วันนี้มีบทความน่าสนใจจากนิตยสารคิด Creative Thailand ของ TCDC ศูนย์สร้างสรรคค์งานออกแบบ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ฉบับเดือนพฤษภาคม เกี่ยวกับเรื่องรถรามาถ่ายทอดต่อครับ
บทความหน้าสุดท้ายของนิตยสาร "คิด" ฉบับนี้ เป็นคอลัมน์ CREATIVE WILL คิดทำดีเรื่อง New Car Smell กลิ่นรถใหม่เตือนภัยใกล้ตัว โดยคุณณัชชา พัชรเวทิน
"ร้อยละ 86 ของผู้บริโภคเสพติดกับกลิ่นรถใหม่ New Car Smell โดยไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ว กลิ่นรถใหม่ที่ว่านั้น คือเคมีภัณฑ์ที่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าที่คีด
"จากการสำรวจรถยนต์ที่ขายดีที่สุดในปี 2011-2012 มากกว่า 200 รุ่น Jeff Gearheart ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยของศูนย์นิเวศวิทยา Ecology Center กล่าวว่า สารเคมีและสารพิษนับร้อยที่ปล่อยออกมาและรวมตัวกันอยู่ในพื้นที่แคบๆของรถยนต์ มาจากวัสดุของส่วนประกอบต่างๆภายใน เช่น พวงมาลัย แผงหน้ารถ ที่วางแขน และเบาะที่นั่ง โดยเมื่อสารเหล่านี้ออกมารวมกันแล้ว จะทำให้เกิดกลิ่น "รถใหม่" ที่คุ้นเคย และกลิ่นสังเคราะห์นี้เองที่เป็นอันตรายต่อร่างกายในระยะยาว" สารพิษเหล่านี้ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุม ผู้ใช้เองจึงไม่อาจรู้ถึงอันตรายของสารพิษเหล่านี้ โดยการทดสอบของเรานั้นตั้งใจที่จะให้ทุกคนตระหนักถึงอันตรายนี้ และกระตุ้นให้ผู้ผลิตรถยนต์เปลี่ยนไปใช้วัดุอื่นที่ปลอดภัยกว่าแทน
"สารเคมีและสารพิษในรถยนต์ที่น่าเป็นห่วง ได้แก่ โบรมีน คลอรีนที่พบได้ในพลาสติก และพีวีซี สารตะกั่ว และโลหะหนัก โดยสารเหล่านี้อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่น ภูมิแพ้ มะเร็ง ตับเป็นพิษ
"จากการที่ศูนย์นิเวศวิทยาออกมากล่าวเตือน โดยเสนอเป็นรายงานเพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปตรวจสอบปริมาณสารพิษจากรถยนต์แต่ละรุ่นได้ที่ healthystuff.org นี้ส่งผลดีให้ผู้ผลิตรถยนต์หลายายหันมาใส่ใจสุขภาพของผู้ใช้รถมากขึ้น และพยายามลดการใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดสารพิษ ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์หลายรายได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง และรถยนต์หลายรุ่นเลิกใช้พีวีซีเป็นส่วนประกอบของรถยนต์ และกว่าร้อยละ 60 ของรถยนต์ในปัจจุบันเลิกใช้สารโบรมีนแล้ว
"แม้จะเป็นเพียงก้าวเล็กๆ สำหรับความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน แต่การเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ของศูนย์นิเวศวิทยาทำให้หลายๆฝ่ายหันมาใส่ใจคุณภาพชีวิตของผู้ใช้รถและประโยชน์ส่วนรวมมากขึ้น ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นรถปลอดสารพิษที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายจากผู้ประกอบการที่ใส่ใจผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นก็เป็นได้"
เรื่องนี้ท่านผู้อ่านคงจะคิดเหมือนผม คือ อยากให้หน่วยงานหรือองค์กรในบ้านเราทำการศึกษาแบบนี้บ้าง เพราะปัญหานี้น่าจะมีในบ้านเราเหมือนกัน เพียงแต่เรายังไม่รู้.