HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 25/01/2564 ]
ตรวจโควิดเชิงรุก-3ชม.รู้ผลในหลวง-พระราชินีพระราชทานรถวิเคราะห์ด่วนพิเศษ

 ศบค.ย้ำมาตรการเข้มสิ้นม.ค.การ์ดไม่ตกมีลุ้นข่าวดีต้นก.พ.สมุทรสาครติดเชื้ออีก148รายยอดยังไม่นิ่งอย่าเพิ่งไว้วางใจ
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทาน "รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ" ต้นแบบ ให้ใช้งานคู่กับรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยฯในภารกิจค้นหาเชิงรุกแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ ทราบผลภายใน 3 ชั่วโมง และตรวจได้ 70 ตัวอย่างต่อเครื่อง ด้านศบค.รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 198 ราย เสียชีวิต 1 ราย เป็นหญิงวัย 73 ปี ที่จ.สมุทรสาคร มีโรคประจำตัว ปูพรมค้นหาเชิงรุกสมุทรสาครต่อเนื่องให้เสร็จสัปดาห์หน้า ก่อนประเมินผ่อนคลายหรือไม่ ระบุ ถ้าตัวเลขลดลง มีข่าวดีแน่ ย้ำยอดป่วยขึ้นๆ ลงๆ ยังวางใจไม่ได้ ให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังเข้มข้น โดยเฉพาะจ.สมุทรสาครที่ตรวจหาเชื้อเชิงรุกต่อเนื่อง ตั้งเป้าให้ครบทั้งจังหวัดในสัปดาห์นี้ เพื่อผ่อนคลายมาตรการได้ต้นเดือนก.พ. แต่ต้องไม่ประมาท การ์ดห้ามตก สธ.เผยผลสอบสวนโรคเคส ดีเจมะตูม-ผู้ประกาศเอ็นบีที โยงกรณีผับดังเชียงใหม่รวมติด 19 คน เหตุจากคนติดเชื้อไม่แสดงอาการ
          เมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิดในรอบ 24 ชั่วโมงว่า มีผู้ติดเชื้อใหม่ 198 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 191 ราย  เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 118 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 73 ราย ในจำนวนนี้ มาจาก จ.สมุทรสาคร 72 ราย สัญชาติไทย 2 ราย และแรงงานบ้านเพื่อนบ้าน 70 ราย และค้นหาเชิงรุกที่ จ.ระยอง 1 ราย นอกจากนี้ เดินทางมาจากต่างประเทศ 7 ราย
          ติดเชื้อเพิ่ม198ตาย1หญิงวัย73
          โดยมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 13,500 ราย หายป่วยสะสม 10,567 ราย อยู่ระหว่างรักษา 2,860 ราย เสียชีวิตเพิ่มเติม 1 ราย เป็นหญิงไทยจากจ.สมุทรสาคร อายุ 73 ปี มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง สมองเสื่อม มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดบุคคลในครอบครัวที่ติดเชื้อ มีอาการไอ มีเสมหะ อ่อนเพลียตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ยืนยันว่าติดเชื้อ ต่อมาผู้ป่วยมีอาการเหนื่อย ปอดอักเสบรุนแรง เหนื่อยมากขึ้นต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลตากสิน มีเสมหะเหนียวข้น ต้องใช้เครื่องดูดเสมหะ กระทั่งวันที่ 23 มกราคมอาการแย่ลง เรียก ไม่รู้สึกตัว หัวใจหยุดเต้น แพทย์ใช้เวลากู้ชีพ 30 นาที แต่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา เสียชีวิตในเวลาต่อมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 73 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสมใกล้ถึงร้อยล้านรายแล้ว โดยมีผู้ติดเชื้อสะสม 99,322,604 ราย เสียชีวิต 2,130,293 ราย
          ยอดป่วยขึ้นๆลงๆยังวางใจไม่ได้
          พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า ดูแนวโน้มการติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 4 มกราคมถึงปัจจุบัน กราฟขึ้นๆ ลงๆ แต่ยังไว้วางใจไม่ได้ ถ้าดูตัวเลขติดเชื้อรายสัปดาห์ สัปดาห์ที่หนึ่งของปี 2564 มีจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อ 39 จังหวัด สัปดาห์ที่สอง มีจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อ 30 จังหวัด สัปดาห์ที่สาม มีจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อ 24 จังหวัด และวันที่ 24 มกราคม เป็นวันแรกของสัปดาห์ที่สี่ มีการติดเชื้อ 7 จังหวัด จึงอยากให้ทุกจังหวัดช่วยกันเฝ้าระวัง
          ปิดเคสสมุทรสาครก่อนสิ้นม.ค.
          อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กได้หารือถึงการค้นหาเชิงรุกใน จ.สมุทรสาคร โดยตั้งแต่วันที่ 19 มกราคมถึงวันที่ 24 มกราคม ผ่านไป 5 วัน ตรวจเชื้อไปแล้ว 60,000-70,000 ราย พบ ผู้ติดเชื้อ 5,532 ราย หรือคิดเป็นประมาณ 7% ยกตัวอย่างตรวจ 100 คน เจอ 7 คน เป็นการประมาณการเพื่อจะกำหนดมาตรการตัวเลขจริงอาจน้อยกว่าก็ได้ แต่ถ้าเป็นไปตามตัวเลขที่ประมาณการ อีก 5 วัน ถัดไปในสัปดาห์หน้าจะพบผู้ติดเชื้อ 2,000-3,000 ราย เราจะได้เตรียมพร้อมในการรักษา ทั้งนี้ การตรวจค้นหา ผู้ติดเชื้อเชิงรุกในจ.สมุทรสาครยังดำเนิน ต่อไปอย่างเข้มข้นเต็มที่ ตั้งเป้าตรวจให้ เสร็จภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อให้จ.สมุทรสาคร มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น มาตรการเข้มข้นดังกล่าวจะนำไปสู่การวางแผนลดหย่อนมาตรการ เนื่องจากมีคนถามเข้ามาว่า โรงเรียน ตลาดกลางกุ้ง และร้านอาหารต่างๆ จะผ่อนคลายหรือไม่ ซึ่งเราตั้งเป้าจะทำให้สำเร็จทั้งจังหวัดภายในสัปดาห์หน้า และวันที่ 1-7 กุมภาพันธ์ จะเก็บรายละเอียด ในพื้นที่เสี่ยง เพื่อวันที่ 8-15 กุมภาพันธ์ การติดเชื้อจะเบาบางลง เพื่อการผ่อนคลาย ซึ่งจ.สมุทรสาครจะเป็นตัวอย่างให้ทั้งประเทศที่จะทำควบคู่กันไป
          "สัปดาห์นี้จะเข้มข้นมาตรการที่สุด ถ้าตัวเลขดีต่อเนื่อง ภายในต้นเดือนกุมภาพันธ์อาจมีสถานศึกษาเปิดการเรียนการสอนได้ในบางพื้นที่ และถ้าตัวเลขดีเช่นนี้คาดว่าสัปดาห์หน้าจะได้ยินข่าวดี มีมาตรการผ่อนคลายในหลายจุด"รองโฆษก ศบค.ระบุ
          สธ.ย้ำไทยยังต้องคุมเข้มชายแดน
          ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวความคืบหน้าสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)ว่า สถานการณ์ทั่วโลกป่วยแล้ว 99 ล้านรายถือว่ายังทรงๆ ส่วนในเอเชียมีติดเชื้อสูง เช่น มาเลเซีย 4,000 กว่าราย เมียนมาระดับพันกว่าราย ดังนั้น ไทยยังต้องเฝ้าระวังการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ฝ่ายความมั่นคงพยายามเต็มที่ ในการควบคุมปัญหาดังกล่าว สำหรับสถานการณ์ระบาดรอบใหม่ในไทยตั้งแต่ 15 ธันวาคม 2563 เป็นต้นมา อัตรา เสียชีวิตอยู่ที่ 0.14 ถือว่าค่อนข้างต่ำ แต่ไม่อยากให้เกิดความสูญเสีย
          คลายล็อกได้ถ้าถึง1กพ.ไม่ป่วยเพิ่ม
          ขณะนี้สถานการณ์ในประเทศในตอนแรกดูเหมือนค่อยๆ ลดลง แต่ระยะหลังเพิ่มสูงขึ้น แต่ทั้งหมดยังเป็นผู้ป่วยในพื้นที่แถบภาคกลาง ล่าสุดวันที่ 24 มกราคม มีเพียง 7 จังหวัด ที่ยังมีผู้ป่วยใหม่ มากสุดคือ จ.สมุทรสาคร  กทม. ปริมณฑล ระยอง และบางจังหวัดในภาคกลาง ดังนั้น มาตรการที่ต้องดำเนินการต่อไปโดย คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดต้องควบคุมค้นหาผู้ป่วยเข้ามาในพื้นที่ได้เร็วทันท่วงที ลดความเสี่ยงการจัดกิจกรรมให้ได้มากที่สุด และปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หลายจังหวัดที่จะครบกำหนด ห้ามเคลื่อนย้ายวันที่ 1 กุมภาพันธ์นั้น จะพิจารณาอีกครั้ง แต่บางพื้นที่ที่ไม่มีมีรายงานผู้ป่วยรายใหม่แล้ว อาจพิจารณาผ่อนคลายมาตรการบางอย่างได้ เช่น เปิดเรียน
          เตือนอย่าชะล่าใจติดเชื้อไม่มีอาการ
          นพ.โอภาสยังกล่าวถึงผู้เสียชีวิต 1 รายวันนี้ เป็นหญิงอายุ 73 ปี อยู่จ.สมุทรสาคร รายนี้ติดเชื้อจากญาติที่ติดเชื้อโควิดไม่มีอาการแล้วมาเยี่ยม เพราะผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวทำให้อาการรุนแรงมากกว่าคนหนุ่มสาว ทำให้เชื้อลงปอด ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ส่วนใหญ่เมื่อใช้ไประยะหนึ่งการติดโรคในปอดจะดีขึ้น แต่สิ่งที่ตามมาคือ เกิดโรคแทรกซ้อนในปอด และจากการนอนรพ. ต่อมา ผู้ป่วยก็เสียชีวิตซึ่งคล้ายกับหลายรายที่ผ่านมา สิ่งที่จะเตือนคือ ผู้ที่มีญาติผู้ใหญ่ในครอบครัว มีโรคประจำตัว แล้วถ้าใครมีความเสี่ยงไม่ว่าจะไปเที่ยวตามผับบาร์ บ่อน ปาร์ตี้ ควรมีมาตรการป้องกันตัวเองเมื่อกลับเข้าบ้าน ไปพบญาติผู้ใหญ่สวมหน้ากากอนามัย
          มะตูม-ผู้ประกาศNBTโยงผับเชียงใหม่
          ส่วนการติดเชื้อโควิดที่เกี่ยวข้องกรณีดีเจมะตูม หรือเตชินท์ พลอยเพชร ซึ่งเจ้าตัวแจ้งไทม์ไลน์เร็ว ทำให้สอบสวนโรคได้เร็วนั้น นพ.โอภาสกล่าวว่า จากการสอบสวนโรคในเหตุการณ์นี้พบว่าเริ่มต้นด้วยสถานบันเทิงที่จ.เชียงใหม่  มีชายคนหนึ่งไปเที่ยวสถานบันเทิงแห่งนี้ ทราบว่าตอนจัดงานไม่ได้เว้นระยะห่าง ไม่สวมแมสและมีผู้ที่ติดเชื้อที่สถานบันเทิงแห่งนั้นจำนวนมาก จากนั้นชายคนดังกล่าวติดเชื้อแต่ไม่มีอาการและมาร่วมงานวันเกิดดีเจมะตูม ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องไปร่วมงานจำนวนมาก เกิดการกระจายเชื้อขึ้น ส่วนผู้ประกาศข่าว NBT จากการสอบสวนประวัติเบื้องต้น ก็พบว่าไปร่วมงานปาร์ตี้นี้ เช่นกัน จากนั้นก็ไปงานเลี้ยงอีกงานหนึ่ง
          รวม3กลุ่มติดเชื้อ19คนย้ำงานเลี้ยงเสี่ยง
          นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า รวมทั้งหมด เป็น 3 กลุ่ม แต่เชื่อมโยงด้วยงานเลี้ยง มีผู้ติดเชื้อที่เกี่ยวโยงกัน 19 คน สังเกตว่าจุดเสี่ยงคือ สถานที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก คนที่มาร่วมกิจกรรมไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย โดยเฉพาะงานเลี้ยงวันเกิด บางครั้งจะมีการเป่าเค้กวันเกิด มีดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีสูบบุหรี่ในพื้นที่ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อไปได้ คนส่วนใหญ่ที่ไปร่วมงานไม่มีอาการ ก็คิดว่าไม่เป็นอะไร ดังนั้น ในสถานการณ์เช่นนี้ควรระมัดระวังงานอย่างสูง งานเลี้ยงสังสรรค์แม้เป็นคนกันเอง ไม่ควรแออัดเกินไป ถ้างดเว้นได้ก็ควรงด ทั้งนี้ ในสถานที่จัดงานเลี้ยงวันเกิด 2 งานนี้ มีผู้โหลด แอปพลิเคชั่นหมอชนะ จำนวนหนึ่งและได้รับ SMS แจ้งเตือนความเสี่ยงและวิธีปฏิบัติตัว นี่คือประโยชน์ของแอปฯ
          ร.10พระราชทานรถตรวจด่วนพิเศษ
          นพ.โอภาสยังเปิดเผยอีกว่า ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ใกล้ชิด ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก และทรงคำนึงถึงความยากลำบากของราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารและพื้นที่แออัดให้เข้ารับการบริการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งกลับมาแพร่ระบาดรอบใหม่อีกครั้งในประเทศไทย ในลักษณะเป็นกลุ่มก้อนที่คนมารวมตัวกันอยู่จำนวนมาก เช่น ชุมชนแออัด ที่พักอาศัยแรงงานต่างด้าว ตลาด และบ่อน
          ด้วยทรงให้ความสำคัญการวิเคราะห์ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการว่าเป็นขั้นตอนจำเป็นที่ต้องดำเนินการให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้ทราบผลและจำนวนผู้ติดเชื้อ และออกมาตรการหรือควบคุมสถานการณ์ได้ทันท่วงที ทรงมีพระราชดำริให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมผู้เชี่ยวชาญ สร้างห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ เพื่อออกไปตรวจวิเคราะห์ผลได้นอกโรงพยาบาลหรือ หน่วยงาน จะช่วยลดปัญหาการขนส่งตัวอย่าง และระยะเวลารอผลการวิเคราะห์ และได้พระราชทาน "รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ" ต้นแบบ ใช้งานคู่กับรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยฯ ค้นหาเชิงรุกแบบเบ็ดเสร็จในพื้นที่ ทราบผลรวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนรอดพ้นจากเชื้อโควิด-19 ซึ่งได้นำมาใช้เป็นครั้งแรกในสถานการณ์จริงในการปฏิบัติการค้นหาเชิงรุกทันที กรณีพบผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 (NBT) ถนนวิภาวดีกรุงเทพฯ ติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา ตรวจหาเชื้อทั้งหมด  222 ตัวอย่าง ได้ผล ที่รวดเร็วตามที่คาดหมาย
          3ชม.รู้ผลตรวจได้70ตัวอย่าง/1เครื่อง
          นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า  วัตถุประสงค์ ของรถพระราชทาน เพื่อเสริมปฏิบัติงานของบุคลกรด้านสาธารณสุขในการเก็บตัวอย่าง วิเคราะห์ผลตรวจในพื้นที่ที่รวดเร็ว แม่นยำ และปลอดภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์สูงสุด ลดปัญหาความล่าช้าในการขนส่งสิ่งส่งตรวจกลับมาตรวจที่หน่วยงาน ที่โดดเด่นคือสามารถนำไปใช้วิเคราะห์เชื้ออื่นๆ ที่วิเคราะห์ด้วยเทคนิคการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมดีเอ็นเอด้วยปฏิกิริยาโพลีเมอเรส (Real Time Polymerase Chain Reaction (PCR)) ใช้เวลาวิเคราะห์เพียง 3 ชั่วโมง และวิเคราะห์ได้ 70 ตัวอย่างต่อ 1 รอบต่อเครื่อง
          สำหรับรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษพระราชทานดังกล่าว เป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ มีพื้นที่ใช้สอย 16.8 ตารางเมตร (7 เมตร x 2.4 เมตร) ภายในประกอบด้วย 3 ห้องหลัก ได้แก่ ห้องสกัดสารพันธุกรรม ห้องเตรียมน้ำยาวิเคราะห์ และห้องวิเคราะห์ผลด้วยเทคนิคการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมดีเอ็นเอด้วยปฏิกิริยาโพลีเมอเรส (Real Time Polymerase Chain Reaction (PCR)) ให้ผู้ปฏิบัติงาน ตรวจวิเคราะห์ผลได้ถูกต้อง แม่นยำ สะดวกและปลอดภัย มีห้องบัฟเฟอร์ควบคุมป้องกันการรั่วไหลของเชื้อโรค พร้อมเครื่องมือที่ติดตั้งในรถ ได้แก่ ตู้ปลอดเชื้อ, ตู้ปฏิบัติงานพีซีอาร์ (PCR cabinet), เครื่องสกัดสารพันธุกรรมอัตโนมัติ เครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมดีเอ็นเอด้วยปฏิกิริยาโพลีเมอเรส (real- time PCR), ตู้แช่แข็ง -20 องศาเซลเซียส, ตู้ทำความเย็น 4 องศาเซลเซียส ช่องส่ง ตัวอย่าง เครื่องเขย่าผสมสาร เครื่องปั่นเหวี่ยง ตกตะกอน ไมโครปิเปต (Micropipette), ระบบยูวีฆ่าเชื้อ, ระบบสื่อสารสองทาง, ระบบกล้องวงจรปิด และเครื่องล้างมือแอลกอฮอล์อัตโนมัติ
          จัดสร้างรถชีวนิรภัยเพิ่มอีก7คัน
          "นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็น ล้นพ้น หาที่สุดมิได้  ตั้งแต่ที่ได้พระราชทาน รถตรวจเชื้อชีวนิรภัย ถึงปัจจุบัน รถพระราชทาน เก็บตัวอย่างชีวนิรภัย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งต่อน้ำพระราชหฤทัยด้วยปฏิบัติการตรวจบุคคลทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงแบบเชิงรุก รวมกว่า 80,000 รายแล้ว เข้าถึงชุมชน ควบคุมการแพร่ระบาดได้รวดเร็ว และกำลังจัดสร้างรถชีวนิรภัยเพิ่มเติมอีก 7 คัน รวมเป็น 20 คัน   เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปใช้ประโยชน์ที่สำนักงานเขตสุขภาพ ที่ 1-12 ทั่วประเทศ และในกรุงเทพมหานคร เพิ่มประสิทธิภาพระบบเฝ้าระวังค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก" นพ.โอภาสกล่าว และว่า  รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษนี้ สามารถนำไปใช้งานคู่กับรถพระราชทานเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยได้ เพื่อให้การออกตรวจเชื้อโควิด-19 สมบูรณ์แบบมากขึ้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้กรณีที่เกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน ทำให้สามารถเข้าช่วยเหลือประชาชนได้รวดเร็ว การจัดสร้างรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษคันนี้ ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เรียบร้อยแล้ว
          เล็งผ่อนมาตรการแต่การ์ดห้ามตก
          ขณะที่น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ขอบคุณและเป็นกำลังให้คณะแพทย์ เจ้าหน้าที่ บุคลากรสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ ตลอดจนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการทำงานหนักเพื่อป้องกันยับยั้งการระบาดของเชื้อโควิด-19 ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2563 หลายภาคส่วนเสียสละทำงานไม่มีวันหยุด เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้ได้โดยเร็ว
          ทั้งนี้ นายกฯขอเป็นกำลังใจทุกภาคส่วนทำหน้าที่จนกว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ทั้งหมดและการติดเชื้อ อยู่ในเกณฑ์ต่ำ ปัจจุบันควบคุมสถานการณ์ได้แล้วหลายจังหวัด ทั้งหมดเป็นผลจากการทุ่มเททำงานอย่างหนักของทุกองคาพยพ และความร่วมมือของประชาชน นายกฯยังฝากให้ทุกคนทำงานด้วยความระวัดระวัง อย่าประมาท เน้นความปลอดภัย รัฐบาลพร้อมสนับสนุนปัจจัยต่างๆ เต็มที่ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือประชาชนลดความเสี่ยงแพร่เชื้อและติดเชื้อโควิด โดยงดเดินทางโดยไม่จำเป็น งดไปพื้นที่เสี่ยง งดรวมกลุ่ม ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน โดยหลังจากนี้จะผ่อนปรนมาตรการตามลำดับ แต่ต้องไม่ประมาท การ์ดไม่ตก
          กทม.ติดเพิ่ม21อันดับ2ของปท.
          ในส่วนกรุงเทพมหานคร ศบค.รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 21 ราย เป็นการติดเชื้อ ภายในประเทศจากการไปพื้นที่เสี่ยง มีอาชีพเสี่ยง หรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ก่อนหน้านี้ จำนวน 21 ราย เป็น เพศชาย 16 ราย อายุ 22-43 ปี เพศหญิง 5 ราย อายุ 27-31 ปี เป็นสัญชาติไทย 20 ราย  สัญชาติเมียนมา 1 ราย ไม่มีอาการ 6 ราย และมีอาการ 15 ราย รักษาตัวที่ โรงพยาบาลเอกชนใน กทม. 15 ราย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 2 ราย โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า 1 ราย อยู่ระหว่างรอประสาน 2 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสม 678 ราย ขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2 รองจากสมุทรสาคร
          สมุทรสาครตรวจเชิงรุกต่อเนื่อง
          ที่ จ.สมุทรสาคร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขยังตรวจค้นหาเชิงรุก ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ต่อเนื่อง โดยรถเก็บตัวอย่าง ชีวนิรภัยพระราชทาน 1 คัน พร้อมทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงพื้นที่ตลาดคลองครุ-ศรีเมือง ต.ท่าทราย อ.เมืองสมุทรสาคร ตรวจค้นหาเชิงรุกกลุ่ม แม่ค้าพ่อค้าในตลาด 100 คน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขนำรถเก็บตัวอย่าง ชีวนิรภัย พระราชทานไปตรวจหาเชื้อที่ ตลาดแม่พ่วง ต.มหาชัย อ.เมืองสมุทรสาคร เพื่อตรวจค้นหาเชิงรุกในกลุ่มแม่ค้าพ่อค้า และคนงานภายในตลาดแม่พ่วง 200 คน เป็นการตรวจเชิงรุกรอบที่ 2
          ตลาดกลางกุ้งตรวจซ้ำป่วย75คน
          ส่วนตลาดกลางกุ้ง ต.มหาชัย อ.เมืองสมุทรสาคร ซึ่งมีแผนเปิดตลาดช่วงปลายเดือนมกราคม ได้ตรวจเชิงรุกกลุ่มแรงงานเมียนมา 1,200 คน เมื่อวันที่ 22 มกราคม พบเชื้อในแรงงานเมียนมากลุ่มนี้ 43 ราย และนำตัวเข้ากักที่ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 1 สนามกีฬาจังหวัด และช่วงบ่ายวันนี้ นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยตัวเลขตรวจเชิงรุกกลุ่มแรงงาน เมียนมาในตลาดกลางกุ้ง ตรวจแล้ว 1,217 คน ติดเชื้อรวม 75 คน และส่งตัว ผู้ติดเชื้อทั้งหมดเข้ากักตัวที่ศูนย์ห่วงใย คนสาครแห่งที่ 1 เช่นกัน
          ชี้ปลดล็อกขึ้นกับ2มาตรการหลัก
          สำหรับแผนเปิดการซื้อขายในตลาดกลางกุ้งนั้น ขึ้นอยู่กับแผนและมาตรการที่กลุ่มผู้ค้า ผู้ประกอบการภายในตลาด ต้องนำเสนอมาจังหวัด ประกอบด้วย 2 ส่วนหลักคือ 1.มาตรการป้องกันเชื้อโควิด-19 ที่ชัดเจน เช่น เว้นระยะห่างช่วงซื้อขาย จัดลำดับขึ้นลงสินค้าป้องกันการรวมกลุ่ม 2.มาตรการจัดระเบียบที่พักแรงงานเมียนมาในตลาดกลางกุ้ง ให้ถูกสุขอนามัย กำหนดพื้นที่พักอาศัยแรงงาน 1 คน / 5 ตารางเมตร อย่างไรก็ตาม ภายในสัปดาห์นี้สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ตั้งเป้าตรวจเชิงรุกเพิ่มให้ได้ 50,000 ราย ให้เป็นไปตามแผนศบค. โดยเพิ่มศักยภาพ การตรวจผลในห้องปฏิบัติการให้ได้ 10,000 รายต่อวัน รองรับการปูพรมตรวจเชิงรุก กลุ่มเป้าหมายยังเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงงานแปรรูปอาหารทะเลขนาดใหญ่ ที่ตรวจพบ ผู้เชื้อเกิน 10% ต้องตรวจพนักงานทั้งหมด 100% ควบคู่กับการตรวจพื้นที่รอบนอกจังหวัด รองรับการปลดล็อกให้เร็วที่สุด
          โควิดสมุทรสาครไม่ลดพบอีก148ราย
          เวลา 17.00 น. สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาครเปิดเผยรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ว่า วันนี้พบผู้ป่วยติดเชื้อ 148 ราย ติดเชื้อสะสม 5,641 ราย


pageview  1210905    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved