HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 05/07/2564 ]
โควิดรายวันยังถล่มไทยหนักป่วยเฉียด6พันคน กทม.เปิด 6 จุดพักคอยรอเตียง

เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เสนอ5กลยุทธ์รับมือ/เพิ่มเตียง-ไอซียูรบ.คลายล็อกก่อสร้างบางพื้นที่ซิโนฟาร์มถึงไทยอีก1ล้านโดส
          โควิดไทยวิกฤติต่อเนื่องติดเชื้อรายวัน 5,916 ราย เสียชีวิต 44 ศพ อาการหนัก 2,147 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 616 ราย กรุงเทพฯยังหนักติดเชื้อรายวันสูงสุด 1,498 คน มี 4 จังหวัดไม่พบติดโควิดเพิ่ม ส่วนยอดการฉีดวัคซีนถึง 3 กรกฎาคมฉีดแล้ว 10,670,897 โดส วัคซีนซิโนฟาร์ม ลอตสองถึงไทยแล้ว "หมอนิธิ" เผยอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดพบว่า 97% ไม่มีอาการ ส่วนอาการไม่พึงประสงค์เพียง 100 ราย จากทั้งหมด 67,992 ราย ที่รับวัคซีน คิดเป็น 0.1% เท่านั้น อาการที่พบส่วนใหญ่มี เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน อาการเล็กน้อย ยังไม่มีอาการรุนแรงจากซิโนฟาร์ม
          เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในประเทศไทยประจำวันที่จำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
          ติดโควิดรายใหม่5,916-ตาย44
          ศบค.ระบุว่า วันนี้ไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 5,916 ราย จำแนกเป็นผู้ติดเชื้อ ทั่วไปในประเทศ 5,871 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 6 ราย และติดเชื้อในเรือนจำ/ ที่ต้องขังเพิ่ม 39 ราย โดยสถิติตั้งแต่ 1 เมษายน 2564 พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 254,204 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 รวม 283,067 ราย หายป่วยเพิ่มวันนี้ 3,404 ราย หายป่วยสะสม 193,477 ราย หายป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 รวม 220,903 ราย
          วันนี้มีผู้เสียชีวิต 44 คน เสียชีวิตสะสม 2,132 คน เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 รวม 2,226 คน ส่วนผู้ป่วยรักษาอยู่ 59,938 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 30,145 ราย โรงพยาบาล สนาม 29,793 ราย อาการหนัก 2,147 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 616 ราย ขณะที่ จำนวนผู้รับวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์-3 กรกฎาคม รวม 10,670,897 โดส ใน 77 จังหวัด จำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 สะสม 7,721,150 ราย และเข็มที่ 2 สะสม 2,949,747 ราย
          กรุงเทพฯติดเชื้อสูงสุด1,498คน
          ศบค.ยังระบุอีกว่า สำหรับผู้ติดเชื้อใหม่ 5,916 ราย แบ่งเป็นติดเชื้อ ในกรุงเทพมหานคร 1,498 ราย ปริมณฑล 5 จังหวัดจำนวน 1,762 ราย 4 จังหวัด ภาคใต้ ไม่รวมเรือนจำ 699 ราย จังหวัดอื่นๆ จำนวน 67 จังหวัดจำนวน 1,912 ราย และเรือนจำ/ที่ต้องขัง 39 ราย ส่วน ผู้เสียชีวิต 44 ราย แบ่งเป็นชาย 24 คน หญิง 20 คน โดยกรุงเทพมหานคร 30 คน สมุทรปราการ 3 คน ยะลา นครปฐม จังหวัดละ 2 คน ส่วนขอนแก่น ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช จังหวัดละ 1 คน
          4จังหวัดไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม
          สำหรับ 10 อันดับจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ รายใหม่สูงสุด ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 4 กรกฎาคม ถึงเวลา 01:00 น.อันดับ 1 ยังคงเป็นกรุงเทพมหานคร (กทม.) ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ 1,498 ราย ยอดสะสม 80,515 ราย อันดับ 2 ปทุมธานี 458 ราย ยอดสะสม 9,403 ราย อันดับ 3 สมุทรปราการ 412 ราย ยอดสะสม 18,850 ราย อันดับ 4 สมุทรสาคร 395 ราย ยอดสะสม 9,222 ราย อันดับ 5 ชลบุรี 275 ราย ยอดสะสม 9,476 ราย อันดับ 6 นนทบุรี 267 ราย ยอดสะสม 12,339 ราย อันดับ 7 สงขลา 232 ราย ยอดสะสม 5,288 ราย อันดับ 8 นครปฐม 230 ราย ยอดสะสม 4,992 ราย อันดับ 9 ปัตตานี 213 ราย ยอดสะสม 2,949 ราย และอันดับ 10 ยะลา 205 ราย ยอดสะสม 2,540 ราย มีเพียง 4 จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่ ได้แก่ อ่างทอง ลำพูน ชุมพร และแม่ฮ่องสอน
          11จังหวัดติดเชื้อมากกว่าร้อยราย
          ข้อมูลของ ศบค.ยังรายงานเพิ่มเติม ว่า ทั้งนี้ เฉพาะผู้ติดเชื้อวันที่ 4 กรกฎาคมพบว่ามี 11 จังหวัด ที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 ราย คือ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ชลบุรี นนทบุรี สงขลา นครปฐม ปัตตานี ยะลา และตาก ส่วนผู้ติดเชื้อ 51-100 ราย มี 7 จังหวัด คือ ราชบุรี สระบุรี เพชรบุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา และสุรินทร์ ส่วนผู้ติดเชื้อ 11-50 ราย มี 33 จังหวัด คือ นราธิวาส ระยอง นครราชสีมา ร้อยเอ็ด สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี ศรีสะเกษ สระแก้ว อุบลราชธานี ชัยภูมิ นครสวรรค์ มหาสารคาม ขอนแก่น อุดรธานี ประจวบคีรีขันธ์ กาฬสินธุ์ จันทบุรี สมุทรสงคราม นครศรีธรรมราช กำแพงเพชร บุรีรัมย์ อุทัยธานี กระบี่ สกลนคร กาญจนบุรี พิษณุโลก เลย นครนายก เชียงราย สุโขทัย ยโสธร สุราษฎร์ธานี อุตรดิตถ์
          ผู้ติดเชื้อ 1-10 ราย มี 22 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ สิงห์บุรี พิจิตร มุกดาหาร ตรัง ระนอง นครพนม สตูล พัทลุง ลำปาง หนองบัวลำภู หนองคาย อำนาจเจริญ เชียงใหม่ พังงา ตราด แพร่ พะเยา ภูเก็ต น่าน ชัยนาท และบึงกาฬ ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวหรือปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคหัวใจ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โควิด-19 ยังคงติดจากคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน การเข้าไปสถานที่แออัดพลุกพล่าน และ ประกอบอาชีพเสี่ยง เช่น ค้าขายและบุคลากรทางการแพทย์ ส่วน ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 6 ราย แบ่งเป็น คูเวต 2 ราย กัมพูชา 4 ราย
          เรือนจำป่วย39-รักษาหาย552คน
          นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผยถึงสถานการณ์การ แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถาน ข้อมูลจนถึงวันที่ 3 กรกฎาคม เวลา 16.00 น.พบผู้ต้องขังติดเชื้อใหม่เพียง 39 ราย โดยวันนี้พบในเรือนจำสีแดงเป็นผู้ติดเชื้อมาจากเรือนจำกลางสงขลา เรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร เรือนจำจังหวัดสุพรรณบุรี และเรือนจำพิเศษมีนบุรีและเป็นการตรวจพบเชื้อในห้องแยกกักโรคผู้ต้องขังรับใหม่ 3 ราย วันเดียวกันนี้ มีผู้ป่วยรักษาหายเพิ่ม 552 รายอยู่ในเรือนจำในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 502 ราย หรือ 90.9% และจากพื้นที่ต่างจังหวัด 50 ราย หรือ 9.1% รวมหายสะสม 34,746 ราย หรือ 94.5% ของจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด 36,734 ราย คงมีจำนวนผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรักษารวม 1,690 ราย หรือ 4.6% ของผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด ซึ่งต่ำกว่า 2,000 รายเป็นวันแรก โดยเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว 67.9% สีเหลือง 31.1% และสีแดง 1% และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตในวันนี้
          สำหรับภาพรวมสถานการณ์วันนี้ มีเรือนจำสีขาวที่ไม่พบการระบาด 123 แห่ง ลดลง 1 แห่ง จากเรือนจำพิเศษมีนบุรี ที่พบผู้ติดเชื้อจากแดนในของเรือนจำ ส่วนทัณฑสถานหญิงกลางถูกลดสถานะจากเรือนจำสีแดงลง เพราะปัจจุบันไม่มีผู้ติดเชื้อที่รักษาอยู่ และสามารถควบคุมการระบาดได้แล้ว ส่งผลให้เรือนจำสีแดงที่พบการระบาดคงที่คือ 10 แห่ง
          'ซิโนฟาร์ม'ลอตสองถึงไทยแล้ว
          วันเดียวกัน แฟนเพจ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยความคืบหน้าการขนส่งวัคซีนโควิด-19 ของซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ว่า วัคซีนซิโนฟาร์ม ลอตที่ 2 จำนวน 1 ล้านโดส เดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทยแล้วด้วยเที่ยวบิน TG675 เมื่อเวลา 10.44 น.
          สำหรับ วัคซีนซิโนฟาร์ม เป็น วัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine) เช่นเดียวกับ "ซิโนแวค" และ "โควาซิน" เป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) สามารถฉีดได้ตั้งแต่ กลุ่มผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุโดยไม่มีข้อบ่งชี้ที่จำกัดเรื่องอายุ
          ฉีดซิโนฟาร์มพบอาการไม่ดี0.1%
          ด้านศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ค Nithi Mahanonda เผยภาพวัคซีนตัวเลือก ซิโนฟาร์ม ลอตที่สองมาถึงประเทศไทยแล้ว พร้อมกับมีการโพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับ อาการไม่พึงประสงค์จากฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ว่า รายละเอียดรายงานอาการไม่พึงประสงค์ จากการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ข้อมูลดังกล่าว คลาดเคลื่อน ในการรายงานจำนวนผู้ได้รับ วัคซีนซิโนฟาร์มทั่วประเทศ 67,992 รายนั้น ร้อยละ 97 ไม่พบอาการผิดปกติ ส่วนการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ พบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ภายใน 30 นาทีระหว่างรอสังเกตอาการหลังฉีดวัคซีน เพียง 100 รายจากทั้งหมด 67,992 รายที่รับวัคซีน คิดเป็น 0.1% เท่านั้นที่มีอาการไม่พึงประสงค์ใน 30 นาที หลัง รับวัคซีน และอาการที่พบบ่อย ได้แก่ เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน หายใจ ไม่อิ่ม ทุกรายมีอาการเพียงเล็กน้อย ถึงปานกลาง
          ปวดหัว-ปวดกล้ามเนื้อ-มีไข้
          ศ.นิธิระบุต่อว่า การรายงานอาการ ไม่พึงประสงค์ภายหลังรับวัคซีนซิโนฟาร์ม 1 วัน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ส่ง sms รายงานอาการไม่พึงประสงค์แก่ผู้รับบริการ วัคซีน เพื่อติดตามความปลอดภัย อาการข้างเคียงได้ทันท่วงที พบว่ามีผู้ตอบ sms จำนวน 17,154 ราย คิดเป็น 25% ของผู้รับบริการวัคซีน ซึ่งโดยส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติ ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ที่รายงาน ว่ามีอาการผิดปกติ พบว่าอาการไม่พึงประสงค์ ที่พบบ่อยได้แก่ ปวดศีรษะ (2.3%), อ่อนเพลีย (1.7%), ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ (1.7%), ปวด บวมบริเวณที่ฉีดยา (1.6%), ไข้ (1.5%) สอดคล้องกับผลรายงาน evidence assessment: Sinopharm/BBIBP COVID-19 vaccine ของ WHO รายงานอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยได้แก่ ปวดบริเวณที่ฉีดยา ปวดศีรษะและ อ่อนเพลียย้ำเคลมประกันง่าย-ยังไม่มีโคม่า
          ส่วนการรักษาพยาบาลนั้น ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นห่วงความปลอดภัยของผู้รับบริการวัคซีนทุกราย ในกระบวนการรับวัคซีนซิโนฟาร์มนั้น จะมีประกันสุขภาพ เพื่อรองรับการรักษาพยาบาลเมื่อเกิดอาการไม่พึงประสงค์ ที่เกิดขึ้น สามารถเคลมประกันเข้ารับการรักษาได้ง่าย จากรายงานบริษัทประกันพบว่า มีผู้รับบริการฉีดวัคซีนแล้วขอเคลมประกันรักษาพยาบาลอาการไม่พึงประสงค์ โดยรับการรักษาในรพ. 8 ราย ดังนั้น ขณะนี้ขอย้ำว่า ยังไม่มีการรายงานอาการรุนแรงจากการรับวัคซีนซิโนฟาร์มเลย
          ปชช.ทั่วไปให้อดใจรออีก2สัปดาห์
          สำหรับการรายงานอาการที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนซิโนฟาร์ม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์รายงานทุกเหตุการณ์ ด้วยความโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนมั่นใจการรับบริการวัคซีนซิโนฟาร์ม และขอให้ประชาชนผู้รับบริการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม มั่นใจว่าวัคซีนซิโนฟาร์มปลอดภัยสูง อาการไม่พึงประสงค์พบเป็นเพียงอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ไม่มีอาการข้างเคียงที่รุนแรงเลยจากการฉีดวัคซีน 67,992 ราย
          ศ.นพ.นิธิยังโพสต์ให้ข้อมูลอีกว่า สำหรับวัคซีนที่จัดฉีดวันที่ 4 กรกฎาคมของ รพ.จุฬาภรณ์ สำหรับผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ คนชรามีจำนวนเกือบ 7 พันคน แล้ว ส่วนใหญ่เป็นผู้พิการ มีผู้สูงอายุมาก ดังนั้น หากไม่ใช่กลุ่มดังกล่าว อย่ามาเบียดแย่ง ผู้พิการ คนชราขอร้อง มาแออัดกันอาจได้เชื้อกลับบ้านแทน รอไว้วันอื่น บุคคลที่นั่งรถส่วนตัว กระเป๋าราคาแพง รองเท้าแบรนด์อย่ามาเลยครับ ไม่ได้อยู่ในกลุ่มด้อยโอกาส ขอให้รอระยะที่สอง สัญญาแล้วว่า อีก 1-2 สัปดาห์ สำหรับคนอยากช่วยรัฐบาลออกเงิน ค่าวัคซีน จะมีประกาศต่อไป
          คลายล็อกก่อสร้างกทม.-ปริมณฑล
          มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. เพื่อขอให้พิจารณาอนุมัติหลักการการให้อนุญาตสำหรับการก่อสร้างโครงการก่อสร้างบางประเภท และเคลื่อนย้ายแรงงานในกรณีจำเป็น โดยเสนอขอให้ผ่อนคลายข้อกำหนดฉบับ ที่ 25 กรณีคำสั่งห้ามการก่อสร้าง ในโครงการก่อสร้างบางประเภท ได้แก่
          1.โครงการก่อสร้างซึ่งหากหยุดก่อสร้างทันที หรือการดำเนินการล่าช้าอาจก่อให้เกิดความเสียหายเชิงโครงสร้างด้านวิศวกรรมจนยากต่อการแก้ไข หรือเกิดอันตรายแก่ประชาชนที่สัญจรไป-มา หรือชุมชนโดยรอบโครงการก่อสร้างนั้น เช่น โครงการก่อสร้างใต้ดินที่มีความลึก การก่อสร้างชั้นใต้ดินที่ยังไม่ได้เทปูนปิดล้อม 2.การก่อสร้างชั่วคราวซึ่งหยุดการก่อสร้างทันที หรือดำเนินการล่าช้าจะได้รับความเสียหายจนเกิดอันตรายแก่ประชาชนที่สัญจรไปมา หรือชุมชนโดยรอบโครงการดังกล่าว เช่น นั่งร้าน และแบบรอการเทปูน โดยเฉพาะแผ่นพื้นที่ 3.การก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านการจราจร เช่น ไฟสัญญาณจราจร แบริเออร์กั้นช่องจราจร แผ่นเหล็กปิดงานก่อสร้างบนผิวจราจร และ 4.การก่อสร้างในสถานที่ก่อสร้างที่เกี่ยวกับมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 และเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ด้านสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาล สถานพยาบาลหรือสถานที่ก่อสร้างอื่นที่ใช้ควบคุมโรค
          นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พิจารณาขอผ่อนคลายคำสั่งเคลื่อนย้ายแรงงานประเภทก่อสร้างจากสถานที่พักชั่วคราว ทั้งกรณีข้ามเขตจังหวัด หรือในเขตจังหวัด เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรคโควิด-19 เช่น การรักษาพยาบาล การควบคุมป้องกันโรค การตรวจสุขภาพ การตรวจวินิจฉัยและการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้รับมอบอำนาจจาก คณะกรรมการโรคติดต่อเป็นผู้พิจารณา อนุญาตโครงการก่อสร้างที่เข้าหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ประเภทข้างต้นในเขตพื้นที่ของตนเองเป็นกรณีไป
          รายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุม ศปก.ศบค.พิจารณาข้อเสนอดังกล่าวแล้ว และเห็นชอบในหลักการ ขณะเดียวกัน มีข้อเสนอเพิ่มเติมเพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุข ดังนี้ เห็นสมควรให้ผ่อนคลาย คำสั่งห้ามก่อสร้างในโครงการบางประเภทตามที่กทม.เสนอ โดยเฉพาะในโครงการที่แรงงานก่อสร้างนั้นได้รับวัคซีนแล้วสามารถเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้างได้ ขณะเดียวกัน เห็นสมควรให้ผู้ว่าฯกทม.หรือผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้พิจารณาอนุญาตโครงการก่อสร้างที่เข้าหลักเกณฑ์เป็นรายไป และขอให้กทม.ปริมณฑลกำกับติดตามการก่อสร้างโครงการที่จำเป็นตามที่ได้รับผ่อนคลายให้ดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันโควิดที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ เมื่อศปก.ศบค.เสนอขอให้พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะ ผอ.ศบค.แล้ว จึงได้ลงนาม เห็นชอบมาตรการผ่อนคลายดังกล่าวเมื่อ วันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมาแล้ว
          ตั้งศูนย์พักคอย6เขตผู้ป่วยรอเตียง
          วันเดียววัน เฟซบุ๊ค ผู้ว่าฯ อัศวิน ของพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความ ระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในตอนนี้ กทม. ได้เร่งนำส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล มาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. จนถึงวันนี้ ส่งผู้ป่วยโควิดเข้าโรงพยาบาล แล้ว 19,337 ราย แต่การระบาดในแต่ละวัน มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ยังมีผู้ป่วยตกค้างอยู่ ถึงแม้ว่า กทม.ได้เพิ่มจำนวนเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยให้มากที่สุดแล้วก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะต้องทำอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดในครอบครัวและในชุมชนเพิ่มมากขึ้น คือ การแยกผู้ป่วยออกจากครอบครัว โดยการจัดตั้ง "ศูนย์พักคอย" ใช้เป็นสถานที่ ให้ผู้ป่วยโควิดสีเขียวอยู่ระหว่างการรอ ส่งต่อโรงพยาบาล และใช้เป็นสถานที่สำหรับดูแล กลุ่มคนที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษระหว่างรอเตียง เช่น เด็กที่พ่อแม่ติดเชื้อที่ไม่มีคนในครอบครัวดูแล
          ศูนย์พักคอยรอการส่งต่อผู้ป่วย โควิดเข้ารักษาในโรงพยาบาล หรือ Community Isolation กทม.มีแผนจะจัดตั้งให้ครบทั้ง 6 กลุ่มเขตและจะจัดตั้ง ให้มากที่สุดทุกเขตทั่วพื้นที่ กทม.การดูแล ผู้ป่วยโควิดที่ศูนย์พักคอยทุกแห่ง จะมีเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) คอยดูแลผู้ป่วยประเมินอาการอย่างใกล้ชิด โดยมี อุปกรณ์ที่จำเป็น ยาและเครื่องมือทางการแพทย์ ดูแลอาการผู้ป่วยโควิด
          เลขาฯราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เสนอ5กลยุทธ์
          ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว มีเนื้อหาดังนี้ กลยุทธ์ตอนนี้ความสำคัญลำดับแรกไม่ใช่การป้องกันคนติดเชื้อหรือคนแพร่เชื้อเหมือนก่อนหน้านี้ (ตอนที่เรามีการระบาดน้อย) แต่ความสำคัญที่สุดที่ต้องทำกลับต้องเป็นเรื่องการบริหาร ทรัพยากรคือเตียงและ icu (ที่ไม่ใช่สักแต่ว่า เพิ่ม....ปลายเปิดไม่จำกัด) กับบุคลากรให้เพียงพอ โดย 1)คนที่สงสัยว่าได้สัมผัสหรือ รับเชื้อและอยากตรวจต้องได้ตรวจและด้วยปริมาณการตรวจที่อาจมีจำกัดเราควรลดการตรวจเชิงรุก (proactive case finding) ลงเพื่อให้การตรวจมีเพียงพอในคนที่สงสัยและมีอาการเคสที่ไม่จำเป็น (ไม่มีอาการ ป้องกัน ตัวเองได้และสามารถถึงแพทย์ได้เร็ว) ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลให้เปลืองเตียงเปลืองบุคลากร 2) เรื่องที่ 1) ต้องทำพร้อมๆ กับประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ว่าเมื่อไหร่ถึงไปโรงพยาบาลและการป้องกันตัวเองและครอบครัวทำอย่างไร 3)คิดใหม่ นอกกรอบบนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ คิดใหม่ ทำใหม่เรื่องการให้ยาให้เร็วป้องกันไม่ให้คนมีอาการหนัก เพราะทรัพยากรตรงนั้นจำกัด ถ้าจะให้คิดแบบฉลาดไม่ใช่รอให้ ปอดอักเสบแล้วค่อยให้ยาต้านไวรัส 4)น้องๆ หมอ อาจต้องปรับตัวกันในการทำงานข้าม ความเฉพาะทางกันเพราะยามสงครามยามไม่ปกติความเชี่ยวชาญเฉพาะทางตามมาตรฐานฝรั่งใช้ไม่ได้ในสนามรบ 5)มาตรฐานโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีไว้ตรวจ กันตามฝรั่งในเวลาปกติก็เช่นกัน บางอย่าง ที่เคร่งครัดว่าทำไม่ได้ให้คิดเหตุผลกันใหม่แล้วปรับเพื่อคนไข้ได้ครับ


pageview  1210874    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved