HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 18/01/2564 ]
แพทย์ห่วงเด็ก-เยาวชนสูบบุหรี่ จุดเริ่มต้นสู่ริลองยาเสพติดร้ายแรง

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ในฐานะกุมารแพทย์เด็กและวัยรุ่น กล่าวในแถลงข่าวและเสวนาออนไลน์เรื่องพฤติกรรมวัยรุ่นกับสารเสพติด หัวข้อ "บุหรี่ต้นทางสู่ยาเสพติดกับกรณีเคนมผง" เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ในทาง การแพทย์สามารถอธิบายได้ชัดเจนว่าเด็กหรือเยาวชนคนใดที่มีพฤติกรรมเสพติดบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าและรับนิโคตินเข้าไปเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลต่อสมองให้เปิดรับ ยาเสพติดอื่นๆ ผ่านการกระตุ้นจากฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) หรือฮอร์โมนที่สร้างความสัมพันธ์การยอมรับจากหมู่เพื่อนของ วัยรุ่นผ่านคำพูดต่างๆ เช่น เพื่อนทำได้ ของแบบนี้ต้องลอง เจ๋ง สุดยอดเลยเพื่อน
          ซึ่งนิโคตินในบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าจะวิ่งเข้าสู่สมองภายในไม่เกิน 10 วินาที และเข้าไปบ่มเพาะสมองของเด็กและเยาวชนให้ไว ต่อสารเสพติดต่างๆ รวมถึงกระตุ้นสมองส่วนอารมณ์ให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ตามมาอีกมากมาย ตนจึงอยากเตือนไปยังเยาวชน ทุกคนให้นึกถึงสุขภาพของตนเองเป็นหลัก เพราะหากสมองเราถูกทำลายไปแล้วจาก สิ่งเสพติด อาจทำให้การคิดวิเคราะห์ การควบคุม อารมณ์ การอยู่ร่วมกันทางสังคม ของเรา สูญเสียไปโดยสิ้นเชิง
          ขณะที่ นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟู ผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ส่วนประกอบของยาเคนมผงที่มีการนำมาใช้เป็นยาเสพติด พบว่ามีความอันตรายถึงชีวิต ส่วนผสมของยาเคนมผง มียาเคหรือเคตามีน (Ketamine) เป็นส่วนประกอบหลักร่วมกับยาไอซ์ เฮโรอีนและยานอนหลับที่เรียกว่า โรเซ่ นำมาผสมและบดรวมกันจนละเอียดจะมีลักษณะคล้ายนมผง จึงเป็นที่มาของการเรียกว่ายาเคนมผง
          โดยผู้ที่นำเคตามีนไปใช้เสพติด จะมี ผลข้างเคียงที่อันตรายได้ เช่น อาการกดระบบประสาทรุนแรง คล้ายคนเมาจากการดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรับรู้และตอบสนอง ต่อสิ่งแวดล้อมทั้งภาพแสงหรือเสียงเปลี่ยนแปลงไป ระบบการทำงานของหัวใจและการหายใจผิดปกติ รวมไปถึงส่งผลต่อ อาการทางจิต เช่น ฝันร้าย เพ้อคลั่ง ประสาทหลอน จนนำไปสู่คนวิกลจริตได้
          ภายในงานดังกล่าว ยังได้รับเกียรติจาก นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) คนที่ 1 เป็นประธานกล่าว เปิดงาน โดย นายสาธิต ระบุว่า จากกรณีที่พบผู้เสียชีวิต 9 ราย จากการรวมกลุ่มเสพ เคนมผง ซึ่งมีเด็กและเยาวชนรวมอยู่ด้วยนั้น สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ
          โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีการเฝ้าระวังการรวมกลุ่มหรือจัดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลทำให้บุคลากรสาธารณสุข ต้องมีภาระเพิ่มขึ้นในการรักษาโรคจากการเสพยาเสพติดของเด็กและเยาวชน ซึ่งข้อมูลการบำบัดรักษาผู้ป่วย ยาเสพติดของสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟู ผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561-31 พ.ค. 2562 พบผู้ป่วยทั้งหมด 3,803 คน เป็นเพศชาย 3,256 คน และเพศหญิง 547 คน กลุ่มที่มากที่สุดอยู่ในช่วงวัยรุ่นอายุ 20-24 ปี 726 คน รองลงมา ได้แก่ ช่วงอายุ 25-29 ปี 692 คน
          "เด็กและเยาวชนเป็นวัยที่มีความอยากรู้อยากลอง แต่จะทำอย่างไรให้การอยากรู้ อยากลองเป็นอยู่ในขอบเขตของความถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยความร่วมมือ จากทุกภาคส่วน ส่วนราชการมีนโยบายการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง มีการจับกุมดำเนินกับผู้จำหน่าย และการให้ความรู้ผ่านสถานศึกษาหรือกิจกรรมต่างๆ สำคัญที่สุดคือพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบดูแลบุตรหลาน ซึ่งอาจเริ่มต้นได้จากการสร้างความตระหนักรู้จากการไม่สูบบุหรี่ เพราะบุหรี่อาจเป็นต้นทางสู่ยาเสพติดชนิดอื่นๆ ของ วัยรุ่นไทย เห็นได้จากรายงานการสำรวจของศูนย์วิจัยเอแบคโพลล์ ปี 2547 พบว่า  นักเรียนที่สูบบุหรี่ กว่า 100 คน จะมีพฤติกรรม เสี่ยงใช้ยาเสพติดสูงถึง 10 คน" นายสาธิต กล่าว


pageview  1210906    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved