HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 24/04/2555 ]
ค้นพบ"โลดทะนงแดง"สมุนไพรแก้พิษงูเห่า

แพทย์แผนไทยสร้างชื่อกระฉ่อนอีกแล้วโดยคณะแทพย์ รพ.กาบเชิงเมืองช้างสุรินทร์ ค้นพบพืชสมุนไพรท้องถิ่นนำมาสกัดเป็นตำรับยาสมุนไพร "โลดทะนงแดง" ใช้รักษาผู้ป่วยที่ถูกงูเห่ากัดโดยไม่ต้องใช้เซรุ่นฉีดแก้พิษงู ยันใช้รักษามากกว่า 100 ราย ได้ผลเยี่ยม รมช.สาธารธณสุขเตรียมผลักดันให้ผลิตเป็นตำรับยาและบรรจุเข้าเป็นบัญชียาหลักแห่งชาติ
          แพทย์แผนไทยโชว์ผลงานสุดเจ๋งผลิตยาสมุนไพรแก้พิษงูเห่าโดยไม่พึ่งเซรุ่มได้ผลดีเยี่ยมครั้งนี้เปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 22 เม.ย. โดย นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยม รพ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ว่า รพ.กาบเชิง เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง ที่อยู่ติดชายแดนไทย-กัมพูชา จุดเด่นของ รพ.กาบเชิง คือเปิดรักษาพยาบาลด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกแก่ประชาชน ควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยเป็นแหล่งผลิตยาสมุนไพรแห่งใหญ่ที่สุดของ จ.สุรินทร์ สามารถผลิตสมุนไพรได้ทั้งสิ้น 46 ตำรับ เช่น รักษาอาการไข้ ปวดเมื่อยรักษาโรคกระเพาะอาหาร โรคริดสีดวงทวาร ปัจจุบันโรงงานผลิตสมุนไพรที่นี่มีมูลค่าการผลิตประมาณ 2 ล้านบาทต่อปี
          นพ.สุรวิทย์กล่าวอีกว่า ที่น่าสนใจมากที่สุดก็คือ 1 ใน 46 ตำรับยาสมุนไพรที่ทางโรงพยาบาลค้นพบคืบ ตำรับ "ยาโลดทะนงแดงแก้พิษงูเห่า" และใช้รักษาพิษแมลงสัตว์กัดต่อย ซึ่งผู้ที่ถูกงูเห่ากัดจะมีอาการตาปรือหนังตาตก สายตาพร่า ง่วงหายใจลำบากกลืนลำบากและพูดไม่ชัด รายที่รุนแรงอาจหยุดหายใจหมดสติ และเสียชีวิตได้ จากการที่ทางโรงพยาบาลนำตำรับยาสมุนไพรนี้มารักษาผู้ป่วยที่ถูกงูเห่ากัดพบว่าได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ และได้รับการยอมรับจากกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แต่การใช้สมุนไพรตัวนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย เนื่องจากสมุนไพรโลดทะนงแดง เป็นพืชสมุนไพรที่ขึ้นเองตามธรรมชาติจึงมีวัตถุดิบน้อย
          "สำหรับสมุนไพรโลดทะนงแดงนี้ ชาวบ้านเรียกกันว่าหนวดคำ นางแซง ตู่เตี้ย ตู่เย็น ข้าวเย็น-เหนือ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 0.5-1.5 เมตรพบมากในป่าตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก เขตชายแดนไทย-กัมพูชา และพบทั่วไปในหลายภาคของประเทศ ทั้งนี้จากการที่ตำรับยาโลดทะนงแดงแก้พิษงู แมลงสัตว์กัดต่อย เป็นที่ยอมรับของประชาชนในพื้นที่และได้ผลดีจึงมีนโยบายให้รพ.กาบเชิงทำการศึกษาวิจัยสมุนไพรชนิดนี้เพิ่มเติม เพื่อหาสรรพคุณที่อาจจะมีอยู่อีก พร้อมทั้งประสานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อศึกษาวิจัยวิธีการเพราะปลูกให้ได้คุณภาพ ซึ่งจะทำให้มีวัตถุดิบอย่างเพียงพอในการผลิตเป็นตำรับยา นำเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติใช้รักษาผู้ป่วยที่อื่นๆได้ด้วย" รมช.สาธารณสุขสรุป
          ด้าน พ.ต.นพ.ศตวรรษ สินประสิทธิ์กุล ผอ.รพ.กาบเชิง กล่าวเสริมว่า รพ.กาบเชิงได้นำตำรับยาโลดทะนงแดงมารักษาผู้ป่วยถูกงูพิษกัดตั้งแต่ปี 2526 ซึ่งเป็นสูตรของหมอพื้นบ้าน ส่วนที่นำมาใช้เป็นยาคือส่วนราก มีผลยับยั้งประสิทธิภาพการทำงานของพิษงูเห่า โดยจะนำรากมาฝนและใช้ร่วมกับผงบดของผลหมากสุกที่แห้งแล้วแล้วนำมาผสมน้ำมะนาวและพอทีแผลงูกัด ส่วนที่เหลือก็นำมาผสมน้ำให้ผู้ป่วยดื่มเพื่อช่วยขับพิษ ล่าสุดทางโรงพยาบาลได้พัฒนาวิธีการใช้ในการรักษาให้สะดวกรวดเร็ว โดยบดรกโลดทะนงแดงเป็นผงแห้งสามารถนำมาผสมกับผงหมากสุกแห้งและน้ำมะนาวใช้ได้ทันทีเมื่อมีผู้ป่วย
          "จนถึงขณะนี้ รพ.กาบเชิงได้ใช้ตำรับยาโลดทะนงแดงรักษาประชาชนที่ถูกงูเห่ากัดประมาณ 80 รายได้ไม่ได้ใช้เซรุ่ม ทุกรายปลอดภัย ไม่มีเสียชีวิตนอกจากนี้มหาวิทยาลัยมหาสารคามยังเคยวิจัยการใช้ตำรับยาโลดทะนงแดง รักษาตำรวจตระเวนชายแดน จ.สุรินทร์ จำนวน 36 นาย ที่ถูกงูเห่ากัด พบว่าได้ผลดีไม่มีการเสียชีวิตแม้แต่รายเดียว ไม่พบผลข้างเคียงไม่ได้ใช้เซรุ่มแก้พิษงูแต่อย่างใด" ผอ.รพ.กาบเชิงกล่าว


pageview  1210909    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved