HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 28/06/2564 ]
คุมเข้มปริมณฑล/4จังหวัดใต้ล็อกดาวน์กทม.ห้ามนั่งกินในร้าน-งดรวมกลุ่ม

   งัด10มาตรการคุมพื้นที่1เดือนเต็มรบ.อ้างไม่ได้ล็อก-แค่ยกระดับชั่วคราวผู้ประกอบการโวยไม่แจ้งล่วงหน้าส่งทหารหมื่นนายคุมแคมป์คนงานติดเชื้อเพิ่ม3,995ราย-ตายอีก42ศพ
          ราชกิจจาฯเผยแพร่ประกาศล็อกดาวน์กรุงเทพฯปริมณฑล 4 จังหวัดชายแดนใต้ ปิดแคมป์ก่อสร้าง ห้างเปิดถึง 3 ทุ่ม ปิดโรงภาพยนตร์-สวนน้ำ ร้านอาหารห้ามนั่งกินในร้าน ซื้อกลับบ้านเท่านั้น เริ่มใช้จันทร์นี้ เป็นเวลา 30 วัน ด้านศปม.ศบค.จัดกำลังกว่าหมื่นนาย คุมแคมป์คนงาน 575 แห่ง ครอบคลุม 50 เขตกทม. เร่งหาวัคซีนฉีดกำลังพลที่ลงพื้นที่  โฆษกรัฐบาลยันไม่ได้ล็อกดาวน์กรุงเทพฯและ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดรวม 10 จังหวัด เพียงยกระดับมาตรการชั่วคราว เพื่อสกัดระบาด ปชช.ใช้ชีวิตปกติ เพียงแต่ให้งดเดินทาง สธ.ชี้ยอดติดเชื้อกทม.ยังพุ่งน่าห่วงรอบนี้ซับซ้อนกว่าที่ผ่านมา เพราะมีทั้งในแคมป์คนงาน ชุมชน โรงงาน ทำให้การปฏิบัติงานยาก ต้องใช้คนเยอะ ศบค.เผยยอดติด เชื้อใหม่ 3,995 ราย กทม.วันเดียวพุ่งไม่หยุด 1,370 มีคลัสเตอร์ต้องเฝ้าระวังอีก 111 แห่ง ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมี 6 จังหวัด เสียชีวิตอีก 42 ศพ
          เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ผู้สื่อข่าว รายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) ซึ่งลงนาม โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีสาระสำคัญคือการล็อกดาวน์กรุงเทพมหานครปริมณฑล จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัด นราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และ จังหวัดสงขลา โดยสรุปดังนี้ 1.ล็อกดาวน์ปิดแคมป์ก่อสร้าง 30 วัน เพื่อเข้าควบคุมและชะลอการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
          2.การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ในร้านอาหารทั้งหมดให้เปิดดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น 3.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าคอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ถึงเวลา 21.00 น. โดยให้งดการให้บริการเพิ่มเติมในพื้นที่โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ สวนน้ำ พื้นที่นั่งรับประทานในศูนย์อาหาร และเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคลในพื้นที่พักคอย เพิ่มประสิทธิภาพของระบบหมุนเวียนอากาศ 4.โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติ โดยให้งดกิจกรรมจัดการประชุม การสัมมนา และการจัดเลี้ยง  5.ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคล ที่มีจำนวนรวมกันมากกว่ายี่สิบคน เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
          ศปม.จัดกำลังหมื่นนายคุม575แคมป์
          หลัง พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติด เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สั่งการให้เพิ่มมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายของประชาชนและแรงงานในพื้นที่ระบาดสูง การควบคุมแคมป์คนงาน ก่อสร้างในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมทั้งควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้น พล.ต.ธีรพงศ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา รองโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย เปิดเผยว่า พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด/หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ผบ.ทสส./หน.ศปม.) สั่งการให้ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงตำรวจ, กองบัญชาการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง และศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงเหล่าทัพ จัดกำลังพล ร่วมสนธิและวางกำลังปฏิบัติหน้าที่ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และกระทรวงสาธารณสุข โดยมีเจ้าหน้าที่ 10,000 นายเข้าปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนด ซึ่งปัจจุบันดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วใน 50 เขต ของกรุงเทพมหานครจำนวน 575 แคมป์งานก่อสร้าง  ซึ่งกำลังพลที่เข้าปฏิบัติหน้าที่แต่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน จะเร่งฉีดวัคซีนให้โดยเร็ว เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจกำลังพลจะถูกส่งเข้ากระบวนการตรวจคัดกรองโรค และกักตนเองแยกจากครอบครัว 14 วัน
          ยันไม่ได้ล็อกดาวน์แค่ยกระดับคุมเข้ม
          ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่นายกฯประชุมร่วมกับคณะ ที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหาร สถานการณ์โควิด-19 และที่ศบค. ได้ประกาศข้อกำหนด ฉบับที่ 25 ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษานั้น เป็นการใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อควบคุมการระบาดไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่เป้าหมายเฉพาะ 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สงขลา สมุทรปราการและสมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงาน สถานประกอบการ ที่พบว่ามีการแพร่ระบาดแบบกลุ่มก้อน ซึ่งยืนยันว่า ไม่ได้ล็อกดาวน์
          งดนั่งกิน-รวมตัวเกิน20-ตรวจเข้ม10จว.
          โฆษกฯกล่าวต่อว่า สรุปมาตรการตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. ที่ 6/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548  ลงวันที่ 26 มิถุนายน ให้ปฎิบัติวันที่ 28 มิถุนายน อย่างน้อย 30 วัน ดังนี้
          1.ปิดสถานที่พักอาศัยชั่วคราว สำหรับคนงานทั้งภายในและภายนอกสถานที่ก่อสร้าง รวมทั้งให้หยุดงานก่อสร้าง และห้ามเดินทางเคลื่อนย้ายแรงงานชั่วคราวอย่างน้อย 30 วัน 2.ให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม เฉพาะนำ กลับไปบริโภคที่บ้าน 3.ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิด ดำเนินการได้ถึง เวลา 21.00 น. งดจัด กิจกรรมในพื้นที่ โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ สวนน้ำ งดนั่งรับประทานในศูนย์อาหาร 4.งดกิจกรรมรวมกลุ่มที่เกิน 20 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ 5.ตั้งจุดตรวจเพื่อคัดกรองการเดินทางเข้า-ออก ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา รวมถึง กรุงเทพมหานคร และ 5 จังหวัดปริมณฑล คือ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ข้อกำหนดที่เข้มข้น เป็นการยกระดับมาตรการชั่วคราว  ให้สอดคล้องสถานการณ์ระบาด โดยมีผลในพื้นที่และกลุ่มเสี่ยงสูง  สำหรับประชาชนทั่วไปยังเดินทางและดำเนินกิจกรรมประจำวันตามปกติและขอให้ หลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัดในระยะนี้
          สมาคมภัตตาคารช็อกห้ามนั่งกิน30วัน
          นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคม ภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า หลังจากเว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ข้อกำหนดออกมาควบคุมการติดเชื้อ โดยให้การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เปิดดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภค ที่อื่นเท่านั้นเป็นเวลา 30 วัน  ถือว่าสร้างความตกใจให้กับ บรรดาคนทำร้านอาหารเป็นอย่างมาก เหมือนกับเหมือนโดนฟ้าผ่ากลางวันแสกๆ ซ้ำๆ กัน 4-5 หน เพราะที่ผ่านมาร้านอาหาร ก็ปฏิบัติตัวตามข้อตกลงของทางสาธารณสุข มาตลอด และเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐก็ได้ผ่อนปรน กิจการให้เปิดได้ถึง 5 ทุ่ม แต่ตอนนี้กลับมาปิด อีกครั้ง จึงสร้างความเดือดร้อนแน่นอน
          "ร้านอาหารส่วนใหญ่มีรายได้จากการเปิดให้คนมานั่งกินอาหารในร้านกว่า 90% ดังนั้นการจำกัดให้ซื้อกลับบ้านอย่างเดียวคงจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก ก็นึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไรดี เพราะที่ผ่านมา ก็ได้ทำหนังสือแจ้งนายกฯ ถึงการขอผ่อนปรนต่างๆ จนได้รับการตอบรับมาแล้ว"
          ทั้งนี้ที่ผ่านมาสมาคมฯ ยอมรับว่า ว่า ตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสโควิดจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 1 ปี 6 เดือน มีการสำรวจพบว่า จำนวนร้านอาหารพื้นที่ 200 ตร.ม.ขึ้นไป ที่มีจำนวน 150,000 ราย ปิดกิจการ ประมาณ 2 หมื่นราย ร้านขนาดพื้นที่ไม่ถึง 200 ตร.ม. ปิดกิจการประมาณ 3 หมื่นราย
          อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมาได้ยื่นแนวทางขอรับการช่วยเหลือผ่านมาตรการของรัฐแล้ว เพราะหากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที อาจจะต้องปิดกิจการอีกประมาณ 5 หมื่นราย ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งจะมีผลต่อการจ้างงานของแรงงานประมาณ 1 ล้านคน ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อีกจำนวนมากในกระบวนการผลิต อีกทั้งยังมีผู้ประกอบการขนาดย่อมอีก 3 แสนราย ที่เป็นสตรีทฟู้ดด้วย
          หนักใจกทม.ติดเชื้อระบุที่ไม่ได้อีกอื้อ
          ขณะที่นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 5 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในกทม. มีทั้งระบาดเป็นคลัสเตอร์หลายคลัสเตอร์มากกว่า 110 คลัสเตอร์ ทำให้ตัวเลข ผู้ติดเชื้อค่อนข้างมาก การควบคุมโรคก็ซับซ้อน ต้องใช้จำนวนคนลงไปทำงานมากสร้างความเครียดให้คนทำงานค่อนข้างมากพอสมควร  อย่างไรก็ตาม จำนวนคลัสเตอร์ที่เห็นในกทม. นั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เหลือคือ ชุมชนแออัด โรงงาน และเชื่อว่าตอนนี้ยังมีคลัสเตอร์ที่เราระบุได้ ไม่หมดอีกจำนวนหนึ่ง ครั้งที่คุยกับทีมงาน ถึงตัวเลข หากเราดูจำนวนผู้ป่วยรายวัน จะมียอดหนึ่งที่ไม่สัมพันธ์กับคลัสเตอร์ ซึ่งทีมงานต้องใช้ความพยายามติดตามตัวเลขส่วนนี้อยู่ ว่าอยู่ที่ไหน มาจากไหน
          ระบาดใหม่ต่างจากเดิมปรับวิธีทำงาน
          นพ.ธนรักษ์กล่าวต่อว่า สถานการณ์ ระบาดในกทม.และปริมณฑล รวมถึงจ.สมุทรสาคร ที่เกิดขึ้นขณะนี้ไม่เหมือนระลอกที่ผ่านมา วิธีควบคุมก็ต่างกัน ช่วง ระบาดในแรงงานสมุทรสาครเมื่อเดือนธันวาคม 2563 พบโรงงานใหญ่ติดเชื้อ 9 แห่ง ส่วนโรงงานอื่นติดเชื้อน้อย ใช้สอบสวนควบคุมโรคเพื่อหยุดการระบาด ไม่ได้ให้หยุดงาน ยังทำงานได้ปกติ แทบไม่มีโรงงานโดนสั่งปิด แต่ก็กันไม่ให้แรงงานสัมผัสประชาชนกลุ่มอื่น และพยายามลดติดเชื้อในกลุ่มแรงงาน ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนเศษ อัตราติดเชื้อก็ลดลงในระดับที่เรารับได้ กลับมาใช้ชีวิตได้ และคอยติดตามสถานการณ์ พบว่า จำนวน ผู้ติดเชื้อใหม่ ลดลงไปเรื่อยๆ เหลือเลขหลักเดียวในช่วงต้นเดือนเมษายน
          ย้ำขาดวินัย-ไม่ร่วมมือบับเบิ้ลแอนด์ซีลรั่ว
          นพ.ธนรักษ์กล่าวอีกว่า มาตรการ บับเบิ้ลแอนด์ซีล จะมีสภาวะที่เกิดขึ้นจริงคือ กลุ่มประชากรหนึ่งมีอัตราติดเชื้อมากกว่ากลุ่มที่อยู่ใกล้เคียงโดยรอบ วิธีคิดการป้องกันไม่ให้เชื้อในพื้นที่มีความเข้มข้นสูงไหลออกมานอกพื้นที่หรือไหลสู่ชุมชนรอบข้างที่มีความเข้มข้นต่ำกว่าด้วยการสร้างบับเบิ้ลเป็นกำแพงขึ้นมา เราต้องลดการสัมผัสของคน 2 กลุ่มลง กำหนดเส้นทาง มีรถรับส่งแรงงาน ไม่แวะที่อื่นระหว่างเดินทาง ไม่ออกนอกพื้นที่ และต่อไปคือลดการติดเชื้อในบับเบิ้ลให้เร็วที่สุด นายจ้างจึงมีส่วนสำคัญในการควบคุมมาตรการในโรงงานและหอพักของคนงาน หากทำได้ก็จะช่วยลดปัญหาได้ค่อนข้างมาก แต่สถานการณ์ในกทม. มีแรงงานไทยและต่างชาติทำงานร่วมกัน เช่น ในโรงงาน ที่คนไทยมีบ้านอยู่ในหลายพื้นที่ ตอนเช้านั่งรถไปทำงาน เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น เราต้องดูว่าจะจัดการกับ คนไทยอย่างไรให้อยู่ในบับเบิ้ลเหมือนกัน จึงเป็นเรื่องที่ยาก ดังนั้น เมื่อนำมาตรการมาใช้ต้องปรับให้เข้าบริบท และมีกำลังมากพอในการทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย ยิ่งมีความซับซ้อนของประชากร การพูดคุยกันเพื่อให้เกิดความร่วมมือเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก หากทุกคนรู้หน้าที่ตัวเอง เข้าใจสถานการณ์และตั้งใจช่วยยังพอไปได้" นพ.ธนรักษ์ กล่าวและว่า ความท้าทายอีกอย่างคือ กลุ่มรับเหมาช่วงหลายแคมป์ หากควบคุมไม่ดี จะติดเชื้อไปในแคมป์อื่นทำให้บับเบิ้ลรั่ว จึงต้องมีวินัยสูง
          สิ่งที่ประชาชนต้องเข้มงวดคือจากตัวเอง ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือและเว้นระยะห่าง ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการสัมผัสผู้ติดเชื้อ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับตนเองและครอบครัว
          ติดใหม่3,995รายสะสม2.15แสน
          เวลา 13.25 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด ของ โควิด-19 ในประเทศไทยว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อใหม่ 3,995 ราย จำแนกเป็นผู้ติดเชื้อทั่วไปในประเทศ 3,915 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 35 ราย และติดเชื้อในเรือนจำ/ที่ต้องขังเพิ่ม 45 ราย โดยสถิติตั้งแต่ 1 เมษายน 2564 พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 215,584 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 รวม 244,447 ราย หายป่วยเพิ่มวันนี้ 2,253 ราย หายป่วยสะสม 171,502 ราย หายป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 รวม 198,928 ราย
          ตายเพิ่ม42-อาการหนัก1,725คน
          ศบค.ยังระบุด้วยว่า วันนี้มีผู้เสียชีวิต 42 คน เสียชีวิตสะสม 1,818 คน เสียชีวิต สะสมตั้งแต่ปี 2563 รวม 1,912 คน ส่วน ผู้ป่วยรักษาอยู่ 43,607 ราย แบ่งเป็นรักษา ในโรงพยาบาล 17,159 ราย โรงพยาบาลสนาม 26,448 ราย อาการหนัก 1,725 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 489 ราย ขณะที่ จำนวนผู้รับวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์- 26 มิถุนายน รวม 9,055,141 โดส ใน 77 จังหวัด จำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 สะสม 6,475,826 ราย และเข็มที่ 2 สะสม 2,579,315 ราย
          กทม.ไม่ลดวันเดียวติด1,370ราย
          ศบค.ยังเปิดเผยอีกว่า สำหรับ ผู้ติดเชื้อใหม่ 3,995 ราย แบ่งเป็น ติดเชื้อในกรุงเทพมหานคร 1,370 ราย ปริมณฑล 5 จังหวัด จำนวน 917 ราย จังหวัดอื่นรวม 71 จังหวัด จำนวน 1,628 ราย และเรือนจำ/ที่ต้องขัง 45 ราย ส่วนผู้เสียชีวิต 42 ราย แบ่งเป็นชาย 27 ราย หญิง 15 ราย อายุ 69 ปี (32-93 ปี) โดยกรุงเทพมหานคร 27 ราย ฉะเชิงเทรา นครปฐม ปทุมธานี 2 ราย ส่วน เพชรบุรี ชลบุรี นครราชสีมา นนทบุรี ปราจีนบุรี ปัตตานี ยะลา อุดรธานี อุทัยธานี จังหวัดละ 1 ราย  ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวหรือปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคปอด หลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ มะเร็ง และอ้วน ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โควิด-19 ยังคงติดจากคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ไปยังสถานที่แออัดพลุกพล่าน และอาชีพเสี่ยง ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 35 ราย แบ่งเป็น ยูกันดา เคนยา มาเลเซีย เมียนมา ประเทศละ 1 ราย ส่วนกัมพูชา 31 ราย
          10จว.ติดเชื้อพุ่ง-กทม.ยังแชมป์
          สำหรับ 10 อันดับ จังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด ในประเทศรายใหม่ สูงสุด ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 27 มิถุนายน เวลา 01.00 น. อันดับ 1 ยังคงเป็นกรุงเทพมหานคร (กทม.) ติดเชื้อรายใหม่ วันนี้ 1,370 ราย ยอดสะสม 67,623 ราย อันดับ 2 สมุทรสาคร 289 ราย ยอดสะสม 7,122 ราย อันดับ 3 สมุทรปราการ 231 ราย ยอดสะสม 15,527 ราย อันดับ 4 นนทบุรี 195 ราย ยอดสะสม 10,702 ราย อันดับ 5 ปัตตานี 189 ราย ยอดสะสม 1,788 ราย อันดับ 6 ชลบุรี 155 ราย ยอดสะสม 7,680 ราย อันดับ 7 สงขลา 133 ราย ยอดสะสม 3,831 ราย อันดับ 8 ปทุมธานี 126 ราย ยอดสะสม 7,424 ราย อันดับ 9 ยะลา 94 ราย ยอดสะสม 1,546 ราย และอันดับ 10 ฉะเชิงเทรา 93 ราย ยอดสะสม 2,130 ราย
          6จังหวัดไม่พบผู้ป่วยใหม่
          ขณะที่วันนี้มี 6 จังหวัดที่ไม่พบ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ ได้แก่ ลำพูน ลำปาง แพร่ แม่ฮ่องสอน บึงกาฬ และมุกดาหาร ส่วนสถานการณ์โควิดในกรุงเทพมหานคร มีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังขณะนี้ 111 แห่ง โดยมีคลัสเตอร์ที่ไม่พบผู้ป่วยตั้งแต่ 28 วันขึ้นไป 19 แห่ง อาทิ โรงงานน้ำแข็ง เขตจตุจักร ชุมชนบ่อนไก่ เขตปทุมวัน ชุมชนวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
          กทม.พบสายพันธุ์แอฟริกาใต้โยงนราฯ
          แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย ขณะนี้ พบผู้ติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีเชื้อ ไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) และสายพันธุ์ เดลต้า (อินเดีย) เป็นส่วนใหญ่ แต่ล่าสุด มีรายงานว่าพบเชื้อสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) ในพื้นที่กรุงเทพฯด้วย  เบื้องต้นมี 1 ราย ซึ่งจากการสอบสวนโรคเบื้องต้นมีความเชื่อมโยงมาจากผู้ติดเชื้อที่ จ.นราธิวาส ส่วนในรายละเอียดนั้น ทราบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะมีการแถลงรายละเอียดให้ทราบ


pageview  1210871    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved