HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 28/01/2564 ]
ศบค.ผ่อนปรนมาตรการคลายล็อกโควิดไฟเขียวนั่งกิน-ดื่มได้ถึง5ทุ่ม

  สมุทรสาครยังคุมเข้มสูงสุด1ก.พ.เปิดเรียนทั่วประเทศไทยติดเชื้อเพิ่ม819/ตาย1คน'บิ๊กตู่'ยันเริ่มฉีดวัคซีน14ก.พ.
          ศบค.แถลงยอดติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 819 ราย เสียชีวิต 1 เป็นชายวัย 56 ปี ป่วยติดเตียง คกก.เฉพาะกิจฯถกจัดโซนพื้นที่เสี่ยงใหม่ แบ่ง 5 ระดับ แต่ปรับลดจังหวัด ในแต่ละกลุ่ม โดยพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวดเหลือแค่ "สมุทรสาคร" ยังปิดเกือบทุกกิจกรรม ส่วนพื้นที่อื่นผ่อนคลายตามลำดับ ได้เฮ!เปิดให้นั่งดื่มนั่งกินถึง 5 ทุ่ม /เปิดเรียนได้เกือบทุกจังหวัด 1 กุมภาพันธ์ โดย 4 จว. ควบคุมสูงสุด สลับวันเรียน-จำกัดจำนวนนักเรียน ชง ศบค.เคาะศุกร์นี้ ด้าน จ.สมุทรสาคร ตรวจเชิงรุกติดอีก 792 คน สะสมพุ่ง 7,347 คน กทม. พบเพิ่ม 6 เร่งสอบสวนเพิ่มปมผู้ป่วย 3 ราย ไม่แจ้งไทม์ไลน์ ฮึ่มตั้งใจปกปิดโดนฟ้องดำเนินคดี "อนุทิน" สั่งกรมควบคุมโรค สอบด่วนทั้งคนปกปิดไทม์ไลน์-สถานให้บริการเปิดเกินเวลา ขายเหล้าหรือไม่ ลั่นถ้าผิด ดำเนินคดีทันที
          เมื่อวันที่ 27 มกราคม  ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลักใช้ปฏิบัติการค้นหาเชิงรุกทั่วประเทศ
          ติดเชื้อ819สมุทรสาคร714/ตาย1
          ปรากฏว่า วันนี้ไทยมีผู้ติดเชื้อใหม่ 819 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 808 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 92 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 716 ราย ในจำนวนนี้เป็นการค้นหาเชิงรุกที่จ.สมุทรสาคร 714 ราย ระยอง 1 ราย และสมุทรปราการ 1 ราย นอกจากนี้ เป็น ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 11 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 15,465 ราย หายป่วย สะสม 11,054 ราย  อยู่ระหว่างรักษา 4,335 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 56 ปี มีโรคเลือดสมองตีบ ป่วยติดเตียง มีอาการเหนื่อยหอบ มีเสมหะมากตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม จากนั้นไปโรงพยาบาลกระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ตรวจ พบเชื้อโควิด-19 ต่อมาวันที่ 25 มกราคม อาการไม่ดีขึ้น และเสียชีวิต ทำให้มี ผู้เสียชีวิตสะสม 76 ราย ตรงนี้ทำให้เห็นว่า ผู้ป่วยติดเตียงมีความเสี่ยง ใครเป็นลูกหลาน เมื่อกลับบ้านควรรีบชำระร่างกายให้เรียบร้อย รักษาระยะห่างจะดีที่สุด
          จัดโซนจว.เสี่ยง-ผ่อนปรนตามพื้นที่
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า วันเดียวกันนี้ มีการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีเลขาธิการสภาความมั่นคง แห่งชาติ (สมช.) เป็นประธาน เพื่อพิจารณาการปรับพื้นที่ประกาศใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)เสนอ โดยใช้รูปแบบจังหวัดกันชน กับจังหวัดเสี่ยงสูงที่จะกระจายไปพื้นที่อื่น โดยแบ่งพื้นที่เป็น 5 ระดับเหมือนเดิม ใช้เกณฑ์จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อหรือจำนวนน้อยและรายอำเภอเช่นเดิม ซึ่งเกณฑ์ปรับพื้นที่ดูจากสถานการณ์ระบาดช่วง 7 วัน 14 วัน และ 28 วัน การมีแหล่งรังโรคที่เสี่ยงกระจาย จังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงลักลอบเข้าประเทศตามแนวชายแดน และมาตรการเฝ้าระวังเชิงรุกในชุมชน
          คุมเข้มสูงสุดเหลือ'สมุทรสาคร'
          โดยช่วงวันที่ 15 ธันวาคม 2563- 21 มกราคม มีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อมากกว่า ช่วงวันที่ 21-27 มกราคม ทำให้มีการปรับ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จากเดิมมี 5 จังหวัด ให้เหลือเพียง 1 จังหวัด คือ สมุทรสาคร พื้นที่ควบคุมสูงสุดจากเดิมมี 23 จังหวัด เหลือเพียง 4 จังหวัดคือ กทม. สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี ส่วนพื้นที่ควบคุม จากเดิมมี 11 จังหวัด เพิ่มเป็น 20 จังหวัด ส่วนใหญ่ปรับลดมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด ขณะที่พื้นที่เฝ้าระวังสูง จากเดิมมี 38 จังหวัด เหลือเพียง 17 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวัง ปรับให้มี 35 จังหวัด
          โยนผู้ว่าเคาะเปิดกิจการรายอำเภอ
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า สธ.ยังเสนอ มาตรการผ่อนคลายต่อที่ประชุมคณะกรรมการ เฉพาะกิจฯ ให้พิจารณาก่อนเสนอที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่พิจารณาวันที่ 29 มกราคม เช่น จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สิ่งที่ปิดยังปิดเหมือนเดิม ทั้งนี้ มีข้อเสนอให้เปิดได้บ้างคือ ตลาดนัด ร้านอาหารที่ให้เปิดแบบซื้อกลับไปบริโภค ห้างสรรพสินค้าเปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. โรงงานที่มีมาตรการป้องกันติดตามโรค อย่างไรก็ตาม จากเดิมจ.สมุทรสาคร เป็นพื้นที่สีแดงเข้มทั้งหมด แต่ข้อเท็จจริงแล้วที่อ.บางแพ้ว ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อให้อำนาจจังหวัดพิจารณาสำหรับโอกาสในการเปิดกิจการและกิจกรรมลงเป็นรายอำเภอ
          ควบคุมสูงสุดให้กินข้าวที่ร้านถึง5ทุ่ม
          ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุดนั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ยังคงให้ปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ ขณะที่ร้านอาหารให้นั่งรับประทานได้แบบเว้นระยะห่าง เปิดได้ไม่เกินเวลา 23.00 น. และจำกัดเวลาการจำหน่ายแอลกอฮอล์ ไม่เกินเวลา 23.00 น. แสดงดนตรีได้ แต่งดการเต้นรำ  ส่วนพื้นที่ที่เหลือจะผ่อนคลายไปตามลำดับ สำหรับการประชุมสัมมนาในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและพื้นที่ควบคุม จำกัดผู้เข้าร่วมไม่เกิน 100 คน งดดื่มสุราและแสดงดนตรี ขณะที่พื้นที่เฝ้าระวังสูงและพื้นที่เฝ้าระวัง จำกัดผู้เข้าร่วมไม่เกิน 300 คน งดดื่มสุราและแสดงดนตรี โดยรายละเอียดทั้งหมดกระทรวงสาธารณสุขจะแถลงข่าวเพิ่มเติม
          บ่อนยังปิด-อาบอบนวดเปิดบางพื้นที่
          สำหรับการเรียนการสอนนั้น โฆษก ศบค.กล่าวว่า ทุกพื้นที่เปิดได้เกือบทั้งหมด เช่นเดียวกับ กทม. และปริมณฑลที่เปิดได้ แต่ต้องคำนึงถึงมาตรการป้องกันโรค เช่น สลับเวลาเรียน เว้นระยะห่าง หรือสอนออนไลน์ ยกเว้นจ.สมุทรสาคร ที่ยังให้ปิดอยู่ ตรงนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ในที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ นอกจากนี้ ในส่วนบ่อนการพนันปิดทุกพื้นที่ ขณะที่สถานบริการ อาบน้ำ อาบ อบ นวด ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและพื้นที่ ควบคุมให้ปิดสถานที่และงดบริการนอกสถานที่ ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังสูงและพื้นที่เฝ้าระวัง ให้เปิดใช้บริการได้ โดยจำกัดผู้ใช้บริการ ส่วนการแข่งขันชกมวยของพื้นที่ควบคุมสูงสุดและพื้นที่ควบคุมสามารถแข่งขันได้แบบไม่มีผู้ชม แต่พื้นที่เฝ้าระวังสูงและเฝ้าระวังสามารถจัดการแข่งขันและมีผู้ชมตามเกณฑ์ที่กำหนดได้
          นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ เฉพาะกิจฯ ได้หารือถึงทิศทางสื่อสารกับประชาชน เนื่องจากการเปิดกิจการและกิจกรรม กับการ ควบคุมโรคต้องมีน้ำหนักไปด้วยกัน เช่น การ เปิดการเรียนการสอน แต่บางพื้นที่อย่าง จ.สมุทรสาคร แม้มีพื้นที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ แต่พอเปิดการเรียนการสอนจะมีการเคลื่อน ย้ายประชากร การแออัดในขนส่งสาธารณะ ความเสี่ยงจะตามมา บางเรื่องตัดสินใจยาก และละเอียดอ่อนมีผลกระทบกับประชาชน ต้องพึ่งนักวิชาการและข้อมูล  ครั้งนี้จะพยายาม สื่อสารทิศทางเดียวกัน แต่เมื่อมีความต้องการ ที่หลากหลายก็ต้องตอบสนองความต้องการที่ หลากหลายด้วย อาจลักลั่นในพื้นที่ขอให้ติดตาม ผลประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันที่ 29 มกราคม
          เคาะเปิดเรียน1ก.พ.-4จว.เฝ้าระวังสลับวัน
          นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการเปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจาก ศบค.ชุดเล็กให้ชี้แจงถึงการเปิดเรียนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ มีข้อสรุปว่า วันที่ 1 กุมภาพันธ์จะเปิดเรียนพร้อมกัน 28 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชน มีจ.สมุทรสาครจังหวัดเดียวที่ยังต้องปิดเรียนไปก่อน เนื่องจากสถานการณ์โควิดในพื้นที่ยังไม่คลี่คลาย แต่ 28 จังหวัดนั้นจะมีจ.สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร ที่ยังเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง แต่เมื่อศบค.อนุญาตให้ เปิดเรียนได้แล้วขอให้โรงเรียนยึดมาตรการสาธารณสุขเคร่งครัด โดยศธ.กำหนดมาตรการโรงเรียนในกลุ่มจังหวัดเฝ้าระวังคือ ต้องสลับวันมาเรียน และจำนวนนักเรียนต่อห้องต้องไม่เกิน 25 คน รวมถึงจัดบริการจุดล้างมือ และวัดไข้ ตามมาตรการของสาธารณสุข (สธ.) อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ใน พื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ 4 จังหวัดจะมีการประเมิน จากศบค.หลังเปิดเรียนวันที่ 15 กุมภาพันธ์อีกครั้ง ซึ่งหากสถานการณ์ดีขึ้นให้จัดการเรียน การสอนได้ตามรูปแบบปกติ  สาเหตุที่ต้อง ประกาศเปิดเรียนจากศธ.นั้น เนื่องจากต้องการ ให้เตรียมความพร้อมทำความสะอาดโรงเรียน เตรียมการสอน ก่อนจะศบค.ใหญ่จะประกาศเป็นทางการในวันที่ 29 มกราคม
          ลุ้นผลยารักษาปอดอักเสบวันที่3
          ศ.นพ.ประสิทธิ์  วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผย อาการล่าสุดของ นายวีระศักดิ์  วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในรอบ 24 ชั่วโมง ที่ผ่านมาว่า หลังเจาะคอผู้ว่าฯ ยังใช้เครื่องช่วยหายใจเต็มที่ ส่วนยาปฏิชีวนะยังใช้ขนาดเท่าเดิม ระบบทางเดินอาหารและระบบปัสสาวะยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ สำหรับยาลดปอดอักเสบที่ให้มาแล้ว 2 วัน วันนี้จะครบกำหนดที่ต้องประเมินอีกครั้ง  โดยช่วงเช้าวันนี้ดูเอกซเรย์ปอด ประเมินด้วยตาเปล่าเหมือนดีขึ้นบ้าง แต่ผลเลือดที่ประเมินการทำงานของปอดยังเท่าเดิม ยาต้องประเมินอย่างน้อย 3 วันว่าจะลดการอักเสบได้มากแค่ไหน อีก 2 วันจะเอกซเรย์ซ้ำอีกครั้ง
          เล็งย้ายผู้ว่าฯสมุทรสาครมาอยู่ไอซียู
          ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวต่อว่า ทีมแพทย์มีแนวโน้มจะย้ายผู้ว่าฯ ออกจากห้องความดันลบ โดยจะประเมินภาพรวมอีกครั้งวันที่ 28 มกราคม เนื่องจากตรวจหาเชื้อ COVID-19 ไม่พบทั้ง 3 ครั้ง หากย้ายผู้ว่าฯ ออกมาข้างนอกจะได้อยู่ห้องไอซียูระบบทางเดินหายใจ ซึ่งครอบครัวผู้ว่าฯจะเข้าเยี่ยมได้ หลังจากนี้ ทีมแพทย์ยังจะให้ยาแก้อักเสบต่อเนื่องไปอีก 2 สัปดาห์ พร้อมประเมินผลเอกซเรย์ปอดเป็นระยะว่ารอยหลายจุดนั้นเกิดจากการอักเสบของปอดหรือเป็นพังผืด หากส่วนที่เป็นรอยค่อยๆ จางหรือหายไป แสดงว่าปอดอักเสบและหายได้จากการใช้ยา จะนำไปสู่การพิจารณาถอดเครื่องช่วยหายใจ แต่หากไม่หายไปแสดงว่าเป็นพังผืดถาวร ต้องมาประเมินอีกครั้งว่าจะแก้ไขอย่างไร
          กทม.พบติดใหม่6รายสะสม727ราย
          ความคืบหน้าการตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กทม. โดย ศบค.รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อใหม่ 6 ราย เป็นการติดเชื้อภายในประเทศจากการไปพื้นที่เสี่ยง มีอาชีพเสี่ยง หรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้ เป็นเพศชาย 1 ราย อายุ 48 ปี เพศหญิง 5 ราย อายุ 24-58 ปี เป็นสัญชาติไทย 6 ราย ไม่มีอาการ 2 ราย และมีอาการ 4 ราย  รักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนในกทม. 2 ราย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 1 ราย  โรงพยาบาล ผู้สูงอายุบางขุนเทียน 1 ราย และโรงพยาบาล ศิริราช 1 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมระหว่างวันที่ 18 ธันวาคม 2563-27 มกราคม รวมแล้วอยู่ที่ 727 ราย ขยับเป็นอันดับที่ 2 รองจากสมุทรสาคร
          3ผู้ป่วยปิดข้อมูล-กทม.ฮึ่มเอาผิด
          ทั้งนี้ กทม.ได้เปิดเผยไทม์ไลน์การสอบสวนโรคของผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 15 ราย ที่อยู่ในกทม. พบว่ามีผู้ป่วย 3 ราย เป็นรายที่ 644-658 ไม่ให้ข้อมูลในบางช่วงเวลา มีผู้ป่วยชาย อาชีพนักร้อง นักแสดง ไปงานเลี้ยง ที่โรงแรมบันยันทรี เขตสาทร ผู้ป่วยชาย อาชีพผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ไปร่วมงานวันเกิดเพื่อน และ ผู้ป่วยชาย อาชีพ เจ้าหน้าที่รัฐ ไปร่วมงานวันเกิดเพื่อน ที่โรงแรม บันยันทรี เขตสาทร ซึ่งทั้ง 3 ราย ไม่ยอมให้ข้อมูลในช่วงหลายวัน ทำให้ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โพสต์ข้อความเพิ่มเติมผ่าน เฟซบุ๊ค เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง - Earth Pongsakorn Kwanmuang ถึงกรณี ดังกล่าว โดยระบุว่า "Update ข้อมูลจากสำนักอนามัย กทม. : เคสปกปิดข้อมูล ขณะนี้ทีมสอบสวนโรคของ กทม. กำลังสอบสวนโรคเพิ่มเติม แต่หากยังปกปิดข้อมูล เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคจะแจ้งความกับตำรวจ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
          'อนุทิน'สั่งสอบด่วนปกปิดไทม์ไลน์
          นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุขให้สัมภาษณ์ในประเด็นผู้ป่วยปกปิดข้อมูลทำให้การสอบสวนโรคล่าช้าว่า ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบ ข้อเท็จจริงในเรื่องสถานประกอบการ ว่าเปิด ให้บริการเกินเวลา 21.00 น. หรือไม่ มีการ ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ ตรวจสอบ ด้วยว่าผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้ปกปิด ไทม์ไลน์จริงหรือไม่ หากมีความผิดจริงให้ดำเนินคดีตาม กฎหมายที่เกี่ยวข้องทันที
          สมุทรสาคร พบติดเชื้ออีก792คน
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาครจนถึงเวลา 24.00 น. ว่า ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 792 ราย จำแนกเป็นจากการค้นหาเชิงรุก 714 ราย เป็นคนไทย 3 ราย ต่างด้าว 711 ราย  ที่เหลือเป็นผู้ป่วยจากการตรวจในโรงพยาบาล 78 ราย คนไทย 26 ราย และต่างด้าว 52 ราย
          ปชช.ใส่แมสตอนเดินห้างมากที่สุด
          ด้านนพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยผลสำรวจอนามัยโพล ประเด็นพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนในการป้องกันโควิด-19 ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 10-22 มกราคม จากประชาชนทั่วประเทศ 19,279 คน พบว่า ประชาชนมีพฤติกรรมสวมหน้ากากเป็นประจำเมื่อไปที่สาธารณะถึงร้อยละ 94.48 ไม่สวมหน้ากากเลยเพียงร้อยละ 0.9 ซึ่งกลุ่มอายุที่สวมหน้ากากน้อยที่สุดคือ กลุ่มอายุน้อยกว่า 15 ปี และอายุ 15-24 ปี เมื่อสอบถามกรณีเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ พบว่า สถานที่ที่ประชาชนสวมหน้ากากน้อย คือ สวนสาธารณะ/สนามกีฬา ร้อยละ 66.5 ฟิตเนส/โรงยิม ร้อยละ 69.9 รวมทั้งวัด โบสถ์ โบราณสถาน ร้อยละ 70.9 จึงควรย้ำให้ประชาชนเมื่อไปสถานที่เหล่านี้ควรสวมหน้ากากตลอดเวลา ยกเว้นตอนรับประทานอาหาร ขณะออกกำลังกาย สถานที่ ที่ประชาชนสวมหน้ากากมากที่สุดคือ ห้างสรรพสินค้า ร้อยละ 82.53 รองลงมาคือ ตลาดและตลาดนัด ร้อยละ 80.45 สำหรับพฤติกรรมป้องกันตัวเอง พบว่าภาพรวมประชาชนตรวจวัดไข้ก่อนเข้าสถานที่ต่างๆ ร้อยละ 92.45 ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ ร้อยละ 88.14 และหลีกเลี่ยงอยู่ในสถานที่คนพลุกพล่าน ร้อยละ 82.07
          "ทั้งนี้ กรมอนามัยยังคงเน้นย้ำให้ประชาชนสวมหน้ากากตลอดเวลาและสวมอย่างถูกวิธี เมื่อออกจากบ้าน ล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร และหลีกเลี่ยงการไปในพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งขอให้โหลดแอปพลิเคชั่น "หมอชนะ-ไทยชนะ" ทุกครั้งที่ใช้บริการสถานที่สาธารณะต่างๆ หรือจดบันทึกประวัติการเดินทางของตนเองในแต่ละวัน เพื่อช่วยให้การสอบสวนโรคทำได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ขอความร่วมมือสถานประกอบการต่างๆ ประเมินมาตรฐานความสะอาดปลอดภัยป้องกันโรคโควิด-19 ด้วยตนเองผ่าน แพลตฟอร์ม "Thai Stop COVID" เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเฝ้าระวัง สร้าง ความมั่นใจให้ประชาชนที่มารับบริการ และยกระดับการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
          ตรวจเชิงรุกวันที่3พุ่งเป้า4.6พันราย
          ขณะที่ตลอดทั้งวันนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขยังปฏิบัติการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เชิงรุกต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าเก็บ ตัวอย่างกลุ่มเป้าหมาย 4,658 ราย ได้แก่ อ.เมืองสมุทรสาคร ประกอบด้วย ตลาดกลางกุ้ง และโรงงานในอ.เมือง 10 แห่ง รวม กลุ่มเป้าหมาย 1,358 ราย  เขตอ.กระทุ่มแบน เน้นโรงงานในพื้นที่ 18 แห่ง จำนวน เป้าหมาย 950 ราย และชุมชน 3 ตำบลในต.ท่าไม้ ต.สวนหลวง ต.อ้อมน้อย 10 ชุมชน กลุ่มเป้าหมาย 1,500 ราย เขต อ.บ้านแพ้วชุมชน 3 ตำบล ในต.หลักสาม ต.หนองบัว ต.โรงเข้ รวม 16 ชุมชน จำนวน 850 ราย ในส่วนการตรวจคัดกรองที่ตลาด กลางกุ้ง เจ้าหน้าที่ตรวจคัดกรองกลุ่มผู้สัมผัส เสี่ยงสูง 120 คน ที่อยู่ห้องเดียวกับแรงงานเมียนมา 113 คนที่ตรวจพบเชื้อ
          สำหรับแรงงานเมียนมา 120 คน ที่ ตรวจค้นหาเชื้อวันนี้ ถือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เมื่อผลออกมาพบว่าติดเชื้อ ก็นำตัวไปกักตัว ที่ศูนย์ห่วงใยคนสาคร สนามกีฬาจังหวัด
          พระราชทานรถวิเคราะห์ฯลงตรวจ
          ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี พระราชทานรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ 1 คัน และรถเก็บ ตัวอย่างชีวนิรภัย 3 คัน ให้จ.สมุทรสาคร เพื่อใช้ในภารกิจตรวจเชิงรุกหาผู้ติดเชื้อ โดย นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เผยว่า รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ พระราชทาน เปรียบเสมือนห้องปฏิบัติการมาตรฐาน ที่ตรวจ ตัวอย่างสารคัดหลั่งทั้งจากน้ำลายและ โพรงจมูก ซึ่งเจ้าหน้าที่นำออกไปเก็บตัวอย่าง กลุ่มเป้าหมายต้องสงสัยติดเชื้อ สามารถออกผลตรวจได้ภายใน 3 ชั่วโมง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในพื้นที่ สามารถ ตรวจผลสารตัวอย่างได้ 800-1,000 ตัวอย่าง รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ พระราชทาน มีเพียงคันเดียวในประเทศไทย และออกปฏิบัติงานที่จ.สมุทรสาครเป็นจังหวัดแรก สร้างความปลาบปลื้มแก่เจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง
          นายกฯยันฉีดให้สธ./จนท.ด่านหน้า
          เวลา 17.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการจัดผ่านแอปพลิเคชั่นพอดแคสต์ไทยคู่ฟ้าถึงความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยยืนยันว่าคนไทยทุกคนที่ต้องการฉีดจะได้รับการฉีดฟรี ยกเว้นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และสตรีมีครรภ์ ไม่ต้องกังวลเรื่องคุณภาพ เพราะเรายังคำนึงเรื่องความปลอดภัยสูงสุดของประชาชน วัคซีนที่เข้ามาต้องผ่านการรับรองขององค์การอาหารและยา(อย.) โดยระยะแรกรัฐบาลกำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ 19 ล้านคน ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 1.7 ล้านคน ผู้มีโรคประจำตัวเช่นโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง หัวใจ ไตเรื้อรัง หลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน 6.1 ล้านคน ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 11 ล้านคน และเจ้าหน้าที่ควบคุมโควิดและ มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 15,000 คน
          ย้ำเริ่มฉีด14ก.พ./ขอโทษไม่ทันใจ
          "วัคซีนลอตแรก 5 หมื่นโดส จะเข้ามาเร็วๆ นี้ และฉีดให้บุคลากรสาธารณสุข ตำรวจทหาร เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ในพื้นที่เสี่ยงก่อนเป็นลำดับแรก ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป ส่วนระยะที่ 2 เริ่มเดือนพฤษภาคม ขึ้นกับวัคซีนจะทยอยเข้ามาได้มากน้อยเพียงใด ส่วนนี้จะครอบคลุมประชาชนกลุ่มเสี่ยงลำดับถัดไป โดยกลุ่มเป้าหมายอาจปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ระบาดและประสิทธิภาพของวัคซีน รวมทั้งจำนวนวัคซีนที่หาได้ ย้ำว่ารัฐบาลจะทำให้ดีที่สุด ต่อไปไทยจะเป็นฐานผลิตวัคซีนของอาเซียน โดยดำเนินการตามแผนจะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ วันนี้เราต้องอดทนไประยะหนึ่ง หวังว่าสถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้นใน ไม่กี่เดือนข้างหน้า ระหว่างนี้เราต้องระวังตัว ปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐบาลออกไป ถ้าไม่ร่วมมือวันนี้ เราโทษกันไปกันมา ก็ไม่เกิด การแก้ปัญหาครบวงจร และขอโทษ หากไม่ทันใจ แต่ผมพยายามเร่งรัดที่สุดแล้วทุกมิติทุกเรื่อง" นายกฯกล่าว


pageview  1210905    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved