HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 24/06/2564 ]
ต่อยอดองค์ความรู้สู่การพัฒนาห้องความดันลบ

  ส่งต่อความช่วยเหลือเพื่อผู้ป่วยโควิด-19
          ปัจจุบันที่ประเทศไทยและทั้งโลกยังได้รับผลกระทบจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายให้กับหลายภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่สร้างความโกลาหลอยู่มากพอสมควร โดยเฉพาะในกลุ่มด้านการแพทย์สาธารณสุข
          เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ที่สามารถจะใช้สู้ศึกครั้งนี้ได้ จึงมีความจำเป็นอย่างมาก และเพื่อเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานของบุคลากรทางการแพทย์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงได้ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญทำห้องความดันลบเพื่อใช้เยียวยาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
          ซึ่งห้องความดันลบดังกล่าว หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท. ได้นำความรู้ความสามารถและประสบการณ์ทางวิศวกรรมในการออกแบบ บริหารจัดการจัดทำเตียงความดันลบสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อปรับปรุงห้องพักผู้ป่วยปกติ ให้เป็นห้องพักผู้ป่วยแบบระบบห้องควบคุมความดันลบ ซึ่งได้ส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลศิริราชในท้ายที่สุด
          ต้องทำความเข้าใจร่วมกันก่อนว่าทำไมห้องความดันลบ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 เนื่องจากเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นเกิดจากเชื้อไวรัสในตระกูลโคโรนาไวรัส มีขนาดเล็กมากมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ในการสังเกตไวรัสนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อทางอากาศในการรักษาผู้ป่วย โรงพยาบาลหลายแห่งจึงต้องมีห้องความดันลบ ซึ่งความจริงแล้วห้องความดันลบไม่ได้ใช้เฉพาะสำหรับกรณีโควิด-19 แต่มีการใช้ห้องความดันลบกับโรคที่ติดต่อทางอากาศอื่นๆ ด้วย เช่น โรควัณโรค เป็นต้น
          ขณะที่หลักการทำงานของห้องความดันลบนี้ จำเป็นต้องมีการออกแบบและคำนวณโดยใช้หลักการวิศวกรรมของไหล (Fluid Mechanic) อัตราการไหลของอากาศกับการดูดอากาศออกจากห้องจะต้องสัมพันธ์กัน จนทำให้เกิดเป็นความดันลบภายในห้อง เพื่อควบคุมเชื้อให้อยู่ภายในห้องเท่านั้น ไม่แพร่เชื้อออกไปนอกห้อง ซึ่งจากองค์ความรู้ของ ปตท. ก็สามารถพัฒนาห้องความดันลบ และยังเป็นต้นแบบที่ดีที่จะนำไปต่อยอดให้เกิดการพัฒนาที่กว้างขวางมากขึ้น เพื่อเข้าไปช่วยเหลือโรงพยาบาลหรือสถาบันการแพทย์อื่นๆ ในประเทศได้
          ซึ่งอากาศจะไหลออกได้ทางเดียวคือการดูดจากพัดลมดูดอากาศและผ่านการกรองอากาศคุณภาพสูงที่เรียกว่า HEPA (High-Efficiency Particulate Arrestance) ที่สามารถดักจับอนุภาคขนาดเล็กเพื่อให้มั่นใจว่าอากาศที่ออกไปนอกอาคารจะมีความสะอาดเพียงพอ
          โดยห้องความดันลบที่ ปตท. ทำการปรับปรุงนั้น ออกแบบตามมาตรฐานของสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และผ่านการทดสอบจากหน่วยงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม ของโรงพยาบาลศิริราช ก่อนดำเนินการส่งมอบ และเพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท. ยังได้ปรับปรุงห้องแพทย์และพยาบาลที่อยู่ในชั้นเดียวกันให้เป็นห้องความดันบวกเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน
          โดยสิ่งที่แตกต่างกันก็คือห้องความดันบวกนั้น ความดันอากาศภายในห้องจะมีมากกว่าความดันอากาศภายนอก ฉะนั้นอากาศในห้องจะแพร่ออกไปสู่ภายนอก ประโยชน์ก็คือป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานภายในห้อง อากาศภายนอกที่อาจปนเปื้อนจะไม่สามารถเข้ามาสู่ในห้องความดันบวกได้
          จากความเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์ตลอดเวลาที่ผ่านมา สิ่งสำคัญที่คนทั่วไปในสังคมจะสามารถตอบแทนได้คือจะต้องไม่นำตัวเองเข้าไปอยู่ในจุดเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ได้ รวมถึงต้องหมั่นคอยดูแลรักษาตัวเองอยู่เสมอ และเชื่อว่าจากความช่วยเหลือของหลายๆ หน่วยงานในประเทศ รวมถึง ปตท. ด้วยนั้นจะเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ทุกฝ่ายฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน


pageview  1210872    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved