HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 27/03/2555 ]
สกู๊ปหน้า1: ไฟเขียวราชการชายลาช่วยเมียเลี้ยงลูก

พ.ศ. 2534 เป็นช่วงที่กระแสสิทธิสตรีกำลังแรงสิทธิการลาคลอดได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อ ดร.สายสุรี จุติกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯในขณะนั้น สามารถผลักดันจนข้าราชการหญิงสามารถลาคลอดเพื่อไปเลี้ยงดูบุตรเป็นเวลา 90 วันได้สำเร็จ
          โดยยังคงได้รับเงินเดือนเต็ม และได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือนปกติตามกฎของ ก.พ.
          ต่อมาสิทธิดังกล่าวได้ขยายวงไปยังสตรีที่ทำงานในภาคเอกชนในลักษณะคล้ายคลึง โดยให้สามารถใช้สิทธิลาคลอดและหยุดงานเพื่อเลี้ยงลูก และยังคงได้รับเงินเดือนระยะหนึ่ง ตามเงื่อนไขในกฎหมายประกันสังคม
          การที่ผู้เป็นแม่ได้สิทธิลาหยุดเพื่อเลี้ยงดูบุตรด้วยน้ำนมของตนเอง ภายใต้สายสัมพันธ์อันแนบชิดระหว่างมารดากับทารก ในช่วงหัวเลี้ยวแรกของชีวิต ในทางการแพทย์เชื่อว่า เป็นย่างก้าวสำคัญนำไปสู่พัฒนาการของเด็กที่มีคุณภาพในวันข้างหน้า
          นับจากวันแรกที่หญิงไทยได้รับสิทธิลาคลอดเพื่อเลี้ยงลูกได้เต็มที่ จนถึงวันนี้ระยะเวลาห่างกันเกือบ 21 ปี ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2555 ได้อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน ฉบับที่...พ.ศ. ...โดยหนึ่งในสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว ระบุว่า
          ให้ข้าราชการ และลูกจ้างของส่วนราชการที่เป็น ชาย สามารถลาไปช่วยเหลือภรรยาของตนที่คลอดบุตร และอยู่ช่วยเลี้ยงดูบุตร มีสิทธิได้รับเงินเดือนในระหว่างที่ลาได้ ไม่เกิน 15 วันทำการ
          โดยมีเงื่อนไข ต้องเป็นการลาภายใน 30 วันแรก นับแต่วันที่ภรรยาคลอดบุตรเท่านั้น จึงจะมีสิทธิได้รับเงินเดือนในระหว่างที่ลา
          หากเป็นการลาไปช่วยเหลือภรรยาที่คลอดบุตร หลังจากพ้น 30 วันแรก นับแต่ภรรยาได้คลอดบุตร จะมีสิทธิได้รับเงินเดือนในระหว่างลาด้วยหรือไม่ ให้เป็นไปตามที่ผู้บังคับบัญชาระดับตั้งแต่อธิบดี หรือตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไป เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้พิจารณา
          ส่วนข้าราชการที่ขอ ลากิจส่วนตัว เพื่อเลี้ยงดูบุตร จะไม่ได้รับเงินเดือนในระหว่างลา
          อ่านถึงตรงนี้ บางคนอาจเกิดความสงสัยเหตุใดกฎหมายจึงเปิดกว้างให้โอกาสทั้งสามีและภรรยาที่เป็นข้าราชการ สามารถลาคลอดและลาช่วยภรรยาเลี้ยงลูกในช่วงแรกคลอดได้เต็มที่ มีเหตุผลความจำเป็นอันใดจึงเปิดกว้างถึงขนาดนี้ รวมทั้งในอนาคตระบบราชการไทยจะไม่เกิดปัญหาขาดแคลนคนทำงานหรือ
          สำหรับประเด็นเหตุผลความจำเป็นที่สนับสนุนมารดาผู้คลอดบุตรให้สมควรได้รับสิทธิลาคลอดเพื่ออยู่เลี้ยงดูบุตรนั้น นพ.วิชัย เจริญพานิช อดีตอาจารย์แพทย์ประจำหน่วยพยาธิวิทยา และมะเร็งสูตินรีเวช ภาควิชาสูตินรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้เคยให้เหตุผลที่น่ารับฟังไว้ว่า
          การตั้งครรภ์และการคลอดถือเป็นความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์
          “การตั้งครรภ์และคลอดลูก ไม่ใช่แค่การให้กำเนิดชีวิตใหม่ แต่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายในร่างกายผู้เป็นมารดา ทั้งการเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นที่สมอง หัวใจ ไต กล้ามเนื้อ เอ็น กระดูก เลือด มดลูก ช่องคลอด หรือแม้กระทั่งจิตใจและความรู้สึกนึกคิด การจะทำให้ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพเหล่านี้ กลับคืนสู่ภาวะปกติเหมือนตอนก่อนตั้งครรภ์ นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม”
          คุณหมอวิชัยยกตัวอย่างขยายความ ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่สำคัญ เช่น มดลูกจะโตขึ้น หนักขึ้น และมีความจุมากขึ้น จากที่มีน้ำหนักเพียง 100 กรัมในยามปกติ เมื่อตั้งครรภ์จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 กรัม จากความจุเพียงแค่ 10 มิลลิลิตร จะเพิ่มเป็น 1,000 มิลลิลิตร หรือมากกว่านั้น
          นอกจากนี้ยังต้องต่อสู้กับปัญหาเต้านมโต ช่องคลอดยืด เอ็นและข้อต่างๆยืด ทำให้กล้ามเนื้อและเอ็นต้องทำงานหนักขึ้น ข้อที่ยืดออกจะถูกดึงรั้งให้อยู่ในสภาพที่ผิดปกติ นานวันเข้าจะทำให้เกิดอาการปวดหลัง ปวดเอว และปวดอุ้งเชิงกรานเรื้อรังได้ หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี
          คุณหมอวิชัยบอกว่า นอกจากนี้ยังมีความเปลี่ยนแปลงที่มองไม่เห็น เริ่มจากหัวใจของหญิงที่ตั้งครรภ์จะทำงานหนักขึ้นประมาณเท่าตัว เนื่องจากไม่เพียงต้องสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงชีวิตตัวเอง หัวใจยังต้องรับบทหนักสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงชีวิตใหม่อีกชีวิต ปริมาณเลือดในร่างกายจึงเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 20-40 ทำให้ชีพจรเต้นเร็วขึ้น มารดาที่เคยมีอาการหัวใจไม่ดีมาก่อน จึงอาจหัวใจวายในขณะตั้งท้องได้
          ถัดมาในแง่ของจิตใจหรือสุขภาพจิต พบว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตั้งแต่ในช่วงแรกๆที่มีอาการแพ้ท้อง การที่สรีระร่างกายเปลี่ยนแปลงไป รูปร่างอุ้ยอ้ายขึ้น ทำงานได้ไม่ดีเท่าเดิม ขาดความเชื่อมั่นเพราะรูปร่างเปลี่ยนไปไม่สวยดังเดิม ช่วงนี้มารดาหลายคนมักจะเบื่อๆอยากๆที่จะมีบุตร บางรายถึงกับคิดทำแท้ง
          แต่เมื่ออายุครรภ์ย่างเข้าสู่เดือนที่ 2-4 ไปแล้ว เริ่มหายแพ้ท้องร่างกายเหมือนยอมรับสภาพมากขึ้น จึงเริ่มมีความวาดหวังขึ้นบ้าง กระทั่งเมื่อท้องแก่ใกล้คลอด สุขภาพจิตที่เคยดีอาจเริ่มเปลี่ยนกลับไปเป็นเครียด สับสน และซึมเศร้าขึ้นมาอีกครั้ง เพราะเริ่มกังวลต่างๆนานาว่า ทารกที่คลอดออกมาจะปกติหรือพิการ การดูแลหลังคลอดจะทำอย่างไร จะมีใครช่วยเหลือเลี้ยงดูหรือไม่ รวมไปถึงหน้าที่การงานที่ค้างคาอยู่จะจัดการอย่างไร เป็นต้น
          คุณหมอวิชัยยังแสดงความเห็นไว้ว่า นอกจากเขาจะเห็นด้วยกับข้อเสนอให้สตรีควรมีสิทธิลาคลอดได้ 90 วัน ยังควรให้มีการลาพักช่วงก่อนคลอดได้ระยะหนึ่ง และเมื่อคลอดลูกออกมาแล้ว ควรให้พ่อเข้ามามีส่วนช่วยแม่เลี้ยงดูลูก ทารกจึงจะคลอดออกมามีคุณภาพชีวิตที่ดี
          ส่วนเหตุผลสนับสนุนที่สามีสมควรลาหยุดเพื่อช่วยเหลือภรรยาเลี้ยงลูกในช่วงแรกคลอด 15 วันแรก ภายใต้การผลักดันของ นายสง่า ดามาพงษ์ ประธานสื่อสารการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหัวหอกผลักดันให้ผู้ชายมีสิทธิลาคลอดตามภรรยาได้สำเร็จนั้น
          อาจารย์สง่า อดีตข้าราชการระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุข บอกอย่างเชื่อมั่นว่า เมื่อมติ ครม.ดังกล่าวตราออกมาเป็นกฎหมาย เขามั่นใจว่า การรณรงค์ให้เลี้ยงดูลูกด้วยน้ำนมแม่จะไม่ล้มเหลวอีกต่อไป
          เพราะเมื่อผู้เป็นแม่ไม่ต้องกังวล หรือเครียดจากการทำงานบ้าน  ต้องดูแลตัวเองไปพร้อมกับดูแลลูกน้อย เช่น ซักผ้าอ้อม ทำครัว  การที่ฝ่ายชายสามารถเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระส่วนนี้ไปได้  ย่อมทำให้ความเครียดในการเลี้ยงดูลูกลดลง  ส่งผลให้มีปริมาณน้ำนมมากขึ้นและไหลดีขึ้น  ซึ่งเป็นผลดีต่อการนำไปใช้เลี้ยงบุตรที่เป็นทารก
          สอดคล้องกับที่  นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้แสดงความเห็นไว้ว่าการให้สิทธิข้าราชการชายสามารถลาหยุด 15 วัน หลังจากภรรยาคลอดบุตร ถือเป็นนิมิตหมายที่ดียิ่งต่อสถาบันครอบครัวไทย เพราะนอกจากผู้เป็นภรรยาจะได้รับขวัญและกำลังใจในการร่วมกันเลี้ยงดูบุตรจากสามียังทำให้ภรรยามีสุขภาพจิตดี หรือไม่เครียดหลังคลอด
          นอกจากนี้ ความใกล้ชิดที่เกิดขึ้นในระหว่างที่พ่อได้ดูแลลูกเมื่อแรกคลอด ยังช่วยส่งเสริมให้ความเป็นพ่อ ซึมซับอยู่ในฝ่ายชาย ทำนองเดียวกับที่ความเป็นแม่ ซึมซับอยู่ในฝ่ายหญิงด้วย
          คุณหมอสุริยเดวมองว่า ประโยชน์นอกเหนือจากการที่ผู้เป็นพ่อ ทำหน้าที่และมีความรับผิดชอบในการเลี้ยงดูลูก ช่วยแบ่งเบาภาระทั้งทางร่างกายและจิตใจจากผู้เป็นแม่ ยังทำให้สัมพันธภาพโดยรวมในครอบครัวดีขึ้น และน่าจะส่งผลให้อัตราการหย่าร้างในสังคมไทยลดลงตามมาด้วย
          มติ ครม.ที่ออกมาล่าสุด ไม่เพียงถือเป็นชัยชนะที่งดงามของเครือข่ายรณรงค์ให้เลี้ยงดูลูกด้วยน้ำนมแม่เท่านั้น แต่ยังถือเป็นชัยชนะของ “เด็กวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” ผู้เป็นอนาคตของชาติทุกคนด้วย.


pageview  1210899    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved