ประมาณ 7.7 ล้านคน มีผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 รวม 6,717,824 คน เข็มที่ 2 รวม1,591,453 คน กทม.เตรียมเปิดบริการฉีดวัคซีนเชิงรุกด้วยรถวัคซีนถึงบ้าน นำร่อง 1 คัน อำนวยความสะดวกให้ประชาชน ลดการเดินทางและลดความเสี่ยงจากการใช้บริการรถสาธารณะ คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ภายในสัปดาห์หน้า
ตายโควิดคาบ้านยังมีอยู่
ขณะเดียวกันยังมีผู้เสียชีวิตจากโควิดคาบ้าน โดยวันที่ 26 ส.ค. พนักงานสอบสวน สน.สามเสน ไปสอบสวนเหตุชายสูงอายุเสียชีวิตเข้าข่ายสุ่มเสี่ยงติดโควิด-19 ที่บ้านเช่า 2 ชั้น เลขที่ 15 ซอยข้างวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร ถนนศรีอยุธยา แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต โดยมีเจ้าหน้าที่มูลนิธิไปร่วมเก็บศพ พบชายอายุ 70 ปี ไม่ทราบชื่อ นอนเสียชีวิตในบ้าน แพทย์ตรวจด้วย ATK ผลเป็นบวกคาดติดโควิดเสียชีวิต ผู้เสียชีวิตทำงานรับเหมาก่อสร้าง เช่าอาศัยห้องดังกล่าวอยู่กับภรรยา อายุประมาณ 40 ปี ก่อนเกิดเหตุผู้ตายแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ไข้ขึ้นสูงมาหลายวัน ที่ผ่านมาผู้ตายและภรรยายังไม่ได้ฉีดวัคซีน หลังเกิดเหตุภรรยาผู้ตายได้หายตัวไป ถือเป็นบุคคลเข้าข่ายสุ่มเสี่ยงติดโควิด-19 เจ้าหน้าที่เร่งติดตามตัวมาตรวจคัดกรองเชื้อ |
| | |
|
| |